• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการผมหงอก ผมร่วง และผมผิดปกติ

การตรวจรักษาอาการผมหงอก ผมร่วง และผมผิดปกติ

ผมร่วง ฟังดูแล้วน่าจะเป็นอาการที่หนักหนาน้อยกว่าหัวล้าน แต่จริงๆ แล้วที่มาของภาวะหัวล้านก็คืออาการผมร่วงที่ผิดปกตินั่นเอง และเพื่อนำเสนอให้ครบวงจรของปัญหาเกี่ยวกับเส้นผมและหนังศีรษะ ครั้งนี้จึงนำข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาวะหัวล้าน อาการผมคุด ปัญหารังแค และแถมท้ายด้วยการปลูกถ่ายผมมาเสนอต่อไป

หัวล้านเฉพาะที่

หัวล้านเฉพาะที่ (alopecia areata) เป็นอาการผมร่วงเป็นหย่อมๆ มักจะเป็นหย่อมเล็กๆ รูปรีหรือวงกลม เป็นที่ส่วนไหนของศีรษะก็ได้ สาเหตุยังไม่รู้แน่ แต่คงเกิดจากหลายๆ อย่างผสมกัน เช่น กรรมพันธุ์ โรคภูมิแพ้ ความเครียด การติดเชื้อ เป็นต้น อาจเกิดร่วมกับโรคของธัยรอยด์ ด่างขาว (vitiligo) และโรคอื่น

บริเวณที่เป็นจะเป็นหย่อมรูปรีหรือรูปกลมที่ผมร่วงหมดจนดูเลี่ยน หนังศีรษะตรงนั้นอาจจะแดงและบุ๋มกว่าบริเวณโดยรอบเล็กน้อย ตามขอบๆ อาจจะเห็นเส้นผมที่งอกออกมาไม่เต็มที่ ทำให้มีลักษณะคล้ายเครื่องหมายตกใจ (!) ถ้าเป็นหลายหย่อม และหย่อมเหล่านี้ขยายมาจรดกัน อาจจะทำให้หัวล้านทั้งศีรษะได้ ในคนที่เป็นมาก ขนทั่วตัวและเล็บอาจจะหลุดด้วย ถ้าเล็บไม่หลุดก็อาจจะมีลักษณะผิดปกติเป็นรูบุ๋มหรือมีรอยขวาง หรืออื่นๆ โดยทั่วไป ถ้าเป็นหย่อมเล็กๆ และเป็นบริเวณยอดศีรษะ และเป็นในเด็ก โอกาสที่จะหายเองมีมาก และมักหายในเวลา 1 ปี แต่ถ้าเป็นบริเวณทัดดอกไม้และท้ายทอย โดยเฉพาะในผู้ใหญ่แล้วโอกาสที่จะหายเองมีน้อย

การรักษาที่ดีที่สุด คือ การปล่อยให้หายเอง เพราะจะเป็นสิ่งที่ถาวรที่สุด ส่วนการรักษาด้วยการทาบริเวณที่เป็นด้วยครีมสตีรอยด์ หรือการฉีดสตีรอยด์เข้าไปใต้ผิวหนัง จะช่วยให้ผมงอกขึ้นมาเพียงชั่วคราวเท่านั้น แล้วภายในไม่กี่เดือนมันก็จะร่วงหายไปหมดเช่นเดิม และอาจทำให้หนังศีรษะบริเวณนั้นอักเสบ และฝ่อไปด้วยได้

ผมคุด

ผมคุด (ingrowing hairs) คือ ปลายผมที่งอกออกมากลับคดงอและฝังเข้าไปในผิวหนังที่ปากรูขุมขน (ปากรูผม) นั้น จึงมักจะทำให้เกิดการอักเสบที่รูผมนั้น ส่วนใหญ่เกิดกับเส้นผมบริเวณต้นคอ และหนวดเครา มักเป็นในคนที่ผมหยักศกหรือหยิกหยองมาก เช่น ในนิโกร

การรักษา คือ การใช้แว่นขยายส่อง แล้วใช้คีมถอนผมเล็กๆ ดึงและถอนผมหรือขนเส้นนั้นออกอาการอักเสบหรือการเป็นฝี หนองในบริเวณนั้นก็จะหายไป

ขี้รังแค

ขี้รังแค (dandruff) เป็นสะเก็ดเล็กๆ แห้งๆ ที่เกิดจากหนังศีรษะที่ลอกหลุดออก หนังศีรษะก็เช่นเดียวกับผิวหนังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ที่ชั้นนอกของมันจะตายและลอกหลุดออกไปเรื่อยๆ ตามร่างกาย ทั่วไปเราเรียกกันว่า “ขี้ไคล” ที่เวลาถูตัวแรงๆ แล้วจะเป็นเศษสีคล้ำหรือดำหลุดออกมาจากผิวหนัง ขี้รังแคจึงเป็นสิ่งปกติของคนทุกคน คนที่มีขี้รังแคมาก อาจเกิดจาก

