• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกาย (ตอนที่ 15)

การตรวจร่างกาย (ตอนที่ 15)


ก. การตรวจร่างกายทั่วไป (ต่อ)

การตรวจร่างกายทั่วไป นอกจากจะตรวจกิริยาท่าทาง รูปร่าง หน้าตา และผิวพรรณของคนไข้แล้ว ยังต้องสังเกต

5. กลิ่น : กลิ่นของคนเรานั้นเกิดมาจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายหลายแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งก็มีกลิ่นเฉพาะของมัน เช่น
ก. กลิ่นตัว กลิ่นตัวมักจะเป็นกลิ่นที่ระเหยออกมาจากผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณที่มีเหงื่อมากหรืออับชื้น เช่นรักแร้ (“กลิ่นเต่า”) กลิ่นผม หรือกลิ่นศีรษะ
บางคนมีกลิ่นตัวแรง (กลิ่นสาบแรง) เช่น ฝรั่ง แขก คนวัยกลางคน คนที่ไม่ค่อยอาบน้ำหรือชำระล้างร่างกายให้สะอาด คนที่กินเนื้อ นม เนยมาก บางคนไม่มีกลิ่นตัวหรือมีกลิ่นตัวน้อย เช่น คนไทย คนจีน เด็ก คนที่อาบน้ำบ่อย คนที่กินเนื้อ นม เนยน้อย เป็นต้น

ข. กลิ่นปาก ซึ่งจะได้กลิ่น เวลาพูดจากัน กลิ่นปากส่วนมากจะมาจากส่วนต่าง ๆ ในปาก เช่น เหงือก ฟัน คอ แต่อาจจะมาจากส่วนลึกลงไป เช่น ปอด หลอดลม หลอดอาหาร หรือกระเพาะได้
โดยปกติ คนเราทุกคนจะมีกลิ่นปากเสมอ โดยเฉพาะกลิ่นน้ำลายในปาก ยิ่งปากแห้ง (น้ำลายในปากแห้ง) ยิ่งมีกลิ่นปากมาก
ผู้ที่มักมีกลิ่นปาก โดยที่ฟันไม่ผุ เหงือกไม่อักเสบ คอไม่เจ็บและปากไม่เป็นแผล จึงควรจะดื่มน้ำหรือบ้วนปากบ่อย ๆ ไม่ให้ปากแห้ง และจะทำให้ปากสะอาดเพิ่มขึ้น กลิ่นปากจะได้ลดลง ถ้ามีฟันผุ เหงือกอักเสบ เจ็บคอ และปากเป็นแผล ก็จะต้องรักษาความผิดปกติดังกล่าวด้วย กลิ่นปากจะได้ลดลง

ค. กลิ่นลมหายใจ ซึ่งจะได้กลิ่นเวลาอยู่ใกล้ ๆ (ไม่จำเป็นต้องไปดมใกล้ ๆ กับรูจมูกของคนไข้) ถ้าคนไข้นอนอยู่ และกลิ่นจางมาก อาจจะดมได้กลิ่นดีขึ้น ในขณะที่ก้มลงฟังเสียงหัวใจ หรือเสียงท้องของคนไข้ ในคนปกติ ลมหายใจจะไม่มีกลิ่นหรือมีกลิ่นน้อยมากจนไม่ได้กลิ่น ดังนั้น การได้กลิ่นชองลมหายใจ มักจะแสดงว่ามีสิ่งผิดปกติในรูจมูก ในโพรงกระดูก (ไซนัส) ข้างรูจมูก ในคอ ในหลอดลม และในปอด แต่ถ้าหายใจทางปาก อาจจะมีกลิ่นปากเข้ามาร่วมด้วย
กลิ่นเหล้า กลิ่นยาฆ่าแมลงและอื่น ๆ จากลมหายใจ จะทำให้รู้ว่าคนไข้ไม่สบายเพราอะไร กลิ่นตับ (กลิ่นหวานเอียน ๆ) จากลมหายใจจะทำให้รู้ว่าคนไข้เป็นโรคตับในระยะรุนแรง กลิ่นหวาน(กลิ่นคีโตนส์)ในลมหายใจของคนไข้เบาหวาน ทำให้รู้ว่าเบาหวานกำลังอยู่ในระยะอันตราย เป็นต้น

ง. กลิ่นหู โดยทั่วไป จะไม่ได้กลิ่นหู นอกจากจะมอย่างใจจดใจจ่อ โดยเอาจมูกไปจ่อกับรูหูก็จะได้กลิ่นขี้หูในคนปกติ กลิ่นขี้หูในคนปกติก็จะมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากกลิ่นตัว กลิ่นปากหรือกลิ่นลมหายใจ
ถ้ากลิ่นหู มีลักษณะผิดแปลกไป มักจะแสดงว่ามีการอักเสบหรือการติดเชื้อในรูหู บางครั้งถ้าเป็น มาก เช่น ในโรคหูน้ำหนวกอาจจะได้กลิ่นเหม็นทั้งที่อยู่ห่างจากคนไข้เป็นระยะไกล ๆ ได้

