• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เข่า (ตอนที่ 11)

เข่าหรือหัวเข่าเป็นข้อที่ใหญ่ที่สุดของร่างกาย มีภาระต้องแบกรับน้ำหนักของท่านในขณะที่ท่านเคลื่อนไหว ไม่ว่าท่านจะทำงานอาชีพอะไรก็ตาม เข่าก็มีความสำคัญสำหรับตัวท่าน ถ้าไม่มีหัวเข่า หัวเข่าตาย หรือหัวเข่าไม่ทำงาน ก็ลองคิดดูเอาเองว่าจะมีสภาพอย่างไร จะเดินก็ต้องไปทั้งท่อนแข็ง ไม่สามารถที่จะงอ หรือเหยียดเข่าได้ เข่าจึงมีความสำคัญมาก เปรียบเสมือนบานพับของร่างกายที่ทำการเคลื่อนไหวส่วนล่าง

บริเวณที่ตั้งของเข่าคือ อยู่ระหว่างช่วงกลางของขาทั้งหมด โดยแบ่งขาออกเป็นสองท่อน คือขาท่อนบน และขาท่อนล่าง นับตั้งแต่หน้าแข้งไปจนถึงฝ่าเท้า

แม้ว่าเข่าจะเป็นข้อที่ใหญ่โต แต่ก็ไม่มีสิ่งป้องกันใดๆที่จะมาช่วยเหลือหัวเข่าได้ เพราะเข่าเป็นเพียงกระดูก 2 ท่อนมาต่อกัน โดยมีลูกสะบ้าเป็นตัวเชื่อม มีเส้นเอ็น พังผืด กล้ามเนื้อที่อยู่ด้านข้าง และมีหนังภายนอกบางๆหุ้มห่อป้องกันไว้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม หนังบางๆที่ห่อหุ้มเข่าก็สามารถทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์

มีผู้คำนวณการเคลื่อนไหวของหัวเข่าไว้ว่า คนเราภายใน 24 ชั่วโมงจะมีการเคลื่อนไหวหัวเข่าประมาณ 10,000-15,000 ครั้ง เวลานอนพักผ่อนของเรา ถึงแม้จะเป็นการนอนนิ่งๆ แต่จริงๆแล้ว เรามีการเคลื่อนไหวหัวเข่าขยับไปมาประมาณ 500 ครั้ง

เด็กเล็กๆมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาไม่เหมือนผู้ใหญ่ บางครั้งมีอาการอยู่นิ่งหรือสงบ อยู่ในอิริยาบถที่ไม่ได้ทำอะไร หัวเข่าก็จะไม่ทำอะไรเลยเป็นเวลาสักครู่ หากเป็นเด็กเล็ก หัวเข่าทำหน้าที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ยิ่งเป็นเด็กอ่อนจะต้องขยับหัวเข่าอยู่เรื่อย ไม่ว่าจะเป็นหัวเข่าหรือส่วนอื่นๆของร่างกาย

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับหัวเข่ามีมากเหลือเกิน ไม่ว่าจะอยู่ในท่าทางหรือการทำงานอะไร ย่อมเกิดอุบัติเหตุได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักกีฬาจะต้องใช้หัวเข่าในการเคลื่อนไหวมาก ขยับตัว บิดตัว ลุกนั่ง หรือทำอะไรก็ตาม เข่าจะมีส่วนร่วมกับเขาด้วยเหมือนกัน

เข่าเป็นส่วนหนึ่งของกระดูกท่อนขา ประกอบด้วยกระดูกสองท่อน มีสะบ้าอยู่ตรงกลาง มีเส้นเอ็น เยื่อบุข้อ พังผืด น้ำเลี้ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำเลี้ยงมีส่วนสำคัญมาก หากท่านไม่มีน้ำเลี้ยงหัวเข่าแล้วหัวเข่าจะขัด เดินไม่คล่อง มีอาการเจ็บปวดภายใน

นอกจากสิ่งที่กล่าวมาแล้ว ยังมีกระดูกอ่อน ทำหน้าที่เปรียบเสมือนจาระบี มีหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้กระดูกเสียดสีกันมาก ถ้าหากว่าได้รับอุบัติเหตุหรือได้รับอันตรายกับหัวเข่าถึงกับแตกหรือกระดูกอ่อนแตก จะทำให้ปวดบวมภายใน เดินไม่คล่อง ขยับไม่สะดวก เด็กๆที่ชอบเขกหัวเข่าเล่นก็ควรระวังไว้ ถึงแม้ว่าการเขกจะไม่รุนแรงในแต่ละครั้ง แต่ถ้าหลายๆครั้งก็อาจเกิดอันตรายแก่หัวเข่าได้

