• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ครึ่งเดือนถึงหนึ่งเดือน( ต่อจากฉบับที่แล้ว )

ครึ่งเดือนถึงหนึ่งเดือน


                       


 

สภาพผิดปกติ 

59. สะดือโป่ง (สะดือจุ่น)
เด็กบางคนเมื่ออายุใกล้จะหนึ่งเดือน สะดือจะโป่งออกมา โดยเฉพาะเด็กที่ร้องเก่ง หรือเด็กที่ชอบออกแรงเบ่งจนหน้าแดงบ่อย ๆ ทำให้ลำไส้ส่วนหนึ่งโผล่ออกมาทางสะดือ จนสะดือโป่ง เด็กคลอดก่อนกำหนด จะมีโอกาสเป็นมากกว่าเด็กปกติ ถ้าขนาดที่โป่งออกมาไม่ใหญ่จนเกินไป (เช่น เส้นผ่าศูนย์กลางยาวถึง 5 เซนติเมตรขึ้นไป) อาการนี้จะหายไปเองตามธรรมชาติ ตามปกติสะดือจะยุบไปเองภายใน 2-3 เดือน แต่บางคนอาจถึง 1 ปี ถ้ามีคนชักชวนให้ทำการผ่าตัด คุณแม่อย่าตกลงด้วยง่าย ๆ เพราะของมันหายเองได้ตามธรรมชาติ ไม่ต้องทำการผ่าตัด และถึงแม้เด็กจะอายุ 1 ขวบแล้ว แต่สะดือยังไม่ยุบ หมอบางคนยังให้รอถึง 4 ขวบ

เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้สะดือโป่ง คือการที่เด็กชอบออกแรงเบ่งและร้องไห้บ่อย การจะช่วยไม่ให้สะดือโป่งมาก ก็ต้องแก้ที่สาเหตุ เรื่องเด็กชอบออกแรงเบ่งนั้นคุณแม่ช่วยแก้ไขไม่ได้เด็กจะเลิกทำไปเองเมื่อโตขึ้น แต่เรื่องไม่ให้ร้องไห้บ่อยคุณแม่พอจะช่วยได้ ถ้าอุ้มแล้วหยุดร้องก็ควรอุ้ม ถ้าร้องเพราะนมแม่ไม่พอ ก็ควรเพิ่มนมผงให้เด็กจะได้หยุดร้อง เมื่อเด็กไม่ร้อง สะดือก็จะไม่โป่งออกมา และจะหายไปเอง ถ้าเอาพลาสเตอร์ปิดสะดือไว้ไม่ควรเปลี่ยนบ่อย ควรปิดทิ้งไว้ 1 อาทิตย์ถึง 10 วัน เพราะการเปลี่ยนบ่อย ๆ จะทำให้ไม่ได้ผล แต่ถ้าเด็กมีอาการแพ้ ผิวรอบสะดือเริ่มแดง จะต้องเอาพลาสเตอร์ออก และปล่อยไว้เฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไรจะดีกว่า






 60. ลูกอัณฑะบวม
เด็กผู้ชายบางคนเมื่ออายุได้ครึ่งเดือนถึงเกือบหนึ่งเดือน คุณแม่อาจพบว่าลูกอัณฑะข้างหนึ่งบวมใหญ่ขึ้น แต่ผิวหนังบริเวณนั้นไม่แดง และจับดูเด็กก็ไม่ทำท่าว่าเจ็บ เมื่อเด็กอายุได้หนึ่งเดือนหรือเดือนครึ่ง ลูกอัณฑะข้างที่บวมจะใหญ่ขึ้นเป็น 2-3 เท่าของอีกข้างหนึ่ง อาการนี้เรียกว่า“ถุงน้ำที่ลูกอัณฑะ"
(Hydrocele) กล่าวคือ มีน้ำขังอยู่ภายในถุงอัณฑะไม่ใช่ไส้เลื่อน เพราะถ้าเป็นไส้เลื่อน เวลาเรากด ไส้จะกลับเข้าไปอยู่ในท้อง ขนาดของลูกอัณฑะจะเล็กลง กลับคืนเป็นปกติ แต่ในกรณีที่เป็น ถุงน้ำที่ลูกอัณฑะ นี้ ถึงจะกด ขนาดก็จะไม่เล็กลง ถ้าเอาไฟฉายส่องจะเห็นเป็นสีใส ๆ เพราะข้างในมีน้ำขังอยู่ แต่จะไม่เป็นอันตรายใด ๆ ต่อลูกอัณฑะ อาการนี้ไม่ใช่โรคประหลาดอะไร และจะหายไปเองตามธรรมชาติ ภายใน 2-3 เดือน ถ้าช้าหน่อยอาจจะถึง 1 ปี แต่ไม่เกิน 1 ปี

สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือ การเอาเข็มฉีดยาเจาะดูดเอาน้ำออก การทำเช่นนี้ตอนเด็กอายุไม่ถึงเดือน จะต้องทำหลายครั้ง เพราะไม่นานก็จะมีน้ำขังอีก และการเอาเข็มเจาะหลายครั้ง ถ้าทำความสะอาดไม่ดีพอ จะทำให้เกิดการอักเสบขึ้นได้ คุณแม่ควรรอให้หายเอง ถ้าไม่หายภายใน 1 ปี จึงค่อยทำการผ่าตัดรักษา
ส่วนใหญ่เด็กจะเป็น ถุงน้ำที่ลูกอัณฑะ เพียงข้างเดียว แต่รายที่เป็นทั้งสองข้างก็มี และบางรายเป็น ไส้เลื่อน ครบด้วยก็มี ถึงเป็นทั้งสองอย่างก็ไม่ควรรีบผ่าตัด แต่ถ้าไส้เลื่อนไม่หาย หมอจะแนะนำให้ทำการผ่าตัดรักษา และเมื่อทำการผ่าตัดแล้ว อาการของถุงน้ำที่ลูกอัณฑะจะหายไปด้วย





61. คอเอียง (Torticollis)

เด็กที่เวลาคลอดเอาขาออกมาก่อน เมื่ออายุได้สองอาทิตย์ อาจพบก้อนแข็งที่คอด้านซ้ายหรือขวา เด็กมักจะชอบหันไปข้างเดียว และเมื่อคุณแม่พยายามจะหันหัวเด็กไปอีกด้านหนึ่ง มักจะพบก้อนแข็งที่คอนี้โดยบังเอิญ อาการคอเอียงนี้เกิดจากเลือดคั่งในกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเอี้ยวคอ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเด็กผ่านช่องคลอด กล้ามเนื้อบริเวณคอถูกกระทบกระเทือน อาการนี้ไม่ใช่อาการร้ายแรง ปล่อยทิ้งไว้ก็หายไปเอง แต่ก้อนแข็งนี้จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเด็กอายุได้ 2 เดือน จึงค่อย ๆ เล็กลงและหายไปในที่สุด คุณแม่อาจช่วยบริหารคอให้เด็กเพื่อให้หายเร็วขึ้น วิธีบริหารทำดังนี้คือ จับเด็กนอนหงาย แล้วคุณแม่ใช้มือทั้งสองจับหัวเด็ก ถ้าก้อนแข็งอยู่ที่คอด้านขวา ให้ค่อย ๆ หันหัวเด็กไปทางขวา ต่อไป ค่อย ๆ จับหัวเอียงไปทางซ้ายโดยให้คางชี้ไปที่ไหล่ขวา เพื่อยืดเส้นที่คอด้านขวาที่มีก้อนแข็งอยู่ ถ้าก้อนแข็งอยู่ทางด้านซ้ายก็ทำตรงกันข้าม ควรบริหารวันละ 3 ครั้ง ๆ ละ 10 หน

ถ้าเด็กอายุได้ 3 เดือนแล้ว ก้อนแข็งที่คอยังมีขนาดใหญ่เท่านิ้วโป้งของผู้ใหญ่ คุณควรปรึกษาหมอถ้าก้อนนั้นแข็งมากและทำให้รูปร่างหน้าเริ่มบิดเบี้ยว หมออาจแนะนำให้ทำการผ่าตัด ตามปกติหมอจะแนะนำให้ทำการผ่าตัดระหว่างอายุ 1-2 ขวบ

 

