• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เหล้า น้ำเก่าที่เมาตาย

เหล้า น้ำเก่าที่เมาตาย


เหล้าและน้ำเมา เป็นที่รู้จักกันมาแต่โบราณ จะนานสักเท่าใด คงไม่มีใครบอกได้แน่ เพราะแต่ละท้องถิ่นก็มีนิยายปรัมปราเกี่ยวกับกำเนิดของเหล้า หรือน้ำเมาในท้องถิ่นของตน

มีนิยายเรื่องหนึ่งเล่าว่า น้ำเมามีกำเนิดในป่าแห่งหนึ่ง ซึ่งมีผลไม้สุกงอมร่วงหล่นอยู่ทั่วไป เมื่อสัตว์ในป่าไปกินน้ำในแอ่งน้ำที่มีผลไม้สุกเหล่านี้แช่อยู่ ก็เกิดอาการมึนเมา เดินโซเซ และมีอากัปกิริยาแปลก ๆ จนพรานป่าผู้หนึ่งรู้สึกผิดสังเกต จึงติดตามดูสัตว์เหล่านั้น ก็พบว่า แอ่งน้ำที่มีผลไม้สุกงอมแช่อยู่นั้นเป็นสาเหตุ เมื่อพรานผู้นั้นลองดื่มน้ำดูบ้าง ก็เกิดอาการครึ้มอกครึ้มใจ รู้สึกสบายใจมาก จึงได้นำความรู้นี้มาบอกให้แก่เพื่อนบ้านในหมู่บ้านของตน ทำให้น้ำเมาแพร่หลาย กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว

น้ำเมาที่เกิดจากการบูดเน่าของผลไม้เช่นนี้ เป็นน้ำเมาที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ผลไม้ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผลไม้หวาน ๆ เมื่อสุกงอมมาก ๆ จนบูดเน่า ก็จะเกิดสารเมาขึ้นในผลไม้นั้น ทำให้รสชาติของผลไม้นั้นเปลี่ยนไป และถ้ากินผลไม้นั้น ก็อาจจะทำให้เกิดอาการเมามายได้
ถ้าเอาน้ำเมาจากการหมักผลไม้หรือข้าวหรือแป้งหรืออาหารอื่น มากลั่นให้มันเข้มข้นขึ้น ทำให้เมาได้มากขึ้น ก็จะถูกเรียกว่าเหล้า หรือสุรา ส่วนน้ำเมาที่ยังไม่ได้กลั่น จะถูกเรียกว่า เมรย หรือเมรัย ไป
 

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นเหล้าหรือน้ำเมา ประเภทใดก็ตาม มันก็คือน้ำเก่า ๆ ที่เกิดจากการบูดเน่าของผลไม้ ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว น้ำตาล หรือวัตถุอื่น ที่อาจจะทำขึ้นได้โดยการเอาเชื้อเหล้าส่าเหล้าซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่เชื้อรา (เชื้อยีสต์) ไปผสมกับอาหารนั้น ๆ แล้วหมักไว้จนบูดเน่า ก็จะเกิดน้ำเมาขึ้น
ถ้าน้ำเมานั้นเกิดจากการหมักน้ำตาล เช่น น้ำตาลจากงวงมะพร้าว จากงวงตาลเราก็เรียกว่า น้ำตาลเมา
ถ้าน้ำเมานั้นเกิดจากการหมักข้าวเหนียว เราก็เรียกว่า กระแช่
น้ำเมาที่กลั่นแล้ว ก็เรียกว่า เหล้า เช่น เหล้าโรง ส่วนใหญ่ก็ทำจากน้ำตาลหรือกากน้ำตาล เหล้าข้าวเหนียว เหล้าองุ่นก็ทำจากองุ่น เป็นต้น
น้ำเมาที่อัดลมไว้มาก ก็เรียกว่า เบียร์ หรือแชมเปญ เป็นต้น เหล้าที่มาจากต่างประเทศ หรือมีรสแบบนั้นก็เรียกว่า วิสกี้ บรั่นดี คอนยัค และอื่น ๆ
น้ำเมาทุกชนิด ไม่ว่าจะสุรา (เหล้า) เมรัย เบียร์ วิสกี้ บรั่นดี หรืออะไรก็ตามล้วนทำให้เมาจากแอลกอฮอล์ที่เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น การจะเมามากเมาน้อย จึงขึ้นกับปริมาณแอลกอฮอล์ในน้ำเมานั้น โดยทั่วไป เบียร์จะมีแอลกอฮอล์ประมาณร้อยละ 2-5, น้ำตาลเมาและเหล้าองุ่น จะมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 10, เหล้าโรงหรือเหล้า 28 ดีกรี จะมีแอลกอฮอล์อยู่ประมาณร้อยละ 28, เหล้าผสม เช่น แม่โขง กวางทอง จะมีแอลกอฮอล์อยู่ประมาณร้อยละ 35, เหล้าขาว 40 ดีกรี จะมีแอลกอฮอล์อยู่ประมาณร้อยละ 40, วิสกี้และบรั่นดี จะมีแอลกอฮอล์อยู่ประมาณร้อยละ 40-50 เป็นต้น
 

