• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการผมหงอก ผมร่วง และผมผิดปกติ

การตรวจรักษาอาการผมหงอก ผมร่วง และผมผิดปกติ

อันที่จริง ผมก็คือ ขนที่ขึ้นบนศีรษะนั่นเอง คนมีขนน้อยกว่าสัตว์ส่วนใหญ่ เพราะคนไม่ต้องการขนสำหรับให้ความอบอุ่นและป้องกันตนเองจากขวากหนามและคมเขี้ยวต่างๆ

แม้ว่าประโยชน์ทางชีววิทยา (ความจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ได้) ของผมและขนในคนจะมีน้อยมาก แต่ประโยชน์ในด้านจิตวิทยาและด้านการเสริมสวยกลับเพิ่มขึ้นอย่างมากมายทุกๆ วัน จนน่าหัวเราะ (แต่หัวเราะไม่ออก) เพราะผมกลายเป็นเครื่องยังชีพ (เครื่องทำมาหากิน) ของบุคคลต่างๆ ตั้งแต่แพทย์ลงไปจนถึงช่างเสริมสวย และนักต้มตุ๋นต่างๆ

ผมผิดกับขนอื่นๆ ที่มันเกิดขึ้นบนศีรษะ (เกิดจากเซลล์ในหนังศีรษะ) และมีอายุยืนกว่าขนอื่นๆ (อายุของเส้นผมประมาณ 2-6 ปี และในบางคนเส้นผมอาจจะมีอายุยืนกว่านั้น จนสามารถไว้ผมให้ยาวลงไปปิดก้นของตนเองได้ หรือในบางคนอาจไว้ผมจนยาวลงไปถึงเข่าได้) ในขณะที่ขนอื่นๆ มีอายุไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือนก็จะร่วงหลุดไป ทำให้ไม่ยาวเหมือนเส้นผมได้ แม้แต่หนวดเครา และขนรักแร้ เป็นต้น

จำนวนเส้นผมในแต่ละคนอาจมีจำนวนมากน้อยต่างกัน (คนผมดกอาจมีถึง 300,000 เส้น คนผมบางอาจมี 100,000 เส้น) หลายคนที่ผมดก อาจมีจำนวนเส้นผมไม่มากนัก แต่เส้นผมแต่ละเส้นหนา ใหญ่ และดำมาก ก็จะทำให้เห็นเป็นผมดกได้

โดยทั่วไป ผมแต่ละเส้นจะงอกและร่วงหลุดไม่พร้อมกัน (ไม่เหมือนสัตว์บางชนิดที่จะผลัดขน ทำให้ขนทั้งตัวหรือเกือบทั้งตัวร่วงหลุดหมดก่อนที่จะมีขนใหม่ขึ้นมาแทนที่) ดังนั้นคนจึงไม่มีอาการ “หัวล้าน” ขึ้นได้ง่ายๆ เมื่อผมเส้นใดงอกยาวจนถึงอายุขัยของมันแล้ว ก็จะร่วงหลุดไป วันหนึ่งๆคนเราจะมีเส้นผมร่วงหลุดประมาณ 50-300 เส้น (ถ้าเป็นผมเส้นดำหนาที่เห็นได้ชัดก็ให้ถือว่า มีผมร่วงประมาณวันละ 100 เส้นต่อวัน) หลังจากนั้นเซลล์สร้างผม (ที่ผมร่วงไป) จะหยุดพักผ่อนสักระยะหนึ่ง แล้วมันก็จะสร้างเส้นผมให้งอกออกมาอีก โดยทั่วไปเส้นผมจะงอกยาวออกมาประมาณ 1 เซนติเมตรต่อเดือน ถ้าไว้ผมโดยไม่ตัดสัก 60 เดือน (5 ปี) จะมีผมหลายเส้น (เส้นที่อายุยืนเกิน 5 ปี) ยาวลงไปถึงก้นได้ ในบางฤดู เช่น ฤดูร้อน ผมมักจะยาวเร็วกว่าฤดูหนาว

เนื่องจากการสร้างเส้นผมเป็นงานที่ละเอียดอ่อน มันจึงถูกกระทบกระเทือนด้วยสิ่งภายนอก (การดึงผม การรัดผม การดัดผม การยืดผม เป็นต้น) และสิ่งภายใน (ความเครียด การเจ็บป่วย เป็นต้น) ได้ง่าย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเส้นผม ทำให้ผมร่วง ผมแห้ง ผมแตกปลาย ผมหงอก และอื่นๆ

