อาการปวดข้อเป็นอาการที่พบบ่อย อันที่จริงอาการปวดหลัง และอาการปวดคอที่กล่าวถึงในฉบับก่อนๆก็อาจจะถือเป็นอาการปวดข้อได้ คือเป็นอาการปวดที่เกิดจากความผิดปกติทางกายภาพหรือทางการเคลื่อนไหวของข้อที่อยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละอันนั่นเอง
อาการปวดข้อในที่นี้ จึงจะกล่าวถึงข้ออื่นๆที่ไม่ใช่ข้อของกระดูกสันหลัง
การตรวจรักษาอาการข้อก็เช่นเดียวกับการตรวจอาการอื่นๆที่ในระยะแรกจะต้องแยกว่าอาการนั้นฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉิน (ตารางที่ 1)
อาการปวดข้อฉุกเฉิน คืออาการปวดข้อที่ร่วมกับ
1. อาการเจ็บหนัก (ดูเรื่องอาการเจ็บหนัก ในมาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 64-65)
2. อุบัติเหตุที่ทำให้ข้อนั้นใช้ไม่ได้ทันที ทั้งในด้านการเคลื่อนไหวและในด้านการรับน้ำหนัก
3. อาการบวม แดง และร้อน คือข้อนั้นนอกจากจะปวดแล้ว ยังบวม แดง และร้อนด้วย
อาการปวดข้อฉุกเฉิน ควรจะได้รับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลอย่างรีบด่วนโดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยเจ็บหนัก (ข้อ 1) รองลงไปคือ ข้อ 2 ซึ่งอาจจะใช้ไม้ดามข้อที่ได้รับอุบัติเหตุจนใช้การไม่ได้ไว้ก่อน แล้วจึงค่อยนำส่งโรงพยาบาล (ไม่จำเป็นต้องรีบด่วนมาก) ส่วนข้อ 3 นั้นอาจจะรอได้เป็นชั่วโมงหรือเป็นวันและบางครั้งอาจจะลองรักษาเองดูก่อนได้ เช่น
1. ข้อเท้าพลิก เท้าแพลง เข่าบิด ข้อมือเคล็ด เนื่องจากการหกล้ม หรือการใช้ข้ออย่างผิดๆ ทำให้ข้อเกิดการอักเสบ ปวดบวมแดงร้อนขึ้นมา แต่ยังพอใช้งานได้ แม้จะเจ็บเพิ่มขึ้นเวลาใช้งาน ให้รักษาดังนี้
1.1 พักข้อนั้นในทันทีที่เจ็บ โดยให้ข้อนั้นอยู่นิ่งๆ และไม่ได้รับน้ำหนัก
1.2 หาน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบ เพื่อลดอาการบวมในระยะแรก
1.3 หาไม้หรือของแข็งดามข้อนั้นไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อนั้นเคลื่อนไหวโดยไม่ได้ตั้งใจ
1.4 กินยาแก้ปวดถ้าปวดมาก โดยทั่วไป อาการปวดจะลดลงมาก หลังพักข้อโดยให้ข้ออยู่นิ่งๆ และอยู่สูงๆ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวด แต่ถ้ายังปวดมาก อาจใช้ยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน หรือพาราเซตามอล กินครั้งละ 1-2 เม็ดเวลาปวดมาก (คนที่เป็นโรคกระเพาะหรือชอบปวดท้องเวลาหิวหรืออิ่มห้ามกินแอสไพริน ส่วนคนที่เป็นโรคตับ ห้ามกินพาเซตามอล)
1.5 ใช้ของร้อนประคบบริเวณข้อที่ปวด เมื่ออาการบวมคงที่แล้ว (ระยะแรกประคบด้วยของเย็นเพื่อไม่ให้บวมมาก แต่เมื่ออาการบวมไม่เพิ่มขึ้นแล้ว ให้ประคบด้วยของร้อน เช่น ถุงน้ำร้อนห่อด้วยผ้าประคบใบพลับพลึงอังไฟจนนิ่มแล้วนำมาประคบ หรืออื่นๆ)
1.6 ไปโรงพยาบาลถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน เพื่อที่จะตรวจกระดูกและข้อด้วยเอกซเรย์ โดยทั่วไปอาการข้อเคล็ด ข้อแพลง ข้อบิดนี้จะดีขึ้น (ปวดน้อยลง บวมน้อยลง) ภายใน 2-3 วัน ถ้าหลัง 2-3 วันแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรไปโรงพยาบาล เพราะมักจะมีเรื่องของกระดูกหัก หรือข้อเคลื่อนร่วมด้วย ซึ่งอาจจะต้องใช้การรักษาวิธีอื่น
หมายเหตุ อาการที่คิดว่าเป็น “ข้อเคล็ด ข้อพลิก ข้อแพลง หรือข้อบิด” แต่ข้อนั้นใช้งานไม่ได้เลย คืองอไม่ได้ เหยียดไม่ได้ บิดไม่ได้ และรับน้ำหนักไม่ได้ หรือถ้าใช้งานได้ ก็ใช้ได้น้อยมาก มักจะไม่ใช่อาการ “ข้อเคล็ด ข้อพลิก ข้อแพลง หรือข้อบิด” อย่างธรรมดา เพราะมักจะมีกระดูกหัก กระดูกร้าว เอ็นฉีกหรือขาดร่วมด้วย จึงควรไปตรวจให้ละเอียดที่โรงพยาบาล
2. ข้อหัวแม่เท้าปวด บวม แดง ร้อนขึ้นมาทันที ในคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในเพศชาย ที่มักจะอยู่ดีกินดี (ชอบกินเครื่องในสัตว์ สัตว์ปีก อาหารเนื้ออื่นๆ และสุรา ยาดองของเมาทั้งหลาย) มักจะอ้วน และอาจจะเป็นเบาหวานด้วย
อาการมักเริ่ม – ในเวลากลางคืน โดยจะปวดข้อหัวแม่เท้าขึ้นมากลางดึก ข้อหัวแม่เท้าจะบวม แดงร้อนและปวดมาก อาจขยับขาข้างนั้นไม่ได้ และบางครั้งอาจปวดจนแม้แต่โดนลมผ่านหัวแม่เท้าก็จะเจ็บเสียวขึ้นมามาก อาจมีไข้สูง และอาการไม่สบายอื่นๆ ที่สืบเนื่องมาจากการปวด
อาการแบบนี้มักเกิดจากการปวดข้อแบบเก๊าต์เฉียบพลัน (acute gouty arthritis) ไปตกตะกอนในข้อ ทำให้ข้ออักเสบ
เนื่องจากคนไข้ที่ปวดเก๊าต์แบบเฉียบพลันนี้ มักจะปวดมากและมักจะเป็นเวลากลางคืนจึงมาหาหมอลำบาก ผู้ใกล้ชิดอาจจะให้การตรวจรักษาดังนี้
1. ให้คนไข้นอนพัก ยกเท้าข้างที่ปวดให้สูงกว่าเข่า
2. ให้กินยาอินโดเมทาซิน (indomethacin) เม็ดละ 50 สตางค์ ครั้งละ 2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง จนอาการดีขึ้น (อาการจะดีขึ้นภายใน 1-2 วัน) แล้วลดยาลงเหลือครั้งละ 1 เม็ด หลังอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น เมื่ออาการหายสนิทให้หยุดยา
เนื่องจากยาอินโดเมทาซิน เป็นยาที่ระคายกระเพาะอาหารมาก จึงควรกินยาหลังอาหารทันที และควรกินยาลดกรด ครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ 1-2 ชั่วโมงหลังอาหารทุกมื้อและก่อนนอน และเวลาที่ปวดท้อง โดยเฉพาะในคนที่ชอบปวดท้องเวลาหิวหรือเวลาอิ่ม
