• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ย่ำแดนมังกร ดูงานสาธารณสุขมูลฐาน

การสาธารณสุขในสาธารณรัฐประชาชนจีน (3)

การประชุมเริ่มอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 ที่เรามาถึงประเทศจีน
การประชุมในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมมากันเกือบครบแล้ว ขาดแต่ประเทศอัฟกานิสถานและประเทศเนปาลที่ยังไม่ได้มา การประชุมเริ่มด้วยพิธีการต่างๆที่ปฏิบัติเหมือนกับการประชุมทั่วๆไปคือ มีการกล่าวต้อนรับโดยตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข ตัวแทนผู้ว่ามณฑล ตัวแทนองค์การอนามัยโลก ฯลฯ และเริ่มเนื้อหาด้วยการแนะนำการสาธารณสุขในสาธารณรัฐประชาชนจีน

สิ่งหนึ่งที่เหมือนกับการโฆษณาชวนเชื่อก็คือ เวลาคนจีนจะเล่าอะไรมักจะยกเหตุการณ์ที่จะเล่าไปเปรียบเทียบกับก่อนปี ค.ศ. 1949 อันเป็นปีที่ปฏิวัติและเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบของเขาในปัจจุบัน เพราะรู้สึกเขาจะภูมิใจมาก

ก่อนปีค.ศ. 1949 ประเทศจีนมีสถาบันทางด้านสาธารณสุขเพียง 3,670 แห่ง มีบุคลากรทางด้านสาธารณสุขเพียง 541,000 คน

ภายหลังการปฏิวัติจนถึงปัจจุบันสถาบันทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพิ่มขึ้นมากกว่า 200,000แห่ง โดยเป็นโรงพยาบาลเสีย 60,000 กว่าแห่ง สถานรับผู้ป่วยนอก 127,000 แห่ง สถานีป้องกันและควบคุมโรคระบาด 3,410 แห่ง และศูนย์อนามัยแม่และเด็ก 2,724 แห่ง มีการจัดเครือข่ายบริการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขลงไปถึงในระดับหมู่บ้าน จำนวนเตียงในโรงพยาบาลเพิ่มจากสมัยก่อนประมาณ 27.9 เท่า โดยมีเตียงทั้งหมดขณะนี้ประมาณ 2 ล้านเตียง เฉลี่ย 2.2 เตียงต่อประชากร 1,000 คน บุคลากรทางด้านวิชาชีพสาธารณสุขเพิ่มเป็น 4 ล้านกว่าคน โดยในจำนวนนี้เป็นทางการแพทย์(ผู้ช่วยแพทย์ แพทย์แผนโบราณ และแพทย์แผนปัจจุบันรวมกัน) ทั้งสิ้น 1.4 คนต่อประชากร 1,000 คน

ในชนบทการสาธารณสุขจัดให้เป็น 3 ระดับ (Three-tier system) ประกอบไปด้วย county, township และ village ซึ่งผนวกเรียกเพื่อให้เข้าใจง่ายเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ถือเอาระดับอำเภอ ศูนย์ของระบบ 3 ระดับนี้ จะพยายามรองรับบริการผู้ป่วยให้ได้ทั้งหมด ยกเว้นที่จำเป็นจริงๆจึงจะส่งต่อออกนอกอำเภอ

ทั้งประเทศจีนจะมีอำเภอทั้งหมด 2,046 อำเภอ มีโรงพยาบาลในระดับอำเภอนี้ 2,276 แห่ง สถานีป้องกันและควบคุมโรคระบาด 2,032 แห่ง ศูนย์อนามัยแม่และเด็ก 1,823 แห่ง

ที่ระดับตำบลจะมีสถานีอนามัย (health center) โดยทั่วประเทศมี 47,387 แห่ง สถานีอนามัยมีเตียงคนไข้ 720,000 เตียง เฉลี่ย 15.2 เตียงต่อ 1 สถานีอนามัย และมีบุคลากรด้านสาธารณสุข 784,000 คนหรือ 16.5 คนต่อ 1 สถานีอนามัย

ตัวเลขทั้งหมดนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาโดยทั่วไปแล้ว จะดีกว่ามาก
ในระดับหมู่บ้านจะมีหมู่บ้านจำนวน 87.4% ของหมู่บ้านทั้งหมดที่มีหน่วนอนามัย (health unit) ของตนเอง โดยมีบุคลากรคือ หมอหมู่บ้าน (village doctor) ซึ่งก็คือ หมอเท้าเปล่าเดิมนั่นเอง แต่เปลี่ยนชื่อเรียก และผู้ช่วยสาธารณสุข (health aid) อยู่ทั้งหมด 1.2 ล้านคน ในจำนวนนี้มีหมอหมู่บ้านถึง 643,000 คนที่สำเร็จการศึกษาเทียบเท่าระดับปานกลางของโรงเรียนแพทย์เลยทีเดียว