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า เหล้ามีฤทธิ์กระตุ้นร่างกาย ทำให้มีความสุข ลืมความทุกข์ จึงสนุกสนาน เฮฮาร่าเริง แต่อันที่จริงแล้ว เหล้าไม่ได้ไปกระตุ้นประสาท หรือสมองเลย มันกลับไปกดประสาทและสมองเป็นระยะ ๆ ดังนี้

⇒ ระยะแรก
จะไปกดสมองส่วนที่ควบคุมความคิด และสมองส่วนที่คอยยับยั้ง ควบคุมให้มีความระมัดระวัง เมื่อสมอง 2 ส่วนนี้ถูกเหล้ากดบังคับไว้ไม่ให้ทำงาน บุคคลผู้นั้นก็จะหมดความยับยั้งชั่งใจ และไม่สามารถควบคุมตนเองได้อีกต่อไป ทำให้พูดจาเอะอะ โผงผาง ที่เคยเป็นคนขี้อายหรือเงียบขรึม พอเหล้าเข้าปากแล้ว กลับหน้าด้านหรือพูดมากจนคนอื่นรำคาญ
เมื่อสมองส่วนที่คอยทำให้คนเราต้องคอยระวังกิริยามารยาทของตน ถูกเหล้ากดบังคับไว้ไม่ให้ทำงาน คนที่กินเหล้าจึงเกิดความรู้สึกสบายที่ไม่ต้องสำรวมกาย วาจา และใจ อีกต่อไป อารมณ์ที่ตึงเครียดก็จะถูกระบายออก ทำให้ความกระวนกระวายหรือความกังวลห่วงใยลดลง รู้สึกเหมือนกับว่าตนมีอิสรเสรีเต็มที่ และปล่อยตัวปล่อยใจตามสบาย

ฤทธิ์ของเหล้าอันนี้นั่นเองที่ทำให้คนติดเหล้า เพราะกินเหล้าแล้วทำให้หมดทุกข์ รู้สึกสนุกสนาน สำราญ และมีอิสรเสรีอย่างที่ตนเองก็ไม่เข้าใจ
แต่ก็ฤทธิ์ของเหล้าอันนี้อีกนั่นแหละที่ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทตีรันฟันแทงหรือเหตุรุนแรงอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะเหล้าทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ และทำให้เกิดความประมาทอย่างที่มีคนพูดว่า “พอเหล้าเข้าปาก เห็นช้างเท่าหมู” เป็นต้น

ระยะแรกนี้ จะเกิดขึ้นเมื่อความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดสูงประมาณ 30-50 มิลลิกรัม ต่อเลือด 100 ซี.ซี. เช่น จากการดื่มเบียร์ประมาณ 1-2 ขวดใหญ่ หรือเหล้าประมาณ 2-4 ก๊ง แต่ฤทธิ์ของเหล้าหรือน้ำเมาต่าง ๆ จะเกิดขึ้นเร็วหรือช้า มากหรือน้อย ย่อมขึ้นกับความเคยชิน (ความจัดเจน) ต่อเหล้าหรือน้ำเมาของคน ๆ นั้นด้วย

