ยาแก้ปวด : กว่าปวดจะหาย...
ชาวไร่ ชาวนา และกรรมกรที่ทำงานหนัก ไม่พ้นที่จะมีอาการเคล็ดขัดยอกปวดเมื่อยตามร่างกาย ตามข้อ คอ สันหลัง ไหล่ และแขน ขา โดยเฉพาะภายหลังตรากตรำมาจากงาน
อาการปวดเมื่อยดังกล่าวเกิดจากงานที่หักโหม งานเกินกำลัง หรือการทำงานติดต่อกันนานเกินไปจนร่างกายเกิดความเครียด ถ้าลดความหลักลงหรือหยุดพักผ่อนให้เพียงพอก็จะหายได้เอง แต่หลายคนต้องหักโหมงานไม่หยุดยั้ง อาจจากความขยัน จากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงไม่รู้จักจัดสัดส่วนของงานและการพักผ่อนให้สมดุล หรือเกี่ยวกับปากท้องที่ต้องดิ้นรนจึงต้องหันหน้าพึ่งยาแก้ปวดชนิดต่างๆ ที่มีเกลื่อนกลาดในท้องตลาดและซื้อยาได้อย่างง่ายดาย รวมทั้งยาชุด ยาแก้อักเสบ ยากระจายเส้น สุรายาดอง และเครื่องดื่มบำรุงร่างกายต่างๆ
การใช้ยาอย่างมากมายโดยขาดความรู้ บางครั้งก็เกิดประโยชน์น้อย ไม่คุ้มกับเงินที่เสีย แถมยังอาจเกิดโทษจากยา และอาจติดยาได้
หลักการใช้ยาแก้ปวด
1. ให้กินยาแก้ปวดเป็นครั้งคราวเฉพาะเวลาปวด ไม่ควรกินยาติดต่อกันนานๆ หรือกินยาเพื่อป้องกันอาการปวด
2. ยาแก้ปวดเกือบทุกชนิดมักกัดกระเพาะอาหาร จึงควรกินยาหลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามอย่างน้อย 1 แก้ว ไม่ควรกินยาเวลาท้องว่าง
3. ไม่ควรกินยาชุดหรือยาแก้ปวดครั้งละหลายชนิดพร้อมๆ กัน เพราะนอกจากฤทธิ์แก้ปวดจะไม่ดีกว่าการให้ยาเพียงชนิดเดียวแล้ว ยังเกิดอาการแทรกซ้อนและพิษของยาเพิ่มขึ้นด้วย
4. ไม่มียาบำรุงใดๆ ที่กินแล้วร่างกายจะแข็งแรงจนไม่ปวด การได้อาหารที่ครบหมู่และพอเหมาะเป็นยาบำรุงที่ดีที่สุด
5. ควรหาวิธีลดความปวดเมื่อยด้วยวิธีการอื่นๆ ร่วมด้วย เพื่อจะได้ใช้ยาแก้ปวดน้อยลง ได้แก่ การพักผ่อนอย่างเพียงพอ การประคบร้อน ประคบเย็น การนวดแผนไทย เป็นต้น
อาการปวดเมื่อยจะลดลงได้ถ้ารู้จักการทำงานอย่างถูกหลัก ทั้งวิธีการนั่ง การยืน การยกของหนัก การหาเครื่องผ่อนแรง เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อเกิดความเครียด รวมทั้งการพักผ่อนอย่างเหมาะสม
การใช้ยาแก้ปวดเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ อย่าใช้ยาแก้ปวดอย่างพร่ำเพรื่อ เพราะกว่าปวดจะหาย...อาจตายเสียก่อน
- อ่าน 2,372 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้