• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ย่ำแดนมังกร ดูงานสาธารณสุขมูลฐาน

ชมโรงพยาบาลอำเภอในเมืองจีน (7)

นอกจากการได้ฟังการบรรยายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในห้องประชุมแล้ว ก็ยังมีการพาไปชมสถานที่และการปฏิบัติงานกันจริงๆในพื้นที่ ในวันที่ 4 พาไปชมโรงพยาบาลระดับ County หรืออำเภอ

สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1984 สร้างเสร็จในปี 1986 ก่อนที่คณะของเราจะไปชมไม่นาน มีบริเวณพื้นที่ 4,200 ตารางเมตร ไปดูรอบๆต้นไม้ยังไม่ดีขึ้น ดูแล้วแห้งๆ ไม่สดใสคล้ายกับบ้านที่กำลังสร้างจวนจะแล้วเสร็จ ยังดูโล่งๆ มีบุคลากรทั้งหมด 91 คน ในจำนวนนี้มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 59 คน เป็นหมอที่จบระดับมหาวิทยาลัย 21 คน พยาบาล 15 คน และอีก 23 เป็นผู้ช่วยหมอ ที่เหลืออีก 32 คน เป็นผู้ช่วยด้านต่างๆ มีเตียงคนไข้ทั้งหมดถึง 106 เตียง

แผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลแบ่งเป็นแผนกครบครัน ทั้งแผนกอายุรศาสตร์ แผนกศัลยศาสตร์ แผนกสูติ-นรีเวชวิทยา แผนกเด็ก แผนกโรคผิวหนัง แผนกแพทย์แผนโบราณทั้งมองโกเลียและจีนแผนโบราณ ที่น่าสนใจคือการแบ่งแผนกแผนโบราณมองโกเลีย และแผนโบราณจีนเป็นคนละแผนกกัน ผู้ป่วยคนไหนอยากจะเลือกรักษาแบบไหนก็ตามแต่ความสมัครใจ จะเป็นแผนปัจจุบัน แผนโบราณมองโกเลีย แผนโบราณจีน ก็ได้ เมื่อแต่ละแผนกรักษากันไม่ได้ก็จะส่งต่อซึ่งกันและกัน

นอกจากนั้นยังมีเครื่องไม้เครื่องมือ และหน่วยที่สำคัญอื่นๆอย่างครบครัน ตั้งแต่แผนกเภสัชกรรมควบคุมโดยเภสัชกร แผนกเอกซเรย์ แผนกการตรวจทางห้องปฏิบัติการ แผนกบริหารงานบุคคล จะเห็นได้ว่าเป็นโรงพยาบาลอำเภอ ที่เป็นระบบและค่อนข้างจะมีด้านต่างๆครบครัน แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงเป็นระยะทางไกลมาก มีบุคลากรทางการแพทย์และเครื่องไม้เครื่องมือที่พอเพียง แต่การรักษาพอๆกับโรงพยาบาลจังหวัดย่อมๆของเรา

ที่น่าแปลกใจมากกว่านั้นก็คือ มีเครื่องมือที่เรียกว่า เครื่องอัลตราซาวนด์ (ultrasound) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทันสมัยที่สามารถฉายภาพในห้องให้ดูได้ค่อนข้างชัดเจน ใช้สำหรับการตรวจดูโรคโดยเฉพาะในกลุ่มของตับและทางเดินน้ำดี (Billiary System) รวมทั้งการตรวจดูครรภ์ ในคนที่อยากทราบเพศของเด็กทารกก่อนคลอด ก็สามารถดูได้โดยอาศัยเครื่องมือนี้ ในประเทศไทยจะมีเครื่องมือนี้ในโรงพยาบาลจังหวัด ในโรงพยาบาลอำเภอเกือบจะไม่มีเครื่องมือนี้เลย ผู้ที่ทำหน้าที่คุมเครื่องมือในการตรวจเป็นหมอทางรังสีวิทยา ซึ่งได้รับการฝึกการใช้เครื่องและการวินิจฉัยโรคจากเครื่องมือมาเป็นเวลานานกว่า 1 ปี

ด้วยความอยากรู้อยากเห็นเมื่อพบกับสามีของหมอตาคนหนึ่ง ซึ่งร่วมเป็นล่ามในคณะของเรา จึงได้สอบถามดูว่า ประเทศของเขาไม่มีปัญหาในการแพทย์หรือหมอไม่อยากจะอยู่ในชนบทหรอกหรือ ดูท่าทางคล้ายกับว่า เขาจะไม่เข้าใจในคำถามของเรา แต่เขาก็ตอบว่าไม่มี ส่วนใหญ่จบแล้วก็จะมาทำงานตามที่รัฐบาลส่งให้มา เราเลยถามต่อไปว่า ถ้าแต่งงานมีครอบครัวขึ้นมา ย้ายยากไหม เขาก็ตอบว่ายาก ระบบของเขาย้ายกันไม่ได้ง่ายๆ หมอส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยเปลี่ยนโรงพยาบาลกัน ด้วยความเจริญของเมืองที่มีมากกว่าชนบทไม่เท่าใด กับการย้ายข้ามเขตกันยากมาก เป็นสาเหตุให้หมอของเขาจึงมีอยู่มากมายในโรงพยาบาลระดับอำเภอเช่นนี้

ทำให้คิดถึงในเมืองไทย แพทย์ของเราที่ออกไปอยู่ชนบทจะประสบพบปัญหาหลายๆประการ ความเจริญที่แตกต่างกันของเมืองและชนบท ทำให้แพทย์หรือหมอซึ่งส่วนใหญ่เคยชินกับระบบในเมืองเพราะถูกผลิตหรือหรือบางคนก็เติบโตตั้งแต่เล็กๆมาจากในเมือง ไม่สามารถอยู่ในชนบทได้นาน เพราะจะรู้สึกว่าตนเองมีความล้าหลังเพื่อนฝูงหลายๆด้าน ทั้งทางด้านวิชาการและอื่นๆ นี้เป็นปัญหาประการที่หนึ่ง

ปัญหาที่สองคือ ความเหงาโดดเดี่ยว บางอำเภอมีแพทย์อยู่เพียงคนเดียวที่ต้องมารับผิดชอบ
นอกจากด้านการรักษาพยาบาลแล้ว ยังมีงานด้านบริหาร งานด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคซึ่งตนเองไม่ถนัดเป็นปัญหาที่สาม ซึ่งแพทย์ที่ออกไปอยู่ในชนบทมักจะประสบ

ดังนั้น การเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้แพทย์และบุคลากรด้านอื่นๆ โดยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางด้านสวัสดิการ ทางด้านวิชาการ เป็นสิ่งที่จำเป็น รวมทั้งการให้กำลังใจในทุกทางที่เป็นไปได้ เพราะประเทศของเราเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตย ไม่ได้ใช้วิธีบังคับ และคนของเราก็ไม่ชอบวิธีการเช่นนี้ด้วย

แพทย์หรือบุคลากรด้านอื่นๆไม่ว่าจะเป็นพยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ ทันตแพทย์ ฯลฯ ที่อยู่ในชนบทนานๆ และทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นในด้านสาธารณสุขให้กับประชาชนได้ สมควรจะได้รับการยอมรับและยกย่อง สถาบันโรงพยาบาลอำเภอหรือโรงพยาบาลชุมชนในชนบทควรจะมีการเสริมสร้างให้แข็งแกร่ง ให้เป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับ และมีเอกลักษณ์ในการพัฒนาสาธารณสุขชนบท เพื่อที่จะเป็นแรงจูงใจให้กับบุคลากรทางด้านสาธารณสุขอยากจะออกไปพัฒนางานต่างๆที่เป็นประโยชน์ให้เกิดขึ้น รัฐบาลจะต้องจริงจังในเรื่องนี้ ทั้งการสนับสนุนและการขยายจำนวนและปริมาณให้มีมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนจะได้สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเพียงพอ

จากโรงพยาบาลอำเภอ เราก็เดินทางไปชมศูนย์ฯควบคุมการระบาดของโรคติดต่อ ศูนย์ฯค่อนข้างใหญ่และใหม่ เพราะเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ เครื่องมือเครื่องไม้ยังไม่ได้ย้ายมาจากที่เดิม จึงได้ฟังแต่กิจกรรมที่เขาเล่าให้ฟังมากกว่าได้ดูกิจกรรมจริงๆ

หน้าที่ของศูนย์ฯนี้เน้นหนักไปในเรื่องของการควบคุมโรคติดต่อครอบคลุมกิจกรรมตั้งแต่การสุขาภิบาล ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างส้วม และการรักษาบ้านเรือนให้สะอาด การสุขาภิบาลอาหาร ส่งเสริมและให้ความรู้ในการรักษาอาหาร และกินอาหารที่ปลอดภัย การวางแผนดำเนินการให้ภูมิคุ้มกันโรค การควบคุมโรคระบาดในท้องถิ่นด้วยวิธีการต่างๆดังที่ได้เล่ามาในตอนที่แล้ว โดยเน้นที่การมีประชาชนมาร่วมมือเป็นหลัก รวมทั้งการตรวจสอบดูแลชุมชนที่เกิดขึ้นมาใหม่ๆ เมื่อลองสอบถามแพทย์ผู้รับผิดชอบ รู้สึกว่า เขามีความภาคภูมิใจที่ได้ปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมของเขา

อยากจะให้บ้านเราเห็นความสำคัญของการป้องกัน และการส่งเสริมสุขภาพ และเห็นความสำคัญของบุคลากรที่ทำงานทางด้านนี้ให้มากขึ้น เพราะบุคลากรทางด้านนี้มักจะเป็นผู้ที่ปิดทองหลังพระ คนโดยทั่วไปมักจะไม่ค่อยเห็นความสำคัญ ทำให้บุคลากรต่างๆไม่อยากหันมาทางด้านนี้มากนัก
 

ข้อมูลสื่อ

101-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 101
กันยายน 2530
นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์