• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการเขียว

การตรวจรักษาอาการเขียว

อาการเขียวในที่นี้หมายถึง การที่ผิวหนังหรือแลดูอวัยวะบางส่วนเป็นสีม่วง (ม่วงแดง หรือม่วงน้ำเงิน)
ถ้าจะเทียบสีให้รู้ว่า สีม่วงที่กล่าวถึงนี้เป็นอย่างไร ให้ดูได้จาก

1. ริมฝีปากของคนที่สูบบุหรี่มาหลายปี ริมฝีปากที่เคยแดงจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงหรือสีดำคล้ำกว่าปกติ

2. ใช้หนังสติ๊ก (ยางยืด) รัดนิ้วก้อยไว้พักหนึ่ง ปลายนิ้วก้อยจะเป็นสีม่วง

แม้ว่าจะดูเป็นสีม่วง แต่เรานิยมเรียกว่า “เขียว” เช่น โดนสีจนเขียวไปหมดทั้งตัว หรือเขียวซีดเหมือนคนตาย เป็นต้น เนื่องจากผิวหนังของคนปกติไม่มีสีเขียวหรือสีม่วง ไม่ว่าจะมาจากเชื้อชาติใดก็ตาม การเกิดสีนี้ขึ้นจึงผิดปกติ

อาการเขียว หรือที่เห็นเป็นสีม่วงอาจเกิดจาก

1. เขียวเพราะขาดออกซิเจน (cyanosis) เกิดจากสารเลือดแดง (haemoglobin) อยู่ในสภาพที่ขาดออกซิเจนเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เห็นเป็นสีม่วงแทนที่จะเห็นเป็นสีแดงซึ่งเป็นสีของสารเลือดแดง (ที่อยู่ในเม็ดเลือดแดง) เมื่อได้รับออกซิเจนเพียงพอ

เมื่อใดที่สารเลือดแดง (ฮีโมโกลบิน) ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ เม็ดเลือดแดงจะเปลี่ยนจากสีแดงสดเป็นสีแดงดำ หรือสีม่วง สีแดงสดจะเห็นได้เมื่อปลายนิ้วถูกหนามหรือเข็มแทงจนเลือดออก ส่วนสีม่วง หรือสีแดงดำ จะเห็นได้จากสีเลือดเมื่อถูกเจาะเลือดจากแขนพับไปตรวจ หรือในขณะที่ไปให้เลือด อาการเขียวเพราะขาดออกซิเจนอาจเป็นที่

ก. อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น แขน ขา จมูก หู ถ้าเป็นที่แขนหรือขา มักจะเห็นสีเขียวที่ปลายแขน (มือหรือนิ้วมือ) และที่ปลายเท้า (เท้าหรือนิ้วเท้า) ก่อน เมื่อเป็นมากจึงจะลามขึ้นมาที่แขนและขา ถ้าเป็นเช่นนี้มักเกิดจากเส้นเลือด (หลอดเลือด) ที่ไปเลี้ยงบริเวณนั้นตีบตันหรือถูกอุดกั้น ทำให้ไม่มีเลือดไปเลี้ยงบริเวณนั้น และเลือดที่ค้างอยู่ในบริเวณนั้นจะขาดออกซิเจน ทำให้เกิดอาการ “เขียว” ขึ้นได้

ข. ทั่วร่างกาย อาการเขียวที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย เกิดจากเลือดที่ไปเลี้ยงทุกส่วนของร่างกายขาดออกซิเจน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากโรคปอด โรคหัวใจ การได้รับสารพิษ และการขาดอากาศหายใจ โรคปอดและหลอดลมที่เป็นมาก จะทำให้การหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าสู่ปอดเป็นไปอย่างลำบาก เมื่ออากาศบริสุทธิ์ไม่สามารถเข้าปอดได้ดี เลือดดำ (เลือดเขียว) ก็จะไม่ถูกฟอกให้เป็นเลือดแดงได้หมด จึงมีเลือดดำ (เลือดที่ขาดออกซิเจน) ไปเลี้ยงร่างกาย ทำให้แลดูเขียวไปทั่วร่างกายได้

โรคหัวใจแต่กำเนิดบางชนิด ทำให้เลือดดำไหลปนไปกับเลือดแดงไปเลี้ยงร่างกาย ร่างกายจึงแลดูเขียวคล้ำตั้งแต่เกิด หรืออาการเขียวคล้ำมาเกิดขึ้นภายหลัง (เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว) ก็ได้ ส่วนโรคหัวใจอื่นๆ ถ้าเป็นมาก จะทำให้หัวใจล้ม (หัวใจวาย) จนเลือดคั่งในปอด เป็นเหตุให้ปอดทำงานรวมทั้งฟอกเลือดดำเป็นเลือดแดงไม่ได้ดี จึงมีเลือดดำปนกับเลือดแดงไปเลี้ยงร่างกาย ทำให้แลดูเขียวไปทั่วร่างกายได้

