• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการคัน

การตรวจรักษาอาการคัน

ในครั้งที่แล้วได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคันประเภทต่างๆ ในครั้งนี้จะได้กล่าวถึงการตรวจรักษา

การตรวจรักษา

อาการคันเกิดจากสาเหตุมากมายดังกล่าวข้างต้น การตรวจรักษาจะได้ผลดี เมื่อสามารถหาสาเหตุและกำจัดสาเหตุได้ ดังนี้คือ

1. ถามประวัติถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคันและวิธีที่คนป่วยใช้จนสามารถทุเลาอาการคันลงได้

2. ตรวจร่างกาย ดูลักษณะผิวหนังตรงบริเวณที่คัน เปรียบเทียบกับในบริเวณอื่น เช่น

ถ้ามีผื่นคัน มีลมพิษ มีจุด ตุ่ม หรือปื้น หรือมีลักษณะผิวหนังที่ผิดไปจากปกติ ก็อาจถือว่าเป็นโรคผิวหนังได้

ถ้าผิวหนังไม่มีลักษณะผิดปกติ ให้ตรวจดูว่าคนไข้มีอาการตัวเหลือง ซึ่งแสดงว่าดีซ่านหรือมีหน้าตาซีด หนังตาบวม และผิวหนังเป็นสีสกปรก ซึ่งแสดงว่าไตล้ม หรือมีอาการแสดงออกของโรคจิต การตั้งครรภ์ หรือมีอาการของโรคอื่นใดหรือไม่ ถ้าไม่มี อาจต้องถามประวัติเกี่ยวกับอาการปวดท้อง และ/หรืออุจจาระมีพยาธิปนออกมาด้วยหรือไม่ หรือประวัติเกี่ยวกับอาการหิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย และประวัติโรคเบาหวานในครอบครัว ซึ่งทำให้สงสัยว่าอาจจะคันจากโรคเบาหวานได้

3. ตรวจเลือด ปัสสาวะ และอุจจาระ ในกรณีที่ซักประวัติและตรวจร่างกายแล้วไม่พบสาเหตุ เพื่อดูว่าเป็นโรคพยาธิในลำไส้ (โรคเบาหวาน โรคมะเร็งของเม็ดเลือดขาวหรือโรคอื่นใดหรือไม่)

ถ้าซักประวัติและตรวจร่างกายพบว่าเป็น

1. โรคผิวหนังจากภูมิแพ้ (allergic dermatitis) เพราะเห็นเป็นลมพิษ (urticaria) เป็นผื่นคัน (skin rashes) หรือมีประวัติชัดเจนว่าเกิดอาการคันหลังจากถูกต้องของที่แพ้ หรือหลังจากได้รับอาหาร ยา หรือสารที่แพ้เข้าไป หรือมีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นโรคคัน หรือเป็นโรคหอบหืดให้รักษา ดังนี้

ก. ให้ยาแก้แพ้และแก้คัน เช่น ยาคลอร์เฟนิรามีน (chlorpheniramine) กินครั้งละ ½-1 เม็ดหลังอาหาร 3 เวลา และ 1-2 เม็ดก่อนอน

ข. ให้ทาบริเวณที่คันด้วยยาแก้แพ้ เช่น ขี้ผึ้งเพร็ดนิโซโลน (prednisolone ointment) ให้ทาเพียงบางๆ เบาๆ วันละ 2-3 ครั้ง

ค. ถ้ากินยาและทายา 2-3 วันแล้วไม่ดีขึ้นควรไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจให้ละเอียดเพิ่มเติม

2. โรคผิวหนังจากยุงกัด ไรกัด หรือแมลงกัดต่อย (insect bites) เพราะ มีประวัติว่าโดนแมลงกัดต่อย ถ้ามีแต่อาการคัน ให้รักษาโดยทาบริเวณที่คันด้วยยาทา (เช่น ขี้ผึ้งเพร็ดนิโซโลน) ถ้าคันมากอาจกินยาแก้แพ้ (เช่น ยาคลอร์เฟนิรามีน) ด้วย

3. โรคหิด (scabies) มักคันตามง่ามนิ้วมือ หรือนิ้วเท้า และมีประวัติว่าเพื่อนหรือคนในครอบครัวเป็นด้วย หรือตรวจพบตัวหิดจากการขูดผิวหนังบริเวณนั้นไปตรวจโดยกล้องจุลทรรศน์ ให้รักษาโดยการใช้ยารักษาหิดเหาขององค์การเภสัชกรรม ดูวิธีใช้ในฉลาก