62. ลักษณะของทารกระยะหนึ่งเดือนถึงสองเดือน
เมื่อทารกอายุได้ 30 วัน ตายังมองไม่เห็นแต่จะแสดงความรู้สึกทางสีหน้าได้เก่งขึ้น ระยะเวลาที่ตื่นจะยาวขึ้น ยิ้มบ่อยขึ้น แขนขาเคลื่อนไหวมากขึ้น และชอบเอากำปั้นไปไว้ที่ปากดูดจุ๊บ ๆ
เมื่ออายุเกือบสองเดือน ตาจะเริ่มมองเห็น เด็กจะยิ้มให้เมื่อเราเล่นด้วย ชอบเอามือใส่ปากดูด ชอบดูปลาตะเพียนหรือของเล่นที่แขวนเหนือเตียง เริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ บางครั้งอาจส่งเสียงหัวเราะก็มี แขนขามีแรงมากขึ้น ถ้าอากาศร้อนเวลาดูดนมจะมีเหงื่อที่หัว เวลานอนมักจะหันหัวไปด้านเดียวอยู่เสมอ ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าหัวเบี้ยว เป็นเพราะในระยะนี้ กะโหลกศีรษะจะเติบโตเร็วมาก ด้านซ้ายขวาอาจโตไม่เท่ากัน แต่หัวจะเบี้ยวอยู่ในระยะหนึ่งเท่านั้น พออายุใกล้หนึ่งขวบหัวจะกลมดี
สำหรับเด็กที่ไม่ค่อยกวนในช่วงเดือนแรก เมื่ออายุครบเดือนแล้ว ถ้าได้กินอิ่ม จะยังคงไม่ค่อยร้องกวน อารมณ์ดีอยู่เสมอ ใครเห็นก็ชมว่าเลี้ยงง่าย เด็กบางคนที่เคยตื่นบ่อย ๆ เพราะหิวบ่อย พอถึงระยะนี้ ร่างกายเติบโตขึ้นกินนมได้มากขึ้น จะนอนนานขึ้น แต่กลางคืนจะยังตื่นขึ้นร้องกินนมตอน 5 ทุ่ม ตี 2 และ ตี 5 สำหรับเด็กที่ร้องเก่งตั้งแต่แรกเกิด พอถึงระยะนี้ตัวโตขึ้น จะร้องเสียงดังขึ้นและนานขึ้น ถ้าร้องมากนักต้องอุ้ม (ดู 68 “อุ้มติดมือ”) เด็กบางคนกลางวันกลางคืนกลับกัน ตอนกลางวันนอนหลับดีพอตกกลางคืนไม่นอนชอบร้องกวนก็มี

อุปนิสัยในการกินของเด็กจะปรากฏชัดขึ้นในระยะนี้ บางคนกินเก่ง ถ้าเลี้ยงด้วยนมวัว ชงนมให้ 150 ซี.ซี. จะดูดจนหมดแล้วร้องจะเอาอีก พออายุใกล้สองเดือนให้นมถึง 180 ซี.ซี. ก็ยังไม่พอ และถ้าขืนตามใจให้กินนมวัวมากเช่นนี้จะเห็นผลในเดือนถัดไป คือเด็กอาจจะเป็นโรคเกลียดนมไปเลย เด็กบางคนกินน้อย ชงนมให้ 100 ซี.ซี. ยังกินไม่หมด คุณแม่เห็นข้างกระป๋องเขียนไว้ว่าอายุเท่านี้ชงให้ 120 ซี.ซี. มักเกิดกังวล พยายามบังคับให้ลูกกินมากขึ้น ฝ่ายลกยังคงมีปฏิกิริยาต่อต้านไม่ยอมกิน สำหรับเด็กที่กินน้อยไม่ถึง 100 ซี.ซี. คุณแม่ควรยอมรับอุปนิสัยของลูกและไม่บังคับขืนใจให้กินมากขึ้น

สำหรับเด็กอายุ 1-2 เดือน จำนวนครั้งที่ให้นมในแต่ละวัน ตามปกติ ประมาณวันละ 7 ครั้ง อุปนิสัยในการกินของเด็กจะส่งผลต่อหารเพิ่มน้ำหนักตัวด้วย สำหรับเด็กที่กินนมถึง 200 ซี.ซี.ต่อครั้ง น้ำหนักจะเพิ่มประมาณวันละ 40-50 กรัม ส่วนเด็กที่กินนมเพียง 100 ซี.ซี.ต่อครั้ง น้ำหนักจะเพิ่มเพียง 25 กรัม
เด็กที่กินนมแม่นั้น ช่วงห่างระหว่างมื้อนมอาจไม่เท่ากัน เพราเต้านมคัดไม่เท่ากันในแต่ละครั้ง บางครั้งเต้านมคัดน้อย เด็กกินนมแล้วเพียง 2 ชั่วโมงครึ่งก็ร้องหิวอีก บางครั้งนมคัดมาก อาจทิ้งช่วงถึง 4-5 ชั่วโมง
ส่วนใหญ่เด็กที่เลี้ยงด้วยนมวัว เมื่ออายุใกล้สองเดือน จะกินนมวันละ 6 ครั้ง เด็กบางคนอาจกินวันละ 7 ครั้ง แต่ถ้าในแต่ละครั้งเด็กกินนมประมาณ 150 ซี.ซี.คุณแม่ไม่ควรให้กินวันละ 6 ครั้ง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้เปรียบในเรื่องนี้มาก เพราะคุณแม่ไม่ต้องระวังว่าเด็กจะกินมากเกินไป เด็กอยากกินเท่าไรก็ให้กินได้ตามใจ
เด็กที่ชอบอาเจียนจะแหวะนมน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน แต่ถ้าเป็นเด็กผู้ชายจะยังคงอาเจียนบ่อยครั้งและกำหนดเวลาให้นมไม่ได้

