• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เดินออกกำลัง

บางครั้ง การวิ่งก็ไม่ใช่การออกกำลังที่เหมาะสมสำหรับบางคน เช่นผู้ที่อ้วนเผละ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ห่างเหินการออกกำลังมานาน ตลอดจนผู้ที่วิ่งแล้วมีปัญหาเจ็บแข้งขาไม่รู้หาย การเดินเป็นการออกกำลังที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง

ถ้าท่านต้องการเดินเพื่อออกกำลังกาย มีเรื่องน่ารู้อะไรบ้าง

อย่างแรกท่านอาจสนใจว่า ควรใช้รองเท้าอะไรดี
รองเท้าที่ดีสำหรับการเดินและทำได้ทั่วไปในเวลานี้ คือรองเท้าสำหรับใส่วิ่งนั่นเอง ท่านไม่จำเป็นต้องซื้ออย่างดีราคาแพง รองเท้าวิ่งราคาถูกก็สามารถใช้ประโยชน์ในการเดินได้ดีพอ เพราะการเดินไม่เกิดแรงกระแทกที่เท้ามากเท่าการวิ่ง และด้วยเหตุผลข้อนี้ ท่านจึงไม่ค่อยมีการเจ็บโน่นเจ็บนี่จากการเดิน

อย่างไรก็ดี การเดินมีส่วนละม้ายคล้ายการวิ่งอยู่มาก ในเรื่องของการลงน้ำหนักและการบิดของเท้า รองเท้าวิ่งซึ่งได้รับการออกแบบให้สามารถรับแรงกระแทกถึง 3 เท่าน้ำหนักตัว จึงมีคุณสมบัติเหมาะสมกับการเดิน อย่างน้อยท่านจะมีโอกาสเจ็บส้นเท้า ข้อเท้า ขา เข่า และสะโพกได้ยากยิ่งขึ้น
สิ่งที่การเดินแตกต่างจากการวิ่งอย่างสำคัญ คือ การเผาผลาญพลังงาน

เวลาวิ่ง ไม่ว่าท่านจะวิ่งเร็วหรือช้า พลังงานที่ถูกเผาผลาญไปต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร จะเท่ากัน คือราว 60แคลอรีต่อกิโลเมตร

แต่ในการเดิน ถ้าท่านยิ่งเดินเร็ว ท่านจะเผาผลาญพลังงานมากขึ้นต่อหนึ่งหน่วยระยะทาง
ตัวอย่างเช่น ถ้าท่านเดินด้วยความเร็ว 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ท่านจะใช้พลังงานราว 35 แคลอรีต่อกิโลเมตร

แต่ถ้าท่านเพิ่มความเร็วเป็น 8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ท่านจะเผาผลาญพลังงานถึง 80 แคลอรีต่อกิโลเมตร

เพราะเหตุใด

เนื่องจากในการวิ่ง ไม่ว่าท่านจะวิ่งเร็วหรือช้า ฟอร์มการวิ่งจะไม่เปลี่ยนไปมากนักทั้งการแกว่ง แขนและขา แต่ถ้าท่านเดินเร็ว สะโพกจะบิดและแขนแกว่งมากขึ้น ท่านจึงใช้พลังงานเพิ่มตามเป็นเงา
จะเห็นว่า ถ้าเดินเร็ว เราสามารถเผาพลังงาน (ต่อหนึ่งหน่วยระยะทาง) ได้มากกว่าการวิ่งเสียอีก แน่นอนที่ว่าการเดินเร็ว (ขนาดเกินกว่า 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) จะทำให้ก้นท่านบิดจนดูเหมือนดัดจริต หรือมองคล้ายตัวตลก (อย่างที่เห็นเขาเดินเร็วแข่งขันกันในข่าวกีฬา) แต่ก็อย่าไปแคร์สายตาใครเลยครับ สักหน่อยเขาก็จะค่อยชินไปเอง

การเดินยังผิดกับการวิ่งอีกอย่างคือ เวลาวิ่งเรามักถูกสอนไม่ให้ก้าวเท้ายาวเกินไป เพราะจะทำให้วิ่งได้ช้าลง เหนื่อยเร็ว และเจ็บขาได้ง่าย แต่ในการเดินถ้าท่านต้องการเดินให้เร็ว ก้าวต้องยาว เทคนิคอื่นๆในการเดิน ได้แก่ ตัวตั้งตรง มองไปข้างหน้า และเดินลงบนส้นเท้า
ถ้าท่านต้องการเดินให้เป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ที่จะมีผลดีต่อหัวใจท่าน จำเป็นต้องเดินให้เร็วพอที่หัวใจจะเต้นถึง 12o ครั้งต่อนาที มิฉะนั้นท่านอาจไม่ได้ความฟิตของร่างกายที่ต้องการ

นักวิ่งก็สามารถใช้ประโยชน์จากการเดินได้ เช่นในช่วงอุ่นเครื่องก่อนวิ่ง โดยเฉพาะผู้ที่ชอบวิ่งตอนเช้า การเดินสัก 400-600 เมตร ช่วยให้หายฝืด หรือในตอนเบาเครื่องหลังวิ่ง ก็ใช้ได้ดีเช่นกัน นอกจากนี้ถ้าท่านเจ็บจากการวิ่งการเดินเป็นการออกกำลังกายรักษาความฟิตเอาไว้ได้อย่างวิเศษ


 

ข้อมูลสื่อ

98-025
นิตยสารหมอชาวบ้าน 98
มิถุนายน 2530
วิ่งทันโลก
นพ.กฤษฎา บานชื่น