• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เยี่ยมสมาคมรถพยาบาลเซนต์จอห์น

อุบัติภัยเป็นสาเหตุการตาย 1 ใน 3 อันดับแรกของไทยในปัจจุบัน และเป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของสาเหตุการตายของชาวออสเตรเลีย
การป้องกันหรือลดการเกิดอุบัติภัย จำเป็นต้องใช้มาตรการหรือกลวิธีหลายประการ เช่น การออกกฎหมายควบคุมการจราจร การออกกฎหมายเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ การปฏิบัติตามกฎข้อบังคับในการใช้รถใช้ถนน และอื่นๆ เป็นต้น แม้จะได้เพียรพยายามอย่างดีที่สุด ก็บังเกิดอุบัติภัยอยู่ดี แต่เกิดน้อยกว่าการไม่ทำอะไรเลย

เมื่อเกิดอุบัติภัยขึ้น สิ่งหนึ่งที่ทุกคนนึกถึงก็คือ “รถพยาบาลฉุกเฉิน” เพื่อลำเลียงผู้บาดเจ็บไปรับการรักษาโดยเร็วที่สุด และด้วยวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม หลายต่อหลายครั้ง การลำเลียงและช่วยเหลือผู้บาดเจ็บก่อนถึงมือแพทย์นั้น แทนที่จะช่วยให้ผู้บาดเจ็บดีขึ้น กลับตรงข้าม คือทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่กระดูกหักหรือหักจากอุบัติเหตุการจราจร เกิดความพิการอันเนื่องจากการลำเลียงผู้ป่วยโดยผิดวิธี ดังนั้น บริการรถพยาบาลฉุกเฉินจึงมีความสำคัญในแง่นี้ บริการนี้มิได้หมายความแต่เพียงแค่การขนส่งผู้ป่วยจากที่เกิดเหตุไปยังโรงพยาบาลเท่านั้น หากยังหมายรวมถึง การปฐมพยาบาลและการกู้ชีวิต (หมายถึง การผายปอดและนวดหัวใจ) ในระหว่างที่นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด้วย

ผมได้ไปเยี่ยมชมกิจการของศูนย์รถพยาบาลฉุกเฉินของรัฐเวสต์เทิร์น ออสเตรเลีย ศูนย์ดังกล่าวนี้มีชื่อว่า “สมาคมรถพยาบาลเซนต์จอห์น” หรือ ST. JOHN AMBULANCE ASSOCIATION
สมาคมนี้ให้บริการรถพยาบาลสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินและผู้ป่วยโรคทั่วไปที่ไม่ฉุกเฉิน โดยครอบคลุมพื้นที่ราว 1 ล้านตารางกิโลเมตร (น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมดของรัฐนี้) และครอบคลุมประชากรราว 2 ล้าน 5 แสนคนทั่วทั้งรัฐ

สมาคมนี้มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ 209 เกรต อีสเทิร์น ไฮเวย์, เบลมอต์ ห่างจากใจกลางเมืองเพิร์ท (เมืองหลวงของรัฐ) 8 กิโลเมตร ออกไปทางทิศตะวันออก มีสาขาย่อยกระจายตามหัวเมืองทุกหัวเมืองทั่วทั้งรัฐรวม 217 แห่ง มีบุคลากรกว่า 2,000 คน และอาสาสมัครอีกราว 1,600 คน มีรถพยาบาลประจำที่สำนักงานใหญ่ประมาณ 20 คัน และประมาณ 1-2 คันตามสาขาต่างๆ

ที่สำนักงานใหญ่ รถแต่ละคันมีเครื่องมือแพทย์ เช่น เครื่องให้ออกซิเจน เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า เครื่องช่วยหายใจ ชุดปฐมพยาบาล และยาที่จำเป็นในภาวะฉุกเฉิน เป็นต้น มีวิทยุรับ-ส่งสัญญาณบุคลากรประจำรถมี 4 คนต่อ 1 คัน

*ทุกคนผ่านการฝึกอบรมและทดสอบความรู้เกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา การดูแลผู้ป่วยในรถพยาบาล การลำเลียงผู้ป่วยอย่างปลอดภัย วิธีการขับรถในสภาพภูมิประเทศทุกชนิด การบริหารบุคคลเบื้องต้น การประคับประคองชีวิต ผู้ป่วยด้วยวิธีพิเศษ* และความรับผิดชอบในหน้าที่ตามกฎหมาย
คุณภาพของบุคลากรและอาสาสมัครตามสาขาเท่าเทียมกับของสำนักงานใหญ่ แต่รถและอุปกรณ์บางอย่างอาจล้าสมัยกว่าของสำนักงานใหญ่

บุคลากรและอาสาสมัครที่ผ่านการฝึกและทดสอบแล้ว จะได้รับการฟื้นฟูความรู้และทักษะเป็นระยะต่อเนื่อง โดยมีศูนย์ฝึกอบรมรับผิดชอบในการจัดสัมมนาระดับภูมิภาคทุกพื้นที่ของรัฐ
บริการที่สมาคมจัดให้แก่ชุมชนได้แก่
1. รถพยาบาลทั้งกรณีฉุกเฉินและกรณีไม่ฉุกเฉิน
ตัวอย่างสำหรับกรณีฉุกเฉิน เช่น รถยนต์กันชนหรือพลิกคว่ำ คนถูกรถชน คนตกจากที่สูง คนถูกไฟฟ้าดูด คนจมน้ำ เป็นต้น
ตัวอย่างสำหรับกรณีไม่ฉุกเฉิน เช่น ผู้ป่วยอัมพาตที่ต้องการไปรับการรักษา ณ โรงพยาบาลแห่งใดแห่งหนึ่ง ผู้ป่วยหนักที่ต้องส่งต่อไปรักษาจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง

2. การฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลแก่ประชาชนทั่วไป มี 6 ระดับคือ
1. ระดับผู้ใหญ่
2. ระดับพื้นฐาน
3. ระดับกลุ่มอาชีพ เช่น พนักงานการไฟฟ้า พนักงานตามโรงงาน คนงานเหมืองแร่ เป็นต้น
4. การพยาบาลผู้ป่วยในครัวเรือนเป็นต้น
5. การพยาบาลผู้ป่วยในครัวเรือนเฉพาะกรณี
6. การกู้ชีวิตเบื้องต้น (Basic life support) ได้แก่ การเป่าปากเพื่อช่วยหายใจ และการนวดหัวใจ

การดำเนินงานของรถพยาบาลฉุกเฉิน (ตลอด 24 ชั่วโมง)

เมื่อศูนย์ประสานงานได้รับแจ้งเหตุ (อาจโดยทางโทรศัพท์หรือทางวิทยุ) เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ จะลงบันทึกในแบบบันทึก แล้วสั่งการไปยังรถพยาบาลให้ไปรับผู้ป่วยยังที่เกิดเหตุ ทั้งนี้โดยเป็นไปตามลำดับความเร่งด่วนของสภาพผู้ป่วย เช่น ระหว่างผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดกับผู้ป่วยแขนหัก กรณีนี้ผู้ป่วยรายแรกจะถูกถือว่าต้องการความเร่งด่วนมากกว่าผู้ป่วยรายหลัง เป็นต้น ตามสถิติของปี พ.ศ.2529 โดยเฉลี่ย เวลาที่รถเดินทางไปถึงที่เกิดเหตุภายหลังได้รับแจ้งเท่ากับ 8.3 นาที
 

สถิติการบริการผู้ป่วยทุกกรณีของปีที่แล้ว เป็นดังนี้
          ชนิดของผู้ป่วย       จำนวนคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของ
ผู้ป่วยทั้งหมดที่รับบริการ

โรคหัวใจ
พลวเหตุและศัลยกรรม
อายุรกรรม
ทั่วไป
อื่นๆ

9.2
24.4
28.0
31.7
6.7

จำนวนผู้รับบริการทั้งหมดของปีที่แล้ว 56,800 คน (ในเมืองเพิร์ท)
จำนวนผู้รับบริการทั้งหมดของปีที่แล้ว 16,000 คน (ในหัวเมืองทุกแห่ง)


การฝึกอบรมแก่ประชาชนทั่วไป

การฝึกอบรมแก่ประชาชนทั่วไปมีหลักสูตรที่ชัดเจน และดำเนินการโดยฝ่ายฝึกอบรม ซึ่งส่วนใหญ่ของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายนี้เป็นพยาบาล อุปกรณ์ในการฝึกอบรมมีมากมาย ตัวอย่างเช่น หุ่นมาตรฐานเพื่อใช้สาธิตการเป่าปากและการนวดหัวใจ (นักศึกษาแพทย์รู้จักดีในนาม “แอนนี่”) ชุดปฐมพยาบาล โสตทัศนูปกรณ์ เป็นต้น

นอกจากประชาชนทั่วไปแล้ว นักศึกษาแพทย์และแพทย์ที่ต้องการทบทวนทักษะในการกู้ชีวิต ก็เป็นลูกศิษย์ของฝ่ายฝึกอบรมนี้ด้วย
สถิติปีที่แล้ว มีผู้ผ่านการฝึกอบรม 21,217 คน ตั้งแต่ พ.ศ.2525 ถึงปัจจุบันมีผู้ฝึกอบรม 87,200 คน คิดเป็น 3.5% ของประชากรทั้งหมดของรัฐนี้
ผู้ที่ผ่านฝึกอบรมนี้ต้องเสียค่าบริการระหว่าง 270-3,150 บาท ขึ้นกับประเภทของหลักสูตร แม้จะเสียค่าใช้จ่ายมาก แต่การที่มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมมากดังตัวเลขที่กล่าวถึงแสดงว่าประชาชนของรัฐนี้ให้ความสนใจในเรื่องการปฐมพยาบาลมากทีเดียว

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ

สมาคมนี้ได้รับเงินอุดหนุนจากสลากกินแบ่งและภาษีของรัฐ คิดเป็นจำนวน 40% ของรายได้ทั้งหมด อีก 60% ได้จากสมาชิกซึ่งต้องเสียค่าสมัคร รายละ 500 บาทต่อครอบครัวต่อปี หรือรายละ 270 บาทต่อคนต่อปีสำหรับคนโสด นอกจากค่าสมาชิกแล้ว สมาคมยังได้ค่าบริการจากบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกโดยคิดค่าบริการในอัตรา 30 บาทต่อระยะทางทุก 1 กิโลเมตร รวมกับค่าเรียกใช้บริการอีกครั้งละ 1,440 บาท

ปัจจุบันสมาคมฯมีสมาชิก 224,000 คน (9 % ของประชากรทั้งรัฐ)
ปีที่แล้ว สมาคมได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐเท่ากับ 137 ล้านบาท และเมื่อรวมกับงบประมาณที่สมาคมหาเองอีก 60% ก็เป็นงบดำเนินการทั้งหมด 342 ล้านบาท
ในปีนี้ (พ.ศ.2530) สมาคมแห่งนี้มีอายุครบ 94 ปีพอดี

 


 

ข้อมูลสื่อ

98-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 98
มิถุนายน 2530
อื่น ๆ
รศ.นพ.เกษียร ภังคานนท์