• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วิ่งมาราธอนทำให้ตายจริงหรือ??

วิ่งมาราธอนทำให้ตายจริงหรือ??

ผู้อ่านท่านหนึ่งตัดข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ (สยามรัฐ ฉบับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2532) ส่งมาพร้อมกับกำชับให้ติดตามข่าวและตอบให้กระจ่าง ผู้เขียนจนใจที่ไม่สามารถติดตามข่าวได้ เพราะนอกจากข่าวสั้นๆ ชิ้นนี้แล้วก็ไม่มีข่าวคืบหน้าอีกเลย แต่ก็คิดว่าพอจะตอบให้หายข้องใจได้ ส่วนจะกระจ่างหรือไม่คงขึ้นอยู่กับใจของแต่ละคน

ก่อนอื่นลองอ่านข่าวที่เขาตัดมาให้

วิ่งจนตายทิ้งลูกเมียรอเก้อที่เส้นชัย
เกิดโศกนาฏกรรมในการแข่งขันมาราธอนอีกแล้ว นักวิ่งแอฟริกาใต้รายหนึ่งลงแข่งมาราธอนที่กรุงโยฮันเนสเบิร์ก วิ่งมาจนกระทั่งอีก 1 กิโลเมตรจะถึงเส้นชัยก็ไปไม่ไหวล้มลง เจ้าหน้าที่รีบพาขึ้นรถพยาบาล แต่ไม่ทันถึงมือหมอ ชายเคราะห์ร้ายรายนี้ก็สิ้นใจซะก่อน

เกอร์ฮาร์ด เวนเตอร์ หนุ่มใหญ่วัย 37 ปี มีงานหลักเป็นช่างเครื่องด้านการบิน แต่นิยมชมชอบวิ่งมาราธอนเป็นชีวิตจิตใจ ลงแข่งขันมาราธอนเบตฟอร์ดวิวประจำปี 1989 เมื่อวันอาทิตย์ เวนเตอร์วิ่งมาเรื่อยๆ ไม่มีทีท่าจะไปไม่ไหว แต่พอเหลืออีกแค่ 1 กิโลเมตรจะเข้าเส้นชัย เวนเตอร์กลับล้มลงดื้อๆ เจ้าหน้าที่จัดการแข่งขันเผยว่า รถพยาบาลมาถึงที่เกิดเหตุหลังจากนั้น 3 นาที พอขึ้นรถพยาบาลได้สักพักเวนเตอร์ก็ชะตาขาด ทิ้งให้เมียและลูก 3 คนเฝ้าชะเง้อรออยู่ที่เส้นชัย กว่าจะรู้เรื่องหัวหน้าครอบครัวก็หลับไม่ตื่นซะแล้ว

ข่าวแจ้งว่า ไม่มีใครคาดคิดว่าเวนเตอร์จะมาด่วนจากไปในสภาพเช่นนี้ เนื่องจากว่าก่อนหน้านั้นราว 2 สัปดาห์ เวนเตอร์ลงวิ่งมาราธอนรายการหนึ่งทำเวลาได้ 4 ชั่วโมง 29 นาที 50 วินาที และยังดูแข็งแรงดี นี่ก็เป็นข้อเตือนใจสำหรับนักวิ่งมาราธอนในเมืองไทยได้เป็นอย่างดี ถ้าหากรู้ตัวว่าไปไม่ไหวก็อย่าฝืนเลย มันไม่คุ้มกันหรอก

เป็นไงครับ...อ่านแล้วทำให้กลัวไม่กล้าวิ่งใช่ไหม เพราะขนาดนายเกอร์ฮาร์ด เวนเตอร์ ผู้สามารถวิ่งมาราธอนได้มาหยกๆ ยังเป็นลมล้มลงตายขณะวิ่งโดยไม่รู้สาเหตุ และไม่มีอะไรเตือนมาก่อน

