• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตอนที่5 พุทธธรรม กับ ธรรมกาย

ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงความสำเร็จของ ‘ธรรมกาย’ เรื่องที่ ‘ธรรมกาย’ อาจมีปัญหามากที่สุดคือทิฐิเกี่ยวกับการบรรลุธรรม

จุดมุ่งหมายของศาสนาทุกศาสนาคือการบรรลุธรรม
การบรรลุธรรมคือสภาวะจิตที่หลุดพ้นจากความร้อยรัดทั้งปวง
สำหรับศาสนาที่มีพระผู้เป็นเจ้า การบรรลุธรรมคือการที่จิตของบุคคลไปสู่หรือไปรวมกับพระผู้เป็นเจ้า ดังเช่นในศาสนาฮินดู คือการที่อาตมันไปรวมกับปรมาตมัน

การบรรลุธรรมนี้มีคำเรียกกันหลายอย่าง เช่น โมกษะ (สันสกฤต) หรือ โมกขะ (บาลี) วิมุติ หรือนิพพาน
ก่อนการอุบัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีผู้แสวงหาโมกษะกันมาก เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะออกบวชก็ทรงแสวงหาการศึกษาจากครูบาอาจารย์ที่มีในขณะนั้น ดังปรากฏว่าได้ทรงไปศึกษากับอาฬารดาบสและอุทกดาบส กับอาฬารดาบสทรงทำสมาธิได้เท่าอาจารย์ คือฌาน 7 หรืออรูปฌาน 3 อันเรียกว่าอากิญจัญญายตนะ และกับอุทกดาบสก็ทรงทำสมาธิได้เท่าอาจารย์ คือได้ฌาน 8 หรืออรูปฌาน 4 ที่เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ ทรงทำได้ดีจนอาจารย์ทั้งสองชวนให้อยู่เป็นอาจารย์ในสำนักของตน แต่ทรงปฏิเสธด้วยเห็นว่า มิใช่หนทางที่จะบรรลุธรรม ทรงไปแสวงหาด้วยพระองค์เองจนกระทั่งตรัสรู้ หลุดพ้นจากสังสารวัฏ หรืออิทธิพลของสิ่งร้อยรัดทั้งหลายทั้งปวง เป็นอิสระโดยสิ้นเชิง ทรงเป็นผู้นิรทุกข์

เมื่อตรัสรู้นั้นพระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุ 35 พรรษา ทรงใช้เวลาสั่งสอนพระคฤหัสถ์อยู่เป็นเวลา 45 ปี ธรรมะที่ทรงสั่งสอนนั้นมีมากมายดังที่พูดกันว่าถึง 84,000 พระธรรมขันธ์ แต่สรุปแล้วแบ่งเป็นสองภาค ตามที่พระราชวรมุนีได้เรียบเรียงไว้ในหนังสือพุทธธรรม คือ
1. มัชเฌนธรรม
2. มัชฌิมาปฏิปทา

มัชเฌนธรรม หมายถึงธรรมที่เป็นกลางๆ อันได้แก่ ธรรมชาติและกฎของธรรมชาติ หรือธรรม หรือธรรมะ ซึ่งเป็นของที่มีอยู่แล้วเป็นธรรมดา ไม่เกี่ยวกับว่ามีพระพุทธเจ้าหรือไม่มี รู้จักพุทธศาสนาหรือไม่รู้จัก มันมีของมันอยู่อย่างนั้น เป็นความจริงหรือสัจจะที่มีอยู่เป็นธรรมชาติ

พระพุทธเจ้าท่านมาชี้ให้เห็นสิ่งที่ทรงเห็นและชี้ให้เห็นนั้นเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก จึงเรียกว่าบรมธรรม
นักวิทยาศาสตร์รวมกันหมดทั้งโลกก็ยังไม่เห็นหรือเข้าถึงบรมธรรมที่พระพุทธเจ้าเห็น

ธรรมะหรือบรมธรรมนี้ได้กล่าวไว้สั้นๆ ในภาคสวนโมกข์ อันได้แก่ อนิจจัง อิทัปปัจจยตา และ อนัตตา สมควรที่ชาวพุทธจะศึกษาโดยพิสดารให้เข้าใจ จากหนังสือของท่านพุทธทาสซึ่งมีหลายเล่มและจากพุทธธรรมของพระราชวรมุนี

