• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตอนที่ 7 พระโพธิรักษ์และชาวอโศก

‘สันติอโศก’ มีกำเนิดมายังไม่ถึง 20 ปี แต่ได้รับความสนใจและการพูดถึงกันอย่างแพร่หลาย ทั้งทางบวกและทางลบ

มีผู้เขียนถึงและทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับสันติอโศกหลายเล่ม เช่น
รายงานวิจัย “จรณะ 15 ทางเอกแห่งการบรรลุธรรมอย่างพระพุทธเจ้าฯ” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมศรี ปทุมสูตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปยงค์ วิริยะวิทย์และรองศาสตราจารย์อาภรณ์ พุกกะมาน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2525

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (ศาสนาเปรียบเทียบ) มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง “พระชาวอโศกกับพุทธบัญญัติว่าด้วยจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลฯ” ของนายตะวัน เกียรติบุญญาฤทธิ, 2525

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (ปรัชญา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “การประยุกต์แนวคิดเรื่องเกมภาษาของวิตเกนสไตน์ ในการอธิบายเรื่องความหมายในภาษาศาสนา ศึกษาเฉพาะกรณีภาษาของสำนักสันติอโศก” ของนายสุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง

สมาชิกคนหนึ่งของขบวนการนี้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้วยคะแนนท่วมท้น
ในอีกด้านหนึ่งสันติอโศกถูกวิจารณ์ต่อต้านอย่างรุนแรง เช่นว่าพระชาวอโศกเป็นพระเถื่อนบ้าง เป็นพวกนอกศาสนาบ้าง เป็นพวกเถรเทวทัตบ้าง เป็นพวกทำลายชาติและศาสนาบ้าง

พ.ต.ต.อนันต์ เสนาขันธ์ และพระโสภณคณาภรณ์ ในนามขององค์การพิทักษ์พุทธศาสตร์ วิจารณ์พระโพธิรักษ์อย่างรุนแรงในหนังสือ “โพธิรักษ์อริยะแห่งสันติอโศก ศาสดามหาภัย” หรือคนอย่าง ส.ศิวรักษ์ ก็ถึงกับกล่าวว่า สันติอโศกเป็นมิจฉาทิฐิไปเลย เป็นต้น

ทำไมจึงเป็นไปได้ถึงเพียงนี้?
จริงอยู่ของอย่างเดียวกัน อาจมองเห็นแตกต่างกันได้ ขึ้นกับผู้เห็นก็จริง แต่ของอย่างเดียวกัน พวกหนึ่งเห็นเป็นขาว อีกพวกหนึ่งเห็นเป็นดำ เป็นความแตกต่างที่สุดโต่ง แสดงว่าตัวผู้เห็นสามารถแตกต่างกันได้ถึงเพียงนี้ สุดแต่ว่าใครถูกโปรแกรมมาให้เห็นอย่างไร

การที่จะเข้าใจเรื่องราวได้ใกล้ความจริงคงจะต้องมองจากความเป็นกลาง จึงจะเห็นสภาพที่แท้
การมองจากความเป็นกลางนั้นพูดง่ายแต่ทำยาก เพราะปุถุชนไม่เป็นกลาง แต่ถูกโปรแกรมมาโดยอดีต ฉะนั้นจึงลำเอียง (biased) เมื่อลำเอียงแล้วจึงรับรู้ รู้สึก และคิดตามความลำเอียงของตน ไม่สามารถเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงอย่างที่มันเป็น

มนุษย์จึงเห็นต่างกัน ขัดแย้งและรุนแรง (violence) ที่จะมองจากความเป็นกลางได้จริงๆนั้นมีแต่ผู้ที่เป็นอรหันต์เพราะหมดความลำเอียงโดยสิ้นเชิงแล้ว สิ่งที่ท่านเห็นจึงเป็นปัญญาล้วนๆ เพราะอวิชชาถูกสำรอกออกหมดแล้ว

