• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการผมหงอก ผมร่วง และผมผิดปกติ

การตรวจรักษาอาการผมหงอก ผมร่วง และผมผิดปกติ

ความเชื่อผิดๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับผม จะทำให้เกิดการนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาที่ผิดของผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับผม ซึ่งถ้ารู้จักธรรมชาติของผมแล้ว จะทำให้ทราบวิธีการ “แก้ไข” หรือการ “ปล่อยวาง” ปัญหาได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งฉบับนี้จะเสนอลักษณะความผิดปกติของผมในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งต่อจาก “ผมหงอก” ในครั้งที่แล้ว

ผมบางหรือหัวล้าน

ผมบางหรือผมน้อย (baldness or alopecia) อาจจะเป็นตั้งแต่เกิดโดยกรรมพันธุ์หรือเป็นโรคบางอย่าง หรืออาจจะเกิดขึ้นกับทุกคนเมื่อเข้าวัยชรา ไม่ว่าเพศชายหรือหญิง ทั้งนี้เพราะมีเซลล์สร้างผมน้อย และ/หรือเซลล์สร้างผมหยุดพัก (อยู่ในระยะพัก telogen หรือ resting stage) กันเป็นจำนวนมาก

โดยทั่วไป ประมาณร้อยละ 1 ของเซลล์สร้างผมจะอยู่ในระยะพัก นั่นคือ ถ้ามีเซลล์สร้างผมบนศีรษะอยู่ 100,000 กลุ่ม สำหรับสร้างผม 100,000 เส้น จะมีเซลล์สร้างผมอยู่ประมาณ 1,000 กลุ่มที่อยู่ในระยะพัก เพราะฉะนั้นก็จะไม่มีเส้นผมจากเซลล์กลุ่มนี้ และจะมีเซลล์สร้างผมที่กำลังจะหยุดพัก (catagen stage) อีกจำนวนหนึ่งซึ่งจะทำให้ผมหยุดงอก และจะค่อยๆหลุดร่วงไปประมาณ 50-300 เส้นต่อวัน (ถ้าเป็นผมเส้นดำหนาที่เห็นได้ชัดก็ให้ถือว่ามีผมร่วงประมาณวันละ 100 เส้น) แต่ก็ยังเหลือเส้นผมอยู่ประมาณ 99,000 เส้น จึงเรียกได้ว่าเกือบไม่รู้สึกว่าผมบางลง

เมื่อเข้าวัยชรา หรือโดยกรรมพันธุ์ หรือโดยโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้เซลล์สร้างผมที่หยุดพักมีจำนวนมากขึ้น หรือระยะพักของเซลล์ที่หยุดพักยืดยาวขึ้น ก็จะทำให้เห็นว่าผมบางลงได้ แต่ผมจะไม่ร่วงมากกว่าปกติ นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมบาง (หัวล้าน) ในวัยชรา ซึ่งชายจะเป็นมากกว่าหญิง เพราะความล้านของศีรษะนั้นขึ้นกับฮอร์โมนเพศชาย หญิงก็เป็นได้แต่เป็นน้อยกว่า และไม่เห็นชัดเท่าชาย คนที่มีพ่อแม่พี่น้องหัวล้านเร็วยิ่งมีโอกาสหัวล้านได้ก่อนวัย หรือหัวล้านมากๆ ได้

ในคนที่ผมบางลงเพราะผมร่วงเนื่องจากเซลล์สร้างผมต่างพร้อมใจกันจะหยุดพักเป็นจำนวนมากหรือเป็นโรคของเส้นผม เช่น ผมแห้งเปราะแตกง่าย เนื่องจากการดัดผม การอบด้วยความร้อนจนผมไหม้ การดึงรั้งเส้นผมนานๆ เช่น การถักเปีย การเกล้ามวยที่ดึงรั้งเส้นผมมาก การแปรงผมแรงๆ การใช้แชมพู ยาย้อมผม ยาฟอกสีผม และสารต่างๆไปทำอันตรายต่อเส้นผมหรือหนังศีรษะก็จะทำให้ผมร่วงหรือร่วงง่ายเวลาหวีผม แปรงผม สระผม หรือแม้แต่เวลาลูบผม เป็นต้น

การรักษาอาการผมบาง (หัวล้าน) จึงอยู่ที่สาเหตุเป็นสำคัญ ถ้าสาเหตุเกิดจากกรรมพันธุ์หรือความชรา ก็อย่าได้ห่วงกังวล เพราะไม่มีวิธีรักษา ยิ่งห่วงมาก ผมยิ่งจะบางมาก และอาจจะหงอกมากขึ้นด้วย ถ้าสาเหตุเกิดจากการไปยุ่งกับเส้นผมและหนังศีรษะมากเกินไปโดยการใช้ยา ใช้ความร้อน ใช้ความเย็น การดึงรั้งเส้นผม เป็นต้น ก็จำเป็นต้องหยุดการกระทำดังกล่าว ผมจึงจะงอกงามขึ้นใหม่ได้