คำสอนดังกล่าวข้างต้นบางคนอาจเรียกว่าเป็นปรัชญา หรือวิชา คือเป็นความคิดหรือความรู้ แต่ผู้ที่คิดว่าเป็นความจริงก็เรียกว่าสัจจะ คำกลางๆคือธรรมของพระราชวรมุนี

คำสอนดังกล่าวข้างต้นบางคนอาจเรียกว่าเป็นปรัชญา หรือวิชาคือเป็นความคิดหรือความรู้ แต่ผู้ที่คิดว่าเป็นความจริงก็เรียกว่าสัจจะ คำกลางๆก็คือธรรม หรือธรรมะ หรือธรรมอันยิ่ง (บรมธรรม)
ถ้าเพียงแค่นี้ก็อาจเป็นศาสตร์ หรือจะเรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ก็ได้

แต่พระพุทธเจ้าท่านมิได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น

ท่านมีภาคสองอีกว่า เมื่อรู้เช่นนั้นทำอย่างไรจึงจะสำเร็จประโยชน์จากความรู้อันนั้น นี้คือภาคปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรม มิใช่เพียงแค่รู้ แต่ปฏิบัติจนบรรลุจริงๆนี้ต่างจากปรัชญาและศาสตร์ต่างๆ จึงเรียกว่าเป็นศาสนา

ภาคปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมนี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา อันได้แก่ อริยมรรคหรือมรรค 8 ซึ่งรวมเป็น 3 กลุ่ม คือ ปัญญา ศีล สมาธิ อันเรียกว่า ไตรสิกขา ดังข้างล่าง

โดยทั่วไปมักพูดว่า ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ถ้าเรียงลำดับตามอริยมรรคก็เป็น ปัญญา ศีล สมาธิ
ท่านพุทธทาส เรียกว่า สว่าง สะอาด สงบ คือ ปัญญา ศีล สมาธิ ตามลำดับ

เมื่อฝึกฝนและดำเนินชีวิตตามอริยมรรคก็จะมีความหลุดพ้นตามลำดับ จนกระทั่งหลุดพ้นอย่างถาวร ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงมนุษย์โดยสิ้นเชิง จากสภาพที่ยึดมั่นในตัวตน มีกิเลสตัณหา เป็นสภาพที่ไม่ยึดมั่นในตัวตนหมดกิเลสตัณหา เป็นสภาวะที่ดับเย็น(นิพพาน) และนิรทุกข์นิรันดร

มนุษย์ทุกคนมีความยึดมั่นในตัวตนมีกิเลสตัณหา จึงก่อความทุกข์ให้ตนเองและผู้อื่น
การที่จะให้หมดจากการยึดมั่นในตัวตนและหมดกิเลสตัณหานั้นเกือบเป็นสิ่งสุดวิสัยที่มนุษย์จะทำได้ แต่ก็เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดที่มีการค้นพบวิธีที่ทำให้เกิดขึ้นได้ แต่ต้องมีวิธีการต่างๆหลายอย่าง ที่บรรยายไว้เป็นอย่างย่นย่อก็มี โดยพิสดารก็มี ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอย่างย่อของมรรค 8 แต่ที่กล่าวโดยพิสดารยิ่งกว่านั้นคือ โพธิปักขิยธรรม หรือธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ มีอยู่ 37 ประการ
สติปัฏฐาน 4
สัมมัปปธาน 4
อิทธิบาท 4
อินทรีย์ 5
พละ 5
โพชฌงค์ 7
มรรคมีองค์ 8
รวม 37
ข้อธรรมะเหล่านี้เชื่อมโยงสนับสนุน ส่งเสริมกัน เป็นข้อธรรมะชื่อเดียวกันบ้าง แต่ไปรวมอยู่ในกลุ่มอื่น หรือพูดเน้นในบางด้านหรือบางมิติ

สรุป คำว่าธรรมในทางพระพุทธศาสนาเป็นคำที่กว้างขวางลึกซึ้งหลายแง่หลายมุม เพื่อให้เข้าใจกฎของธรรมชาติ และการปฏิบัติที่สอดคล้องกับกฎของธรรมชาติ ด้วยนานาวิธี จนกระทั่งหลุดพ้นโดยสิ้นเชิง
ที่พระพุทธองค์รับสั่งว่า ‘ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต’ นั้นคำว่า "เห็นธรรม" ทางพุทธกับที่ทาง 'ธรรมกาย' ตีความนั้นคงจะแตกต่างกันมาก

