• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ถ้าอยากมีลูกหัวดี

ถ้าอยากมีลูกหัวดี

จากหนังสือ KODOMO NO ATAMA O YOKUSURU SEIKATSU SHUKAN
เขียนโดย DR. YOSHIRO NAKAMATSU
แปล/เรียบเรียง โดย พรอนงค์ นิยมค้า

การออกกำลังกายคือกิจกรรมทางสมอง

เครื่องบินจำลองช่วยบริหารสมอง

หัวคนเราจะดีได้ ร่างกายต้องแข็งแรงด้วย ผมคิดเช่นนี้เสมอ ถ้าเราเป็นหวัด มีไข้ สมาธิย่อมไม่ดี หากอวัยวะภายในของเราไม่ดี มีความรู้สึกเหนื่อยล้าอยู่เสมอ พลังที่จะคิดสิ่งแปลกใหม่ย่อมไม่มีเช่นกัน สุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก อย่างไรก็ตาม ผมเน้นความมีสุขภาพดีตรงจุดที่จะทำให้หัวดีด้วย เพราะศีรษะเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ความมีสุขภาพดีจึงมิได้หมายถึงเฉพาะการมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงเท่านั้น ต้องหมายถึง สุขภาพของสมองด้วย การออกกำลังกายเพื่อฝึกให้สมองมีสุขภาพดีอยู่เสมอจึงมีความสำคัญมาก

การออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพสมองนั้น ต่างกับการบริหารกล้ามเนื้อ การออกกำลังกายที่ผมจะกล่าวต่อไปนี้ มิใช่การบริหารร่างกายเพื่อฝึกกล้ามเนื้อ แต่เป็นการบริหารสมอง กีฬายกน้ำหนัก หรือกีฬาเล่นกล้าม เป็นกีฬาเพื่อกายเพียงอย่างเดียว มิใช่กีฬาที่ช่วยรักษาสุขภาพของสมอง เราลองดูความแตกต่างระหว่างกีฬาเพื่อสมอง กับกีฬาเพื่อกล้ามเนื้อกันนะครับ

กีฬาบางชนิดดีสำหรับกล้ามเนื้อ แต่ไม่ดีต่อสมอง กล่าวโดยรวมแล้ว กีฬาที่ใช้เฉพาะท่อนบนของร่างกายไม่ช่วยพัฒนาสมอง โดยเฉพาะกีฬาที่กระทบกระเทือนส่วนศีรษะ (เช่น มวย) ไม่ดีต่อสมองอย่างยิ่ง อย่างไรก็ดี ร่างกายท่อนบนเฉพาะส่วนมือและปลายนิ้ว (ยกเว้นท่อนแขน) เราต้องพยายามเคลื่อนไหวบ่อยๆ คานท์* ยังกล่าวว่า “มือคือสาขาของสมอง” เพราะที่ฝ่ามือและนิ้วมือมีเส้นประสาทมารวมศูนย์อยู่จำนวนมาก เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวมือและนิ้วจึงเป็นการฝึกสมองโดยตรง คนชราบางคนชอบกำลูกนัทไว้ในมือ 2-3 ลูกเพื่อขยำเล่นไปมา เป็นการป้องกันกล้ามเนื้อเสื่อมสภาพและช่วยกระตุ้นสมองโดยผ่านฝ่ามือด้วย

การบริหารกายท่อนบน ไม่ส่งผลต่อสมอง ยกเว้นการเคลื่อนไหวนิ้วมือนะครับ คราวนี้เรามาดูกันว่า การออกกำลังกายแบบไหนจึงจะดีต่อสมองแน่นอน การเคลื่อนไหวนิ้วมือช่วยฝึกสมองดังได้กล่าวไว้แล้ว นอกจากนั้น การบริหารร่างกายท่อนล่าง การออกกำลังขา เป็นการออกกำลังที่ช่วยให้หัวดีขึ้น ผมเล่าให้คุณผู้อ่านทราบแล้วว่า สมัยผมยังเด็ก ผมบ้าเครื่องบินจำลอง พยายามสร้างเครื่องบินที่บินได้ไกล บินได้เร็ว และสิ่งนี้ช่วยพัฒนาพลังคิด พลังสมาธิ รวมทั้งพลังสร้างสรรค์ให้ผมโดยไม่รู้ตัว ทั้งยังทำให้ผมได้ออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพสมองอีกด้วย

เครื่องบินจำลองที่ดีมีประสิทธิภาพ คือ เครื่องบินที่บินได้ไกล ผมพยายามประดิษฐ์และปรับปรุงเครื่องบินด้วยสมองและสองมือของผมเอง โดยการใช้ปลายนิ้วและสมองอย่างเต็มที่ ซึ่งช่วยพัฒนาสมองของผมโดยไม่รู้ตัว เมื่อประดิษฐ์เครื่องบินเสร็จผมก็ต้องออกไปข้างนอกเพื่อดูผลงาน และตรวจสอบดูว่าควรปรับปรุงจุดไหนอีก ผมจึงร่อนเครื่องบินทั้งวันจนกระทั่งมืดมองไม่เห็นท้องฟ้า

การวิ่งไล่ตามดูเครื่องบินจำลองเป็นการบริหารสมองที่ดีมาก เครื่องบินยิ่งร่อนได้ไกล ผมก็ต้องวิ่งไกลขึ้น เครื่องบินบินได้เร็วขึ้น ผมก็ต้องวิ่งเร็วขึ้นด้วย ผมวิ่งอยู่กลางทุ่งเช่นนี้ทั้งวัน ตั้งแต่หลังอาหารเช้า จนกระทั่งค่ำมืด ปัจจุบันนี้ มนุษย์เราพึ่งบันไดเลื่อนจนแทบจะไม่ต้องเดินอยู่แล้ว ปริมาณการออกกำลังกายของผมสมัยนั้น เด็กสมัยนี้คงนึกไม่ถึง การวิ่งช่วยให้ขาของผมแข็งแรง เป็นการบริหารร่างกายท่อนล่าง ซึ่งช่วยบริหารสมองด้วย ทำให้พลังสมาธิ พลังคิด และพลังสร้างสรรค์พัฒนาขึ้น

*Immanuel Kant (พ.ศ.2267-2347) นักปราชญ์ชาวเยอรมัน

 

ข้อมูลสื่อ

124-022
นิตยสารหมอชาวบ้าน 124
สิงหาคม 2532
อื่น ๆ
Dr.YOSHIRO NAKAMATSU, พรอนงค์ นิยมค้า