ถ้าสาเหตุเกิดจากโรค เช่น โรคเหา โรคหนังศีรษะอักเสบ โรคเชื้อรา (ขี้กลาก) โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) การใช้ยาฆ่ามะเร็ง หรืออื่นๆ ก็ให้แก้ที่สาเหตุ หรือกำจัดสาเหตุเสีย ผมก็จะดกขึ้น หนาขึ้น ที่สำคัญคือ อย่าห่วงกังวล (อย่าเครียด) มาก และอย่าเอาศีรษะของตนไปลองยาของบรรดานักต้มตุ๋นต่างๆ ซึ่งผมอาจดกดำขึ้นชั่วระยะหนึ่ง หลังจากนั้นจะบางลงมากกว่าเดิม และอาจเกิดโรคร้ายแรงอื่นๆ จากความสกปรกและพิษของยา หรือการกระทำดังกล่าวได้

แม้แต่ยาใหม่ที่กำลังเข้ามาโฆษณาแพร่หลายในเมืองไทยในปัจจุบัน ที่มีตัวยา minoxidil อยู่ ยาตัวนี้ก็ไม่สามารถทำให้เกิดเส้นผมใหม่ และไม่บำรุงเซลล์สร้างผมให้สร้างเส้นผมใหม่ และไม่ทำให้ผมงอกขึ้นมาใหม่อย่างที่โฆษณากัน มันเพียงแต่ทำให้เส้นผมบางๆ เล็กๆ (ผมอ่อน) ที่ยังคงมีอยู่ในบริเวณที่ผมบางหรือบริเวณที่ล้านนั้น หนาขึ้น หยาบขึ้น จนทำให้กลบเกลื่อนบริเวณที่ล้านนั้นไปได้บ้าง แต่เมื่อใช้ยานี้แล้วต้องใช้ไปตลอดชีวิต มิฉะนั้นบริเวณที่ผมบางจะเป็นมากขึ้น และดูน่าเกลียดมากขึ้น เพราะเส้นผมโดยรอบบริเวณที่ล้านจะหนาใหญ่และหยาบ ไม่อ่อนนุ่มเหมือนผมปกติ

ถ้าใช้ยา minoxidil โดยการกินยา จะทำให้ขนทั่วตัวรวมทั้งขนที่หน้า ที่รักแร้ และที่อื่นหนา ใหญ่และหยาบขึ้นด้วย และการกินยานี้อาจทำให้เกิดพิษมากๆ เช่น ทำให้เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ มีเลือดออกในถุงหุ้มหัวใจ ทำให้หัวใจวายได้ ถ้าใช้ยา minoxidil โดยการทา (ทายานี้ที่หนังศีรษะ) พิษทั่วร่างกายจะน้อยลง แต่ผลที่ได้จะช้ากว่า (ใช้เวลาหลายเดือน) และน้อยกว่าแบบกิน

ไม่ว่าจะใช้ยาแบบกินหรือแบบทา จะต้องใช้ยานี้ทุกวันไปตลอดชีวิต (เฉพาะค่ายา ก็อาจจะนำไปซื้อรถหรือสร้างบ้านได้) แต่ก็ไม่แน่ว่าจะได้ผลตลอดไป เพราะเมื่ออายุมากขึ้น หรือโดยกรรมพันธุ์ทำให้เซลล์สร้างผมหยุดทำงาน และไม่สร้างเส้นผมแล้ว ยานี้ก็ช่วยอะไรไม่ได้ และจะทำให้บริเวณที่เคยมีผมที่ดูดกดำนั้น กลับล้านเลี่ยนเตียนโล่งทันที (แทนที่จะค่อยๆ ล้าน) ทำให้ดูน่าเกลียดมากขึ้น

คนที่หัวล้านเพราะสาเหตุอื่นๆ เช่น การดึงรั้งผม การดัดผม การใช้ยาย้อมผม ยาสระผม ยาแก้รังแค หรืออื่นๆ จนหนังศีรษะอักเสบหรือคัน หรือผมร่วง หรือเป็นโรคสะเก็ดเงิน แผลเป็นที่ศีรษะหรืออื่นๆ การใช้ยานี้จะไม่ได้ผลต้องรักษาที่สาเหตุ

ผมร่วง

ผมร่วง (hair loss) เป็นสาเหตุหนึ่งของผมบาง ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น ผมร่วงผิดปกติ หมายถึง ผมที่ร่วงมากกว่า 200-300 เส้นต่อวัน คนส่วนใหญ่ที่คิดว่า ผมของตนร่วงมาก ถ้านับเส้นผมที่ร่วงดูแล้ว จะพบว่า น้อยกว่า 100 เส้นต่อวัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นผมที่ร่วงตามปกติ เพราะเส้นผมของคนเราตามปกติจะร่วงประมาณวันละ 50-300 เส้นเป็นประจำ (ถ้าเป็นผมเส้นดำหนาที่เห็นได้ชัดก็ให้ถือว่ามีผมร่วงประมาณวันละ 100 เส้นต่อวัน) คนที่หลายๆ วันจะสระผมหรือหวีผมสักครั้ง (เพราะเกล้ามวยไว้ เพิ่งดัดผมไว้ใหม่ๆ หรืออื่นๆ) เมื่อไปสระผม หรือหวีผมเข้า อาจมีผมร่วงออกมาเป็นจำนวนมาก (มากกว่า 200-300 เส้นได้) เพราะเก็บผมที่ร่วงไว้บนศีรษะมาหลายวันนั่นเอง