⇒ ระยะที่สอง
สมองจะถูกกดมากขึ้น ทำให้สมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวและการพูดถูกกดไปด้วย จึงเกิดอาการพูดไม่ชัด แบบที่เรียกว่าพูดอ้อแอ้ ลิ้นไก่สั้น เดินโซเซหกล้มหกลุก ประสาทการรับรู้ช้ากว่าปกติ ทำให้แก้ไข หรือหลีกเลี่ยงอันตรายต่าง ๆ ไม่ทัน จึงเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ได้ง่าย หรือไม่ก็ก่อให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุขึ้นเอง เพราะไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหว ตลอดจนมือเท้า และ แขนขาของตนเองได้อย่างในเวลาที่ไม่เมาเหล้า
ระยะที่สองนี้ จะเกิดขึ้น เมื่อความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดสูงประมาณ 100 มิลลิกรัม ต่อเลือด 100 ซี.ซี. เช่น จากการดื่มเบียร์ประมาณ 4-6 ขวดใหญ่ หรือเหล้าประมาณ 1 / 3-1 / 2 ขวดใหญ่ แต่ฤทธิ์ของเหล้าหรือน้ำเมาต่าง ๆ จะเกิดขึ้นเร็วหรือช้ามากหรือน้อย ย่อมขึ้นกับความเคยชินต่อเหล้าหรือน้ำตาลเมาของคนนั้นด้วย
ระยะที่สองนี้ จึงเป็นระยะที่เริ่มควบคุมตัวเองไม่ได้ จนอาจก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อตัวเองและต่อผู้อื่น เรียกว่าเมาเหล้า ในบางประเทศถ้าเขาตรวจเลือดพบความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกิน 150 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 ซี.ซี. เขาจะถือว่าเป็นการเมาเหล้าแล้ว และถ้าเป็นเช่นนั้นในขณะขับรถ อาจจะถูกจำคุกและริบใบอนุญาตขับขี่ด้วย

⇒ ระยะที่สาม
สมองจะถูกกดมากขึ้น ๆ จนช่วยตัวเองเกือบไม่ได้เลย ถอดเสื้อถอดรองเท้าเองก็ไม่ได้ขึ้นยืนเองก็ไม่ได้ นั่งตรง ๆ ไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องฟุบกับโต๊ะ หรือนอนแผ่อยู่ตรงนั้นเอง ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดในระยะนี้จะสูงประมาณ 200 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 ซี.ซี.
ระยะที่สี่ สมองที่สำคัญ สำหรับการมีชีวิตอยู่เริ่มจะถูกกด เกิดอาการไม่ค่อยรู้สึกตัว แล้วในที่สุดจะหมดสติและไม่รู้สึกตัวโดยสมบูรณ์ (โคม่า) สมองส่วนที่ควบคุมหัวใจและการหายใจจะถูกกดทำให้หายใจไม่สะดวก หายใจช้า หรือหายใจเป็นพัก ๆ จนกระทั่งหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้น ทำให้ถึงแก่ความตาย ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดในระยะนี้จะสูงถึง 400-500 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 ซี.ซี.
พิษของเหล้าต่อสมองและระบบประสาทที่กล่าวมาข้างต้น เป็นพิษที่เกิดขึ้นทันที ส่วนพิษเรื้อรังที่เกิดขึ้น จะทำให้สติปัญญาเสื่อมลง มือไม้สั่น กล้ามเนื้อไม่มีแรง และถ้าเป็นมาก ๆ อาจจะเกิดอาการเหน็บชาและเป็นอัมพาตได้

นอกจากพิษของเหล้าที่มีต่อสมองและระบบประสาทแล้วเหล้ายังมีพิษต่อระบบอื่น ๆ อีก เช่น 1. ต่อหัวใจและความดันเลือด
เหล้าจะทำให้หัวใจเต้นเร็วและแรง ทำให้รู้สึกใจสั่น เส้นเลือดตามผิวหนังขยายตัวทำให้ร้อนทั่วตัว หน้าแดง และร้อน แต่ในบางคนอาจจะมีปฏิกิริยาตรงกันข้ามคือ กินเหล้าแล้วหน้าซีดได้
คนกินเหล้านาน ๆ กล้ามเนื้อหัวใจอาจจะพิการ ทำให้เกิดอาการเหนื่อยหอบ บวมเพราะหัวใจทำงานไม่ไหว