คนที่ชอบเดินด้วยหัวเข่าหรือเอาหัวเข่าถูกับพื้นนั้น ย่อมจะเกิดอุบัติเหตุหรือความเสื่อมของหัวเข่าได้ง่าย ยิ่งเป็นคนแก่แล้ว อายุยิ่งมากเท่าไร ความเสื่อมของหัวเข่ายิ่งมากเท่านั้น นักปฏิบัติธรรม เวลานั่งปฏิบัติธรรมเป็นเวลานานๆหลายชั่วโมง ความปวดความตึงของหัวเข่าย่อมจะมีมาก เพราะอายุขัยของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน คนอายุมากหัวเข่าถูกใช้งานมาก ยิ่งพวกกกรมกรด้วยแล้ว โอกาสที่จะอยู่นิ่งหรือได้พักผ่อนสบายๆย่อมจะเกิดได้น้อยเช่นกัน

ดังนั้นควรจะมีการพัฒนาหรือช่วยเหลือตนเองด้วยการรักษาหัวเข่าให้สามารถอยู่ในสภาพที่จะใช้งานได้เป็นระยะเวลายาวนานหรือใช้ได้ตลอดไป

หากท่านรู้สึกเคล็ด ขัด ยอก หรือปวดเมื่อยตามหัวเข่า ท่านอาจจะใช้หลักการบริหารง่ายๆสำหรับบรรเทาอาการปวดเมื่อยโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งยาหรือไปหาหมอ บางคนที่เป็นโรคบวมตามหัวเข่าแล้วไปให้หมอดูดน้ำเลี้ยงหัวเข่าออก จะเป็นอันตรายอย่างมาก เพราะปกติร่างกายได้สร้างน้ำเลี้ยงมาให้เพียงพอกับการใช้งานอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเอาออกหรือเพิ่มเข้าไป

อาหารเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแรงของหัวเข่า ไม่ว่าจะเป็นกระดูก หรือน้ำเลี้ยง ดังนั้นการเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์จึงช่วยให้หัวเข่ามีความแข็งแรงเพียงพอได้

คนที่อยู่ดีกินดีมักจะเป็นโรคหัวเข่าเสื่อม เปรียบเทียบได้ง่ายๆ ระหว่างคนที่ทำงานอยู่ในห้องแอร์นั่งเป็นเวลานานหลายๆชั่วโมง กับคนที่หาเช้ากินค่ำ เดินประจำ เช่น พนักงานขาย แม่ค้า หรือกรรมกร จะมีการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันมาก เพราะคนที่ทำงานในห้องแอร์หรือนั่งโต๊ะทำงานมักจะต้องงอเข่าอยู่ในอิริยาบถที่นานจะมีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าคนทำงานแบบที่ต้องเดินบ่อยๆ เพราะว่าหัวเข่าไม่ได้เคลื่อนไหวหรือออกกำลังเท่าที่ควร ในขณะที่คนทำงานแล้วต้องเดินบ่อยๆนั้น จะมีหัวเข่าที่แข็งแรง สาเหตุเนื่องจากหัวเข่าได้มีการเคลื่อนไหว ได้มีการออกกำลัง

สำหรับคนที่ไม่มีเวลาอาจจะใช้วิธีการออกกำลังกายแบบง่ายๆที่บ้านหรือที่ทำงานก็ได้
วิธีหนึ่งคือ การนั่งยองๆแล้วค่อยๆลุกขึ้น การทำแต่ละครั้งจะทำให้หัวเข่าได้มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โอกาสที่จะทำให้หัวเข่าปวดเมื่อยหรือเคล็ด ขัด ยอก จึงมีน้อยมาก

การบริหารกล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆหัวเข่าให้มีความแข็งแรงยิ่งขึ้น ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่อ้วนมีน้ำหนักมาก เพราะหัวเข่าของคนอ้วนต้องรับน้ำหนักของร่างกายที่มีความสมบูรณ์ จะเดินไปไหนมาไหนแต่ละครั้งก็ลำบากทำให้ไม่อยากเดิน ไม่อยากเคลื่อนไหว หัวเข่าจึงไม่เจริญเติบโตและแข็งแรงพอ
 

 

ข้อมูลสื่อ

100-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 100
สิงหาคม 2530
นวดไทย
บุญเทียม ตันติ์เตชรัตน์