• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เข้าเฝือกทำไม?

เข้าเฝือกทำไม?

หากถามถึงข้อเสียของเฝือก ผู้ป่วยที่เคยเข้าเฝือกนั่นแหละจะตอบได้ดีกว่าแพทย์

- ร้อน อึดอัด ไม่ระบายอากาศ อาบน้ำไม่ได้ แค่นี้ก็แย่แล้ว

- ปวด บวม ปลายนิ้วเขียวเย็น จนแพทย์ต้องตัดเฝือกออกเองทั้งๆ ที่เป็นคนใส่ก็มี

- หนัก เคลื่อนไหวเดินเหินไม่สะดวก พอดีพอร้ายหกล้มก้นจ้ำเบ้าพลอยให้กระดูกดีๆหักไปด้วย

- บางทีก็เข้าแน่นหนาเกือบทั้งตัว ได้แต่นอนเฉยๆ บนเตียง ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ

- หลังถอดเฝือก ข้อยืดติดเคลื่อนไหวยาก กล้ามเนื้อลีบไม่มีแรง

- บางรายแผลเน่าอยู่ในเฝือก

เอาตัวอย่างแค่นี้ก่อน ทั้งหมดนี้มีส่วนจริง และเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งระหว่างแพทย์กระดูกและผู้ป่วยอยู่บ่อยๆ บางครั้งผู้ป่วยถึงกับตัดสัมพันธ์ แอบไปตัดเฝือกออกและไม่กลับมาพบแพทย์อีก แล้วทำไมแพทย์จึงยังชอบเข้าเฝือก ไม่ต้องเข้าเฝือกได้หรือไม่ เพราะที่รักษาโดยการเสกเป่ารดน้ำมนต์ทาน้ำมัน กระดูกก็ติดดีมีอยู่ถมไป

ความจริงเมื่อกระดูกหัก จะมีการสร้างกระดูกภายในร่างกายเพื่อเชื่อมประสานให้กระดูกติดอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ กระดูกก็ติดได้เองเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่ต้องอาศัยน้ำมนต์หรือหรือน้ำมันใดๆ แต่กระดูกอาจติดช้า หรือติดอย่างบิดเบี้ยวคดงอ นอกจากจะมองเห็นไม่สวยแล้ว ยังทำให้อวัยวะนั้นทำงานไม่ได้ดังปกติ อาจถึงพิการทุพพลภาพ

การเข้าเฝือกจึงเป็นการบังคับให้กระดูกอยู่นิ่งๆ ในตำแหน่งที่ถูกต้องชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้กระบวนการสร้างกระดูกในร่างกายทำให้กระดูกติด ต้องใช้เวลานานเท่าไรกระดูกจึงจะติด ขึ้นกับเงื่อนไขหลายๆ อย่าง ได้แก่ อายุผู้ป่วย ตำแหน่งและลักษณะกระดูกที่หัก ลักษณะบาดแผลที่ผิวหนังและกล้ามเนื้อ เป็นต้น โดยปกติแพทย์จะเข้าเฝือกไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน

การเข้าเฝือกจะได้ผลดี ผู้ป่วยจะต้องให้ความร่วมมือปฏิบัติตามข้อแนะนำที่ถูกต้อง ประโยชน์ที่สำคัญข้อหนึ่งของการเข้าเฝือก คือ ทำให้กระดูกส่วนที่หักอยู่นิ่ง ผู้ป่วยจะหายเจ็บปวด และสามารถเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนนั้นได้ทันที ควรยกแขนขาส่วนที่เข้าเฝือกสูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก จะได้ยุบบวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 วันแรก หากส่วนปลายมือปลายเท้าบวมมาก จะปวดมาก เมื่อปล่อยทิ้งต่อไปจะทำให้เลือดมาเลี้ยงไม่พอ เกิดอาการชา ปลายนิ้วเย็น เขียวคล้ำ กระดิกนิ้วไม่ได้ ต้องรีบตัดเฝือกออก เพราะเนื้อเยื่อจะเน่าตายได้ เป็นอาการแทรกซ้อนที่อันตรายยิ่งของการเข้าเฝือกที่ต้องระมัดระวังและใส่ใจดูแล

เฝือกถูกน้ำไม่ได้ เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ โดยเฉพาะบ้านเราอากาศร้อน เหงื่อไคลจึงหมักหมมได้มาก นอกจากนั้น เวลาอาบน้ำต้องเอาพลาสติกมาห่อเฝือกไว้แล้วยกสูงให้พ้นน้ำ นับว่ายุ่งยากมากทีเดียว ความจริงเฝือกที่ถูกน้ำได้นั้นมีใช้กันแล้วแต่ราคาแพงมาก จึงยังไม่แพร่หลายในบ้านเรา

ควรออกกำลังกายกล้ามเนื้อส่วนที่อยู่ภายในเฝือกโดยการเกร็งกล้ามเนื้อนานครั้งละ 3-6 วินาที ให้ทำบ่อยๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและป้องกันกล้ามเนื้อลีบ ให้ออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อต่างๆ ที่อยู่ภายนอกเฝือกทันทีที่ทำได้โดยไม่เจ็บ ห้ามใช้ไม้หรือวัตถุใดๆ แยงเข้าไปในเฝือกเพื่อเกา เพราะจะทำให้เกิดบาดแผลได้

ไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจดูเฝือก เปลี่ยนเฝือก หรือตัดเฝือก อย่าตัดเฝือกเองก่อนกำหนด เพราะจะเกิดการเลื่อนหลุดของกระดูกได้ หากไม่ต้องเข้าเฝือกได้เป็นดี แต่เมื่อไม่มีทางเลือกก็ควรปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง

ข้อมูลสื่อ

130-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 130
กุมภาพันธ์ 2533
นานาสาระ
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์