• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ถ้าอยากมีลูกหัวดี

บทที่ 1 เด็กหัวดี เด็กหัวไม่ดีต่างกันที่ตรงนี้

2. ทำไมจึงกลายเป็นเด็กหัวดี เด็กหัวไม่ดี


เซลล์สมองของมนุษย์ทุกคน มีจำนวนเท่ากัน
ไม่เฉพาะแต่เด็กทารกแรกเกิดในวัยเดียวกันเท่านั้น แม้จะเปรียบเทียบระหว่างเด็กอ่อนกับผู้ใหญ่ จำนวนเซลล์สมองก็ไม่แตกต่างกันนัก คือมีประมาณ 14,000 ล้านเซลล์

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนเซลล์จะเท่ากัน แต่ขนาดของสมองผู้ใหญ่ย่อมใหญ่กว่ามาก น้ำหนักสมองของเด็กอ่อนมีเพียง 400กรัม ในขณะที่ของผู้ใหญ่หนักประมาณ 1,400 กรัม

ทั้งนี้เพราะ มีจำนวนของจุดประสานประสาท (synapse) ซึ่งเป็นตัวเชื่อมระหว่างเซลล์ประสาทเพิ่มขึ้นเมื่อจำนวนของจุดประสานประสาทเพิ่มขึ้น และมีวงจรประสาทใหม่ๆเกิดขึ้น เด็กอ่อนจึงเรียนรู้ภาษาและกิจกรรมใหม่ๆมากขึ้น

จำนวนของจุดประสานประสาทยิ่งมากขึ้นเพียงใด การประสานกันระหว่างเซลล์ประสาทย่อมดีขึ้นและทำให้สรรถภาพของสมองเพิ่มขึ้น

สมองที่มีจุดประสานประสาทมาก ย่อมทำงานมาก

ผมจะอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นอีก เวลาผมพูดถึงจุดประสานประสาท (synapse) ผมมักจะเปรียบเทียบกับสวิตช์ไฟฟ้าครับ

โปรดคิดว่าจุดประสานประสาทคือสวิตช์ ซึ่งอยู่ระหว่างเซลล์สมองกับเซลล์สมองนะครับ เมื่อเปิดสวิตช์นี้ เซลล์สมองจะเชื่อมต่อกันและเริ่มทำงาน

แต่ถ้าหากสวิตช์เกิดบกพร่อง เซลล์สมองซึ่งมีถึง 14,000 ล้านเซลล์ก็หลับอยู่เฉยๆ
เปรียบเสมือนห้องรับแขกซึ่งประดับด้วยโคมไฟระย้าอันหรูหราในยามวิกาล หากไม่เปิดสวิตช์ ห้องย่อมมืดมิด เดินชนโน่นชนนี่และมองไม่เห็นหินอ่อนประดับห้องอันสวยงามน่าเสียดาย...

ในสภาพที่สวิตช์ไม่เปิด ห้องรับแขกย่อมขาดประสิทธิภาพในการเป็นห้องรับแขก

หัวคนก็เช่นเดียวกัน แม้จะมีเซลล์สมองคุณภาพดีบรรจุอยู่เต็ม แต่ถ้าหากไม่มีสวิตช์ (การประสานประสาท) สัญญาณย่อมส่งต่อไม่ได้ กล่าวคือ เซลล์สมองไม่มีการเชื่อมโยงกัน เมื่อไม่เชื่อมกัน สมองย่อมไม่ทำงาน

เด็กทุกคนมีจำนวนเซลล์สมองเท่ากัน แต่บางคนกลายเป็นเด็กหัวดี บางคนหัวไม่ดี เพราะมีความแตกต่างตรงการประสานประสาทนี่แหละครับ

3. สับสวิตช์เร็ว สื่อดี คือเด็กหัวดี

ทีนี้มาถึงปัญหาที่ว่าเด็กหัวดีกับเด็กหัวไม่ดีต่างกันที่ตรงไหน?

ผมให้คำจำกัดความของคำว่าหัวดี คือ สมองที่สับสวิตช์เร็วแล้วสื่อดี
กล่าวคือ เมื่อเปิดสวิตช์ปุ๊บ สัญญาณก็แล่นปรู๊ดๆถึงเซลล์สมองถัดไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น คนที่สวิตช์สมองทำงานได้เร็วย่อมหัวดีกว่าคนที่สวิตช์ทำงานช้า

แต่สับสวิตช์เร็วอย่างเดียวยังไม่พอ สื่อเชื่อมโยงต้องดีด้วย มิฉะนั้นสับสวิตช์แล้วก็เปล่าประโยชน์ เช่นเดียวกับสวิตช์ไฟฟ้าที่สนิมเกรอะกรังย่อมไม่นำกระแสไฟฟ้า

เพราะฉะนั้นหากสื่อดีและสวิตช์ทำงานเร็ว ก็เรียกได้ว่า หัวดี
หากขาดคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งนี้ จะเป็นอย่างไร?

สมมติว่ามีเด็กซึ่งสวิตช์สมองทำงานเร็วมาก แต่สื่อไม่ค่อยจะดี กรณีนี้เด็กจะตอบปัญหาได้รวดเร็ว แต่คำตอบส่วนใหญ่มักผิดพลาด จัดอยู่ในประเภท “ใจเร็วด่วนได้”

สำหรับเด็กที่มีสื่อดีแต่สวิตช์ทำงานช้านั้น จะเป็นประเภท “ต้วมเตี้ยมเหมือนเต่า” หรือไม่ก็ “เก่งเมื่อแก่” กว่าจะตัดสินใจอะไรได้ต้องตรองแล้วตรองอีก แต่ผลที่ออกมาก็นับว่าพอใช้ได้

ทั้งสองประเภทข้างต้นนี้นับว่ายังไม่สมบูรณ์ ถ้าจะให้ดีจริงต้องสับสวิตช์เร็วด้วย และสื่อดีด้วย

ข้อมูลสื่อ

101-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 101
กันยายน 2530
อื่น ๆ
Dr.YOSHIRO NAKAMATSU, พรอนงค์ นิยมค้า