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า จะมีสถานีบริการสาธารณสุขทำการรักษาพยาบาลป้องกันโรค และส่งเสริมสุขภาพครบเกือบทุกท้องที่ ทุกแห่ง จนเขาคุยว่า ประชาชนของเขาทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในที่ห่างไกล หรือทุรกันดารขนาดไหน สามารถหาบริการสาธารณสุขได้โดยการใช้เวลาเดินทางเท้าไม่เกิน 20 นาที หรือสามารถหาได้ในรัศมีทุกๆ 1 กิโลเมตร

มาถึงสถานที่ที่เรามาดูงาน เขาบอกว่า กระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่ในการดูแลสถาบันใหญ่ๆ อันได้แก่ สถาบันการศึกษา และสถาบันอื่นๆระดับประเทศเท่านั้น ในระดับภูมิภาคจะมีการจัดระบบที่แทบจะไม่ต้องพึ่งส่วนกลางเลย เพราะมีโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลเฉพาะสาขาของตนเอง มีศูนย์สนับสนุนสถานีป้องกันและควบคุมโรคระบาด ศูนย์สนับสนุนศูนย์อนามัยแม่และเด็ก ศูนย์ควบคุมคุณภาพยาและวัตถุชีวภาพ โรงเรียนแพทย์และเภสัชกร สถาบันวิจัย ฯลฯ คือมีการกระจายของสถาบันใหญ่ๆถึงระดับภูมิภาค

หากนำมาเปรียบเทียบกับประเทศไทย มณฑลหนึ่งๆก็จะคล้ายกับประเทศหนึ่ง เพราะแต่ละมณฑลใหญ่มาก มีโรงเรียนแพทย์กรมต่างๆ เช่น กรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ฯลฯ อยู่ในมณฑล หน่วยงานต่างๆดังกล่าวก็จะมีหน่วยงานย่อยลงมาในจังหวัด อำเภอ โดยเฉพาะในระดับอำเภอจะมีหน่วยงานย่อยต่างๆเหล่านี้อยู่ และจะมีการกระจายอำนาจิ(decentralise) มากที่สุด

จุดสูงสุดของระบบ 3 ระดับ (three-tier system) ดังได้กล่าวแล้ว โดยพึ่งพาการบริการจากระดับที่สูงกว่าน้อยที่สุด เฉพาะผู้ป่วยที่ต้องการดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษเท่านั้น

ที่มาดูงานมีชาวมองโกลมาก ที่ระดับตำบลเขาจึงเรียกเป็นภาษามองโกลว่า ซูมู่ (Sumu) และระดับหมู่บ้านเขาจะเรียกเป็นกาชา (gacha)

ในเมืองเบาลองชานที่เรามาประชุมอยู่นี้เป็นตำบลในอำเภอเคอจั่งจงฉี แม้จะเป็นสถานที่ที่ห่างไกลดังได้กล่าวไว้แล้วในตอนที่ 2 แต่ก็มีตัวเลขสาธารณสุขที่น่าสนใจสำหรับอำเภอนี้คือ

มีอัตราเตียงคนไข้เท่ากับ 1 เตียงต่อประชากร 878 คน
บุคลากรสาธารณสุข 1 คน ต่อประชากร 332 คน
พยาบาล 1 คน ต่อประชากร 2,288 คน

มีสถาบันทางการแพทย์และสาธารณสุขในอำเภอนี้ 8 แห่ง ได้แก่
1. โรงพยาบาลใหญ่ 2 แห่ง
2. โรงพยาบาลมองโกเลีย (ใช้ยาแผนโบราณมองโกเลีย เป็นหลัก) 1 แห่ง
3. สถานีควบคุมและป้องกันโรคระบาด 1 แห่ง
4. ศูนย์อนามัยแม่และเด็ก 1 แห่ง
5. โรงเรียนสาธารณสุขสำหรับให้การศึกษาแก่หมอเท้าเปล่า และบุคลากรบางประเภท 1 แห่ง
6. ศูนย์ควบคุมวัณโรค 1 แห่ง
7. ศูนย์ควบคุมคุณภาพยา 1 แห่ง

ในการดำเนินงานสาธารณสุขนั้นได้ยึดหลัก 4 ประการตามที่ประธานเหมาเคยให้แนวทางชี้นำไว้คือ
1. ถือชนบทสำคัญเป็นอันดับแรก
2. การป้องกันต้องมาก่อนการรักษาพยาบาล
3. นำของเก่ารับใช้ใหม่ ประสานการแพทย์แผนโบราณเข้ากับการแพทย์แผนปัจจุบัน
4. รับใช้ประชาชนโดยเฉพาะชาวไร่ ชาวนา และทหาร

ตัวเลขต่างๆดังที่กล่าวมาและวิธีการปฏิบัติแตกต่างจากประเทศกำลังพัฒนาหลายๆประเทศ และอาจจะเป็นเพราะเจตจำนงอันแน่วแน่ของรัฐบาลจีนก็ได้ รวมทั้งการพัฒนาสาธารณสุขดังกล่าว จึงทำให้ประเทศจีนเป็นประเทศหนึ่งที่มีสุขภาพของประชาชนดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

และถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีสถานะสุขภาพของประชาชนดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาโดยทั่วไป

 

 

ข้อมูลสื่อ

97-023
นิตยสารหมอชาวบ้าน 97
พฤษภาคม 2530
นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์