2. ต่อตับ และตับอ่อน
เหล้าที่ดื่มเข้าไปจะดูดซึมจากลำไส้ผ่านตับทั้งหมด มันจึงค่อย ๆ กัดทำลายตับ จนในที่สุดเกิดเป็นตับแข็ง ทำให้ตัวเหลืองตาเหลืองและท้องบวมน้ำที่เรียกว่า ท้องมาน และถึงแก่กรรมได้ ในคนที่ตับไม่สู้จะดีอยู่แล้ว เช่น เป็นโรคตับอักเสบอยู่แล้วไปกินเหล้าแม้แต่เพียงเป๊กเดียว อาจจะทำให้ตับอักเสบมากขึ้น จนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนั้น เหล้ายังช่วยทำให้ตับอ่อนอักเสบได้อย่างรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้

3. ต่อไต
เหล้าที่ดื่มเข้าไปจะไปทำให้ปัสสาวะมากขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำในร่างกายลดลง คนที่ดื่มเหล้าจึงมักมีอาการหน้ามืด วิงเวียน เมื่อลุกขึ้นยืน หรือเมื่อยืนนาน ๆ จนบางครั้งก็หน้ามืด ล้มลงโดยไม่รู้สึกตัว ทำให้หน้าตา ศีรษะ หรือส่วนอื่นฟาดพื้นเกิดหัวร้างข้างแตก กระดูกซี่โครงหักและอื่น ๆ ได้ บางครั้งยืนปัสสาวะอยู่ดี ๆ พอปัสสาวะเสร็จก็หมดสติล้มฟาดลงไป ตื่นขึ้นมาอีกทีก็พบตัวเองกลิ้งอยู่กับพื้นห้องส้วมที่แสนจะสกปรก พร้อมกับอาการฟกช้ำดำเขียว หัวโน หรืออันตรายอื่น

4. ต่อกระเพาะและลำไส้
เหล้าหรือน้ำเมาที่มีแอลกอฮอล์สูง จะกัดทำลายเยื่อบุปาก คอ กระเพาะและลำไส้ หรือที่เรียกว่า เหล้านี้บาดปาก บาดคอ เหลือเกิน คนจึงใช้น้ำ ใช้โซดาหรือสิ่งอื่นผสมเพื่อทำให้มันเจือจาง จะได้ไม่บาดปาก บาดคอ มิฉะนั้นจะรู้สึกร้อนปากและลำคอเรื่อยลงไปจนถึงกระเพาะ

ถ้ากินเหล้ามาก ๆ เหล้าก็จะกัดเยื่อบุกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ้ากระเพาะอาหารเกิดอักเสบมาก ก็จะเกิดอาการเลือดตกใน คือ เลือดออกอยู่ข้างใน ถ้าออกมาก ก็ทำให้อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นสีดำ ถึงแก่ความตายได้ ในบางรายกระเพาะอาหารอาจเป็นแผล แล้วตกเลือดหรือทะลุ หรือหลอดอาหารแตกข้างใน ทำให้ถึงแก่ความตายได้เช่นเดียวกัน

นอกจากเหล้าจะทำให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพ ทั้งในขณะที่ดื่มทันที และในระยะยาวนานออกไปแล้ว มันยังทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพในขณะที่ไม่ได้ดื่มอีกด้วย เช่น
1. อาการมึนงงศีรษะเมื่อตื่นขึ้นในตอนเช้า ทั้งที่ได้หลับดีมากตลอดคืน ทำให้สมองตื้อ และรู้สึกซึม ๆ เพลีย ๆ ไปทั้งวัน

2. อาการคลื่นไส้อาเจียนในเวลาเช้า ๆ โดยเฉพาะในผู้ที่ติดสุรามานาน จนต้องดื่มสุราถอนอาการในตอนเช้า ๆ อาการจึงจะหายไป

3. อาการหงุดหงิด มือไม้สั่นจนต้องดื่มสุราอาการจึงจะหายไป พอให้ทำงานได้

4. อาการเพ้อคลั่ง ชักกระตุก ในคนบางคนที่ดื่มสุราจัด ๆ แล้วหยุดดื่มทันที อาจเกิดอาการเพ้อคลั่ง ชักกระตุก ถึงแก่ความตายได้