“เห็นธรรม” ในทางพุทธอย่างที่มีมาแต่เดิมหมายถึงธรรมที่กว้างใหญ่”ไพศาลลึกซึ้งที่เรียกว่า “พุทธธรรม”

ทาง ‘ธรรมกาย’ ตีความว่าเห็นธรรมกับเห็นพระพุทธองค์ คือการเห็นองค์พุทธปฏิมาในสมาธิ และเรียกว่าเป็น ‘ธรรมกาย’ การเห็นธรรมคือการเห็น ‘ธรรมกาย’

อันที่จริงสำนัก ‘ธรรมกาย’ ก็สอนธรรมะอื่นๆ แต่ถ้าไปพูดว่าผู้ใดเห็นธรรมหมายถึงผู้นั้นเห็น ‘ธรรมกาย’ จะทำให้ดูเสมือนไปทำให้พุทธธรรมซึ่งเปรียบเสมือนความสว่างไสวทั่วโลกธาตุเล็กลงมาเท่าลูกแก้ว
ประเด็นที่ควรพิจารณาต่อไปก็คือ การทำสมาธิจนเห็นดวงสว่างที่กลางกายและเห็นองค์พระนั้นจะทำให้บรรลุธรรมคือ นิพพานในคติทางพุทธได้หรือไม่

นิพพานโดยทั่วไปแปลว่าดับเย็น ในทางพุทธหมายความหลุดพ้นจากตัวตนโดยสิ้นเชิง การบรรลุธรรมนี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นทันทีทันใดหรืออาศัยการบำเพ็ญเพียรเป็นเวลาช้านาน ล้วนต้องเกิดโดยปัญญาทั้งสิ้น สมาธินั้นมีมาก่อนพระพุทธเจ้า แต่ไม่ทำให้หลุดพ้น ปัญญาเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบและทำให้หลุดพ้น

สมาธินั้นอาจทำให้เกิดอิทธิปาฏิหาริย์ได้ ซึ่งอาจทำให้ลุ่มหลงงมงายและเกิดความโลภได้ เป็นมิจฉาสมาธิ
พระพุทธองค์ทรงรับเอาสมาธิมาใช้ในฐานะเป็นฐานที่ส่งเสริมปัญญา เรียกว่าสัมมาสมาธิ ที่เรียกว่ากรรมฐาน หรือกัมมัฏฐาน หรือการบำเพ็ญภาวนานั้นเมื่อกล่าวถึง สมถะกรรมฐาน หมายถึงสมาธิ ส่วนวิปัสสนากรรมฐาน หมายถึงปัญญา

ถ้าหยุดอยู่แค่สมาธิไม่ต่อไปปัญญา จะหลุดพ้นไม่ได้
สติกับสมาธิเป็นคู่แฝดกัน สติส่งเสริมสมาธิ สมาธิส่งเสริมสติ สติส่งเสริมปัญญา ปัญญาส่งเสริมสติ ปัญญาส่งเสริมสมาธิ

สติ สมาธิ ปัญญา
จึงสัมพันธ์กันจนผู้ที่ไม่ชำนาญอาจแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร ในหนังสือพุทธธรรมของพระราชวรมุนีได้อ้างถึงอุปมาอุปไมยเพื่อให้เข้าใจง่ายดังนี้
จิต = วัวที่เจ็บป่วยที่คึกคะนองไม่หยุดนิ่ง
สมาธิ = หลักที่ปักอยู่กับที่
สติ = เชือกที่ผูกวัวไว้กับหลัก
ปัญญา = การตรวจว่าวัวป่วยเป็นอะไร และรักษาอย่างไร

เมื่อจิตหรือวัวเคลื่อนไหวอยู่เรื่อย ไม่เปิดโอกาสให้มีการให้มีการตรวจวินิจฉัยโรคและรักษา
เมื่อเอาเชือก (สติ) ผูกวัวเข้ากับหลัก (สมาธิ) ตอนต้นวัวก็ยังคงคึกคะนองวิ่งโผนโจนทะยานไป เชือกจะตามวัวไปเรื่อยๆ แต่วัวไม่สามารถเตลิดไปได้เหมือนเมื่อไม่มีเชือกผูก