4. โคเหาโรคโลน (pediculosis) โดยตรวจพบตัวและ/หรือไข่ที่บริเวณเส้นผม และเส้นขน ให้รักษาโดยการใช้ยารักษาหิดเหาขององค์การเภสัชกรรม ดูวิธีใช้ในฉลาก

5. โรคผิวหนังจากการเกา (neurodermatitis) เพราะเป็นในบริเวณที่มือเกาถึง มักเป็นบริเวณหลังเท้า ขา แขน และคอ คนไข้จะแกะ เกา ถู หรือขูดบริเวณนั้นอยู่เป็นประจำ เมื่ออยู่ว่างๆ

การรักษาที่ดีที่สุด คือ ต้องทำให้คนไข้หยุดแกะ เกา ถู ขูด หรือข่วนบริเวณดังกล่าว แล้วอาการคันจะลดลง ต่อมาผื่นหรือปื้นดำจะค่อยๆ ราบลงและดีขึ้น อาจให้ยากินแก้คัน เช่น คลอร์เฟนิรามีน และขี้ผึ้งเพร็ดนิโซโลนทาเพื่อช่วยลดอาการได้ การทายาให้ทาเพียงบางๆ เบาๆ (คนไข้มักจะถือโอกาสเวลาทายาทำการเกา ถู หรือขูดผิวหนัง โดยอ้างว่าต้องการให้ยาซึมเข้าไปมากๆ ซึ่งกลับจะเป็นผลร้าย ทำให้ผิวหนังอักเสบ คันมากขึ้น)

6. โรคผิวหนังจากการระคายด้วยสิ่งอื่น (irritation dermatitis) เพราะมีประวัติไปถูกต้องของที่ระคายเหล่านั้น ให้ล้างของที่ระคายออก หรือถ้าโดนขนบุ้ง ขนหมามุ่ย หรือขนละเอียดอื่นๆ อาจใช้ขี้ผึ้งอังไฟให้นุ่มแล้วนวดบริเวณนั้น เพื่อดึงขนเหล่านั้นออก หรือใช้กระดาษกาว หรือสก็อตเทปแตะตึงๆ เพื่อดึงขนที่ฝังอยู่ออก แล้วอาจทาด้วยขี้ผึ้งเพร็ดนิโซโลนเพื่อลดอาการคัน

7. โรคอีสุกอีใส (chicken pox) เริม (herpes simplex) งูสวัด (herpes zoster) เพราะมีลักษณะเป็นเม็ดพองใส ถ้าเป็นเม็ดเดี่ยวๆหรืออยู่กันเป็นกลุ่มเป็นกระจุก บริเวณริมฝีปากหรือบริเวณรอยต่อระหว่างผิวหนังกับเยื่อเมือกบริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนัก ก็เป็นลักษณะของเริม ถ้าเป็นเม็ดพองใสที่ขึ้นเป็นแถวเป็นแนวเรียงกันไปตามยาว ถ้าเป็นที่แขนขา หรือเรียงกันไปตามแนวขวางหรือตามแนวซี่โครงถ้าเป็นที่ลำตัว หรือเรียงกันเป็นแนวที่หน้าผากหรือหน้าซีกใดซีกหนึ่ง ก็เป็นลักษณะของงูสวัด

การรักษา ให้รักษาตามอาการ เพราะยังไม่มียาที่ใช้รักษาโดยเฉพาะ ถ้าคันมากให้ใช้ยาคลอร์เฟนิรามีนกินเพื่อช่วยลดอาการคันได้ แต่ห้ามใช้ขี้ผึ้งเพร็ดนิโซโลนทาผื่นหรือตุ่มพองในโรคทั้ง 3 นี้

8. โรคกลากเกลื้อน (ringworm, tinea) เพราะเป็นผื่นเป็นวงๆ ถ้าเป็นกลากจะเห็นเป็นวงหรือเป็นดวงใหญ่ๆ ที่มีขอบนูนชัดเจนและลุกลาม และมีสะเก็ดเล็กๆ ส่วนตรงกลางยาวเรียบ มีลักษณะเหมือนผิวปกติได้ เป็นในบริเวณใดก็ได้ ถ้าเป็นเกลื้อน มักเป็นบริเวณหน้าอกและหลัง เห็นเป็นดวงเล็กๆ เป็นสีซีดกว่าผิวหนังทั่วไป หรืออาจเห็นเป็นสีเข้มกว่าผิวหนังทั่วไปก็ได้ในคนผิวขาว