จ. กลิ่นอื่น ๆ กลิ่นก้น ซึ่งอาจเป็นกลิ่นจากทวารหนัก กลิ่นอุจจาระ กลิ่นตด กลิ่นจากช่องคลอด กลิ่นตกขาว หรืออื่น ๆ ซึ่งในคนปกติ กลิ่นเหล่านี้มักจะไม่แพร่กระจายไปไกลจากตัว นอกจากกลิ่นตด ในรายที่เป็นฝีคัณฑสูตรหรือมีการอักเสบในช่องคลอด มีมะเร็งที่ปากมดลูก หรืออื่น ๆ อาจจะทำให้มีน้ำเหลือง น้ำหนอง ส่งกลิ่นพ้นตัวออกไปไกล ๆ ได้
การฝึกจมูกให้สามารถรู้กลิ่นต่าง ๆ จะช่วยให้สามารถวินิจฉัยโรคได้ง่ายขึ้น และรวดเร็วขึ้น จึงต้องพยายามฝึกการรับกลิ่นและสังเกตติดตามว่ากลิ่นนั้น ๆ เกิดจากอะไร หายไปได้อย่างไร เพื่อจะได้นำความรู้ความสามารถที่ฝึกฝนนี้ไปใช้ในอนาคต

6. เสียง : เสียงที่ได้ยินง่ายและมีความหมายในการตรวจร่างกายทั่วไปของคนไข้มีอยู่หลายอย่าง เช่น ก. เสียงพูด : เสียงของคนต่างอายุ (ต่างวัย) ต่างเชื้อชาติ ต่างพันธุ์ และอื่น ๆ ย่อมผิดแผกแตกต่างกัน ควรจะฝึกสังเกตและจดจำไว้จนรู้ว่า เสียงเช่นใดปกติ เสียงเช่นใดผิดปกติ เช่น
เสียงแหบ แสดงว่า สายเสียงในกล่องเสียงอักเสบ เป็นอัมพาต หรืออื่น ๆ
เสียงแหบซ่า แสดงว่า ต่อมธัยรอยด์(ต่อมคอพอก) ทำงานน้อยกว่าปกติ
เสียงสั่น แสดงว่า ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อและสายเสียงได้ ซึ่งอาจเกิดจากอารมณ์รุนแรง อ่อนเพลียมาก หรือมีโรคของประสาทและกล้ามเนื้อ เป็นต้น

ข. เสียงหายใจ :
คนปกติเวลาหายใจเข้าออกจะไม่มีเสียงให้ได้ยินแม้จะนั่งอยู่ใกล้ ๆ นอกจากจะตั้งใจทำให้เกิดเสียงด้วยการหายใจแรง ๆ ดังนั้นถ้ามีเสียงเกิดขึ้นในการหายใจตามธรรมดา แสดงว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น

                  

                      รูปที่1  คนที่เป็นโรคคอตีบ                        รูปที่2 คนที่เป็นต่อมทอนซิลอัเสบ

ถ้ามีเสียงเวลาหายใจเข้า แสดงว่าหายใจเข้าลำบาก การหายใจเข้าลำบากมักเกิดจากการตีบแคบของรูจมูก เช่น เวลาเป็นหวัดคัดจมูก หรือ แพ้อากาศ การตีบแคบลงของลำคอ เช่น ในโรคคอตีบ(ดูรูปที่ 1) หรือ คนที่ต่อมทอนซิลโตมาก ๆ จนทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลง (ดูรูปที่ 2) มีการตีบแคบลงที่สายเสียงหรือกล่องเสียง เช่น การอักเสบจนสายเสียงบวมหนา หรือมีเนื้องอก หรือสิ่งแปลกปลอม เช่น เม็ดน้อยหน่า เม็ดถั่วขึ้นเนื้อ สำลักเข้าไปปิดกั้นในคอ และกล่องเสียง เป็นต้น
ถ้ามีเสียงเวลาหายใจออก แสดงว่า หายใจออกลำบาก การหายใจออกลำบาก มักเกิดจากการตีบแคบลงของหลอดลมส่วนที่อยู่ต่ำกว่ากล่องเสียงหรือสายเสียงลงไป มักพบในคนไข้โรคหืด โรคถุงลมพอง โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

ค. เสียงไอ : คนเราปกติจะไอเป็นครั้งคราวเวลาได้กลิ่นฉุนจัด ๆ หรือมีฝุ่นละออง น้ำ หรืออาหารสำลักเข้าไปในหลอดลม หรือไอแก้ขวย เสียงไอของคนเราปกติจะมีลักษณะแตกต่างกันบ้าง ต้องหมั่นสังเกตจดจำไว้ จะได้รู้ว่าเสียงไอแบบไหนผิดปกติ เช่น
เสียงไอแบบที่มีเสมหะอยู่ในคอ จะต่างกับเสียงไอแห้ง ๆ ที่ไม่มีเสมหะ
เสียงไอในคนที่เป็นโรคไอกรนซึ่งจะไอติด ๆ กันเป็นชุด แล้วตามด้วยเสียงหายใจเข้าอย่างแรง จะต่างกับเสียงไอในคนที่เป็นโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ (ดูเรื่องไอกรน ในหมอชาวบ้าน ฉบับเดือนกรกฎาคม 2522 หน้า 25) เสียงไอในคนที่สายเสียงเป็นอัมพาต เช่น จากมะเร็งปอด จะต่างจากเสียงไอแบบอื่น จึงต้องสังเกต จดจำและติดตามว่าเสียงไอที่ได้ยินนั้นเกิดจากอะไร หายไอได้เพราะอะไร ต่อไปจะได้รู้จักเสียงไอต่าง ๆ ซึ่งไม่สามารถแสดงเป็นตัวอักษรหรือภาพได้

ง. เสียงเดิน : เสียงเดินของคนปกติแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ต้องหมั่นสังเกตจดจำลักษณะต่าง ๆ ที่ยังถือกันโดยทั่วไปว่าเป็นลักษณะปกติไว้ ต่อไปจะได้รู้จักเสียงเดินที่ปกติได้ เช่น
เสียงเดินของคนตาบอด จะมีเสียงไม้เท้าเคาะก๊อก ๆ อยู่ตลอดเวลา หรือมีเสียงคลำหาทาง หรือเสียงสะดุดโน่นสะดุดนี่ให้ได้ยินโดยตลอด
เสียงเดินของคนปลายเท้าตก (foot-drop) ที่อาจเกิดจากโรคเรื้อนหรือโรคประสาทที่ไปเลี้ยงเท้าเป็นอัมพาตจากสาเหตุอื่น ทำให้ได้ยินเสียงแปะ ๆ ของปลายเท้ากระทบพื้นแทนที่จะเป็นเสียงเด็ก ๆ เพราะส้นเท้ากระทบพื้นก่อนในคนปกติ เสียงเดินของคนขากะเผลก ทำให้ได้ยินช่วงจังหวะของการเดินผิดกัน เร็วครั้งหนึ่งสลับกับช้าอีกครั้งหนึ่ง อาจจะมีเสียงลากขา หรือเสียงไม้เท้าหรือไม้ค้ำรักแร้ร่วมด้วย

จ. เสียงท้อง : โดยทั่วไป เสียงจ๊อก ๆ ในท้องจะไม่ดังออกมาถึงภายนอก และมักจะได้ยินโดยการแนบหูลงกับหน้าท้องเท่านั้น
แต่ในภาวะผิดปกติบางอย่าง เสียงท้องร้องอาจจะดังมาก จนได้ยินในขณะที่นั่งอยู่ใกล้ ๆ ได้ เช่น ในภาวะที่กระเพาะลำไส้หดตัวรุนแรง เช่น เวลาหิวจัด เวลาลำไส้ตีบตัน มีลมในกระเพาะลำไส้มาก เป็นต้น

การหมั่นสังเกตเสียงต่าง ๆ ในร่างกายหรือที่เกิดจากร่างกายของคนเรา จึงสามารถช่วยเราในการวินิจฉัยและติดตามการดำเนินโรคของคนไข้ได้
การตรวจร่างกายทั่วไป นอกจากจะต้องตรวจกิริยาท่าทาง รูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ กลิ่นและเสียงของคนไข้แล้ว ยังต้องสังเกตสิ่งผิดปกติอื่น ๆ ที่บางครั้ง อาจจะเป็นประโยชน์ได้มาก เช่น อารมณ์ บุคลิก น้ำหนักตัว (ความอ้วน ผอม) และการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว (เช่น คนอ้วนที่ผอมลงรวดเร็ว ผิวหนังเหี่ยวย่น เป็นต้น) การบวม ลักษณะอ่อนเพลีย หรือกระปรี้กระเปร่า แข็งแรง กระสับกระส่าย ทุรนทุราย หมดสติ หรืออื่น ๆ


ลักษณะทั่วไปของคนไข้ จะช่วยอย่างมากในการวินิจฉัยโรค และช่วยในการวางแผนการตรวจรักษาคนไข้ต่อไปได้ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น

ข้อมูลสื่อ

15-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 15
กรกฎาคม 2523
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์