ต่อมา เพราะเชือกผูกกับหลัก วัวก็จะยอมอยู่นิ่งเปิดโอกาสให้มีการตรวจและรักษาโรค (ปัญญา) ทำให้หายจากโรคได้
สติ สมาธิ ปัญญา จึงเชื่อมโยงกันทำงานดังนี้
สติ คือการระลึกรู้ และการรู้อยู่กับปัจจุบันเรียกว่าสัมปชัญญะ แต่นิยมกล่าวถึงสติในลักษณะที่รวมถึงสัมปชัญญะด้วย

ปกติมนุษย์จะเข้าไปอยู่ในความคิด คิดไปในอดีตกับคิดไปในอนาคต แต่ไม่ระลึกรู้อยู่กับปัจจุบัน
ความคิดนั้นถ้าคิดถูกก็เป็นปัญญา ถ้าคิดไม่ถูกก็เป็นฟุ้งซ่าน คิดวิตกกังวล คิดหงุดหงิดรำคาญ คิดอยากได้ คิดอยากเป็น คิดไม่อยากเป็น คิดแล้วโกรธ คิดแล้วพยาบาท

สรุปคือ คิดแล้วทุกข์และก่อทุกข์
แต่ขณะที่เจริญสติรู้อยู่กับปัจจุบัน ความคิดถูกแทนที่ด้วยรู้ ความทุกข์และการก่อทุกข์จึงเข้าไม่ได้
ขณะที่มีสติจึงสงบ สุข สบาย อย่างยิ่ง และเมื่อมีอะไรมาสัมผัสก็สามารถเอาปัญญามาใช้ได้ทัน
มิฉะนั้น เมื่อได้รับสัมผัส (ผัสสะ) ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มนุษย์จะทำปฏิกิริยาด้วยกิเลส และเกิดผลเป็นกิเลส แต่ถ้ามีสติ สติจะเป็นตัวนำเอาปัญญาเข้าไปกำกับสัมผัส

สติจึงเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ฉะนั้นสติจึงปรากฏอยู่ในกลุ่มธรรมต่างๆ ที่เป็นไปเพื่อการตรัสรู้ เช่น อยู่ในมรรค 8 อยู่ในโพชฌงค์ 7 (โพชฌงค์ คือธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ได้แก่ 1 สติ 2 ธัมมวิจัย 3 วิริยะ 4 ปีติ 5 ปัสสัทธิ 6 สมาธิ 7 อุเบกขา)

ที่เรียกว่ามหาสติปัฏฐาน4 นั้น หมายถึงระลึกรู้ใน 4 เรื่อง คือ
1. รู้กาย (กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
2. รู้เวทนา (เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
3. รู้จิต (จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
4. รู้ธรรม (ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน)

หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ซึ่งเป็นปรมาจารย์ในเรื่องสติในปัจจุบันจะเน้นอยู่สองเรื่อง คือ รู้กาย กับ รู้ความคิด
ถ้าใครอยากมีความสุขควรศึกษาเรื่องสติให้เข้าใจ และเจริญสติอยู่เป็นเนืองนิตย์ สติควรจะเป็นเครื่องมือในการพัฒนามนุษย์ และสร้างสันติภาพและศานติสุข

สมาธิ
หมายถึง การตั้งมั่นของจิต จิตที่เป็นสมาธิมีความสงบ มีความสุข มีพลัง เป็นฐานแห่งการเกิดปัญญา
สมาธิมีหลายระดับ สมาธิระดับสูงถึงขนาดเรียกว่าฌานสมาบัติ มีฌาน 1,2,3,4 เรียกว่ารูปฌาน และมีอรูปฌานอีก 4 เรียกเรียงตามลำดับคือ อากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ และเนวสัญญานาสัญญายตนะ โดยยังไม่นับนิโรธสมาบัติ

จิตที่เป็นสมาธินั้นมีความสุขมากเรียกว่าสมาธิสุข มีสารเอ็นดอร์ฟินหลั่งออกมาด้วยทำให้สุขสบายสารนี้คล้ายมอร์ฟีน คนทำสมาธิจึงอาจติดสุขได้ การติดสุขจะทำให้ไม่บรรลุธรรม การติดทุกชนิดทำให้ไม่บรรลุธรรม การบรรลุธรรมเกิดจากการหลุด แต่ในสภาวะจิตที่เป็นสมาธินั้นสงบ ปราศจากกิเลส จนเข้าใจว่าบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ แต่สมาธิอย่างเดียวเป็นพระอรหันต์ไม่ได้

