• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ย่ำแดนมังกร ดูงานสาธารณสุขมูลฐาน

การควบคุมโรคติดต่อและการให้ภูมิคุ้มกัน (6)

เราลองมาเล่าถึงการควบคุมโรคติดต่อในประเทศจีนกันบ้าง ด้วยนโยบายการป้องกันต้องมาก่อน (Preventive first) ทำให้รัฐบาลจีนให้ความสนใจเรื่องเกี่ยวกับการควบคุมโรคติดต่อเป็นอันมาก มีโครงสร้างรองรับสำหรับการดำเนินการควบคุมโรคติดต่อตั้งแต่ระดับชาติลงมาจนถึงระดับอำเภอ

วิธีการควบคุมโรคที่จีนใช้กันอยู่มี 3 วิธีด้วยกัน คือ
1. พยายามให้มีการรายงานและแจ้งให้รู้ ผู้รายงานหรือแจ้งให้รู้ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าหน้าที่ หรือหมอหมู่บ้าน (หมอเท้าเปล่าเดิม) บรรดาชาวบ้าน ทหาร หรือบุคคลอื่นๆก็สามารถจะรายงานแก่ทางการได้หากพบโรคติดต่อ มีการแบ่งโรคติดต่อทั้งหมดออกเป็น 2 กลุ่มคือ

ก. กลุ่ม A ได้แก่ โรคที่ระบาดร้ายแรงต้องรายงานทันที เช่น กาฬโรค อหิวาตกโรค
ข. กลุ่ม B ได้แก่ โรคระบาดอื่นๆ เช่น โรคคอตีบ มาลาเรีย โรคพิษสุนัขบ้า โรคหัด โรคไอกรน ฯลฯ

2. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์และแพร่พันธุ์ของพาหะนำโรค โดยการระดมผู้คนเข้าร่วมกันกำจัดและทำลายโดยเฉพาะกาฬโรคซึ่งหนูเป็นตัวนำ สามารถกำจัดหนูและทำให้โรคลดลงได้มากมายอย่างเฉียบพลัน ภายหลังการปฏิวัติ และหายไปเลยตั้งแต่ปี ค.ศ.1960 ด้วยการควบคุมและกำจัดรณรงค์ให้ประชาชนร่วมมือด้วยอย่างเต็มที่

3. การให้ภูมิคุ้มกันโรค มีการให้ภูมิคุ้มกันโรคในโรคที่ป้องกันได้ เช่น คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก วัณโรค โปลิโอ และโรคหัดกันอย่างกว้างขวาง มากกว่า 90% ของเด็กทั้งหมดจะได้รับภูมิคุ้มกันโรคครอบคลุมเกือบทุกชนิด การดำเนินงานสามารถกระทำอย่างได้ผล เพราะผ่านการประสานงานของศูนย์ควบคุมวัณโรค ศูนย์อนามัยแม่และเด็ก และศูนย์ควบคุมการระบาดของโรคต่างๆ มีการประสานร่วมกันเป็นอย่างดีของทั้ง 3 ศูนย์ และประสานงานกับประชาชนในแต่ละพื้นที่ในการรณรงค์

ผลจากการรณรงค์นอกจากทำให้เด็กได้รับภิคุ้มกันเป็นจำนวนมากแล้วยังทำให้อุบัติการณ์ของโรคต่างๆลดลงอย่างมาก เช่น โรคหัด ก่อนหน้านี้หลังการปฏิวัติใหม่ๆพบถึงประมาณ 2,500 คนในประชากร 1 แสนคน

ในจำนวนนี้จะตายประมาณ 150 คน หลังจากได้มีการรณรงค์การให้ภูมิคุ้มกันโรคแล้ว ปรากฏว่าสถิติการเป็นโรคหัดลดลงอย่างมากมาย โดยพบ 138 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ในปี 1978 และเกือบจะหายไปเลยในปี 1983-1984 เพราะพบผู้ป่วยเพียง 3 คนเท่านั้น!

การดำเนินการรณรงค์เพื่อการป้องกันโรค โดยอาศัยพลังประชาชนถือเป็นยุทธวิถีที่สำคัญอันหนึ่งในความสำเร็จของการสาธารณสุขของประเทศจีน พลังประชาชนที่มาหนุนช่วยกันในการหาแหล่งน้ำสะอาดและดื่มน้ำสะอาด ทำให้ปัจจุบันนี้ 95.9% ของประชาชนทั้งหมดสามารถหาน้ำสะอาดได้จากน้ำประปาขนาดเล็กหรือบ่อน้ำสะอาดซึ่งไม่มีสิ่งสกปรกอยู่ใกล้บ่อในระยะ 5 เมตร

นอกจากวิธีการต่างๆตามที่ได้กล่าวมาแล้ว รัฐบาลยังได้ออกกฎหมายควบคุมสุขาภิบาลด้านอาหารอีกด้วย ผลจากการรณรงค์อย่างเอาจริงเอาจังเกี่ยวกับเรื่องน้ำสะอาดทำให้โรคทางเดินอาหารลดลงอย่างมากจากเดิมที่เคยพบประมาณ 64% ของผู้ป่วยโรคต่างๆ โรคไทฟอยด์ซึ่งพบ 50.97 คนต่อประชากร 1 แสนคน ในปี 1960-1969 ลดลงเหลือ 14.87 คนต่อประชากร 1 แสนคน ในปี 1980-1985

ผลจากการรณรงค์ในเรื่องการควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ ทำให้อัตราตายจากโรคติดต่อทั้งหมดจากเดิม 77.1 คนต่อประชากร 1 แสนคน สามารถลดลงเหลือเพียง 0.66 คนต่อประชากร 1 แสนคน โรคต่างๆก็หายไปมากนอกจากโรคหัดที่หายไปดังกล่าวแล้ว โรคโปลิโอก็แทบจะไม่พบแล้ว โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน ซิฟิลิส ไม่พบเลยหลังจากการปฏิวัติแล้ว

เมื่อมาคิดเปรียบเทียบกับประเทศไทยแล้วขณะนี้ประเทศเรามีการรณรงค์การหาน้ำสะอาดกันมาก โดยเฉพาะในการสร้างโอ่ง หรือตุ่มน้ำสำหรับเก็บกักน้ำสะอาดไว้ดื่ม มีบางพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จเป็นอันมากในการรณรงค์ จนสามารถประกาศเป็นเขตที่มีโอ่งหรือตุ่มน้ำที่สามารถเก็บกักน้ำสะอาดไว้ดื่มได้อย่างเพียงพอตลอดปีครบทุกหลังคาเรือน

ความพยายามนี้ได้รับการสนับสนุนทั้งจากกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งน่าจะให้ผลทำให้เกิดโรคทางเดินอาหารน้อยลงในอนาคต น่าเสียดายที่บางบริเวณน้ำสะอาดไม่มีเลยแม้จะมีตุ่มน้ำหรือโอ่งน้ำอย่างเพียงพอแล้ว เพราะภาวะฝนแล้งไม่มีฝนตกมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยเฉพาะในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การรณรงค์โดยอาศัยพลังประชาชนน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่จะทำให้การพัฒนาสาธารณสุขและสุขภาพอนามัยของประชาชนดีขึ้นได้ แม้จะต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติบางอย่างก็ตาม ในส่วนของการให้ภูมิคุ้มกันโรค แม้จะมีการตื่นตัวมากขึ้น จนกระทั่งมีการนำเด็กมารับการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ความรู้ในเรื่องการฉีดวัคซีนยังมีไม่มาก มารดาส่วนใหญ่มักจะทราบว่าควรจะพาเด็กไปรับการฉีดวัคซีน แต่ไม่ทราบว่าวัคซีนที่ฉีดไปนั้นชื่ออะไร ป้องกันโรคอะไร จะต้องฉีดกี่เข็มจึงจะป้องกันโรคได้ จึงมักจะพบบ่อยๆว่า มารดาได้พาลูกไปฉีดวัคซีนแล้ว แต่เมื่อถูกถามว่าฉีดป้องกันโรคอะไรบ้างแล้ว ก็ไม่ทราบหรือไม่ก็ไม่ทราบว่าฉีดครบพอจะป้องกันโรคได้แล้วหรือยัง

ในส่วนของความรู้ในเรื่องการฉีดวัคซีนนี้ ยังต้องการการถ่ายทอดไปให้ประชาชนอีกมาก เพื่อที่จะให้การได้รับวัคซีนเป็นไปได้อย่างครบถ้วนขึ้น

 

ข้อมูลสื่อ

100-023
นิตยสารหมอชาวบ้าน 100
สิงหาคม 2530
นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์