ยิ่งกว่านั้น ก็คือ การดื่มเหล้าจนเมามาย นอกจากจะทำให้เกิดอันตรายต่อตนเองแล้ว ยังทำให้เกิดอันตรายต่อคนอื่นได้ง่าย เพราะ
1. การเมาเหล้า ทำให้เกิดความประมาท จึงเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายและรุนแรง

2. การเมาเหล้า ทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ จึงก่อคดีทะเลาะวิวาท ตีรันฟันแทง และก่อเหตุร้ายอื่น
ๆ ได้ง่าย

3. การเมาเหล้า ทำให้ชีวิตครอบครัวต้องบ้านแตกสาแหรกขาด สร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ คู่ชี
วิตและลูกหลานอันเป็นที่รักของตน

4. การเมาเหล้า ทำให้ลูกรักหลานรัก พลอยกลายเป็นคนขี้เมาไปด้วยในอนาคต
จากตัวอย่างข้างต้น คงพอจะทำให้เห็นแล้วว่า การเมาเหล้านั้นก่อให้เกิดโทษแก่ตน แก่ครอบ
ครัว และแก่สังคม อย่างไรบ้าง

เพราะฉะนั้น ถ้าใครอยากกินเหล้า จงอย่ากินให้เมา และวิธีที่จะกินเหล้าไม่ให้เมานั้น มีวิธีง่าย ๆ ดังนี้
1. อย่ากินเหล้าเวลาท้องว่าง จงกินอาหารรองท้องไว้ก่อน โดยเฉพาะอาหารมัน ๆ หรือกะทิ น้ำนมซึ่งจะไปช่วยทำให้เหล้าถูกดูดซึมจากกระเพาะและลำไส้ เข้าสู่กระแสเลือดช้าลงและน้อยลง

2. จงกินเหล้าที่เจือจางด้วยน้ำหรือโซดา จนไม่บาดปาก บาดคอแล้ว และอย่ากินมาก

3. จงกินเหล้าอย่างช้า ๆ โดยค่อย ๆ จิบทีละนิด เพื่อจะได้ลิ้มรสของเหล้าได้เต็มที่ และจะทำให้ร่างกายสามารถทำลายเหล้า ที่เข้าสู่ร่างกายได้ทัน เหล้าจะได้ไม่สะสมพอกพูนในกระแสเลือด จนทำให้เมาได้

4. จงกินกับแกล้มและอาหารด้วย ร่างกายจะได้ไม่ขาดอาหารที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต

5. จงหยุดกินเหล้าทันทีที่เริ่มรู้สึกมึนศีรษะ เพราะถ้าขืนกินต่อไป ก็จะควบคุมตนเองไม่ได้และจะเกิดอาการเมาอย่างมากมายได้

เหล้าไม่ใช่ยาพิษอย่างสมบูรณ์ ผิดกับบุหรี่ซึ่งไม่ว่าจะสูบมากหรือน้อย ก็ก่อให้เกิดโทษทั้งสิ้น ส่วนการกินเหล้าแต่พอควร ในกาลเทศะที่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดประโยชน์ เช่น
1. ช่วยทำให้กินอาหารได้มากขึ้น โดยเฉพาะในคนที่ผอมแห้งและเบื่ออาหาร ถ้าคน ๆ นั้นไม่ได้เป็นโรคตับ หรือกระเพาะลำไส้อยู่ การกินเหล้าสักเล็กน้อยก่อนอาหาร จะช่วยกระตุ้นให้อยากอาหาร และทำให้กรดกับน้ำย่อยในกระเพาะอาหารออกมามากขึ้น

2. ช่วยให้พลังงานแก่ร่างกายได้อย่างรวดเร็ว เพราเหล้าจะดูดซึมจากกระเพาะลำไส้ได้อย่างรวดเร็วมาก ภายใน 5 นาทีหลังดื่ม มันก็จะซึมเข้าสู่กระแสเลือด และร่างกายจะนำมันไปเผาผลาญเกิดเป็นพลังงานได้ทันที