พวกโยคีต่างๆทำสมาธิภาวนากันมาก่อนพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก และพระพุทธเจ้าก็ทรงทำสมาธิภาวนามาก่อนจนได้อรูปฌาน 3 กับอาฬารดาบส และอรูปฌาน 4 กับอุทกดาบสก็ไม่ตรัสรู้ เพราะการที่จะบรรลุธรรมนั้นต้องเจริญทางปัญญา

คนนอนหลับแล้วฝันเห็นอะไรต่างๆได้เรียกว่าสุบินนิมิต การทำสมาธิก็อาจเห็นสิ่งต่างๆได้ เรียกว่า สมาธินิมิต อาจเห็นแสงสว่าง เห็นเป็นสีต่างๆ เห็นเป็นองค์พระ เห็นภูตผีปีศาจ บางคนก็เห็นแก้วแหวนเงินทอง แล้วแต่ความคิดปรุงแต่งต่างๆกันไป

เมื่อสมาธิถึงขนาดหนึ่งจะสามารถขยายรูปที่เห็นในนิมิตให้ใหญ่ได้ หดให้เล็กก็ได้ เช่น เห็นองค์พระขนาดต่างๆ เรียกว่าปฏิภาคนิมิต

วิธีของ ‘ธรรมกาย’ ที่ให้บริกรรม สัมมา อะระหัง ๆ ๆ และนึกถึงดวงนิมิตสีแดงนำไปไว้ในท้องเหนือสะดือนั้นเป็นการทำสมาธิแน่นอน
ดวงสีแดงก็ดี องค์พระที่เห็นในดวงสีแดงก็ดี เป็นสมาธินิมิต
การที่จะเรียกองค์พระปฏิมาที่เห็นในนิมิตว่าเป็น ‘ธรรมกาย’ ก็มีสิทธิที่จะเรียก เพราะคำว่า ธรรม มีความหมายกว้าง แต่ต้องรู้ขอบเขตของความหมาย

ถ้าจะเพ่ง ‘ธรรมกาย’ นี้จนบรรลุนิพพานก็น่าจะเป็นคนละนิพพานกับที่พระพุทธเจ้าสอน เพราะนิพพานที่พระพุทธเจ้าสอนบรรลุไม่ได้ด้วยสมาธิโดยไม่ต่อไปถึงปัญญา

ที่จริงการทำสมาธิจนเกิดนิมิตเป็นดวงสีแดงในท้องหรือเห็นองค์พระในสว่างเป็นของมีประโยชน์มาก เพราะทำให้จิตตั้งมั่น มีปีติอิ่มเอิบ และเป็นฐานที่จะเจริญวิปัสสนา หรือเจริญทางปัญญาต่อไป
สิ่งที่สำนัก ‘ธรรมกาย’ ควรทำก็คือ สอนอย่างใจกว้างว่าการทำสมาธิมีหลายวิธี พระอรรถกถาจารย์ได้รวบรวมไว้ถึง 40 วิธี เพื่อให้คนเลือกใช้ให้ถูกกับจริตของตัว และพัฒนาต่อไปทางปัญญาให้มาก อย่าติดหรือหยุดอยู่เพียงการเพ่งลูกแก้วทั้งสองกรณีจะทำให้คับแคบ

อีกประการหนึ่ง ในขณะนี้ไม่ควรพยายามตอบคำถามทุกคำถามดังที่หนังสือพิมพ์มติชนเอามาลงว่าท่านทัตตฺชีโวตอบคำถามเรื่องทำไมเกิดมาเป็นผู้หญิงว่า เป็นเพราะชาติก่อนทำกรรมไม่ดีไว้มาก


มรรค 8 ไตรสิกขา
1. สัมมาทิฐิ (ความเข้าใจถูกต้อง) ปัญญา
2. สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) ”
3. สัมมาวาจา ศีล
4. สัมมากัมมันตะ (การกระทำชอบ = เว้นจากกายทุจริต) ”
5. สัมมาอาชีวะ
6. สัมมาวายามะ (ธรรมฉันทะและความเพียร) สมาธิ
7. สัมมาสติ
8. สัมมาสมาธิ

 

ข้อมูลสื่อ

98-021
นิตยสารหมอชาวบ้าน 98
มิถุนายน 2530
ศ.นพ.ประเวศ วะสี