ในคนที่เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารโดยเฉพาะ ถ้าเคยอาเจียนหรืออุจจาระเป็นเลือด ไม่ควรจะใช้ยานี้ ควรจะใช้ยาโคลซีซีน (colchicine) แทน ให้กินยาโคลซีซีนเม็ดละ 5.60 บาท 1 เม็ด ทุก 1 ชั่วโมง จนเกิดอาการท้องเดิน หรือคลื่นไส้อาเจียน หรือไม่เกิน 6 เม็ด อาการปวดข้อมักจะดีขึ้นใน 24 ชั่วโมง วันต่อไปให้กินครั้งละ 1 เม็ดหลังอาหารวันละ 2-3 ครั้ง เมื่ออาการปวดเก๊าต์นี้หายเรียบร้อยแล้ว อาจจะกินยาวันละครึ่งถึง 1 เม็ด เพื่อป้องกันอาการปวดเก๊าต์แบบเฉียบพลันได้
3. ควรให้ไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาปริมาณกรดยูริกในเลือด ถ้ากรดยูริกในเลือดสูงมาก อาจต้องกิน
3.1 ยาลดการสร้างกรดยูริก คือ อัลโลพูรีนอล (allopurinol) หรือ
3.2 ยาขับกรดยูริก คือโพรเบเนซิค (probenecid) ซึ่งไม่ควรใช้ในผู้ที่เป็นโรคไต หรือขับกรดยูริกออกทางไต (ทางปัสสาวะ) มากอยู่แล้ว เพราะกรดยูริกอาจตกผลึกในไต ทำให้ไตพิการได้
3.3 ยาทำให้ปัสสาวะเป็นด่าง คือ โซเดียมไบคาร์บอเนต หรือโซดามินท์ เพื่อช่วยละลายกรดยูริกที่ขับออกทางไต ทำให้ไตพิการจากกรดยูริกน้อยลง
3.ปวดข้อหลังเจ็บคอ และ/หรือปวดข้อย้ายแห่ง นั่นคือ อาการปวดข้อเกิดขึ้นหลังจากมีอาการเจ็บคอ (คอและต่อมทอนซิลอาจอักเสบเป็นหนอง) แล้วประมาณ 2 สัปดาห์ มักจะปวดตามข้อใหญ่ๆ เช่น ข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อใดข้อหนึ่งก่อน พออาการปวดข้อที่หนึ่งดีขึ้น ก็จะเกิดอาการปวดที่ข้ออื่น ย้ายที่ไปเรื่อยๆ
อาการปวดข้อแบบนี้ มักเกิดจากการปวดข้อแบบรูมาติก ซึ่งมักจะเกิดในเด็กและวัยรุ่น ในผู้ใหญ่พบน้อย
ถ้าสามารถไปโรงพยาบาลได้ควรไปโรงพยาบาลตรวจให้ละเอียดว่าอวัยวะอื่น นอกจากข้อถูกกระทบกระเทือนหรือไม่ โดยเฉพาะหัวใจ
ถ้าไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้ในทันทีให้
1. นอนพัก จนอาการทุกอย่างกลับเป็นปกติ
2. กินยาเพนวี (Pen-V) ถ้าคนไข้ไม่แพ้เพนิซิลลิน (penicillin) ขนาดเม็ดละ 250 ม.ก. ครั้งละ 1 เม็ดก่อนอาหารสามมื้อและก่อนนอน (วันละ 4 เม็ด) เป็นเวลา 10 วัน เพื่อกำจัดเชื้อที่เป็นสาเหตุของการเจ็บคอและปวดข้อ
ถ้าคนไข้แพ้เพนิซิลลิน ให้กินอีริโทรมัยซิน (erythromycin) ขนาดเม็ดละ 250 ม.ก. ครั้งละ 2 เม็ดหลังอาหารสามมื้อและก่อนนอน (วันละ 8 เม็ด) เป็นเวลา 10 วัน
3. กินแอสไพริน ครั้งละ 3-4 เม็ดหลังอาหารทันที วันละ 3-4 ครั้ง และควรกินยาลดกรดร่วมด้วย เพื่อกันการระคายกระเพาะอาหาร โดยกินยาลดกรดครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ 1-2 ชั่วโมงหลังอาหารทุกมื้อ และก่อนนอน และเวลาที่ปวดท้องโดยเฉพาะในคนที่ชอบปวดท้องเวลาหิวหรือเวลาอิ่ม
ถ้ากินแอสไพรินในขนาดมากๆเช่นนี้ไปหลายๆวัน แล้วเกิดอาการหูอื้อ หรือมีเสียงในหู ให้ลดยาลงเหลือครั้งละ 2-3 เม็ด
โดยทั่วไป อาการปวดข้อเฉียบพลันจากรูมาติกจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว (ภายใน 24-48 ชั่วโมง) หลังได้กินยาข้างต้น แต่ควรกินยาเพนวีครบ 10 วัน และกินยาแอวไพรินต่อ แต่ค่อยๆลดยาแอสไพรินลงเหลือครั้งละ 2-3 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารทันทีอีก 1-2 สัปดาห์ ถ้าอาการปวดข้อไม่กำเริบขึ้นอีกให้ลดเหลือครั้งละ 1-2 เม็ดวันละ 3 ครั้ง อีก 1-2 สัปดาห์ ถ้ายังไม่มีอาการอะไรอีก ก็อาจหยุดยาได้
4. ไปตรวจที่โรงพยาบาล เมื่ออาการปวดข้อดีขึ้น และสามารถเดินได้แล้ว เพราะโรคปวดข้อแบบรูมาติกอาจจะกำเริบใหม่เมื่อมีการติดเชื้อ หรืออาจจะทำให้หัวใจ และลิ้นหัวใจอักเสบ จึงควรตรวจให้แน่ว่าเป็นโรคนี้แน่หรือไม่ ถ้าเป็นแน่ จะได้กินยาป้องกันไม่ให้โรคกำเริบขึ้นมาใหม่
ยาที่ใช้ป้องกันคือ เพนวี (Pen-V) ขนาดเม็ดละ 125 หรือ 250 ม.ก. กินครั้งละ 1 เม็ดก่อนอาหารเช้าและเย็น (วันละ 2 เม็ด) ไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ หรือฉีดเบนซาทีนเพนิซิลลิน (benzathine penicillin) 1.2 ล้านหน่วย เข้ากล้ามเดือนละครั้ง จนโตเป็นผู้ใหญ่
4. ปวดข้อนิ้วมือที่ตรงกันพร้อมกันทั้งสองข้าง เช่น ข้อนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางข้างซ้าย ปวดบวมแดงร้อน ข้อนิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนางข้างขวาจะปวดบวมแดงร้อนเช่นเดียวกันและพร้อมกัน
อาการแบบนี้ มักเกิดจากการปวดข้อแบบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) ซึ่งอาจมีลักษณะการปวดข้อแบบอื่นๆได้อีก แต่วินิจฉัยได้ยากกว่าแบบนี้
ในระยะแรกที่ปวด และไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้ อาจให้การรักษาดังนี้
1. ให้นอนอีก ถ้ามีไข้ หรือมีอาการไม่สบายอื่นๆร่วมด้วย ส่วนนิ้วมือที่ปวด ก็ต้องพัก (นั่นคือไม่ใช้นิ้วมือ) เช่นเดียวกัน
2. ให้กินยาแอสไพริน เช่นเดียวกับในการรักษาอาการปวดข้อแบบรูมาติก ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น
3. ไปตรวจที่โรงพยาบาล เมื่อสามารถไปได้ เพราะต้องวินิจฉัยให้รู้แน่ว่าเป็นโรคปวดข้อแบบรูมาตอยด์หรือไม่ เพราะโรคนี้มักเป็นๆหายๆ และมักเป็นโรคเรื้อรัง การวินิจฉัยให้แน่นอน และการกินยารักษาและป้องกันให้ถูกต้อง อาจทำให้อาการไม่กำเริบ และมีชีวิตอย่างปกติได้
5. แบบอื่นๆ ที่มีอาการปวดบวมแดงร้อนที่ข้อ โดยเฉพาะข้อใหญ่ๆ และไม่มีลักษณะหนึ่งลักษณะใดของอาการปวดข้อ 4 อย่างที่กล่าวถึงข้างต้น ควรส่งโรงพยาบาลทันทีเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสม ข้อนั้นจะได้ไม่พิการหรือลุกลามเป็นโรคร้ายแรงอื่นๆ
ตารางที่ 1 การตรวจรักษาอาการปวดข้อ
- อ่าน 8,015 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้