แต่จริงหรือที่ว่าตายปุบปับ โดยไม่มีสาเหตุ และไม่มีสัญญาณเตือนภัยใดๆ ทั้งสิ้น

ถ้าเราอ่านเฉพาะข่าวหนังสือพิมพ์ก็นึกว่าจริง เพราะหนังสือพิมพ์ (ไม่ว่าไทยหรือเทศ) ชอบที่จะลงข่าวน่าตื่นเต้นทิ้งท้ายให้คนเก็บเอาไปคิดหรือเอาไปคุยกันต่อ โดยที่เมื่อ (หนังสือพิมพ์) ทราบภายหลังว่าสาเหตุเป็นจากอะไร ก็มักจะไม่ลงเป็นข่าวใหญ่โตเหมือนทีแรก บางครั้งก็ไม่ลงเอาเสียเฉยๆ เราจึงมักได้ฟังแต่ข่าวทำนองนี้อยู่เสมอว่ามีคนตายที่โน่นที่นี่ โดยไม่รู้สาเหตุ และดูเหมือนว่าจะมีตายกันอยู่บ่อยๆ จนรู้สึกว่าการวิ่งมาราธอนเป็นกีฬาที่อันตราย

แล้วความจริง การวิ่งมาราธอนมีอันตรายแค่ไหน

มีการศึกษาในกลุ่มนักวิ่งเพื่อสุขภาพที่โรด ไอร์แลนด์ ในสหรัฐอเมริกา1 เขาพบว่า มีการตายที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายหนึ่งใน 7,620 คนต่อปี หมายความว่า ในนักวิ่ง 7,620 คนจะมีอยู่หนึ่งคนที่มีโอกาสที่มีโอกาสตายจากการออกกำลังกายในเวลา 1 ปี หรือถ้าคิดเป็นชั่วโมงของการวิ่ง ก็คือ มีการตายเกิดขึ้น 1 รายต่อการวิ่ง 400,000 ชั่วโมง

ชักน่ากลัวน้อยลงหน่อยใช่ไหม จะถูกแจ๊กพ็อตได้หนึ่งครั้งใน 400,000 ครั้ง ยากเกือบเท่าๆ กับถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง นอกจากนี้ ผู้ที่ตายขณะวิ่งออกกำลังกายก็ไม่ใช่ปุบปับตายไปเฉยๆ โดยไม่รู้สาเหตุหรือไม่มีอาการอันใดนำมาก่อน จากข้อมูลที่มีผู้รวบรวมไว้ ถึง พ.ศ.2530 มีรายงานนักวิ่งมาราธอนเสียชีวิตอย่างปัจจุบันทันด่วน 36 ราย 2,3 อายุเฉลี่ยของคนพวกนี้ 44 ปี และวิ่งมานานเฉลี่ย 7 ปี สาเหตุการตายพบว่า เป็นจากโรคหลอดเลือดหัวใจถึงร้อยละ 75 และร้อยละ 71 ของกลุ่มที่เป็นโรคหัวใจมีอาการเตือนนำมาก่อน แต่เป็นที่น่าเสียดาย ตรงนี้ต้องย้ำ เป็นที่น่าเสียดายและน่าเสียใจที่พวกนี้ไม่เชื่อฟังสิ่งซึ่งร่างกายพยายามบอกเขา แต่ยังฝืนแข่งขันหรือฝืนวิ่งต่อไป ผลคือ ความตายที่เกิดขึ้นซึ่งราวครึ่งหนึ่งเกิดระหว่างหรือวิ่งภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากการแข่งขันหรือการวิ่งยาวๆ

จากข้อมูลข้างต้นเราได้เรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับการตายอย่างปัจจุบันทันด่วนของนักวิ่งมาราธอน

อย่างแรก คือ ผู้ที่วิ่งมานานถึง 7 ปี ก็ยังมีสิทธิ์เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและตายจากโรคนี้

อย่างที่สอง สาเหตุการตายอย่างปัจจุบันทันด่วนมักเกิดจากโรคหัวใจ การศึกษาอื่นๆ ก็ให้ผลยืนยันเช่นเดียวกัน บางครั้งแม้ไม่ได้เป็นจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ก็เป็นจากโรคหัวใจแต่กำเนิดซึ่งอาจซ่อนเร้นอยู่

