• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

“ยาแก้อักเสบ” ความเข้าใจผิดของชาวบ้าน

“ยาแก้อักเสบ” ความเข้าใจผิดของชาวบ้าน

เมื่อเกิดฟกช้ำดำเขียว ชาวบ้านมักซื้อยา “แก้อักเสบ” มากินเอง ซึ่งมักจะได้ยาปฏิชีวนะต่างๆ ที่ได้ฟังได้เห็นจากการโฆษณาในรูปแบบต่างๆ ว่าเป็นยาแก้อักเสบ ยาปฏิชีวนะเป็นยารักษาการอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไม่ใช่การอักเสบจากการบาดเจ็บฟกช้ำดำเขียว

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “ยาแก้อักเสบ” จึงเป็นความเข้าใจผิดที่เป็นผลเสียอย่างใหญ่หลวงสำหรับชาวบ้าน เพราะต้องสูญเสียเงินทองซื้อหายาที่ไม่เกิดประโยชน์ ไม่ช่วยให้อาการอักเสบดีขึ้น ซ้ำยังเกิดโทษได้อีกหลายประการ

การใช้ยาปฏิชีวนะนั้น อาจทำให้เกิดอาการแพ้ยาได้ในรูปแบบต่างๆ เช่น เป็นผื่นคัน ปากเปื่อยเป็นแผล คลื่นไส้ อาเจียน เป็นพิษต่อตับ ต่อไต และช็อกจนเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะยาฉีดประเภทเพนิซิลลิน
การใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อทำให้เชื้อโรคดื้อยา ทำให้ใช้ยานั้นรักษาการอักเสบติดเชื้อไม่ได้ผลในโอกาสต่อไป

อาการอักเสบที่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บมีวิธีการบำบัดรักษาเบื้องต้นที่สำคัญ ได้แก่

1. ให้ส่วนที่ได้รับบาดเจ็บพัก เช่น ถ้าเป็นที่ขา ก็อาจจะนอนพักหรือเดินโดยใช้ไม้เท้าช่วย ถ้าเป็นที่แขนก็หยุดใช้แขนนั้นทำงานหนัก ปกติพัก 2-5 วัน ก็เพียงพอ

2. ถ้าบวมมาก ให้ยกส่วนที่อักเสบสูงกว่าระดับหัวใจเพื่อให้ยุบบวม

3. ในรายที่มีเลือดออกในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง จะบวมและเห็นเป็นสีเขียวคล้ำ ให้ใช้น้ำแข็งประคบเป็นพักๆ ใน 24 ชั่วโมงแรก ต่อจากนั้นให้ประคบด้วยความร้อน

4. อาจใช้ผ้ายืดพันให้แน่นพอสมควร

5. ให้ยาแก้ปวดเป็นครั้งคราวตามอาการ

หากเป็นมาก หมออาจให้ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะในบางรายที่เห็นว่าจำเป็น

หากฟกช้ำดำเขียวเพียงเล็กน้อย พักเพียงไม่กี่วันก็หายเอง ฟกช้ำดำเขียวก็เจ็บเพียงพออยู่แล้ว อย่ากินหรือฉีดยาปฏิชีวนะที่เรียกกันว่า “ยาแก้อักเสบ” เพื่อซ้ำเติมตัวเองอีกเลย

ข้อมูลสื่อ

123-023
นิตยสารหมอชาวบ้าน 123
กรกฎาคม 2532
นานาสาระ
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์