การรักษา ให้อาบน้ำฟอกตัวให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง เวลามีเหงื่อควรอาบน้ำและเช็ดให้แห้งทุกครั้งและเปลี่ยนเสื้อผ้า อย่าให้อับเหงื่อหรือหมักเหงื่อไว้ ใช้ยารักษากลากเกลื้อนขององค์การเภสัชกรรมทาตามที่ระบุไว้ในฉลาก

9. โรคฝีพุพอง (impetigo) หรือที่ชาวบ้านอาจเรียกว่า “โรคน้ำเหลืองไม่ดี” เพราะมักเป็นฝีพุพองในบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง และบางครั้งเป็นที่แขนด้วย มักเป็นในเด็ก ส่วนใหญ่เกิดจากโดนยุงกัดหรือโดนสิ่งระคายอย่างอื่น เช่น จากการย่ำน้ำสกปรกแล้วเกิดอาการคัน เด็กจึงเกา ทำให้เกิดแผลและเชื้อหนองเข้าแทรก เกิดเป็นฝีพุพองขึ้น

การรักษา คือ การกินยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อและการฟอกล้างบริเวณที่เป็นฝีพุพองให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ และอาจทายาฆ่าเชื้อในบริเวณที่เป็นฝีพุพองด้วย เนื่องจากโรคนี้มักเป็นเรื้อรังและมักเป็นในเด็ก ชนิดของยาปฏิชีวนะที่จะใช้จึงควรให้แพทย์ตรวจดูเชื้อและสั่งให้ เพราะอาจต้องเปลี่ยนยาปฏิชีวนะเป็นครั้งคราวป้องกันเชื้อดื้อยา และป้องกันพิษภัยจากยาที่ต้องใช้เป็นเวลานาน

10. โรคสิว (acne) มักเป็นที่ใบหน้า หน้าอก และหลัง ในวัยรุ่นและหนุ่มสาว เป็นในชายมากกว่าหญิง และอาจเป็นเม็ดโตๆ (สิวหัวช้าง, acne vulgaris) เพราะมีการติดเชื้อจากการบี้ บีบ หรือแกะสิว

การรักษา คือ

ก. กินยาเตตราซัยคลีน (tetracycline) ครั้งละ 2 เม็ดหลังอาหาร 3 เวลาและก่อนนอน (วันละ 8 เม็ด) ประมาณ 5 วัน หลังจากนั้น ให้กินครั้งละ 1 เม็ดหลังอาหาร 3 เวลา และก่อนนอน (วันละ 4 เม็ด) จนเม็ดสิวยุบลงและหายปวด (อาจกินเป็นเวลา 1-3 สัปดาห์) แล้วลดยาลงเหลือครั้งละ 1 เม็ดหลังอาหารเช้า-เย็น กินติดต่อกันไปประมาณ 2-4 เดือน

ข. ฟอกหน้าให้สะอาดและหายมันด้วยสบู่อ่อนธรรมดา (ห้ามใช้สบู่ยา สบู่ที่หอมมาก หรือสบู่ที่แรงและระคายมาก) ฟอกวันละ 3-6 ครั้ง ให้ผิวหน้าหายมันและค่อนข้างตึงอยู่เสมอ

ค. ห้ามเอามือไปถูกต้องใบหน้าเป็นอันขาด นอกจากเวลาล้างหน้า เพราะเชื้อโรคจากมือจะเข้าไปในขุมขน ทำให้เป็นสิวมากขึ้น เวลาคันหน้าหรือคันที่สิว ให้ใช้ผ้าเช็ดหน้า หรือกระดาษเช็ดหน้าแตะๆลูบๆหน้าเท่านั้น อย่าบีบเค้นหัวสิว หรือผิวหน้าจนเกิดอาการระบมหรือปวด จะทำให้เป็นสิวมากขึ้น

ง. อาจใช้ยาคลินดามัยซิน 1% ในแอลกอฮอล์ 70% (1% clindamycin in 70% alcohol) ซึ่งอาจผสมเองได้โดยแกะแคปซูลคลินดามัยซิน 1 แคปซูลซึ่งมียา 150 มิลลิกรัม ใส่ในขวดแก้วขนาด 15-20 มิลลิลิตร (ซีซี) แล้วเติมแอลกอฮอล์ 70% (แอลกอฮอล์เช็ดแผล) จำนวน 15 มิลลิลิตรลงไป เขย่าขวดเล็กน้อย แล้วใช้ยานั้นแต้มจุดหรือตุ่มที่กำลังเจ็บๆคันๆ จะทำให้จุดหรือตุ่มนั้นฝ่อไปได้