อย่างที่สาม ร่างกายจะพยายามส่งสัญญาณอันตรายเตือนเราให้รู้ล่วงหน้าว่ามีสิ่งไม่ชอบมาพากลกำลังดำเนินอยู่ ถ้าเราคอยสังเกตอาการดู และเชื่อฟัง ก็จะหลีกเลี่ยงการตายที่ไม่จำเป็นนี้ได้ ในทางปฏิบัติ นายแพทย์ ทีดี โน๊คส์ ซึ่งเป็นผู้สนใจค้นคว้าเรื่องการตายปัจจุบันทันด่วน ได้ให้คำแนะนำไว้ 4 ข้อ2 ผู้เขียนขอยกมาไว้ ณ ที่นี้

ข้อแรก การวิ่งระยะยาว เช่น วิ่งมาราธอนได้ ไม่ใช่สิ่งรับประกันว่าจะปลอดภัยจากโรคหัวใจ ตัวอย่างที่เด่นชัด คือ จิมส์ ฟิกส์ นักเขียนและนักวิ่งชื่อกระฉ่อน เคยวิ่งมาราธอนสำเร็จหลายครั้ง แต่ก็เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจอย่างปุบปับขณะวิ่งออกกำลังกาย หรือดังเรื่องของนายเกอร์ฮาร์ด เวนเตอร์ ที่ปรากฏเป็นข่าวข้างต้น

ในผู้ที่เคยเป็นโรคหัวใจ แล้วฟื้นตัวขึ้นมาใหม่จนสามารถวิ่งได้ยาวๆ (หรือแม้แต่วิ่งมาราธอน) ก็ไม่ได้หมายความว่าโรคหัวใจของท่านจะหายไป ท่านเพียงแต่ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นและโอกาสตายจากโรคหัวใจน้อยลงเท่านั้น

ข้อสอง ถ้ามีอาการเตือนต่อไปนี้ นักวิ่งควรจะปรึกษาแพทย์และที่แน่ๆ ไม่ควรฝืนวิ่งหรือแข่งต่อไป อาการดังว่า ได้แก่ เจ็บหรือแน่นหน้าอก หัวไหล่ (โดยเฉพาะข้างซ้าย) ลำคอหรือต้นคอ หลัง (บริเวณสะบักด้านซ้าย) ท้อง (บริเวณลิ้นปี่) คลื่นไส้ เหนื่อยหรืออ่อนเพลียผิดปกติ (ทั้งในระหว่างและภายหลังออกกำลังกาย) หน้ามืด วิงเวียน เป็นต้น

สองข้อแรกก็เป็นการเตือนฝ่ายนักวิ่ง ส่วนสองข้อต่อมาเป็นของฝากสำหรับฝ่ายการแพทย์

ข้อสาม ในผู้ที่มีร่างกายดูว่าฟิต เช่น นักวิ่งมาราธอน ถ้ามีอาการของโรคหัวใจก็อย่าพึงมองข้ามไปเสีย เพราะอาจมีโรคหลอดเลือดหัวใจซ่อนเร้นอยู่ หรืออาจเป็นโรคหัวใจอื่นๆ บางอย่างที่ติดตัวมาแต่กำเนิด (เช่น hypertrophic cardiomyopathy) ก็ได้ ดังนั้นจึงควรตรวจวินิจฉัยให้ละเอียด

ข้อสี่ ซึ่งสำคัญมากและเป็นเหตุให้เราต้องมาคุยกันในวันนี้คือ ในรายที่ตายปุบปับขณะออกกำลังกาย ควรมีการหาสาเหตุโดยแน่ชัด และเผยแพร่ออกไป เพื่อความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการตายปัจจุบันทันด่วนจากการเล่นกีฬา จะได้ดียิ่งๆขึ้น อันจะเป็นหนทางนำไปสู่การป้องกันในอนาคต