3. ช่วยเป็นน้ำกระสายยาบางอย่าง เพื่อให้ยาถูกดูดซึมได้เร็วขึ้นหรือดีขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเหล้า ทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ คนที่กินเหล้า จึงมักจะกินจนเกินขอบเขต ทำให้เกิดอาการมึนเมาขึ้น เมื่อมึนเมาแล้ว เหล้าก็ทำให้เกิดโทษ และอันตรายแต่ถ่ายเดียว ไม่มีประโยชน์อะไรอีกต่อไป

ศาสนาหลายศาสนารวมทั้งพุทธศาสนา และจารีตประเพณีในหลายท้องถิ่น จึงถือว่า เหล้าเป็นของต้องถาม ไม่ให้แตะต้องเป็นอันขาด
แต่เหล้าก็ยังคงเป็น น้ำเก่าที่เมาตาย มาเป็นเวลาหลายพันปี เท่าที่ประวัติศาสตร์จะบันทึกได้ ท่านที่ติดเหล้าจนปล่อยให้ตนเอง เป็นทาสของเหล้า จนคนเขารังเกียจ ต้องถูกไล่ออกจากงาน ต้องถูกด่าว่าเหยียดหยาม ครอบครัวต้องทนทุกข์ทรมาน ถูกตบถูกตีเวลาที่ท่านเมา แล้วท่านก็ยังเผาผลาญทรัพย์สินของท่านและครอบครัว ก่อกรรมทำเข็ญต่อไปเรื่อย ๆ

ดังที่กวีเอกคนหนึ่งของเรา คือ สุนทรภู่ ซึ่งเป็นนักดื่มอย่างฉกาจฉกรรจ์คนหนึ่งเคยเขียนไว้ว่า

ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง
มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา
ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย”

ท่านจะปล่อยให้น้ำนรกนั้น พล่าผลาญตัวท่านและครอบครัวต่อไปอีกหรือ ? กรรมที่ท่านสร้างไว้ให้เขาอื่น ย่อมจะติดตามท่านต่อไป ทั้งในปัจจุบันและอนาคต น้ำนรกนี้จะก่อความทุกข์ทรมานให้แก่ท่านมากกว่าน้ำมันเดือดในกระทะทองแดงในนรกเสียอีก และมีแต่ตัวท่านเองเท่านั้นที่จะช่วยได้ ทำไมท่านจงไม่หยุดมันเสียที และหยุดมันเสียตั้งแต่วันนี้

ถ้าท่านไม่ได้ดื่มอย่างหนักมาก เมื่อตัดสินใจจะหยุด ก็จะหยุดได้ทันที ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไร และท่านจะหยุดได้เป็นอย่างดี โดยตั้งใจหรือปฏิญาณตน ยกถวายให้พระเสีย
แต่ถ้าท่านดื่มอย่างหนักมาก จนเวลาที่ไม่ดื่มเหล้า จะมีอาการมือไม้สั่น คลื่นไส้อาเจียน และทำงานทำการไม่ได้ ท่านก็ควรจะลดปริมาณการดื่มลง ภายใน 1-2 สัปดาห์ ท่านก็หยุดเหล้าได้
การใช้ยาช่วยให้หยุดเหล้า เช่น ยาแอนตาบิวส์ ก็อาจจะช่วยได้ แต่มีอันตรายเพราะในขณะที่กินยานี้ ถ้ายังไปกินเหล้าอีก จะเกิดปฏิกิริยามึนเมาอย่างรุนแรง จนทำให้ถึงตายได้
 

โดยทั่วไปแล้ว การหยุดเหล้านั้น หยุดได้ง่ายกว่าบุหรี่มาก ถ้าท่านตั้งใจจะหยุดเพราะมันก่อกรรมทำเข็ญให้ท่านมามากแล้ว ท่านก็จะหยุดได้จริง ๆ ไม่ยากเย็นอะไรเลย แต่ถ้าหงุดหงิดมากหลังหยุดเหล้า ก็อาจจะใช้ยากล่อมประสาท ไดอาซีแพม เข้าช่วยบ้าง ก็จะทำให้สบายขึ้น

 

ข้อมูลสื่อ

15-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 15
กรกฎาคม 2523
อื่น ๆ
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์