การที่คนเราให้ความสำคัญแก่เรื่องผมมากจนเกินจำเป็น ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและข่าวลือผิดๆเกี่ยวกับเรื่องผมเป็นอันมาก เช่น

1. คนผมดกและขนดก แสดงว่ามีสมรรถภาพทางเพศสูง ซึ่งไม่เป็นความจริง ความดกของผมไม่เกี่ยวกับฮอร์โมนเพศ แต่ความดกของขนที่อื่น โดยเฉพาะที่รักแร้ หัวหน่าว ตามร่างกาย (ที่หน้าอกและหลัง แต่ไม่ใช่ที่แขนขา) และหนวดเครา ขึ้นกับฮอร์โมนเพศชาย แต่ชายที่มีหนวดเคราดกหรือมีขนที่หน้าอกและท้องมาก ไม่ได้มีสมรรถภาพทางเพศสูงกว่าชายอื่น และถ้าเป็นในเด็กหรือในเพศหญิงจะต้องถือว่าเป็นโรค (ผิดปกติ) จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่ เพราะการที่มีขนดกผิดปกติ (แม้แต่ในผู้ชายบางเชื้อชาติ) อาจจะเกิดจากโรคต่างๆ ซึ่งต้องทำการตรวจอย่างละเอียด จึงควรไปตรวจและรักษาที่โรงพยาบาล ที่ซ้ำร้ายกว่านั้น คือ ชายที่มีขนดกมักจะหัวล้านก่อนวัยอันสมควร โดยเฉพาะถ้าพ่อแม่ปู่ย่าตายายหรือพี่น้องมีคนที่หัวล้านอยู่ตามกรรมพันธุ์

2. การโกนผม จะทำให้ผมที่ขึ้นใหม่หนาและดกดำมากขึ้น ซึ่งไม่เป็นความจริง ที่เห็นว่าผมดกดำขึ้นหลังโกน อาจเป็นเพราะ “หัวล้าน” อยู่นาน พอเห็นผมขึ้นใหม่ซึ่งขึ้นมาพร้อมๆ กัน จึงทำให้คิดว่าผมดกขึ้นหรือดำขึ้น

3. ผมจะหงอกภายในเวลาข้ามคืน (ภายใน 1 วัน) ได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง นอกจากไปฟอกสีผมให้ขาวด้วยน้ำยาฟอกสีเท่านั้น ความตกใจอย่างรุนแรง หรือความเจ็บป่วยอย่างรุนแรง จะทำให้ผมหงอกได้ ก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ขึ้นไป แต่อาจจะทำให้ผมร่วงมากๆได้ แต่ก็ไม่ใช่ร่วงจนหัวล้านภายในเวลา 1-2 วันได้

4. ผมอาจจะงอกยาวออกจนเห็นได้ชัด หลังจากคนนั้นตายแล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะเซลล์สร้างเส้นผมไวต่อการขาดเลือด และการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง จนหยุดการทำงานและทำให้ผมร่วงหลุดได้ ในกรณีดังกล่าวจึงไม่อาจจะสร้างผมให้งอกออกมาหลังคนตายแล้วได้

5. การนวดหรืออบหนังศีรษะ การแปรงผมแรงๆ การใช้แปรงแข็งๆ หรือคมๆ หรือการใช้แปรงร้อน (แปรงม้วนและเป่าผม) จะทำให้ผมดกดำขึ้น ซึ่งไม่เป็นความจริง การกระทำดังกล่าวมักจะทำให้หนังศีรษะและเซลล์สร้างผม (ที่อยู่ในหนังศีรษะ) ได้รับความกระทบกระเทือน ทำให้ผมร่วง ผมแห้ง ผมแตกปลาย ผมหยาบ และเปราะได้มากกว่า เป็นต้น

6. การถอนผมหงอก จะทำให้ผมหงอกไม่ขึ้นอีก ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะการถอนผมโดยทั่วไป จะไม่สามารถทำลายเซลล์สร้างผมได้ ดังนั้นผมหงอกก็จะงอกออกมาใหม่ แต่ก็ทำให้ความหงอกหายไปได้พักหนึ่ง