ครับ ก็ไม่ทราบว่าผู้เขียนได้ทำความกระจ่างแจ้งได้แค่ไหนในเรื่องที่มีผู้ถามมา หรือว่าจะทำให้งงหนักขึ้นไปอีก อย่างไรก็ดี บางคนหลังจากอ่านบทความนี้ อาจไม่แน่ใจตัวเองว่าจะมีโรคหัวใจ “ซ่อนเร้น” อยู่หรือเปล่า จะไปออกกำลังกายได้ไหม จะต้องตรวจร่างกายโดยเฉพาะระบบหัวใจกันถี่ถ้วนแค่ไหนถึงจะสบายใจได้ เรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่มาก ผู้เขียนพอให้แนวทางกว้างๆ ได้ดังนี้

ถ้าหากท่านมีร่างกายเป็นปกติ และปราศจากประวัติเรื่องโรคหัวใจ ความดันเลือดสูง ข้ออักเสบ หรือเบาหวาน ไม่มีใครในครอบครัวเสียชีวิตจากโรคหัวใจตั้งแต่อายุยังน้อย (ต่ำกว่า 50 ปี) และไม่เคยมีอาการหอบเหนื่อยผิดปกติจากการออกกำลังกาย หรือออกกำลังแล้ววิงเวียน เป็นลม จุกแน่นหรือปวดเค้นในอก คอ ไหล่ หรือแขนแล้วละก็ ท่านอาจเริ่มต้นออกกำลังกายได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องไปตรวจกันอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยมีข้อแม้ว่าการออกกำลังกายนั้นควรเริ่มต้นจากทีละน้อย แล้วค่อยๆเพิ่มไปเป็นขั้นเป็นตอน แต่ถ้าท่านมีประวัติอันใดอันหนึ่งหรือหลายๆอย่างที่กล่าวมาข้างต้น และอายุอยู่ในวัยกลางคนแล้ว เพื่อความปลอดภัยท่านควรให้แพทย์ตรวจร่างกายเสียก่อนดีกว่า

ท้ายที่สุด อย่าลืมเรื่องของสามัญสำนึก ควรเลือกชนิดและความหนักของกีฬาหรือการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและอายุของคนเรา การออกกำลังกายควรค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่อยู่ๆคนที่ไม่เคยออกกำลังกายมาเป็นเวลานานจะลงไปวิ่งไล่เตะฟุตบอลได้ทันที (ถึงจะเป็นฟุตบอลการกุศลก็เถอะ) อย่าลืมเรื่องของการอุ่นเครื่องและเบาเครื่อง (cool down) ก่อนและหลังการออกกำลังกายแต่ละครั้ง ไม่ควรฝืนออกกำลังในขณะไม่สบาย อาการนำของโรคหัวใจ (ดังที่กล่าวข้างต้น) ไม่ควรถูกเพิกเฉยหรือทำเป็นมองข้าม (ปฏิเสธ) เวลาออกกำลังในสภาพอากาศร้อน (และ/หรือชื้น) ควรเตือนตัวเองให้กินน้ำให้พอและอย่าหักโหม ภายหลังออกกำลังกายมาหนักๆ ไม่ควรอาบน้ำอุ่นทันที (ทำให้หลอดเลือดบริเวณผิวหนังขยายตัวและอาจเป็นลมได้) เช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ภายหลังการออกกำลังกาย ก็จะสามารถทำให้โรคหัวใจกำเริบได้

ผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าท่านเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำที่กล่าวมานี้ โอกาสจะเกิดการตายอย่างปุบปับระหว่างหรือภายหลังการออกกำลังกายกับตัวท่านคงไม่มีเป็นแน่...

1. Eichner ER The exercise hypothesis-updated analysis. 1984 Year Book of Sports Medicine. 1984; 9-19.
2. Noakes TD, Opic LH, Rose AG. Marathon running and immunity to coronary heart disease : fact versus fiction. Clin in Sports Med 1984; 527-43.
3. Noakes TD, Heart disease in marathon runners: a review. Med Sci Sports Exerc 1987;19:187-94.

ข้อมูลสื่อ

121-032
นิตยสารหมอชาวบ้าน 121
พฤษภาคม 2532
วิ่งทันโลก
นพ.กฤษฎา บานชื่น