• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่อง “ไข้”(ตอนที่ 2)

เรื่อง “ไข้”(ตอนที่ 2)

คนไข้รายที่ 4 ชายอายุ 4o ปี ถูกพามาโรงพยาบาลเพราะมีไข้สูง ไอเป็นเลือดและหอบเหนื่อยมา 2 วัน
คนไข้ : “หมอ ช่วยผมด้วย ไอจนเจ็บหน้าอกไปหมดแล้ว”
หมอ : “คุณเป็นมากี่วันแล้ว”
คนไข้ : “2 วันครับ อยู่ดีๆ ก็เป็นไข้หนาวสั่นขึ้นมา ต่อมาก็ไอ และไอมากขึ้นเรื่อยๆ มีเลือดออก และเจ็บหน้าอกด้านขวามากครับ”
หมอ : “3-4 วันก่อน คุณไปทำอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า จึงเกิดไม่สบายขึ้น”
คนไข้ : “ครับ ผมไปงานเลี้ยงเพื่อน กินเหล้าจนเมาเพื่อนต้องพาไปส่งบ้าน ระหว่างกลับบ้านโดนฝนด้วย หลังเข้าบ้านแล้วผมก็หลับไป ตื่นเช้า รู้สึกมึนหัวและครั่นเนื้อครั่นตัวนิดหน่อย                             กินยาพาราเซตามอล 2 เม็ด แล้วไปทำงาน แต่ก็รู้สึกไม่ค่อยสบายอยู่ 2 วัน คล้ายเป็นไข้หวัดและไอแห้งๆ วันนี้อยู่ดีๆก็มีไข้หนาวสั่น ไอมากและมีเลือดออกมาด้วย และเจ็บแปลบที่อกขวาเวลาไอหรือหายใจลึกๆครับ”
หมอ : “ดีมาก คุณจำประวัติอาการป่วยของคุณได้ดีมาก ทำให้หมอวินิจฉัยโรคคุณได้ง่าย เลือดที่คุณไอออกมาสีแดงสด หรือสีแดงเก่าๆคล้ายสีสนิมเหล็ก หรือเป็นสีดำหรือช้ำเลือดช้ำหนอง”
คนไข้ : “เป็นสีคล้ายสนิมเหล็กครับ ไม่แดงสดและไม่ดำครับ”
หมอ : “คุณคงเป็นโรคปอดบวม และคงต้องอยู่โรงพยาบาลอย่างน้อย 2-3 วัน คุณจะอยู่ไหม”
คนไข้ : “อยู่สิครับ ผมจะทนไม่ไหวอยู่แล้ว”

หมอตรวจร่างกายคนไข้ก็พบไข้สูง 39 องศาเซลเซียส ปอดส่วนขวาล่างทึบและมีเสียงผิดปกติแสดงถึงการอักเสบของเนื้อปอด (ดูวิธีตรวจการหายใจและปอด ใน “มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 35-43)

ตรวจเสมหะที่ปนเลือด พบเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคปอดบวมในรายนี้ ซึ่งจากประวัติก็พอจะอนุมานได้ว่าเป็นโรคปอดบวม

นั่นคือประวัติเมาเหล้า โดนฝนแล้วนอนหลับ(เมาจนหลับ)ไป ต่อมามีไข้หนาวสั่น ไอมีเสมหะปนเลือดสีสนิมเหล็ก และเจ็บหน้าอกด้านหนึ่งเวลาไอ หรือหายใจลึกๆ มักจะเป็นโรคปอดบวม (pneumonia) ที่เกิดจากเชื้อนิวโมค็อคไค (pneumococci)

คนไข้ได้รับยาฉีด “เพ็นนิซิลลิน” อยู่ 2 วัน ไข้ก็ลดลง อาการก็ดีขึ้นจึงให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน คนไข้มาโรงพยาบาลเร็ว ถ้าช้าหลายวัน อาจเกิดหนองในทรวงอก (ในช่องเยื่อหุ้มปอด) ซึ่งอาจทำให้ต้องอยู่โรงพยาบาลเป็นเดือนได้

ตัวอย่างคนไข้รายที่ 2,3 และ 4 แสดงให้เห็นว่า คนที่มีไข้แล้วถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นกับอาการไข้ แต่ขึ้นกับอาการร่วม(อาการอื่น)ที่เกิดขึ้นพร้อมกับอาการไข้ หรือเกิดตามมาหลังอาการไข้

ถ้าอาการร่วมเหล่านั้นเป็นอาการเจ็บหนัก เช่น ชัก สับสน ทุรนทุราย หมดสติ หอบเหนื่อย เป็นต้น (ดูรายละเอียดของอาการเจ็บหนัก ใน “มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 64-65) ก็ต้องถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน แม้อาการไข้ตัวร้อนจะไม่สูงมากก็ตาม

แต่ถ้าคนไข้สูงกว่า 4o องศาเซลเซียส โดยไม่มีอาการอื่น (ซึ่งพบน้อยมาก เพราะไข้ที่สูงขนาดนี้ จะมีอาการอื่นร่วมด้วยเสมอ) ก็ต้องถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินด้วยเช่นเดียวกัน

การตรวจรักษาอาการไข้ จึงควรกระทำเช่นเดียวกับการตรวจรักษาอาการอื่นๆ นั่นคือ แยกคนไข้ที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินออกก่อน เพื่อให้การตรวจรักษาทันที ส่วนคนไข้ที่ไม่ฉุกเฉิน สามารถให้การตรวจรักษาที่ช้ากว่านั้นได้

อาการร่วมที่เกิดกับอาการไข้นอกจากจะช่วยแยกอาการไข้ที่เป็นภาวะฉุกเฉินออกจากภาวะไม่ฉุกเฉินแล้ว ยังช่วยในการวินิจฉัยโรคว่า ไข้นั้นมีสาเหตุมาจากความผิดปกติที่อวัยวะใด ทำให้การตรวจรักษาง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม อาการบางอย่างก็เป็นอาการทั่วๆไปที่เกิดพร้อมกับอาการไข้ตัวร้อน และมักจะไม่แสดงว่ามีความผิดปกติที่อวัยวะนั้น เช่น อาการปวดศีรษะ(ปวดหัว)เวลาไข้ขึ้น อาการปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว อาการไม่สบาย อาการอ่อนเพลีย อาการเบื่ออาหาร เป็นต้น

 


                                                                                                                  (อ่านต่อฉบับหน้า)
 

ข้อมูลสื่อ

211-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 211
พฤศจิกายน 2539
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์