• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการซีด (ตอนจบ)

การตรวจรักษาอาการซีด (ตอนจบ)

สาเหตุของอาการซีด ซึ่งได้นำเสนอไว้ในครั้งที่แล้วนั้น ก็แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ซีดจากเลือดไปเลี้ยงน้อยลง และซีดจากโรคเลือดจาง ครั้งนี้ก็มาถึงการตรวจรักษาอาการซีด ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีการดังนี้

การตรวจรักษาอาการซีด

จำเป็นต้องแยกผู้ป่วยที่มีอาการซีดออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ก่อน (ดูแผนภูมิที่ 1) เพื่อแยกว่า ผู้ป่วยซีดเพราะเลือดไปเลี้ยงน้อยลง หรือซีดเพราะเลือดจางลง

วิธีแยกอย่างง่ายๆ คือ

ในขั้นแรก ถ้าอาการซีดนั้นเกิดขึ้นเฉพาะที่ (นั่นคือ เฉพาะที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย เช่น ที่แขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือที่ขา 2 ข้าง หรือที่มือหรือเท้าข้างหนึ่ง เป็นต้น) อาการซีดนั้นเกิดจากเลือดไปเลี้ยงแขน ขา มือ หรือเท้าข้างนั้นน้อยลง ถ้าอวัยวะที่มีสีซีดนั้น มีอาการปวด หรือมีสีเขียวคล้ำ (ม่วงหรือดำ) เกิดขึ้น หรือถ้าบีบนวดเบาๆ แช่น้ำอุ่น หรือกำจัดสาเหตุ เช่น ถูกเย็นจัด ถูกเชือกรัด หรือถูกของกดทับ หรืออื่นๆ แล้วอาการซีดยังไม่ดีขึ้น ควรพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล เพราะถ้าทิ้งไว้นานเกินไป แขน ขา มือ หรือเท้า (ที่ขาดเลือด) ข้างนั้นจะตายและเน่า ทำให้เสีย แขน ขา มือ หรือเท้าข้างนั้นได้
อาการซีดเฉพาะที่นี้ อาจจะเป็นเฉพาะที่นิ้ว หรือที่อวัยวะอื่นใดก็ได้ การตรวจรักษาก็คงเป็นแบบเดียวกัน

ในขั้นที่สอง ถ้าอาการซีดนั้นเกิดขึ้นโดยทั่วไป (นั่นคือ หน้าตา ริมฝีปาก แขน ขา และมือเท้า ซีดพร้อมกัน) อาการซีดนี้อาจเกิดจากเลือดไปเลี้ยงร่างกายทั้งหมดน้อยลง หรือเลือดจางลงก็ได้ วิธีแยกอย่างง่ายๆ (ดูแผนภูมิที่ 1 ประกอบ) คือ

1. ให้ดูสีของลิ้นและเปลือกตาด้านใน ถ้ายังเป็นสีแดงอยู่มักแสดงว่าอาการซีดที่เห็นภายนอกนั้น ไม่ได้เกิดจากเลือดจาง แต่เกิดจากเลือดไปเลี้ยงร่างกายทั่วไปน้อยลง (ภาวะช็อก) เป็นสำคัญ เพราะในภาวะเลือดจาง อาการซีดจะเกิดทั่วไปหมดรวมทั้งที่ลิ้นและด้านในของเปลือกตา

2. ให้คลำมือเท้า แขนขาของผู้ป่วยถ้ามือเท้า แขนขาทั้งหมดเย็นและมีเหงื่อเย็นๆ ออก มักแสดงว่าอาการซีดที่เห็นภายนอกนั้น เกิดจากเลือดไปเลี้ยงร่างกายทั่วไปน้อยลง (ภาวะช็อก) เป็นสำคัญ เพราะในภาวะเลือดจาง มือเท้าแขนขาทั้งหมดควรจะอุ่น เนื่องจากเลือดยังไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างเพียงพอ ยกเว้นในกรณีที่ผู้ป่วยนั้นเกิดทั้งภาวะเลือดจางและภาวะช็อกพร้อมๆ กัน เช่น ผู้ป่วยที่ตกเลือดมาก หรือผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดจางอยู่แล้วเกิดภาวะช็อกจากการติดเชื้อ หรือจากสาเหตุอื่นแทรกซ้อนขึ้นมา เป็นต้น