สาเหตุของผมร่วง ส่วนหนึ่งได้กล่าวไว้ในเรื่องของผมบางแล้ว สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ผมร่วง เช่น

1. โรคจิตโรคประสาท การดึง การบิด การกระตุก หรือการถอนเส้นผมเล่น ในบางคนเมื่อถอนเส้นผมออกมาแล้วยังกัดกินและกลืนเส้นผมลงในกระเพาะอาหารของตน ทำให้เกิดการอุดตันของกระเพาะลำไส้ได้ด้วย เพราะเส้นผมจะไม่ถูกย่อย และจะรวมตัวกันเหมือนกลุ่มด้ายที่พันกันอย่างยุ่งเหยิงเป็นก้อนใหญ่ จนอุดตันกระเพาะลำไส้ได้

ผู้ป่วยที่ดึงหรือถอนผมเล่นจนผมหลุดร่วง มักจะเป็นคนโรคประสาทหรือโรคจิต ยิ่งถ้ากลืนกินผมของตนเองยิ่งเป็นหนักขึ้น จึงควรได้รับการรักษาทางจิตใจด้วย นอกจากการระมัดระวังไม่ให้ผู้ป่วยดึงถอนและกลืนกินเส้นผมแล้ว ความเครียดมากๆ ไม่ถึงขั้นเป็นโรคจิต ก็อาจทำให้ผมร่วงได้ดังได้กล่าวแล้วในเรื่องผมบาง

2. ผมร่วงในเด็กแรกเกิด หญิงระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังคลอด ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในคนบางคน จึงไม่ต้องห่วงและกังวล เพราะเกือบทั้งหมด ผมจะงอกขึ้นมาใหม่เองในเวลาไม่นานนัก ไม่ต้องทำการรักษาอะไร

3. ไข้ คนที่มีไข้สูงหรือไข้เรื้อรังนานๆ โดยเฉพาะในสมัยก่อนที่ยังไม่มียาปฏิชีวนะที่จะควบคุมและกำจัดเชื้อโรคที่ทำให้เกิดไข้ได้รวดเร็ว ผู้ป่วยมักจะเกิดอาการผมร่วงมากๆ จนศีรษะล้านได้ เช่น เมื่อเป็นไข้รากสาดน้อย (ไทฟอยด์) เป็นต้น แต่เมื่อหายไข้แล้ว โดยทั่วไปผมจะงอกขึ้นมาเต็มศีรษะใหม่

4. โรคซิฟิลิส ซึ่งเป็นกามโรคที่ระยะแรกจะทำให้เกิดแผลริมแข็งในบริเวณที่สัมผัสโรค (ส่วนใหญ่จะเป็นที่อวัยวะเพศ) ต่อมาแผลหาย เชื้อหลบใน และไปทำให้เกิดอาการ “เข้าข้อออกดอก” ซึ่งเป็นระยะที่สองที่เกิดอาการปวดข้อ เป็นไข้ เป็นผื่นตามตัว และผมร่วงเหมือนถูกมอดแทะ (moth-eaten alopecia) เมื่อรักษาซิฟิลิสให้หายแล้ว ผมจะงอกขึ้นมาใหม่

5. โรคอื่นๆ เช่น โรคผิวหนังที่ไปเป็นบริเวณหนังศีรษะ บาดแผล หรืออื่นๆ ที่ทำให้เกิดแผลเป็นที่หนังศีรษะ โรคภายในร่างกายที่เป็นรุนแรง หรืออื่นๆ ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องผมบาง เช่น การใช้ยาฆ่ามะเร็ง การฉายแสง การใช้ยาบางชนิด เป็นต้น

การรักษาเรื่องผมร่วง จึงจะต้องแก้ที่สาเหตุเป็นสำคัญ ถ้าแก้สาเหตุได้ อาการผมร่วงจะดีขึ้นและหายไป ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่จะแก้ได้ จึงไม่ควรวิตกกังวล และหันไปใช้ยาหรือวิธีการที่จะทำให้หมดเปลืองและอาจเกิดพิษภัยต่างๆ ได้ โดยเฉพาะยาหรือวิธีการที่โฆษณากันโดยไม่ได้ผ่านการรับรองจากสถาบันโรคผิวหนัง เป็นต้น

ข้อมูลสื่อ

124-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 124
สิงหาคม 2532
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์