สิ่งที่จะช่วยปุถุชนให้เข้าใกล้ความจริง คือการรู้เห็นทั้งหมด มิใช่รู้เห็นเฉพาะส่วน ดังเรื่องตาบอดคลำช้าง ที่ว่าช้างเหมือนเส้นเชือกหรือเหมือนเสาหลักหรือเหมือนพัด สุดแล้วแต่ว่าไปคลำที่หาง หรือขา หรือหู แต่ถ้าตาสว่างหรือมีปัญญาเห็นช้างทั้งตัว ก็จะทราบว่าหางก็ตาม ขาก็ตาม หรือหูก็ตาม ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของช้างหรือสัจธรรมอันเดียวกัน

การมองเฉพาะส่วนเฉพาะเรื่องในมิติเดียวจะไม่ทำให้เราเห็นความจริงทั้งหมด การที่จะเห็นภาพรวมต้องศึกษาในรายละเอียดและประวัติความเป็นมา การศึกษาประวัติศาสตร์จะทำให้เราเห็นยาวขึ้น ยิ่งวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ด้วยยิ่งดี การที่เราขยายการเห็นทางด้านยาว และเห็นว่าอะไรสัมพันธ์กับอะไร อะไรผลักดันทำให้เกิดอะไร จะทำให้เข้าใจอดีต ปัจจุบัน และทางไปในอนาคตได้ดีขึ้น

การเรียนประวัติศาสตร์แบบวิเคราะห์จึงเป็นของสนุกและมีประโยชน์ เป็นประวัติศาสตร์แบบมีชีวิต แต่การเรียนประวัติศาสตร์แบบตายแล้ว เพียงแต่ท่องจำว่า พ.ศ.อะไรเกิดอะไร เป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย และไม่ค่อยเกิดปัญญาเท่าใด แต่ก็ยังทำกันอยู่ในทุกวันนี้
ท่านโพธิรักษ์ เกิดที่จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2477

เดิมชื่อ มงคล นามสกุล รักพงษ์ ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อรัก เคยไปอยู่กับลุงที่หนองคายและสกลนคร ตอนหลังกลับมาอยู่กับแม่ที่ศรีสะเกษ และย้ายไปอยู่ที่อุบลราชธานีด้วยกัน

จบมัธยมศึกษาที่อุบลราชธานี เข้ามาเรียน ม.7-8 ที่กรุงเทพฯ และต่อมาไปเข้าเรียนเพาะช่างเพราะชอบทางศิลปะ

เท่าที่ศึกษาประวัติดูรู้สึกว่ามีความสมบุกสมบันในชีวิต และหากินตัวเป็นเกลียวมาตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 1o ขวบ เช่น ขายเม็ดมะขามคั่ว ขายน้ำแข็งหลอด รับจ้างเป็นกุลีขายถ่าน ขายอ้อย ขายปลาร้า ขายห่อหมก เมื่อเรียนเพาะช่างก็ถีบจักรยานส่งหนังสือพิมพ์

มีจริตในทางศิลปะทั้งทางร้องเพลง แต่งเพลง สามารถแต่งเพลงและอัดแผ่นเสียงได้ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน นายรัก รักพงษ์ เข้าสู่วงการโทรทัศน์ตั้งแต่ยังเรียนไม่ทันจบดี เป็นนักจัดรายการโทรทัศน์หลายรายการ นับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงในเวลาอันรวดเร็ว

ความขยันขันแข็งและความสามารถทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น สามารถอุปถัมป์น้องได้หลายคน สร้างบ้าน มีรถยนต์ มีแฟน มีเพื่อน เล่นไพ่ แทงบิลเลียด นอนห้องแอร์ แต่งตัวแพงๆ เรียกว่าดำเนินไปในโลกียสุขอย่างเต็มที่

กำลังประสบความสำเร็จและอาบชุ่มอยู่ในโลกียสุขอยู่เป็นเวลา 10 กว่าปีก็กลับลำ เมื่ออายุได้ 36 กล่าวคือ

- เลิกอบายมุข
เลิกเล่นการพนัน เลิกดื่ม เลิกเที่ยว
- เลิกรัก (ยังไม่ได้แต่งงานกับคู่รัก)
- บ้านช่อง ทรัพย์สมบัติ ยกให้น้องและคนอื่นไปหมด
- กินมังสวิรัติ
- เลิกเก๋ เลิกเท่ โกนหัวมันเสียเลย เลิกใส่เสื้อมองตากูมาใส่เสื้อคอกลม เลิกนอนที่นอนในห้องแอร์มานอนกระดานแผ่นเดียวในกระท่อม


นับว่าเป็นการกลับลำและตัดความผูกพันเด็ดขาดในช่วงระยะเวลาอันสั้น ซึ่งเป็นความเด็ดเดี่ยวและเด็ดขาด เท่าที่ศึกษาประวัติของท่านดู รู้สึกว่าอันนี้จะเป็นนิสัยของท่าน คือชอบทำอะไรแปลกๆ ทำจริง รุนแรง

ไปขอเจ้าอาวาสวัดอโศการามปลูกกระท่อมอยู่ในป่าแสมในเขตวัดตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2513 ต่อมาบวชที่วัดนั้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2513 เป็นพระธรรมยุต
บวชแล้วไม่ค่อยเหมือนพระอื่น!

เช่น ไม่ค่อยชอบขึ้นสวดมนต์ และขึ้นก็ไม่สวด รู้สึกว่าสวดกันแบบร้องเพลง (คีตวาทิตะ) แต่ชอบแสดงธรรม ทั้งที่วัดอโศการามและที่ลานอโศกวัดมหาธาตุ ชอบตอบปัญหาผ่าเปรี้ยง จึงเป็นที่ฮือฮากัน และก็ชักมีเสียงปรามๆจากพระผู้ใหญ่ เช่นว่า “ท่านสมเด็จสั่งมาบอกว่า อย่าไปว่าอะไรเขามากนักสิ อย่าไปว่าพาดพิงเขามากนัก”

ต่อมามีผู้ฟังธรรมสนใจพากันมาติดตามศึกษาปฏิบัติธรรม และตั้งชื่อกลุ่มเหมือนเครื่องหมายการค้าว่า อโศก ตามชื่อวัดอโศการามและลานอโศกวัดมหาธาตุ อันเป็นเวทีแสดงธรรมในครั้งแรกๆ พากันไปตั้ง แดนอโศก ที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม มีทั้งพระและฆราวาสจะพากันไปเข้าพรรษาเพื่อฝึกฝนปฏิบัติธรรม เมื่อไปกราบลาพระอุปัชฌาย์ ท่านถามว่า

“มีพระมหานิกายด้วยหรือเปล่า”
“มี”
“งั้นไปไม่ได้”
ทำยังไงๆก็ให้พระธรรมยุตไปร่วมกับพระมหานิกายไม่ได้

ในที่สุดพระอุปัชฌาย์ก็ว่า ถ้าจะไปต้องคืนใบสุทธิ ท่านโพธิรักษ์ก็ตกลงจะคืนใบสุทธิ ก่อนที่จะคืนใบสุทธิ ท่านไปวัดหนองกระทุ่มซึ่งเป็นวัดมหานิกาย ขอและได้รับใบสุทธิ ตกลงมีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีใบสุทธิทั้งธรรมยุต และมหานิกาย ต่อมาได้คืนใบสุทธิธรรมยุต ถ้าจะถือตามสมมุติก็ต้องว่ากลายเป็นพระมหานิกาย แต่ที่จริงคงไม่ได้เป็นทั้งธรรมยุตและมหานิกาย!

ในช่วงตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2513 ถึง 6 สิงหาคม 2518 พระโพธิรักษ์เป็นพระที่ขึ้นอยู่กับมหาเถรสมาคม โดยครั้งแรกเป็นธรรมยุตและต่อมาเป็นมหานิกายดังกล่าวแล้ว

สาเหตุที่จะออกจากอาณัติของมหาเถรสมาคมเนื่องจากความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนฝ่ายปกครองคณะสงฆ์หาทางยุติกิจกรรมของพระโพธิรักษ์โดยมีคำสั่งให้รื้อกุฏิที่แดนอโศก จังหวัดนครปฐม และออกคำสั่งให้พระอโศกเปลี่ยนจีวรจากสีกรักเป็นสีเหลืองเหมือนสงฆ์หมู่ใหญ่ทั่วไป พระโพธิรักษ์ไม่เห็นด้วยเพราะถือว่าพระพุทธองค์ทรงบัญญัติไม่ให้ภิกษุใช้จีวรสีเหลือง ผู้บริหารคณะสงฆ์มีคำสั่งให้อุปัชฌาย์ของพระโพธิรักษ์ให้ตัดพระอโศกออก มิฉะนั้นจะถอดออกจากตำแหน่ง ทำให้อุปัชฌาย์ซึ่งมีอายุมากและกำลังอาพาธอยู่มีอาการมากขึ้น

พระโพธิรักษ์เห็นว่าเรื่องนี้อาจเป็นเหตุทำให้อุปัชฌาย์ป่วยหนักถึงแก่ชีวิตได้ จึงตัดสินใจพาพระอโศกจำนวน 21 รูป ประกาศแยกตัวจากการปกครองของมหาเถรสมาคมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2518

เมื่อประกาศไม่ขึ้นกับอาณัติของมหาเถรสมาคมแล้วหมู่สงฆ์ของอโศกได้วางระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการปกครองคณะสงฆ์ของตนเองโดยยึดเอาพระธรรมวินัยเป็นหลัก ให้อุปสมบทกันเอง และมีพุทธบริษัทชาวอโศกเพิ่มขึ้นตามลำดับ

ในปี พ.ศ. 2520ได้มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสบริจาคทรัพย์สินและร่วมกันก่อตั้งเป็นมูลนิธิชื่อว่า มูลนิธิธรรมสันติ ปัจจุบันชาวอโศกมีพุทธสถาน 4 แห่ง ที่เป็นศูนย์กลางการทำงานทางด้านศาสนาคือ

1. พุทธสถานสันติอโศก ก่อตั้งเมื่อ 7 สิงหาคม 2519 อยู่ที่ 69/1 ซอยเทียมพร แขวงคลองกุ่ม เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ
2. พุทธสถานศีรษะอโศก ก่อตั้งเมื่อ 23 มกราคม 2519 อยู่ที่บ้านกระแซงใหญ่ อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ
3. พุทธสถานศาลีอโศก ก่อตั้งเมื่อ 6 มิถุนายน 2519 อยู่ที่ตำบลโคกเดื่อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรค์
4. พุทธสถานปฐมอโศก ก่อตั้งเมื่อ 28 กรกฎาคม 2523 อยู่ที่ 66 หมู่ 5 ถนนพระประโทน 11 จังหวัดนครปฐม

ในปี พ.ศ.2524 คฤหัสถ์ชาวอโศกอีกกลุ่มหนึ่งร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิอีกมูลนิธิหนึ่งชื่อว่า “กองทัพธรรมมูลนิธิ” มีพลตรีจำลอง ศรีเมืองเป็นประธาน

ในปี พ.ศ.2527 ชาวอโศกได้จัดตั้งสมาคมขึ้นอีกองค์กรหนึ่ง ชื่อว่า “สมาคมผู้ปฏิบัติธรรม” ปัจจุบันมีสมาชิกประเภทต่างๆกว่า 10,000 คน

ลักษณะพิเศษหรือจุดเด่นของพุทธบริษัทอโศกคือความเข้มงวดและเคร่งครัดในศีลอย่างเข้มข้นและเอาจริงเอาจัง พระอโศกฉันมื้อเดียว ฉันมังสวิรัติ ไม่กินหมาก ไม่สูบบุหรี่ จะมีวัตถุปัจจัยเกินกว่าที่พระวินัยกำหนดไม่ได้ เช่น กุฏิของพระชาวอโศกจะมีขนาด 7 x 12 คืบพระสุคต หรือ 1.5 x 2.5 เมตร จะมีเงินทองและสต็อกข้าวของไม่ได้ รับบริจาคน้อยที่สุด ถ้าไม่ได้พิสูจน์ว่าเป็นผู้สนใจธรรมะจริงมาบริจาคก็ไม่รับ ข้อนี้ต่างกับ ‘ธรรมกาย’ ชาวอโศกเน้นที่ความขยัน และสมรรถนะต่อต้านอบายมุข และไสยศาสตร์
แบบนี้ต้องขัดแย้งกับส่วนใหญ่แน่ๆ
 

ข้อมูลสื่อ

100-020
นิตยสารหมอชาวบ้าน 100
สิงหาคม 2530
ศ.นพ.ประเวศ วะสี