3. ให้ดูลักษณะผู้ป่วย ผู้ป่วยที่ซีดเพราะเลือดไปเลี้ยงร่างกายทั่วไปไม่เพียงพอ (ผู้ป่วยช็อก) จะมีอาการหนัก (อาการของผู้ป่วยหนัก) เช่น ไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือไม่รู้สึกตัว หน้าซีด มือเท้าซีดเย็น เหงื่อแตก ชีพจรเบาเร็ว หายใจหอบลึก ความดันเลือดต่ำมากหรือวัดไม่ได้ ปัสสาวะน้อยมาก หรือไม่มีปัสสาวะ เป็นต้น แต่ผู้ป่วยที่ซีดเพราะเลือดจาง (ที่ไม่เกิดภาวะช็อกร่วมด้วย) จะรู้สึกตัวดี มือเท้าอุ่น ชีพจรแรง และความดันเลือดปกติ หรือสูงกว่าปกติ แต่อาจจะมีอาการหอบเหนื่อย เหงื่อแตก (แต่เหงื่อไม่เย็น) และปัสสาวะน้อยได้ ถ้าผู้ป่วยเลือดจางมากจนหัวใจทำงานไม่ไหว (หัวใจล้ม) ถ้าหัวใจไม่ล้มจะไม่มีอาการหอบเหนื่อย เหงื่อแตก หรือปัสสาวะน้อย

4. ให้ดูลักษณะเลือดที่ออกจากบาดแผล หรือจากการใช้เข็มแทงที่ปลายนิ้ว ถ้าเลือดที่ออกมาข้นมักแสดงว่า อาการซีดนั้นไม่ได้เกิดจากโรคเลือดจาง ถ้าเลือดที่ออกมาใสจึงจะแสดงว่าเป็นโรคเลือดจาง ซึ่งถ้าจะตรวจให้แน่นอน ต้องตรวจหาระดับเลือดแดง (ตรวจหาระดับฮีโมโกลบิน และ/หรือฮีมาโตคริต) โดยการเจาะเลือดที่ปลายนิ้ว หรือเจาะจากเส้นเลือดไปตรวจก็ได้ โดยวิธีแยกข้างต้น จะทำให้รู้ว่าอาการซีดโดยทั่วไปนั้นเกิดจากเลือดไปเลี้ยงร่างกายน้อยลง หรือเกิดจากเลือดจางได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ป่วยที่มาหามีอาการซีดโดยทั่วไป (ไม่ว่าอาการซีดนั้นจะเกิดจากเลือดไปเลี้ยงร่างกายน้อยลง หรือเกิดจากเลือดจาง) ควรตรวจรักษาเป็นขั้นตอนดังนี้ โดยดูว่า

1. ผู้ป่วยมีอาการหนักไหม ถ้าผู้ป่วยมีอาการเจ็บหนัก (ดูแผนภูมิที่ 1 หรือหมอชาวบ้านฉบับที่ 64-65) รีบให้การปฐมพยาบาล (ดูหมอชาวบ้านฉบับที่ 64-65 หรือคู่มือหมอชาวบ้าน) แล้วรีบพาผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาล

ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการเจ็บหนักให้ดูว่า

2. ผู้ป่วยมีอาการหน้ามืดเป็นลมไหม ถ้าผู้ป่วยมีอาการหน้ามืดเป็นลม (ดูหมอชาวบ้านฉบับที่ 110-113) รีบให้การปฐมพยาบาล (ดูหมอชาวบ้านฉบับที่ 110-113 หรือคู่มือหมอชาวบ้าน)

ถ้าผู้ป่วยดีขึ้น (หายหน้ามืดเป็นลม) ควรซักประวัติและตรวจร่างกายหาสาเหตุที่ทำให้หน้ามืดเป็นลม (ดูหมอชาวบ้านฉบับที่ 110-113) แล้วทำการรักษาสาเหตุด้วย

ถ้าผู้ป่วยไม่ดีขึ้น (ไม่หายจากอาการหน้ามืด เป็นลม) หลังให้การปฐมพยาบาลแล้ว ควรพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล

ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการเจ็บหนัก และไม่มีอาการหน้ามืด เป็นลม ให้ดูว่า

3. ลิ้นและเปลือกตาด้านในซีดไหม และ/หรือใช้เข็มที่สะอาดแทงปลายนิ้วแล้วบีบเลือดออกมาดูว่าเลือดใสไหม

ถ้าลิ้นและเปลือกตาด้านในซีดและเลือดใส แสดงว่า ผู้ป่วยเป็นโรคเลือดจาง

ถ้าไปตรวจหาสาเหตุของโรคเลือดจางที่โรงพยาบาลได้ (เช่น ตรวจเลือด อุจจาระ และปัสสาวะ) ควรไปตรวจก่อนการรักษา

