• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เริ่มต้นวิ่งอย่างมีท่า

เริ่มต้นวิ่งอย่างมีท่า

การออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาแต่ละชนิด ย่อมมีวิธีการเล่นที่แตกต่างกันไป แต่ที่เป็นปัญหาสำหรับนักออกกำลังกายหน้าใหม่ คือ ไม่รู้วิธีหรือเคล็ดลับในการออกกำลังกายซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือไม่ประสบ ผลสำเร็จจนทำให้ผู้ออกกำลังกายหมดกำลังใจ หรือต้องล้มเลิกความตั้งใจไปในที่สุด

การวิ่งจัดเป็นการออกกำลังกายที่ดีวิธีหนึ่งและมีคนนิยมกันมากเพราะไม่ยุ่งยากในการเตรียมอุปกรณ์และเป็นการออกกำลังกายที่ง่าย แต่คุณเชื่อไหมว่าการออกกำลังกายที่ง่ายๆ อย่างนี้แหละทำให้คนท้อถอยมาหลายรายแล้ว เพราะไม่รู้เคล็ดลับในการวิ่ง แต่ก่อนจะเริ่มวิ่งก็ควรจะมีการเตรียมตัวที่ดีก่อน
 

การเตรียมตัว

ก่อนเริ่มวิ่งนอกจากจะต้องเตรียมใจให้มั่นคงอดทนแล้ว ยังต้องมีการเตรียมตัวด้วย คือ ชุดที่จะใส่วิ่ง ชุดที่เหมาะสมจะใส่วิ่งควรเป็นชุดที่สวมสบายๆ ซับเหงื่อได้ระบายความร้อนได้ง่าย ผ้าที่มักใช้กันส่วนใหญ่จะเป็นผ้าฝ้าย เพราะสวมใส่สบายและซับเหงื่อได้ดี

ชุดที่ไม่ควรสวมใส่เลย คือ ชุดที่ทำจากพลาสติก ผ้ายาง ผ้าร่ม หรือชุดที่หนาๆ เพราะชุดเหล่านี้จะอบร่างกายให้ระบายความร้อนได้ไม่สะดวก ทำให้อุณหภูมิในร่างกายร้อนจัดจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ส่วนในเรื่องรองเท้านั้นได้เคยตีพิมพ์ไปแล้วในฉบับที่ 156 คอลัมน์ “ฉลาดซื้อ” ใครที่จำไม่ได้ก็ย้อนกลับไปเปิดดูใหม่ก็แล้วกันนะคะ
 

ท่าวิ่งที่ถูกต้อง

คุณเคยรู้สึกอย่างนี้บ้างหรือเปล่า เวลาวิ่งไม่รู้จะวางแขนหรือทำแขนอย่างไรดี ต้องทำตัวอย่างไร วิ่งด้วยปลายเท้าหรือส้นเท้ากันแน่นะ ทำไมวิ่งแล้วรู้สึกขัดๆ ทำให้วิ่งได้ ไม่ดีนัก

การวิ่งในท่าที่ไม่ถูกต้อง อาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ เช่น หากกำมือแน่นเกินไปจะเกิดอาการเกร็งทำให้ปวดไหล่ หรือการเอนตัวไปข้างหน้ามากเกินไป จะทำให้เกิดปวดหลังได้ ฯลฯ ดังนั้น หากรักที่จะวิ่งออกกำลังกายก็ควรจะศึกษาท่าวิ่งที่ถูกต้องด้วย
 

เริ่มวิ่งด้วยใจเต็มร้อย

ในการเริ่มวิ่งวันแรกไม่ควรวิ่งอย่างหักโหม เพราะอาจจะทำให้กล้ามเนื้อขาฉีกขาดได้ ซึ่งจะต้องแสดงอาการในวันรุ่งขึ้น ทำให้ปวดเมื่อยขาและร่างกาย จนทำให้ผู้วิ่งรู้สึกไม่อยากวิ่ง เพราะวิ่งแล้วทำให้ปวดเมื่อยไปหมดทั้งตัว

สำหรับคนที่ไม่เคยวิ่งมาก่อนเลย ในวันแรกๆ ควรจะเดินสลับกับการวิ่งเหยาะๆ ก่อน เพื่อป้องกันการฉีดขาดของกล้ามเนื้อ อาจจะเดิน 1 นาที วิ่งเหยาะ 1 นาที สลับกันไป ระยะเวลาที่ออกกำลังกายก็ไม่ควรนานเกินไป สักประมาณ 10-20 นาที กำลังดี

เมื่อกำลังเริ่มอยู่ตัวแล้ว ในเดือนที่ สองให้วิ่งเหยาะติดต่อกัน ประมาณ 10-15 นาที โดยไม่ต้องหยุดพักเลย พอมาถึงวันนี้คุณจะเริ่มรู้สึกว่าวิ่งได้อย่างสบายๆ ในช่วงเริ่มวิ่งใหม่ๆ ถึงจะวิ่งแค่ 1 นาทีก็หอบแทบแย่ สำหรับเรื่องความเร็วไม่ต้องไปกังวล ให้วิ่งเหยาะ ไปเรื่อยๆ จนพ้นเดือนที่สาม อาจจะค่อยๆ เพิ่ม ความเร็วขึ้น หรือจะคงความเร็วไว้เพียงเท่านี้ก็ได้

หากได้วิ่ง ออกกำลังกายทุกวันคุณจะรู้สึกว่าการวิ่งก็คือกิจวัตรประจำวันอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ หลังจากวิ่งเสร็จ ร่างกายและจิตใจจะสดชื่นแจ่มใส และกระปรี้กระเปร่าพร้อมที่จะสู้งานไปได้ตลอดทั้งวันเลยที่เดียวใครอยากรู้ว่าจริงหรอไม่ต้องลองปฏิบัติเองถึงจะรู้ค่ะ 

ข้อมูลสื่อ

177-021
นิตยสารหมอชาวบ้าน 177
มกราคม 2537
เปลี่ยนชีวิต
รศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม