• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การบริหารข้อนิ้วมือและมือ

การบริหารข้อนิ้วมือและมือ

เพลงหนึ่งที่กำลังนิยมในขณะนี้ คือ เพลง “ปูดำ” ทำให้คิดถึงเพลงเด็กอีกเพลงหนึ่ง ซึ่งมีทำนองว่า “จับปูดำขยำปูนา จับปูม้าคว้าปูทะเล” การที่เอามือมาเปรียบเทียบว่าเป็นปูคงเนื่องจากลักษณะของนิ้วมือทั้งสองคล้ายกับขาปูนั่นเอง โดยมีนิ้วหัวแม่มือเป็นก้ามปู และนิ้วอื่นๆ เป็นขาปู เด็กมักชอบเพลงนี้ เพราะนอกจากจะร้องสนุกแล้ว ยังกำมือแบมือกันอย่างสนุกสนาน

การกำมือแบมือเป็นเอกลักษณ์ของมนุษย์ที่แตกต่างจากสัตว์อย่างอื่น ทั้งนี้เพราะนิ้วหัวแม่มือมีลักษณะตั้งฉากกับนิ้วอีก 4 นิ้ว ดังนั้นมือของมนุษย์จึงสามารถทำหลายๆ สิ่งที่สัตว์อย่างอื่น แม้แต่ลิงยังทำไม่ถนัดเท่า มือของเราสามารถจับเข็มที่มีขนาดเล็ก จับด้ามของเครื่องมือขนาดต่างๆ จนถึงการใช้ 2 มือจับลูกบอลขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังใช้หยิก ตบ ตี เขก เคาะ ชก ตลอดจนการเล่นเครื่องดนตรี หรือทำงานฝีมือหลายๆ อย่าง ยากที่สัตว์ชนิดอื่นจะเลียนแบบได้

การที่มือสามารถทำหน้าที่ได้หลายอย่างย่อมขึ้นอยู่กับข้อต่อของนิ้วมือ กล้ามเนื้อ ปลายประสาทรับความรู้สึก และการไหลเวียนของเลือด ถ้าสิ่งหนึ่งสิ่งใดบกพร่อง มือย่อมทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์

ข้อต่อของมือมีมากมายกว่าที่เราคิด ข้อต่อเกิดจากกระดูก 2 ชิ้นมาพบกันโดยมีกระดูกอ่อนบุที่ผิวกระดูก ข้อต่อยึดติดด้วยเยื่อหุ้มข้อ ภายในมีน้ำหล่อเลี้ยงข้อต่อ และมีเส้นเอ็นทอดผ่าน เพื่อทำให้เกิดการเคลื่อนไหว กระดูกที่มือมี 27 ชิ้น โดยประกอบด้วยกระดูกนิ้วมือ 14 ชิ้น กระดูกฝ่ามือ 5 ชิ้น กระดูกข้อมือ 8 ชิ้น กล้ามเนื้อที่ฝ่ามือ และที่ส่งเส้นเอ็นทอดไปยังข้อนิ้วมือทั้ง 5 นั้น มีมากกว่า 30 มัด เส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของมือมี 3 เส้น หลอดเลือดแดง 2 เส้น จะเห็นได้ว่าถึงแม้มือจะมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับร่างกายส่วนอื่นแล้ว แต่มีส่วนประกอบมากมายจนยากที่จะพรรณนาให้ครบถ้วนสมกับความสามารถของมือซึ่งเหลือที่จะคณานับเช่นกัน

ถ้าข้อต่อติดขัด หรือเคลื่อนไหวไม่สะดวก จะทำให้กล้ามเนื้อของมือทำงานไม่สะดวก ทำนองเดียวกัน ถ้าการไหลเวียนของเลือดไม่ดี เส้นประสาทถูกกดรัดจากพังผืดบริเวณข้อมือหรือเกิดการบาดเจ็บ กล้ามเนื้อจะเป็นอัมพาตได้ และในกรณีที่มีความผิดปกติที่สมอง เช่น ในกรณีของอัมพาตครึ่งซีก กล้ามเนื้อมืออาจมีอาการเกร็งแข็ง ทำให้หงิกงอ เหยียดนิ้วไม่ได้

การที่ให้นิ้วมือและมือทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องออกกำลังบริหารมือทุกวัน โดยเฉพาะในกรณีผู้สูงอายุที่มีปัญหาเกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือดลมไม่ดี ข้อต่อของมือติดขัด มือชา งอนิ้วมือไม่ได้ หรืองอแล้วเหยียดไม่ออก กล้ามเนื้อของมืออ่อนแรงลง แต่ยังพอขยับได้ ล้วนต้องบริหารมือทุกๆ วัน

การบริหารมือและข้อนิ้วมือนั้น อาจทำได้ 2 รูปแบบ คือ บริหารในน้ำอุนมาก (ไม่ใช้น้ำร้อนจัด) เพื่อช่วยการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้น และบริหารในอากาศ โดยมีอุปกรณ์ช่วยการบริหาร ซึ่งหาได้ไม่ยากนัก ส่วนใหญ่จะมีอยู่ในบ้าน

การบริหารนิ้วมือและข้อมือควรทำวันละ 2 ครั้ง ตอนตื่นนอนและก่อนเข้านอน แต่อาจทำได้ตลอดเวลาในขณะยังไม่นอนหลับ ถ้าเราสามารถบริหารมือครั้งละประมาณ 10-15 นาที ย่อมช่วยป้องกันการติดขัดของข้อนิ้ว ข้อต่อในฝ่ามือ และข้อมือ

บริหารมือ นอกจากจะเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ฝึกกล้ามเนื้อมือให้แข็งแรง ช่วยการไหลเวียนของเลือดแล้ว ที่สำคัญยังช่วยการประสานงานของมือ ทำให้สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ตราบใดที่เรายังควบคุมการเคลื่อนไหวของมือตามความตั้งใจของเราได้ ตราบนั้นเรายังไม่แก่ การใช้มืออย่างคล่องแคล่วจึงเป็นวิธีชะลอความแก่วิธีหนึ่ง

ท่าออกกำลังกาย

1. แช่น้ำอุ่นประมาณ 42-44 องศาเซลเซียส นานประมาณ 5-10 นาที (ถ้าไม่มีเทอร์โมมิเตอร์สำหรับวัดอุณหภูมิให้ใช้ปลายนิ้วจุ่มเพื่อทดสอบดู ให้รู้สึกอุ่นจัด อาจมีอาการแสบบ้างเล็กน้อย แต่ข้อสำคัญคือ ต้องไม่ร้อนจนทนไม่ได้ และไม่ต้องพยายามทน) ขณะที่แช่อยู่ในน้ำให้ขยับนิ้วมือกระดกขึ้นลง กำ-แบ และกาง-หุบนิ้วมือ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

2. ตั้งมือให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ข้างบน สับลงในน้ำ 20-40 ครั้ง

 

3. บีบ-ปล่อย ฟองน้ำ (สำหรับล้างชามหรือถูตัวเด็ก) ในน้ำ 10-15 ครั้ง

 

4. แช่ฟองน้ำลงในน้ำจมชุ่ม ยกขึ้น บีบน้ำออกให้ฟองน้ำแห้งที่สุด 5 ครั้ง

 

5. ใช้ผ้าขนหนู ขนาด 8x8 นิ้ว ชุบน้ำและบิดจนแห้ง แล้วกลับทิศทางการบิดผ้า ทำ 5 ครั้ง

 

6. กำ-แบ ให้กางและเหยียดนิ้วมือเต็มที่ 10-20 ครั้ง จากนั้นงอนิ้วมือทุกนิ้วให้ปลายนิ้วทั้ง 4 สัมผัสบริเวณโคนนิ้ว ส่วนที่นิ้วหัวแม่มืองอปลายนิ้วและหุบเข้าจนชิดกับฝ่ามือ จะรู้สึกตึงบริเวณหลังนิ้วมือ งอนิ้วมือมากขึ้น ให้ปลายนิ้วแตะเส้นกึ่งกลางมือ (บริเวณเส้นหัวใจ) กำมือจนแน่นที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วกางออก ทำซ้ำข้างละ 5 ครั้ง

 

7. หยิบกระป๋องลักษณะกลม แล้วคว่ำ-หงายมือ ข้างละ 10-20 ครั้ง เริ่มจากง่ายไปหายาก โดยใช้กระป๋องขนาดเล็ก ยาว และน้ำหนักเบา จากนั้นเปลี่ยนเป็นกระป๋องขนาดใหญ่ สั้น และน้ำหนักมากขึ้น

 

8. หยิบเม็ดถั่ว ใช้ถั่วลิสงหรือถั่วเขียว หรือวัสดุที่เป็นเม็ดกลม (ถ้าขนาดยิ่งเล็กจะเพิ่มความยากขึ้น) ประมาณ 20-30 เม็ด วางบนโต๊ะใช้ปลายนิ้วหยิบเม็ดถั่วใส่ลงในชาม หรือถ้วยน้ำจิ้ม โดยใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วกลาง นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วนาง และนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วก้อย หยิบสลับกันเป็นลำดับ

 

9. หยิบธนบัตร หรือกระดาษธรรมดา 1 แผ่น พับทบครึ่งหนึ่ง หรือวัสดุแบนๆ เช่น เหรียญ 5 บาท หรือกุญแจ คว่ำมือ หนีบกระดาษให้อยู่ระหว่างนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ให้แน่นที่สุด แล้วใช้อีกมือหนึ่ง หรือให้ลูกๆ หลานๆ ที่อยู่ใกล้ๆ ลองทดสอบดึง พยายามอย่าให้กระดาษระหว่างนิ้วที่หนีบอยู่หลุดออก แล้วเปลี่ยนนิ้วโดยหนีบกระดาษระหว่างนิ้วชี้และนิ้วกลาง นิ้วกลางและนิ้วนาง และนิ้วนางกับนิ้วก้อย ทำสลับกัน ทำนิ้วมือคู่ละ 3-5 ครั้ง

 

10. พับกระดาษ ใช้กระดาษ 1 แผ่นพับทบให้ขอบกระดาษตรงกัน พับลงเรื่อยๆ จนเหลือขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากนั้นคลี่กระดาษออก 1 ชั้น ฉีกกระดาษตามรอยที่พับไว้ ถ้าหนาเกินไปให้คลี่กระดาษออกทีละชั้น จนคุณสามารถฉีกได้ (การฉีกกระดาษหนาๆ เป็นการฝึกพลังนิ้วมือ) ฉีกจนกระดาษเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ (ขนาดประมาณตั๋วรถเมล์) ใช้ปลายนิ้วหัวแม่มือและนิ้วมืออื่น ปั้นกระดาษเป็นก้อนกลมๆ ปั้นให้แน่นที่สุดเท่าที่จะทำได้ วางลงบนโต๊ะแล้วใช้นิ้วมือ (สลับนิ้วไปเรื่อยๆ ระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ นิ้วกลาง...) ดีดก้อนกระดาษไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ (อ้อ! แล้วอย่าลืมเก็บกระดาษที่ดีดไปแล้วด้วยนะคะ เพราะจะทำให้บ้านเลอะเทอะหมด) กระดาษที่ฉีกไว้แล้วถ้าเบื่อก็แบ่งไว้สำหรับม้วนเล่นแบบม้วนบุหรี่ หรือม้วนใบยาสูบในสมัยก่อน


ข้อมูลสื่อ

132-027
นิตยสารหมอชาวบ้าน 132
เมษายน 2533