ถ้าไปตรวจไม่ได้ (เพราะไม่มีค่าเดินทาง หรืออื่นๆ) อาจลองรักษาตนเองไปก่อน โดยกินอาหารที่บำรุงเลือด เช่น ตับ ม้าม ไข่แดง เป็นต้น ให้มากๆ (กินทุกมื้อ) และถ้าสามารถหาซื้อยาบำรุงเลือดขององค์การเภสัชกรรม (ยาเฟอร์รัสซัลเฟต – ferrous sulfate) และยาวิตามิน บี รวม (Vitamin B complex) กินอย่างละ 1 เม็ด 3 เวลาหลังอาหาร

ถ้าอาการซีดไม่ดีขึ้นภายใน 3-4 สัปดาห์ ควรไปตรวจที่โรงพยาบาล

ถ้าอาการซีดดีขึ้นจนเป็นปกติและไม่มีอาการอื่น อาจไม่ต้องไปตรวจที่โรงพยาบาล แต่ก็ควรสังเกตว่าตนเองซีดจากสาเหตุอะไร

ถ้าอาการซีดไม่ดีขึ้นใน 3-4 สัปดาห์ ควรไปตรวจที่โรงพยาบาล

ถ้าอาการซีดดีขึ้น แต่ไม่เป็นปกติ ก็ควรไปตรวจที่โรงพยาบาล

ถ้าอาการซีดดีขึ้นจนเป็นปกติและไม่มีอาการอื่น อาจไม่ต้องไปโรงพยาบาล แต่ควรสังเกตว่าอาการซีดนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร จะได้ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในภายหน้า สาเหตุที่ทำให้ซีดและหายซีดได้จากการกินอาหาร และยาที่บำรุงเลือดที่สำคัญ คือ

1. การขาดสารอาหารที่บำรุงเลือด เช่น ธาตุเหล็ก วิตามินบางชนิด

2. การเสียเลือด เช่น การเสียเลือดทางประจำเดือน (ระดู) ในผู้หญิง การเสียเลือดจากการคลอดหรือแท้งบุตร การเสียเลือดจากกระเพาะลำไส้ จากกินยาแก้ปวดที่ระคายกระเพาะ ลำไส้ (เช่น แอสไพริน ยาทัมใจ ยาบวดหาย) หรือจากโรคพยาธิ (เช่น พยาธิปากขอ) หรืออื่นๆ

เมื่อหาสาเหตุได้ หรือสงสัยว่าอะไรจะเป็นสาเหตุ ควรกำจัดสาเหตุด้วย จะได้ไม่เกิดอาการซีดจากเลือดจางอีก

ถ้าลิ้นและเปลือกตาด้านในไม่ซีด และเลือดข้น แสดงว่า อาการซีดนั้นเกิดจาก

1. ผิวขาวกว่าปกติ เพราะเป็นคนผิวขาวตามเชื้อพันธุ์ หรือผิวขาวเพราะไม่ถูกแดด หรือเพราะขาดเม็ดสีน้ำตาลดำ (melanin) เช่น ในภาวะคนเผือก (albinism) หรือในภาวะด่าวขาว (vitiligo) ที่เป็นมากๆ เป็นต้น ภาวะผิวขาวเหล่านี้ไม่ต้องรักษา และยังไม่มียารักษา

2. หลอดเลือดทั่วร่างกายหดตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณผิวหนังลดลง เช่น เมื่อถูกกับอากาศหนาว อาบน้ำเย็น ตื่นเต้น ตกใจ โกรธ หรือมีอารมณ์รุนแรง (ในบางคนจะทำให้หน้าซีด มือเท้าซีดเย็น เหงื่อแตก และอาจเป็นมากจนทำให้เป็นลมได้) การรักษา คือ การกำจัดสาเหตุหรือบรรเทาสาเหตุให้กระทบกระเทือนตนน้อยลง

การตรวจรักษาอาการซีด จึงขึ้นกับการวินิจฉัยแยกอาการซีดว่าเกิดจากผิวขาว หรือเลือดไปเลี้ยงน้อย หรือเลือดจาง เพราะถ้าเป็นผิวขาวก็ไม่จำเป็นต้องรักษา ถ้าเกิดจากเลือดน้อยหรือเลือดจาง การตรวจรักษาก็อาจทำเป็นขั้นตอนต่างๆ ตามความรุนแรงของอาการอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับอาการซีดนั้น ดังได้กล่าวไว้ข้างต้น

 
แผนภูมิที่ 1 การแยกประเภทและการรักษาอาการซีด

 

ข้อมูลสื่อ

128-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 128
ธันวาคม 2532
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์