• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การปฐมพยาบาลกระดูกหักบาดแผลเปิด

การปฐมพยาบาลกระดูกหักบาดแผลเปิด

กระดูกหักบาดแผลเปิด หมายถึง ภาวะกระดูกหักที่มีบาดแผลฉีกขาดติดต่อกันจนถึงชั้นผิวหนัง กระดูกหักบาดแผลเปิด จึงมีโอกาสได้รับสิ่งสกปรกและเชื้อโรคจากภายนอกเข้าสู่ภายในบาดแผล และทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อต่อไป ซึ่งการอักเสบติดเชื้อของกระดูกนั้น รักษายากนักยากหนา บางรายต้องรักษากันนานหลายๆ เดือนหรือเป็นปีก็ยังไม่หายขาด

การปฐมพยาบาลมีความสำคัญอย่างมากในการป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบติดเชื้อ วิธีการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องควรปิดแผลด้วยผ้าสะอาด พันด้วยผ้าให้แน่นเพียงพอเพื่อห้ามเลือดแล้วตามด้วยไม้หรือกระดาษแข็งตามความคดงอของกระดูกที่หัก ไม่จำเป็นต้องดามในท่าเหยียดตรง หากบาดแผลสกปรกมาก เช่น มีเศษดินทรายปนเปื้อนมาด้วย ควรล้างด้วยน้ำเกลือที่ใช้สำหรับให้เข้าเส้นเลือด หรือน้ำต้มสุก หรือน้ำกรองสะอาดที่สำหรับใช้ดื่มก่อนก็ได้ ถ้าสามารถหาน้ำสะอาดดังกล่าวได้อาจใช้ยาฆ่าเชื้อโรค เช่น แอลกอฮอล์เช็ดรอบๆ ปากแผล แต่ไม่ควรใช้ยาฆ่าเชื้อโรคใดๆ เทราดลงไปในแผล

หากกระดูกทิ่มทะลุผิวหนังออกมา ไม่ควรดึงกระดูกกลับเข้าที่เพราะจะเป็นการนำสิ่งสกปรกและเชื้อโรคเข้าไปในแผล ทำให้โอกาสอักเสบติดเชื้อเกิดได้มากขึ้น นอกจากนั้นการดึงกระดูกยังทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดมากขึ้น และอาจทำให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อต่างๆ ได้แก่ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นเลือด และเส้นประสาทได้ เมื่อดามกระดูกเรียบร้อยแล้วควรนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพราะทุกวินาทีที่ผ่านไป เชื้อโรคที่ปนเปื้อนในบาดแผลจะแบ่งตัวเพิ่มขึ้นๆ และการรักษาจะยากขึ้นเช่นเดียวกัน กระดูกหักบาดแผลเปิด เสี่ยงต่อการอักเสบติดเชื้อสูง อัตราเสี่ยงจะลดลงได้จากการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง

ข้อมูลสื่อ

125-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 125
ตุลาคม 2532
นานาสาระ
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์