ความเชื่อผิดๆ และความเข้าใจผิดๆ ดังกล่าวข้างต้นและอื่นๆ ทำให้การทำมาหากินเกี่ยวกับ “ผม” เต็มไปด้วยเล่ห์กลและมายาต่างๆ ที่ทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับ “ผม” เฟื่องฟูขึ้นอย่างมากมายในปัจจุบัน

ผมหงอก

ผมหงอกหรือผมสีขาว หรือสีเทา (grey or white hair) เกิดขึ้นเนื่องจากเซลล์สร้างสี (melanocytes) ที่ให้สีดำ (melanin) แก่เส้นผมที่กำลังงอกออกมาจากเซลล์สร้างผม (hair matrix) ทำงานน้อยลงไป หรือไม่ทำงาน เส้นผมที่งอกออกมาจึงเป็นสีเทาหรือสีขาว แต่ยังคงเป็นเส้นผมที่แข็งแรงเหมือนเดิม เพียงแต่สีไม่ดำเท่านั้น

ผมจะเป็นสีเทาหรือสีขาวเมื่อคนเราย่างเข้าวัยชรา หรือในบางคนผมอาจจะหงอกตั้งแต่ยังหนุ่มสาว ที่บางทีเรียกกันว่า “แพ้ผม” จากกรรมพันธุ์ และจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ความเครียด การเจ็บป่วยอย่างรุนแรง การขาดอาหารอย่างรุนแรง คนเผือก (ขาวทั้งตัวและผม) เป็นต้น

โดยทั่วไป ผมที่หงอกตามอายุหรือตามกรรมพันธุ์ไม่จำเป็นต้องรักษา และยังไม่มีวิธีรักษา นอกจากการใช้ยาย้อมผมหรือโกรกผมให้ดำเท่านั้น ซึ่งจะต้องทำบ่อยๆ ทุก 1-3 สัปดาห์ มิฉะนั้น ผมที่งอกออกมาใหม่ก็จะเห็นเป็นสีขาว ทำให้ผมส่วนที่ติดหนังศีรษะเป็นสีขาว และส่วนที่ถูกย้อมไว้เป็นสีดำ ยิ่งดูน่าหัวเราะมากขึ้น

ผมที่หงอกเพราะความเครียดหรือเพราะโรค ก็ต้องรักษาความเครียด หรือโรคที่เป็นอยู่ (โรคอะไรก็ได้ ถ้าทำให้เจ็บป่วยรุนแรง ก็ทำให้ผมหงอกได้) ไม่จำเป็นต้องรักษาเส้นผม เพราะไม่มีวิธีรักษา นอกจากจะย้อมผมเพื่อหลอกตนเองและคนอื่นเท่านั้น แต่เมื่อรักษาให้ความเครียดและโรคที่เป็นอยู่ให้หายดีแล้ว ผมหงอกจะลดลงหรือหายไปได้

ส่วนการถอนผมหงอกทิ้ง การกินยา การทายา การอบด้วยยา หรือด้วยสมุนไพร ล้วนแต่ไม่ได้ประโยชน์และอาจทำให้เกิดพิษภัยจากการใช้ยา เช่น ผมร่วง ผมแห้งเปราะ ผื่นคัน ลมพิษ หรืออื่นๆ คนที่อยากสวยบางคนถึงกับลงทุนซื้อยาสมุนไพรราคาแพงที่เล่าลือกันว่าบำรุงเส้นผม ทำให้ผมไม่หงอก มาพอกมาอบเส้นผมเป็นประจำ แล้วก็ทำให้เหม็นกันไปทั้งบ้าน แถมผมที่อุตส่าห์พอกยาไว้กลับกลายเป็นสีแดง และพอหยุดพอกเมื่อใด มันก็กลับขาวอีกเมื่อนั้น

ดังนั้น การรักษาผมหงอกที่ดีที่สุดและถูกต้องที่สุด คือ การลดความเครียดลง เช่น การไม่ห่วงกังวลว่าผมจะหงอกหรือไม่หงอก การไม่ห่วงกังวลเรื่องอื่นๆ เป็นต้น และถ้าเป็นโรคอะไรอยู่ ให้รักษาโรคที่เป็นอยู่ให้หายหรือดีขึ้นโดยเร็วที่สุด แล้วผมจะหายหงอกหรือหงอกน้อยลง

ข้อมูลสื่อ

123-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 123
กรกฎาคม 2532
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์