จำนวนครั้งในการขับถ่ายทั้งปัสสาวะและอุจจาระจะลดลงกว่าเดือนที่แล้วเล็กน้อย เช่นถ้าเดือนที่แล้วเด็กอึวันละกว่า 10 ครั้ง พอถึงเดือนนี้จะลดลงเหลือ 5-6 ครั้ง แต่เด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่อาจอึมากขึ้น ถ้านมแม่มีมากขึ้นกว่าเดือนที่แล้ว ตามปกติเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่จะอึบ่อยกว่าเด็กที่เลี้ยงด้วยนมวัวและอึจะเหลวและมีสีเหลืองจัดเหมือนท้องเสียสำหรับเด็กที่อึน้อยเหมือนท้องผูกมาตั้งแต่เดือนแรก พอย่างเข้าเดือนที่สองท้องจะยิ่งผูกมากขึ้น บางครั้งอาจไม่อึถึง 2 วันติดต่อกันก็มี (ดู 54 “ท้องผูก”) จำนวนครั้งที่ฉี่ก็เช่นกัน เด็กในวัยนี้ส่วนใหญ่จะฉี่ตอนร้องกินนมครั้งหนึ่งและระหว่างมื้อนมอีกครั้งหนึ่ง
เวลาเด็กอ้าปาก คุแม่จะสังเกตเห็นลิ้นเป็นฝ้าขาว ซึ่งจะหายไปเองตามธรรมชาติไม่จำเป็นต้องรักษา
เมื่ออายุใกล้จะสองเดือน เด็กจะออกแรงเบ่งน้อยลง เด็กที่สะดือโป่งในช่วงนี้จะเป็นเพราะร้องบ่อยหรือเป็นเพราะท้องผูกต้องเบ่งอึบ่อยๆ
เด็กทีเป็นผด ถ้าไม่รักษาจะมีผดขึ้นเต็มที่หน้าและที่หัว (ดู 58 ‘เป็นผด ก้นแดง”)
เมื่อเด็กอายุได้ 2 เดือนคอจะเริ่มแข็ง ถ้าเด็กนอนคว่ำจะยกคอสูงทีเดียว
เด็กบางคนเวลาเปลี่ยนผ้าอ้อมให้จะมีเสียงดังขลุก ๆ ที่หัวเข่า ไม่ใช่เป็นเพราะข้อเข่าเลื่อน เสียงนี้จะหายไปเอง


 การเลี้ยงดู


63. เลี้ยงด้วยนมแม่
สำหรับผู้ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ถ้านมแม่ไหลดีช่วงอายุ 1-2 เดือนนี้จะเป็นช่วงที่สบายที่สุด จำนวนครั้งที่ให้นมในแต่ละวันเริ่มคงที่ตามอุปนิสัยของเด็กแต่ละคน เด็กส่วนใหญ่ยังต้องกินนมหลังเที่ยงคืน แต่เด็กที่กินน้อยเป็นนิสัยอาจไม่ตื่นกินนมตอนตีหนึ่งตีสอง และมักจะอึน้อยครั้งส่วนเด็กที่กินเก่ง ซึ่งแต่ละครั้งดูดนมหมดทั้งสองข้าง จะอึบ่อยและอึเหลวเหมือนท้องเสีย และอาจแหวะบ่อยเพรากินนมมากไป แต่มีเด็กบางคนซึ่งกินนมมากแต่อึน้อยครั้งเหมือนท้องผูกก็มี (ดู 54 ท้องผูก)
เมื่อเด็กอายุเกิน 1 เดือน จะดูดนมแรงขึ้นมากและอาจทำให้หัวนมเป็นแผล และถ้าเชื้อโรคเข้าไปจะกลายเป็น “เต้านมอักเสบ” ได้ ดังนั้นคุณแม่ไม่ควรให้ลูกดูดนมแต่ละข้างนานเกินกว่า 15 นาทีติดต่อกัน (ดู 39 หัวนมแตก) และต้องทำความสะอาดมือทุกครั้งก่อนให้นม เสื้อชั้นในต้องสะอาดและระวังอย่าให้หัวนมสกปรก