1. ความสกปรก นั่นคือ ไม่ได้สระผมบ่อยๆ ขี้รังแคที่สะสมกันอยู่บนหนังศีรษะไม่ได้รับการชะล้างออกไป จึงร่วงหล่นลงบนเสื้อผ้า (โดยเฉพาะเสื้อผ้าสีเข้ม) ทำให้เห็นได้ชัดและเกิดความน่าเกลียดขึ้น

2. หนังศีรษะอักเสบ จากยาสระผม ยาย้อมผม ความร้อน โรคผิวมัน (seborrheic dermatitis) โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) การเกาศีรษะบ่อยๆ การหวีหรือการแปรงหนังศีรษะแรงๆ หรืออื่นๆ

การรักษา รักษาความสะอาดของผมและหนังศีรษะ สระผมบ่อยๆ โดยอาจใช้เพียงน้ำเปล่าธรรมดา หรือใช้ผลมะกรูดเผาไฟ สบู่อ่อน แชมพูอ่อน หรือสารที่ไม่ระคายหนังศีรษะ

ถ้ารักษาความสะอาดของผมและหนังศีรษะอย่างดีแล้ว ขี้รังแคยังไม่ลดลง ควรตรวจหนังศีรษะ ถ้าพบว่าหนังศีรษะมีการอักเสบ (แดง) เป็นผื่น หรืออื่นๆ ให้รักษาสาเหตุ แล้วอาการขี้รังแคจะดีขึ้น แต่ถ้าหนังศีรษะเป็นปกติ อาจใช้ยาสระผมที่มีส่วนผสมของกำมะถัน ซิลิเนียม น้ำมันดิน (tar) หรือยาฆ่าเชื้อ เช่น Polytar liquid, Selsum ร่วมด้วยในการสระผม การใช้ยาเหล่านี้ถ้าใช้มากเกินไป อาจทำให้หนังศีรษะอักเสบ และเกิดขี้รังแคมากขึ้นได้

การปลูกถ่ายผม

การปลูกถ่ายผม (hair transplants) คือ การตัดเอาหนังศีรษะส่วนที่มีผมเป็นหย่อมเล็กๆ มาปลูกลงตรงบริเวณที่หัวล้าน ต้องตัดมาหลายหย่อม จะมากหรือน้อยย่อมขึ้นกับบริเวณที่หัวล้านว่าใหญ่หรือเล็กและบริเวณที่มีผมว่าใหญ่หรือเล็กด้วย เพราะบริเวณที่ถูกตัดหนังศีรษะไปจะเกิดแผลเป็นและผมจะหายไปด้วย การปลูกถ่ายผมจะช่วยแก้ปัญหาหัวล้านได้บ้าง ถ้าส่วนที่เป็นหัวล้านไม่ใหญ่มาก และส่วนที่มีผมที่จะสามารถตัดไปปลูกได้มีบริเวณกว้าง

อย่างไรก็ตาม การปลูกถ่ายผมจะเสียค่าใช้จ่ายมาก และอาจทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังบริเวณหนังศีรษะเป็นแผล แผลเป็น และอื่นๆ จึงไม่ควรจะทำนอกจากจะจำเป็นจริงๆ นั่นคือ ถ้าไม่ทำแล้วจะต้องกลายเป็นคนบ้า หรือทำมาหากินไม่ได้ เป็นต้น

วิธีที่ง่ายกว่า ถูกกว่า และมีโรคแทรกซ้อนน้อยกว่ามาก คือ การใส่วิก การถักผม เพื่อความเชื่อมั่นในตนเอง หรืออื่นๆ

โดยสรุปแล้ว ผมเป็นขนที่ขึ้นบนหนังศีรษะซึ่งมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตน้อยมาก มีประโยชน์แต่ในด้านการเสริมสวยหรือจิตวิทยาเป็นสำคัญ จนในปัจจุบัน ผมได้กลายเป็นเครื่องทำมาหากินของบุคคลต่างๆ รวมทั้งนักหลอกลวงมืออาชีพและมือสมัครเล่นทั้งหลาย จึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องผมให้ดี และช่วยกันเผยแพร่ออกไป เพื่อไม่ให้ตนเองและผู้อื่นตกเป็นเหยื่ออันโอชะของนักต้มตุ๋นทั้งหลายได้ เพราะการดูแลเส้นผมที่ดีที่สุด คือ การรักษาความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะ และอย่าพยายามไปดัด ดึง ย้อม ฟอก หรือยุ่งกับผมมากนัก

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของเส้นผมก็นับเป็นอาการอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจนำไปสู่การวินิจฉัยโรคภายในร่างกายที่ร้ายแรงได้ เช่น ภาวะต่อมธัยรอยด์ทำงานผิดปกติ โรคซิฟิลิสขั้นรุนแรง โรคแพ้ยา โรคจิตที่ถอนผมของตนมากลืนกินอย่างเอร็ดอร่อย เป็นต้น จึงควรศึกษาเรื่องผมนี้ และเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของเส้นผมของตนเอง และของผู้ใกล้ชิดเพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ของเส้นผมกับเหตุการณ์ในชีวิตของตนเองและผู้อื่นได้

ข้อมูลสื่อ

125-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 125
กันยายน 2532
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์