11. โรคผิวแห้ง (dry skin) ผิวจะแห้งมากในหน้าหนาวหรือในคนที่ฟอกสบู่มาก หรืออาบน้ำร้อนมาก ทำให้น้ำมันที่เคลือบผิวอยู่ถูกชะล้างออกไป ผิวจึงแห้งและแตกง่าย ทำให้คัน

การรักษา ถ้าตรวจพบว่าผิวแห้งให้งดใช้สบู่ งดอาบน้ำร้อน และอาจทาผิวด้วยน้ำมันมะกอก หรือครีมทาผิวเพื่อให้ผิวชุ่มชื้นอยู่เสมอ คนสูงอายุก็อาจมีผิวแห้งกว่าปกติ ทำให้คันง่าย จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้สบู่และใช้น้ำมันมะกอกหรือครีมทาผิวทาบริเวณที่แห้งเป็นประจำ

12. โรคผิวมันอักเสบ (seborrheic dermatitis) เห็นเป็นผื่นแดงที่บริเวณรอยต่อระหว่างจมูกกับแก้มบริเวณหลังหู บริเวณหนังศีรษะ ทำให้เกิดเป็นขี้รังแค บริเวณหน้าอกและหลัง อาจเกิดร่วมกับการเป็นสิวได้

การรักษา อาบน้ำฟอกสบู่ให้ผิวหายมันแล้วทาบริเวณผื่นแดงด้วยครีมแก้อักเสบ เช่น ครีมสตีรอยด์ (steroid cream) วันละ 2-3 ครั้ง จะทำให้อาการคันและผิวหนังอักเสบลดลง

13. โรคผิวหนังอื่นๆ ให้ปรึกษาหมอโรคผิวหนัง

14. โรคภายในร่างกาย เพราะไม่พบความผิดปกติที่ผิวหนัง และมีประวัติหรือการตรวจร่างกายบ่งว่าเป็น

ก. โรคพยาธิในลำไส้ (intestinal parasitism) เพราะมีประวัติอุจจาระมีพยาธิปนออกมา หรือตรวจอุจจาระพบไข่พยาธิ

การรักษา ขึ้นกับชนิดของพยาธิ (อ่านในเรื่องการตรวจรักษาโรคพยาธิลำไส้ในนิตยสารหมอชาวบ้านฉบับที่ 7 เดือนพฤศจิกายน 2522 หน้า 30-36)

ข. โรคเบาหวาน (diabetes mellitus) เพราะมีประวัติปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะมีมดขึ้น มีคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน มักเป็นฝีบ่อยๆ และฝีหรือแผลหายยาก ควรตรวจปัสสาวะดูว่ามีน้ำตาลหรือไม่ และถ้าทำได้ควรตรวจเลือดดูระดับน้ำตาลในเลือดด้วย

การรักษา (อ่านในเรื่องการตรวจรักษาโรคเบาหวานในนิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 19 เดือนพฤศจิกายน 2523 หน้า 32-46)

ค. โรคดีซ่านจากการอุดกั้นทางเดินน้ำดี (obstructive jaundice) เพราะผู้ป่วยมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีส้มหรือสีชาแก่ อุจจาระสีซีด

การรักษา ไปโรงพยาบาล

ง. ไตล้ม หรือไตวาย (renal failure) เพราะผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะผิดปกติ หน้าซีดสกปรก เหนื่อยหอบ เคยเป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

การรักษา ไปโรงพยาบาล

จ. การตั้งครรภ์ (pregnancy) เพราะผู้ป่วยประจำเดือนขาด เต้านมโตคัดขึ้น ท้องโตขึ้น

การรักษา หลีกเลี่ยงจากการเกาและการระคายผิวหนัง ถ้าผิวแห้งให้รักษาแบบผิวแห้ง ถ้าผิวมันให้รักษาแบบผิวมัน และพยายามหลีกเลี่ยงจากการใช้ยากินหรือฉีด ถ้าจำเป็นต้องใช้ยากินหรือยาฉีดควรปรึกษาแพทย์ก่อน

ฉ. ไม่แน่ใจว่าเป็นโรคอะไรให้ไปโรงพยาบาล
ถ้าตรวจรักษาอาการคันด้วยตนเองแล้ว อาการไม่ดีขึ้นหรือทรุดลง ควรจะไปหาแพทย์ หรือไปตรวจให้แน่นอนว่าอาการคันเกิดจากสาเหตุอะไร จะได้รักษาสาเหตุด้วย อาการคันจึงจะหายขาดได้ ถ้ากำจัดสาเหตุได้ 

ข้อมูลสื่อ

121-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 121
พฤษภาคม 2532
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์