• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการปวดหลัง (ต่อ)

นอกจากอาการปวดหลังจะเกิดจากความผิดปกติที่แนวสันหลังและกล้ามเนื้อข้างสันหลังแล้วยังอาจเกิดจากอวัยวะภายในได้

                                        

อาการปวดหลังจากอวัยวะภายใน : 
ส่วนใหญ่อาการปวดหลังที่เกิดจากอวัยวะภายใน มักจะเป็นอาการปวดหลังที่ค่อนข้างรุนแรงและฉุกเฉิน (ดูอาการปวดหลังฉุกเฉินในหมอชาวบ้านประจำเดือนมิถุนายน 2530) เพราะถ้าอวัยวะภายในไม่อักเสบมากหรือไม่มีอาการรุนแรงมาก ก็มักจะไม่ทำให้เกิดอาการปวดหลังขึ้น

อาการปวดหลังที่เกิดจากอวัยวะภายใน ถ้าเกิดที่บริเวณหลังส่วนอก (ส่วนทรวงอก) มักเกิดจาก
1. หัวใจ โรคหัวใจที่ทำให้ปวดหลัง เกือบทั้งหมดเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก เมื่อทำงานหนัก หรือรีบ หรือเครียดมากๆ เวลาพักจะหาย ถ้าอาการเจ็บหน้าอกนี้เป็นรุนแรง จะร้าวไปปวดที่กลางหลังระหว่างสะบักได้

การวินิจฉัย รู้ว่าอาการปวดหลังระหว่างสะบักทั้งสองข้างเกิดจากหัวใจขาดเลือด เพราะอาการปวดหลังนั้นเกิดขณะทำงานหนัก หรือรีบ หรือเครียดมากๆ พอนั่งพักหรืออมยาใต้ลิ้นไนโตรกลีเซอรีน อาการก็หายไป และอาการนี้ปรากฏในชายที่อายุ 30 ปีขึ้นไป หรือหญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว หรือเป็นเบาหวาน หรือความดันเลือดสูงมานาน

การรักษา
ให้อมยาไนโตรกลีเซอรีนไว้ใต้ลิ้น เมื่อมีอาการ และถ้ามีอาการบ่อย ควรไปโรงพยาบาลให้หมอตรวจให้ละเอียดขึ้น เพื่อให้การรักษาและการป้องกันไม่ให้โรคทรุดลงหรือเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้

การป้องกัน
ให้ลดน้ำหนักลงถ้าอ้วน ให้งดสูบบุหรี่ถ้าสูบ ให้คุมเบาหวานและความดันเลือดสูงให้ดี ถ้าเป็นพยายามทำจิตใจให้สงบ เยือกเย็น และมีอารมณ์ขัน พยายามหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่จะทำให้เครียด และการออกกำลังกายสม่ำเสมอ

2. หลอดเลือดแดงใหญ่กลางอก
(aorta) อาจทำให้ปวดหลังได้ ถ้าหลอดเลือดแดงใหญ่นี้โป่งพอง (aortic aneurysm) และกำลังจะแตก หรือผนังของหลอดเลือดนี้แยก (aortic dissection) ซึ่งในกรณีหลังจะเกิดอาการเจ็บหน้าอกและหลังอย่างรุนแรงและเกือบทั้งหมดเป็นภาวะฉุกเฉิน ส่วนในกรณีแรกอาการมักจะค่อยเป็นค่อยไปและค่อยๆรุนแรงขึ้นเรื่อยๆจนเกิดเป็นภาวะฉุกเฉินเช่นเดียวกัน

การวินิจฉัย
รู้ว่าอาการปวดหลังนี้เกิดจากหลอดเลือดแดงใหญ่กลางอกได้ ถ้าพบความดันเลือดสูงในขณะที่เจ็บหน้าอกและปวดหลัง และตรวจพบว่าชีพจรที่แขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่งหายไป หรือตรวจเอกซเรย์พบเงาของหลอดเลือดแดงใหญ่กลางอกโตขึ้นผิดปกติ

การรักษา ลดความดันเลือดลง และให้ยาแก้ปวดจนผู้ป่วยหายปวดหรือนอนพักได้แล้ว รีบส่งโรงพยาบาลเพื่อการตรวจวินิจฉัยที่แน่นอนต่อไป

การป้องกัน ขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น ถ้าเกิดจากความดันเลือดสูง จะต้องกินยาลดความดันเลือดอย่างสม่ำเสมอ ให้ความดันเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ การงดบุหรี่ การไม่ออกกำลังมากเกินไป การลดน้ำหนัก และอื่นๆ อาจจะใช้เป็นมาตรการทั่วไปในการป้องกันภาวะฉุกเฉินในกรณีนี้ได้

อาการปวดหลังที่เกิดจากอวัยวะภายใน ถ้าเกิดที่บริเวณหลังส่วนกระเบนเหน็บ มักเกิดจาก
1. ตับอ่อนอักเสบ ส่วนใหญ่จะปวดหลังเมื่อตับอ่อนอักเสบมาก ถ้าตับอ่อนอักเสบน้อย มักจะมีแต่อาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด เท่านั้น