ถ้าคุณมีเครื่องชั่งน้ำหนัก เด็กในระยะนี้น้ำหนักควรเพิ่มเฉลี่ย 5 วันประมาณ 150-200 กรัม ถ้าน้ำหนักเพิ่มไม่ถึง 100 กรัม เด็กจะแสดงออกให้รู้ว่านมไม่พอ กลางคืนจะตื่นบ่อยขึ้นและช่วงห่างระหว่างมื้อนมจะสั้นลงๆ และเด็กร้องกวนเพรากินไม่อิ่ม ถ้าเป็นเช่นนี้คุณแม่ต้องเพิ่มนมวัวให้วันละครั้งหรือสองครั้ง ก่อนอื่นลองให้นมวัวในช่วงที่น้ำนมน้อย (คุณแม่ส่วนใหญ่นมจะไม่ค่อยคัดในช่วงบ่าย 4 โมงถึง 6 โมงเย็น) โดยพักนมแม่เสียครั้งหนึ่ง ชงนมให้ประมาณ 100-120 ซี.ซี. เด็กคงดูดจนหมด ถ้าครั้งต่อไปนมแม่ไหลดีและเด็กไม่ค่อยร้องกวนตอนกลางคืนก็ให้นมวัววันละครั้งต่อไป ถ้าเพิ่มนมวัวให้วันละครั้งแล้วเด็กยังร้องกวนตอนกลางคืนอยู่และนมแม่ไม่ค่อยคัดตอนกลางคืน ก็ให้นมวัวอีกครั้งในช่วง 4-5 ทุ่ม และเก็บนมแม่ไว้ให้ช่วงหลังเที่ยงคืน เพราะการเตรียมนมวัวยุ่งยากเสียเวลากว่านมแม่ เด็กคอยไม่ไหวจะร้องรบกวนคนอื่นในบ้านไปด้วย และเมื่อลูกร้องคุณแม่มักจะรีบรวบรัดตัดตอนไม่ทำความสะอาดอย่างเพียงพอ เกิดผลเสียได้ในภายหลัง

เด็กที่มีนิสัยกินน้อย 5 วันน้ำหนักเพิ่มไม่ถึง 100 กรัม แต่เด็กไม่ร้องกวน เลี้ยงง่าย คุณแม่ไม่ต้องให้นมวัวเพิ่มเพราะถึงจะเพิ่มให้เด็กก็คงไม่ยอมกินอยู่ดี เด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่ถ้าเติบโตดี พัฒนาการเป็นไปตาม-ปกติ คุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวล เพราะเด็กในช่วงอายุ 1-2 เดือนที่เลี้ยงด้วยนมแม่มักจะไม่เป็นโรคร้ายแรง ถึงแม้ว่าเด็กจะอึเหลววันละ 7-8 ครั้งหรืออาเจียน นมบ่อยหรือเป็นผด ถ้าเด็กดูท่าทางแข็งแรงหรือดูดนมดี จะไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง คุณแม่ไม่ควรกังวลในเรื่องเล็กน้อยเหล่านี้จนถึงกับพาเด็กไปให้หมอฉีดยา เจ็บตัวและเสียเงินเปล่า ๆ ทั้งยังเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรคร้ายแรงอื่น ๆ จากร้านหมออีกด้วย
มีเรื่องหนึ่งที่คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วน ๆ จะต้องคำนึงถึงคือ เมื่อนมแม่น้อยลง คุณแม่จะต้องให้นมวัวเพิ่มโดยเด็กจะต้องดูดจากนมหัวยาง เด็กที่ดูดแต่นมแม่อย่างเดียวตลอดสองเดือนมักติดหัวนมแม่และไม่ยอมดูดหัวนมยาง ดังนั้นคุณควรหัดให้ลูกดูดหัวนมยางบ้าง โดยให้เด็กดูดน้ำต้มสุกจากหัวนมยาง หรือจะให้น้ำผลไม้ประมาณ 20 ซี.ซี. หลังอาบน้ำหรือระหว่างมื้อนมก็ได้ (ดู 66 วิธีให้น้ำผลไม้)


 


