• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการเลือดออก (ตอนที่ 12)

การตรวจรักษาอาการเลือดออก (ตอนที่ 12)

อาการเลือดออกในกะโหลกศีรษะ นับเป็นอีกอาการหนึ่งที่ทุกท่านควรใส่ใจ ด้วยเหตุที่เราไม่สามารถเห็นอาการแสดงได้อย่างชัดเจน เช่นเดียวกับอาการเลือดออกในบริเวณอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ท่านก็ยังพอจะสามารถวินิจฉัยอาการได้จากประวัติการเจ็บป่วยต่างๆ ดังนี้

12. เลือดออกในกะโหลกศีรษะ อาการเลือดออกในกะโหลกศีรษะจะไม่มีเลือดไหลออกมาให้เห็นภายนอกจากจะมีบาดแผลทะลุจากภายนอกเข้าไปภายใน

การวินิจฉัย (การที่จะรู้ว่า) มีเลือดออกในกะโหลกศีรษะ ส่วนใหญ่จึงทำได้ยากเพราะมองไม่เห็นว่ามีเลือดออก จึงต้องอาศัยประวัติและอาการต่างๆ เช่น

( 1 ) ประวัติการได้รับภยันตรายที่สีรษะ เช่น หกล้ม ศีรษะฟาดพื้น ศีรษะกระแทกกับกิ่งไม้ ขื่อ คาน หรือสิ่งอื่น ถูกต่อย ตี หรือตบที่ศีรษะ เป็นต้น ภยันตรายนี้อาจจะเพิ่งเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นมานานแล้ว (บางครั้งอาจเป็นสัปดาห์จนผู้ป่วยลืมไปแล้ว หรือคิดว่าไม่เกี่ยวข้องกันก็ได้)

( 2 ) ประวัติการมีโรคประจำตัว ที่อาจทำให้เลือดออกในกะโหลกศีรษะได้ง่าย เช่น โรคเลือดออกง่าย โรคเบาหวานเรื้อรัง โรคความดันเลือดสูง เป็นต้น

( 3 ) อาการที่เกี่ยวกับสมอง เช่น

- ความรู้สึกตัวลดลง (อาจซึม หลับมากกว่าปกติ หรือหมดสติ)

- รู้สึกสับสน (หลง เลอะเลือน)

- ความจำหรือความคิดอ่านผิดปกติไปจากเดิมอย่างรวดเร็ว

- การพูดจาผิดปรกติไปจากเดิมอย่างรวดเร็ว (เช่น พูดตะกุกตะกัก ติดอ่างอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน)

- แขนขาอ่อนแรง (เป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาต) โดยเฉพาะถ้าเป็นในซีกเดียวกัน เช่น ซีกขวาอ่อนแรง (แขนขวาและขาขวาอ่อนแรง) หรือซีกซ้ายอ่อนแรง (แขนซ้ายและขาซ้ายอ่อนแรง) เป็นต้น

- หน้าเบี้ยว นั่นคือ ใบหน้าซีกหนึ่งจะอ่อนแรง (กล้ามเนื้อของใบหน้าซีกนั้นอ่อนแรง) ทำให้ใบหน้าซีกนั้นถูกดึงด้วยกล้ามเนื้อของใบหน้าซีกตรงข้าม จนใบหน้าซีกที่อ่อนแรงแลดูเรียบ (ไม่มีรอยย่นเท่าที่ปกติ) และใบหน้าซีกตรงข้ามแลดูย่นกว่าปกติ เป็นต้น

ถ้ามีประวัติและอาการดังกล่าวข้างต้น ควรจะไปโรงพยาบาล เพื่อตรวจให้ละเอียดว่าเกิดจากอะไร จะได้รักษาให้ถูกต้องต่อไป

13. เลือดออกในหลอดอาหารหรือในกระเพาะลำไส้ แม้ว่าหลอดอาหารและกระเพาะลำไส้จะเป็นอวัยวะภายในร่างกาย แต่อาการเลือดออก ในหลอดอาหารและในกระเพาะลำไส้จะปรากฏให้เห็นเป็นลักษณะเลือดไหลออกมา ภายนอกได้ คือ อาการอาเจียนเป็นเลือดสีแดงสดหรือมีสีกาแฟดำปนอยู่ หรืออุจจาระเป็นสีดำหรือเป็นสีเลือดแดงสดได้ ให้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อ “อาเจียนเป็นเลือด" และ “อุจจาระเป็นเลือด" ซึ่งได้กล่าวไว้แล้ว

14.เลือดออกในหลอดลมหรือในปอด ก็เช่นเดียวกัน จะทำให้มีอาการไอเป็นเลือดแบต่างๆ ให้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อ “ ไอเป็นเลือด" ซึ่งได้กล่าวไว้แล้ว

15. เลือดออกใน “ช่องอก" หรือ “ช่องปอด" คำว่า “ช่องอก" หรือ “ช่องปอด" ในที่นี้หมายถึง ห้องหรือโพรงในทรวงอก ซึ่งเป็นที่อยู่ของปอด หัวใจ หลอดเลือด หลอดอาหาร และอื่นๆ เลือดที่ออกใน “ช่องอก" หรือ “ช่องปอด" แต่เพียงแห่งเดียวโดยไม่มีเลือดออกในปอด จะวินิจฉัยได้ยาก เพราะไม่มีเลือดไหลออกมาให้เห็นภายนอก นอกจากจะมีบาดแผลทะลุผนังอก เช่น ถูกปืน ถูกมีด เป็นต้น

การวินิจฉัย ถ้าเลือดออกใน “ช่องอก" หรือ “ช่องปอด" เพียงเล็กน้อย จะไม่มีอาการจากเลือดที่ออก แต่จะมีอาการจากสาเหตุที่ทำให้เลือดออก เช่น ถูกเข็มแทง ถูกพยาธิไชชอนผ่านเนื้อปอดเข้าไปใน “ช่องอก" ทำให้มีอาการเจ็บหรือเวลาหายใจแล้วเจ็บ เพราะเยื่อหุ้มปอดอักเสบหรือเป็นแผล เป็นต้น

ส่วนเลือดออกมากๆ ในช่องอก มักเกิดจากอุบัติเหตุ ทำให้กระดูกซี่โครงหักแทงปอดทะลุหรือหลอดเลือดที่ผนังอกหรือภายในอกฉีกขาด ทำให้เลือดไหลเข้าไปในช่องอกมากๆ ถ้าเลือดออกมาก จะทำให้ซีด (หน้าและริมฝีปากขาวซีด) หน้ามืด เป็นลม หายใจขัด เหนื่อย หอบ ทรวงอกข้างที่มีเลือดออกอยู่ข้างในจะเคลื่อนไหวน้อยหรือไม่เคลื่อนไหว เวลาหายใจซึ่งเห็นได้ชัด เพราะทรวงอกอีกข้างหนึ่งจะเคลื่อนไหว( ขยายออกและหุบลง ) มากกว่าข้างที่มีเลือดออกอยู่ ถ้ามีประวัติและอาการดังกล่าวควรรีบไปโรงพยาบาล เพื่อการตรวจรักษาให้ถูกต้องและรวดเร็ว มิฉะนั้นจะเป็นอันตรายได้

 

ข้อมูลสื่อ

177-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 177
มกราคม 2537
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์