การวินิจฉัย
รู้ว่าตับอ่อนอักเสบเพราะมีประวัติดื่มสุราเป็นประจำ มีนิ่วในท่อน้ำดี หรือโรคของถุงและท่อน้ำดี หรือเป็นโรคคางทูมอยู่ แล้วเกิดอาการปวดท้อง แล้วร้าวไปปวดที่หลัง บริเวณกระเบนเหน็บด้วย และจะมีอาการแน่นท้อง ท้องอืด คลื่นไส้อาเจียน ถ้าเป็นมากจะมีอาการไข้ ตัวเหลือง ตาเหลือง และอื่นๆ

การรักษา ให้ยาแก้ปวด และรีบส่งโรงพยาบาล เพื่อการตรวจวินิจฉัยให้แน่นอนต่อไป

การป้องกัน งดสุรา รักษาโรคของท่อและถุงน้ำดีให้หาย ถ้าเป็นโรคคางทูม ควรพักผ่อนรักษาตัว โอกาสที่จะปวดหลังจากตับอ่อนอักเสบจะลดลงมาก

2. โรคไต
ทำให้เกิดอาการปวดหลังเมื่อไตอักเสบรุนแรง โดยมากมักจะเป็นหนอง หรือมีนิ่วอุดตันในกรวยไตหรือท่อไต หรือมีการอักเสบเป็นหนองรอบไต

การวินิจฉัย
รู้ว่าอาการปวดหลังนี้เกิดจากโรคไต เพราะผู้ป่วยมักมีอาการทางปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ ปัสสาวะมีเลือด ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะขัด ปวดหลัง แล้วร้าวลงมาตามสีข้างลงไปที่ขาหนีบและอวัยวะเพศ ถ้าไตอักเสบเป็นหนองหรือรอบไตอักเสบเป็นหนอง มักจะมีไข้และหนาวสั่นด้วย

การรักษา ให้ยาแก้ปวด แล้วรีบส่งโรงพยาบาลเพื่อการตรวจรักษาและหาสาเหตุที่แน่นอนต่อไป

การป้องกัน ขึ้นกับสาเหตุอาการปวดหลังที่เกิดจากอวัยวะภายใน ถ้าเกิดที่หลังส่วนเอวหรือส่วนเชิงกราน มักเกิดจากอวัยวะในช่องเชิงกราน โดยเฉพาะในสตรี นั่นคือเกิดจาก มดลูก ปีกมดลูก และรังไข่ ซึ่งอาจเกิดจาก

1. การมีประจำเดือนมาตามปกติ รู้ได้เพราะคนไข้จะปวดท้องและปวดหลังในขณะที่มีประจำเดือน ซึ่งอาจเกิดในภาวะที่มีเยื่อบุมดลูกกระจายอยู่นอกมดลูก (endometriosis) ก็ได้

2. ประจำเดือนผิดปกติ
เช่น
2.1 ขาดประจำเดือน ซึ่งอาจเกิดจากการตั้งครรภ์ หรือสาเหตุอื่น อาจทำให้เกิดความรู้สึกถ่วงๆบริเวณหลังได้ รู้ได้จากประวัติเรื่องประจำเดือน
2.2 ประจำเดือนผิดปกติ เช่น มากไป น้อยไปในบางคน ก็ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ รู้ได้จากประวัติเรื่องประจำเดือน

3. การตั้งครรภ์
โดยเฉพาะเมื่อครรภ์แก่ มักจะทำให้ปวดหลัง เพราะกระดูกสันหลังแอ่นมาก หรือการตั้งครรภ์นอกมดลูก ก็อาจจะทำให้ปวดหลังได้ รู้ได้

4. มดลูกหรือปีกมดลูกอักเสบ
ก็ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ รู้ได้เพราะมีตกขาวหรือน้ำปนเลือดออกจากช่องคลอด

5. ถุงน้ำหรือเนื้องอกในรังไข่หรือไข่หลุด อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องและปวดหลังได้ รู้ได้โดยการตรวจภายใน และการซักประวัติ

การรักษาและการป้องกัน ขึ้นกับสาเหตุ ซึ่งควรจะส่งคนไข้ไปโรงพยาบาลเพื่อการตรวจให้แน่นอนขึ้น

อาการปวดหลังที่เกิดจากอวัยวะภายในจึงมักจะวินิจฉัยได้ เพราะคนไข้มักมีอาการและอาการแสดงของอวัยวะนั้น และคนไข้มักจะมีอาการรุนแรง และ/หรือต้องการการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องถึงสาเหตุ จึงมักจะต้องส่งคนไข้ไปโรงพยาบาลเพื่อการตรวจรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป


 

ข้อมูลสื่อ

100-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 100
สิงหาคม 2530
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์