64. เลี้ยงด้วยนมวัว

สำหรับเด็กอายุ 1-2 เดือนที่เลี้ยงด้วยนมวัว สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณแม่จะต้องระวังคืออย่าให้นมลูกมากเกินไปจนเป็นภาระต่อระบบย่อยอาหารของเด็ก เวลานมไม่พอ เด็กจะร้องแสดงให้รู้ว่าหิว แต่ในกรณีที่ได้รับนมมากเกินไปเด็กจะไม่ร้องบอก เด็กที่กินเก่ง ถึงแม้จะได้รับนมเพียงพอสำหรับความต้องการของร่างกายแล้วก็ตาม จะยังดูดขวดเปล่าจุ๊บ ๆ เหมือนไม่พอ ถ้าคุณแม่ตามใจเพิ่มนมให้เรื่อย ๆ เด็กจะได้รับนมมากเกินไป

มาตรฐานในการให้นมเด็กอย่างคร่าว ๆ คือ เด็กที่น้ำหนักแรกเกิด 3-3 กิโลครึ่ง พออายุได้หนึ่งเดือน จะกินนมวันละประมาณ 700 ซี.ซี. และระหว่าง 1-2 เดือนจะกินนมวันละประมาณ 800 ซี.ซี. ถ้าเด็กกินนมวันละ 7 ครั้ง แต่ละครั้งจะกินประมาณ 120 ซี.ซี. ถ้ากินนมวันละ ๖ ครั้ง แต่ละครั้งจะกินประมาณ 140 ซี.ซี. แต่เด็กที่กินน้อยอาจกินไม่หมด ก็ไม่เป็นไร ส่วนเด็กที่กินจุ ซึ่งจะกินครั้งละ 150-180 ซี.ซี. คุณแม่ไม่ควรให้เกินกว่า 150 ซี.ซี. ถ้าร้องกวนไม่พอก็ให้น้ำต้มสุกผสมกลูโคสประมาณ 30 ซี.ซี. แทน
เด็กอายุ 1-2 เดือนยังไม่ควรให้กินแป้งเพราะระบบย่อยยังย่อยแป้งได้ไม่สมบูรณ์ จะออกมาเป็นอุจจาระเสียส่วนใหญ่ เวลาชงนมให้ก็ไม่ควรใส่น้ำตาลลงไปในนมอีก เพราะนมผงส่วนใหญ่ปรุงรสหวานอยู่แล้ว
เด็กที่เลี้ยงด้วยนมวัวถึงแม้จะอึวันละ 4-5 ครั้ง แต่ถ้าเด็กแข็งแรงเป็นปกติดีก็ไม่มีปัญหา หรือเด็กบางคนไม่อึทุกวัน แต่ปกติดีก็ไม่เป็นอะไรเช่นกัน (ดู 54 ท้องผูก)
ในปัจจุบัน นมผงส่วนใหญ่จะผสมวิตามินลงไปในนมอยู่แล้ว แต่ถ้าใช้น้ำร้อนจัดชง วิตามินซีบางส่วนจะถูกทำลาย ดังนั้นควรเพิ่มวิตามินซีให้หรือให้น้ำผลไม้ทุกวัน





65. การให้น้ำผลไม้เมื่อไร
ที่จริงไม่มีข้อกำหนดอะไรว่า เราจำเป็นจะต้องให้น้ำผลไม้แก่เด็กเมื่ออายุได้กี่เดือน เด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่ในน้ำนมแม่จะมีวิตามินซีอยู่แล้ว ไม่ต้องให้น้ำผลไม้วิตามินก็เพียงพอ ส่วนเด็กที่เลี้ยงด้วยนมวัว ถ้าให้วิตามินรวมทุกวัน ก็จะไม่ขาดวิตามินหรือถึงแม้จะไม่ให้วิตามินเพิ่ม ถ้าเลี้ยงด้วยนมผงในนมมีวิตามินซีอยู่แล้ว ถึงจะถูกทำลายด้วยความร้อนไปบ้าง แต่จะไม่ทำให้เด็กขาดวิตามินซีจนถึงกับเป็นโรคเลือดออกตามไรฟัน และถ้าให้วิตามินรวมแก่เด็กทุกวัน น้ำผลไม้ก็ไม่จำเป็น