สารพิษและยาบางอย่างเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะจับกับสารเลือดแดง ทำให้สารเลือดแดงไม่สามารถจับออกซิเจนได้ ดังนั้นเลือดจึงกลายเป็นสีดำ ทำให้แลดูเขียวไปทั่วร่างกายได้ การขาดอากาศหายใจ เช่น ในบริเวณไฟไหม้บนภูเขาสูงๆ หรือในที่ที่ไม่มีการระบายอากาศ อาจมีการขาดแคลนออกซิเจนในอากาศเพื่อการหายใจ เมื่อออกซิเจนเข้าปอดไม่พอเพียงที่จะฟอกเลือดดำเป็นเลือดแดง จึงมีเลือดดำไปเลี้ยงร่างกาย ทำให้แลดูเขียวไปทั่วร่างกาย

2. เขียวเพราะฟกช้ำ (bruise) : เมื่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายถูกกระทบกระแทกแรงๆ ส่วนนั้นอาจเกิดเป็นรอยฟกช้ำเห็นเป็นสีเขียวได้ เนื่องจากมีเลือดออกอยู่ใต้ผิวหนัง

3. เขียวเพราะพรายย้ำ (purpura) : พรายย้ำ คือ การมีเลือดออกใต้ผิวหนัง ซึ่งอาจเกิดจากเลือดแข็งตัวยาก เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังไม่แข็งแรง เช่น ในคนชรา ในสตรีบางคนที่มักเป็นรอยจ้ำเขียวๆ ตามแขนขา เป็นต้น

4. เขียวเพราะสาเหตุอื่นๆ เช่น ปาน โรคผิวหนังบางชนิด ภาวะถูกพิษ เป็นต้น

การตรวจรักษาอาการเขียวจึงขึ้นกับการดูแล้ววินิจฉัยว่า อาการเขียวนั้นเป็นชนิดใด หรือเกิดจากสาเหตุใด โดยการตรวจรักษาเป็นขั้นตอนตามแผนภูมิที่ 1

เมื่อพบอาการเขียว ในขั้นแรกให้ตรวจดูว่าอาการเขียวนั้นเป็นเฉพาะที่ หรือเป็นทั่วร่างกาย

ถ้าเขียวเฉพาะที่ คือ เขียวเฉพาะที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย อาการเขียวนั้นมักจะเกิดจากการฟกช้ำ พรายย้ำหรือเลือดออกใต้ผิวหนัง ปาน และโรคผิวหนัง

โดยทั่วไป อาการเขียวเฉพาะที่ที่เป็นเพียงเล็กน้อย (นั่นคือ ไม่เป็นบริเวณกว้าง ไม่เป็นหลายแห่ง ไม่บวม ไม่เจ็บ และอวัยวะส่วนนั้นยังทำงานได้ตามปกติ) มักเป็นอาการเขียวที่ไม่มีอันตรายอะไร ไม่จำเป็นต้องให้การรักษา และไม่ต้องห่วงกังวล อาจหายเองได้ ถึงไม่หาย (เช่นปาน) ก็ไม่มีอันตรายอะไร อาการเขียวเฉพาะที่ที่เป็นมาก (เป็นบริเวณกว้าง เป็นหลายแห่ง บวม เจ็บ หรืออวัยวะส่วนนั้นทำงานไม่ได้ตามปกติ) ถ้าไม่ได้เกิดจากการฟกช้ำที่รักษาเองได้ ควรให้ไปโรงพยาบาล

ถ้าเขียวทั่วร่างกาย คือ ริมฝีปากเขียว หน้าเขียว และมือเท้าเขียว ให้ตรวจดูว่า ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหนักไหม ถ้ามีอาการเจ็บหนักรีบให้การปฐมพยาบาลสำหรับผู้ป่วยเจ็บหนัก (ดูหมอชาวบ้านปีที่ 6 ฉบับที่ 64-65) แล้วรีบส่งโรงพยาบาล

ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการเจ็บหนักให้ตรวจดูว่าผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยง่าย ไอ หรือบวมหรือไม่ ถ้ามีให้นึกถึงโรคหัวใจ หรือโรคปอด ควรให้ไปโรงพยาบาลเมื่อไปได้

ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการเจ็บหนัก ไม่เหนื่อยง่าย ไม่ไอ หรือบวม และยังทำงานทำการได้ตามปกติ อาการเขียวนั้นอาจเกิดจากยา สารพิษ (ชนิดที่ไม่มีพิษเฉียบพลัน) หรือความผิดปกติของผิวหนังจากโรคผิวหนังเอง หรือจากโรคอื่น ซึ่งควรหาสาเหตุถ้ามีโอกาส จะไปตรวจหาสาเหตุที่โรงพยาบาลก็ได้

โดยสรุป อาการเขียวอาจจะเกิดขึ้นเฉพาะที่จากการฟกช้ำ พรายย้ำ โรคผิวหนัง การตีบตันของหลอดเลือดเฉพาะที่ หรือจากสาเหตุอื่นๆ หรืออาการเขียวอาจจะเกิดขึ้นทั่วร่างกายจากการขาดออกซิเจนหรือขาดอากาศหายใจ โรคปอด โรคหัวใจ ได้รับสารพิษ หรือสาเหตุอื่นๆ

การตรวจรักษานั้นขึ้นกับสาเหตุอาการเขียวที่รักษาเองได้มักเกิดจากการฟกช้ำ ส่วนอาการเขียวที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ มักต้องไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล


แผนภูมิที่ 1 การตรวจรักษาอาการเขียว


 
 

ข้อมูลสื่อ

130-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 130
กุมภาพันธ์ 2533
อื่น ๆ
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์