• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เฝือกบีบรัด...สถานการณ์ฉุกเฉิน

เฝือกบีบรัด...สถานการณ์ฉุกเฉิน

หนุ่มน้อยนอนบนเตียงรถเข็น ขาขวาห่อหุ้มด้วยเฝือกจากปลายนิ้วเท้าถึงโคนขา นิ้วเท้าส่วนที่โผล่พ้นขอบเฝือกบวมเป่ง ปลายเล็บเขียวคล้ำ ตรวจดูแล้วพบว่า การไหลเวียนเลือดที่นิ้วเท้าไม่ดี เมื่อบอกให้เขาขยับนิ้วเท้า เขาทำไม่ได้ จึงจับปลายนิ้วเขากระตุกขึ้นลง

“ไม่ปวดหรือ” ผมถาม เมื่อเห็นสีหน้าเขาเฉยไม่แสดงอาการเจ็บปวด

“ตอนแรกเจ็บมาก ตอนนี้มันชาไปหมด ไม่เจ็บเลย”

ผมรีบตัดเฝือกออกอย่างรวดเร็ว นี่เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่รีรอไม่ได้เพื่อรักษาขาของหนุ่มน้อยไว้

เขาอายุ 19 ปี ขี่รถจักรยานยนต์ชนรถบรรทุกเมื่อเช้านี้ ผลคือกระดูกขาขวาหัก เขาได้รับการดึงกระดูกให้เข้าที่และเข้าเฝือกเอาไว้ที่โรงพยาบาลชุมชนเมื่อตอนใกล้เที่ยง แพทย์ต้องการให้ผู้ป่วยพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสักคืน แต่ผู้ป่วยไม่ยอม จะกลับบ้านให้ได้ เด็กหนุ่มนั่งรถโดยสารกลับบ้านระยะทาง 80 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาเดินทางกว่า 2 ชั่วโมง เขาจำได้ว่าแพทย์สั่งให้ยกขาสูง เขาจึงเลือกนั่งที่เบาะท้ายรถ โดยนั่งพิงข้างรถ วางขาเหยียดยาวบนเบาะ

เมื่อลงจากรถเขารู้สึกว่าขาบวมคับเฝือก ปลายนิ้วบวมเป่งและปวดมาก ปวดจนนอนไม่ได้ จึงนั่งวางขาเหยียดยาวบนแคร่ และได้รับการฉีดยาแก้ปวดจากหมอกลางบ้านอีก 2 เข็มแต่อาการปวดทุเลาเพียงชั่วครู่ ต่อมานิ้วเท้าเขียวคล้ำ จับดูเย็นผิดปกติ เวลาใครมาถูกต้องปลายนิ้วจะปวดมาก ญาติๆ จึงเหมารถนำมาส่งที่โรงพยาบาล ระหว่างอยู่ในรถเขารู้สึกว่าความเจ็บทุเลาลงไป แต่รู้สึกขาเป็นเหน็บชาและหนักอึ้ง หนักจนแม้แต่จะขยับนิ้วเท้าก็ยังทำไม่ได้

เมื่อตัดเฝือกออกแล้ว ผมพยายามคลำชีพจรที่หลังเท้า ข้อเท้า และข้อพับหลังเข่า พบว่า คลำไม่ได้ แสดงว่าในขณะนี้เลือดไม่สามารถมาเลี้ยงขาได้เลย ขณะนี้เวลาใกล้เที่ยงคืน กล้ามเนื้อคนเราจะตายหากขาดเลือดมาเลี้ยงเกินกว่า 8 ชั่วโมง ผู้ป่วยมาหาเราหลังเกิดอุบัติเหตุ 16 ชั่วโมง และหลังจากเข้าเฝือก 12 ชั่วโมง เราไม่รู้ว่าขาของเขาขาดเลือดมาเลี้ยงนานเท่าไร อย่างไรก็ตามเราต้องรีบ เพราะโอกาสของเขาอาจมีเหลืออยู่ ผมให้เตรียมผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัดฉุกเฉิน ขอบคุณสำหรับทีมงานทุกคนที่ทำงานอย่างฉับไว พวกเรากำลังทำงานแข่งกับเวลา เพื่อรักษาขาของหนุ่มน้อยคนนี้ ผมกรีดผิวหนังและเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อเพื่อให้ความดันในชั้นกล้ามเนื้อลดลง กล้ามเนื้อสีแดงคล้ำ จนเกือบดำทะลักออกมาตามรอยกรีด ผมลองบีบดู ปรากฏว่ากล้ามเนื้อไม่หดตัว ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่ากล้ามเนื้อตายแล้ว เราได้แต่พยายามทำอย่างดีที่สุด โดยหวังว่าอาจมีกล้ามเนื้อส่วนดีเหลืออยู่บ้าง เราไม่อยากตัดขาผู้ป่วย

การปฏิบัติตัวหลังเข้าเฝือกมีความสำคัญมาก เพราะอาจเกิดภาวะเฝือกบีบรัดจนขาดเลือดได้ ดังเช่นผู้ป่วยรายนี้ แม้ว่าภาวะนี้จะพบได้ไม่มาก แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วจะเป็นอันตรายมาก หลังเข้าเฝือกต้องยกแขนขาส่วนที่เข้าเฝือกสูงกว่าระดับหัวใจ การยกแขนขาสูงนั้น ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเข้าเฝือกที่ขา ควรนอนราบบนเตียง แล้วใช้หมอนหนุนขาไว้ การนั่งพาดขานั้น ขาจะวางในระดับต่ำกว่าหัวใจ ดังเช่นผู้ป่วยรายนี้ โดยปกติแขนขาจะบวมอย่างมากในระยะ 48 ชั่วโมงแรกภายหลังกระดูกหัก การยกส่วนที่หักให้สูงในระยะนี้จึงมีความสำคัญมาก เพราะหากเกิดการบวมขึ้นแล้ว เนื้อเยื่อไม่สามารถขยายตัวได้ภายในเฝือก ความดันในเนื้อเยื่อจึงสูงขึ้นๆ จนถึงระดับที่เลือดไม่สามารถไหลผ่านมาเลี้ยงได้ เกิดการเน่าตายของเนื้อเยื่อต่างๆ

ในรายที่กล้ามเนื้อช้ำมาก ซึ่งมีโอกาสบวมได้มาก แพทย์จึงมักให้ผู้ป่วยพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อสังเกตการบวม และจะได้แก้ไขภาวะแทรกซ้อนได้ทัน สำหรับผู้ป่วยที่กลับบ้าน หากเกิดภาวะเฝือกบีบรัด ควรรีบกลับมาพบแพทย์เพื่อตัดเฝือกและให้การรักษาที่ถูกต้อง อย่ากินหรือฉีดยาแก้ปวดมากเกินไป เพราะจะบดบังอาการจนทำให้ช้าเกินการ ถ้าอาการรุนแรงมาก และต้องใช้เวลานานกว่าจะมาถึงโรงพยาบาล ให้แช่เฝือกลงในน้ำสะอาด เฝือกจะอ่อนตัวลง จนสามารถใช้กรรไกรตัดผ้าตัดได้ หรือใช้มือฉีกเฝือกออกได้ อย่าให้เกิดเหตุเช่นหนุ่มน้อยผู้น่าสงสารคนนี้ ที่เราต้องตัดขาในอีก 5 วันต่อมา เพราะกล้ามเนื้อหน้าแข้งเน่าตายจากการขาดเลือดเนื่องจากเฝือกบีบรัด

ข้อมูลสื่อ

121-023
นิตยสารหมอชาวบ้าน 121
พฤษภาคม 2532
นานาสาระ
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์