แต่ที่เราให้น้ำผลไม้แก่เด็ก ก็เพราะน้ำผลไม้นั้นอร่อย เวลาให้น้ำผลไม้หลังอาบน้ำเด็กจะดูดทำเสียงจุ๊บ จุ๊บ จนหมด บางทีหมดแล้วยังดูดขวดเปล่าต่อไปอีก การให้น้ำผลไม้แก่เด็ก ทำให้เด็กรู้จักรสอร่อยของน้ำผลไม้ทั้งยังเพิ่มวิตามินให้ด้วย ดังนั้นถ้าไม่มีปัญหาอะไร โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องการรักษาความสะอาด ควรให้น้ำผลไม้อร่อย ๆ แก่เด็ก เพราะความสุขส่วนใหญ่ของเด็กทารกในวัยนี้อยู่ที่ปาก นอกจากนี้ เด็กที่เลี้ยงด้วยนมวัวและท้องผูก น้ำผลไม้จะช่วยให้ถ่ายสะดวกขึ้น เด็กที่เคยถ่ายวันเว้นวัน เมื่อได้น้ำผลไม้อาจถ่ายทุกวันก็มี ดังนั้นเด็กที่ท้องผูกหรืออึแข็ง ควรให้น้ำผลไม้เร็วหน่อย แต่เด็กบางคนให้น้ำผลไม้แล้วท้องก็ไม่หายผูกและเด็กบางคนไม่ชอบน้ำผลไม้ก็มี (เหมือนกับผู้ใหญ่บางคนไม่ชอบกินน้ำผลไม้)

เด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่มักจะอึบ่อยและเหลว เราจึงมักให้น้ำผลไม้ช้าเพราะกลัวว่าเด็กจะอึบ่อยขึ้นแต่เพื่อให้เด็กได้ชินกับหัวนมยางควรเริ่มให้น้ำผลไม้เมื่อเด็กอายุก่อน 2 เดือน โดยเริ่มให้แต่น้อยแล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้น
เวลาที่ให้น้ำผลไม้ควรให้เวลาที่เด็กคอแห้งหลังอาบน้ำหรือหลังจากพาไปเดินเล่นข้างนอก แต่ถ้าคุณแม่ไม่ค่อยมีเวลาจะให้ตามหลังนมก็ได้


 


66. วิธีให้น้ำผลไม้

จุดประสงค์ของการให้น้ำผลไม้ไม่ได้อยู่ที่วิตามินซี เราให้น้ำผลไม้แก่เด็กเพราะต้องการให้เด็กได้ลิ้มรสของอร่อย ๆ ดังนั้นเวลาเลือกผลไม้ไม่จำเป็นต้องเลือกชนิดที่มีวิตามินซีมาก แต่เลือกผลไม้ที่สด อร่อยและราคาถูกตามฤดูกาล เช่น ส้ม แตงโม มะละกอ สับปะรด ฝรั่งสุก มะเขือเทศ นะนาว ฯลฯ
เวลาคั้นน้ำผลไม้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความสะอาด มีดที่กรองและเครื่องใช้ทุกชิ้น ต้องต้มหรือนึ่ง คุณแม่ต้องล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาด น้ำผลไม้ที่คั้นแล้วให้ผสมน้ำต้มสุกเท่าตัวและไม่ใส่น้ำตาลดีกว่า แต่ถ้าเด็กไม่ชอบอาจเติมน้ำตาลให้เล็กน้อย ให้กินครั้งละ 20-30 ซี.ซี.

สำหรับเด็กท้องผูก ถ้าให้น้ำผลไม้ที่เจือจางด้วยน้ำต้มสุกแล้วไม่ได้ผล ก็ให้น้ำผลไม้ล้วน ๆ และเพิ่มปริมาณที่ให้เพิ่มขึ้นอีก
ถ้าเด็กชอบน้ำผลไม้และไม่ทำให้อึบ่อยเกินไป อาจให้วันละ 2 ครั้งและเพิ่มปริมาณขึ้น แต่สำหรับเด็กในวัย 1-2 เดือนนี้ไม่ควรให้ครั้งละเกินกว่า 50 ซี.ซี


 


67. เลี้ยงลูกให้แข็งแรง

ในประเทศหนาว เด็กต้องใส่เสื้อผ้าหนาหลายชั้นจนเด็กเคลื่อนไหวลำบาก แม่จึงต้องถอดเสื้อฝึกกายบริหารให้บ้างเพื่อให้เด็กแข็งแรง มีท่ากายบริหารต่าง ๆ สำหรับทารกโดยเฉพาะ แต่สำหรับเมืองเราเด็กสวมเสื้อผ้าบาง ๆ หรือบางทีไม่ใส่เลย แขนขาดิ้นได้เต็มที่ กายบริหารจึงไม่จำเป็น แต่คุณแม่ควรอุ้มลูกบ้างไม่ควรปล่อยให้นอนอยู่เกือบตลอดเวลา เพราะการอุ้มจะช่วยเปลี่ยนท่าให้เด็กเป็นการบริหารร่างกายไปในตัว ถ้าคุณแม่จะฝึกกายบริหารให้ลูกบ้างต้องทำให้ถูกหลักและระวังอย่าหนักมือจนเกินไป จะกลายเป็นผลเสียมากกว่าผลดี
เด็กชอบอากาศสดชื่นนอกบ้าน คุณควรพาลูกออกสูดอากาศภายนอกอย่างน้อยวันละครั้งตอนเช้าหรือตอนเย็นและให้ได้รับแสงแดดอ่อน ๆ บ้าง เด็กจะได้แข็งแรงนอนหลับสบายไม่กวน แต่คุณไม่ควรพาเด็กไปที่ชุมนุมชน






68. อุ้มติดมือ

สาเหตุที่เด็กร้องมีหลายประการ ส่วนใหญ่จะร้องเพราะหิว ยางครั้งก็ร้องเพราะถ่ายเปียกรู้สึกรำคาญ บางครั้งร้องเพราะในท้องมีลมท้องแข็งรู้สึกอึดอัด ถ้าเด็กร้องหลังจากให้นมไปไม่นาน คุณแม่มักจะดูว่าผ้าอ้อมเปียกหรือเปล่า ถ้าไม่เปียกคุณแม่มักจะไม่รู้สาเหตุที่ร้องและไม่รู้จะทำอย่างไรดี ผู้ใหญ่มักเตือนเสมอว่าอย่าอุ้มเด็กบ่อยๆ เดี๋ยวจะติดมือต้องอุ้มอยู่เรื่อย จะลำบากทำงานทำการไม่ได้ คุณแม่จึงพยายามไม่อุ้ม
เมื่อเด็กร้องโดยไม่ทราบสาเหตุ บางครั้งปล่อยให้ร้องสัก 4-5 นาทีก็เงียบ บางครั้งต้องอุ้มสัก 2-3 นาทีจะเลิกร้องแล้วหลับไป พอวางลงก็ไม่ร้องอีก บางทีการอุ้มเปลี่ยนท่าเด็กอาจทำให้ลมในท้องเคลื่อนที่เด็กจึงรู้สึกสบายหยุดร้องก็ได้ บางครั้ง พอเด็กร้องต้องอุ้มเดินรอบบ้านสักรอบสองรอบจะดูเหมือนรู้สึกสบายหยุดร้อง พอเอาวางลงก็นอนอย่างมีความสุข สาเหตุที่ร้องอาจเป็นเพราะเบื่อการนอนจำเจอยู่ในเตียงก็ได้

การอุ้มทำให้เด็กรู้สึกสบายไม่ร้องกวน ดังนั้นวันหนึ่ง ๆ คุณแม่ควรอุ้มเด็กบ้าง นอกจากนั้นการอุ้มยังเปลี่ยนท่าเด็ก เป็นการออกกำลังกายของเด็กในวัยนี้ด้วย ความคิดที่ว่านอกจากเวลาให้นมแล้วไม่ควรอุ้มเด็กอีกเพราะจะติดมือ เป็นความคิดที่ผิด จริงอยู่ที่ว่าเด็กทุกคนชอบให้อุ้มตลอดเวลาทุกคนไป ไม่ใช่ว่าอุ้มบ่อยแล้วเด็กทุกคนจะติดมือ มีเด็กบางคนเท่านั้นที่ชอบให้อุ้มตลอดเวลา พอวางปุ๊บจะแผดเสียงร้องจ้า ต้องอุ้มเขย่าเดินไปเดินมาจึงจะหยุดร้องแต่พอวางลงก็ร้องอีก เด็กแบบนี้มีนิสัยร้องเก่งมาแต่กำเนิด ถ้าปล่อยไว้ไม่อุ้มเพราะกลัวติดมือ เด็กจะร้องบ่อยจนสะดือโป่งได้ เด็กร้องเก่ง หรือเด็กไม่ค่อยร้องนั้นเป็นนิสัยติดตัวมาตั้งแต่เกิด เด็กที่ไม่ค่อยร้องถึงจะอุ้มบ่อยอย่างไรก็ไม่ติดมือ แต่เด็กร้องเก่งนั้นถึงจะพยายามไม่อุ้มยังไง ในที่สุดก็ต้องอุ้มอยู่ดี คุณแม่อย่ากลัวการอุ้มติดมือ จนไม่ยอมอุ้มลูกพาออกไปเดินเล่นถูกอากาศภายนอกบ้างเพราะจะทำให้เด็กไม่แข็งแรง


การที่เด็กได้แต่นอนอยู่บนเตียงเกือบตลอดเวลานั้น อาจจะดีสำหรับคุณแม่แต่ไม่ดีแน่สำหรับลูก
 

ข้อมูลสื่อ

13-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 13
พฤษภาคม 2523