• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การเตรียมตัวเพื่อวิ่งมาราธอน

งานมหกรรมวิ่งลอยฟ้าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2530ได้ใกล้เข้ามามากแล้ว เชื่อว่านักวิ่งทั้งหลายคงจะเตรียมตัว เตรียมใจ และซ้อมกันอย่างจริงจังและถูกต้องทุกๆคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่จะลงวิ่งมาราธอน

การวิ่งมาราธอนนั้นนับเป็นการวิ่งที่หนักมาก เพราะจะต้องวิ่งรวดเดียวเป็นระยะทางไกลถึง 42 กิโลเมตรกับอีก 195 เมตร ยิ่งถ้าตรงเส้นชัยเป็นการวิ่งขึ้นทางลาดชัน เช่น สะพานแขวนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงของทางด่วนสายดาวคะนอง-ท่าเรือ ซึ่งข่าวว่ามีความสูงเท่ากับตึก 15 ชั้นด้วยแล้ว ก็นับว่าน่าหนักใจไม่น้อย

จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นักวิ่งทุกคนจะต้องมีการเตรียมตัวที่พร้อมจริง ๆ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูสะพานนี้มาแล้วเมื่อต้นเดือนสิงหาคม แต่ไปถึงกลางสะพานได้สบายมาก เพราะเขาพานั่งรถไป และก็เห็นว่าสะพานนี้สูงมากจริง ๆ มองลงมาเห็นลำน้ำเจ้าพระยาอยู่ลิบ ๆ ต่ำลงไปมากทีเดียว

อีกอย่างหนึ่งที่ออกจะน่าห่วงมากก็คือเรื่องของความร้อน เพราะประเทศไทยเรานั้นเป็นประเทศร้อน แม้การวิ่งจะจัดในเดือนพฤศจิกายนซึ่งถือว่าเป็นฤดูหนาวของเรา แต่ฤดูหนาวของเรานั้นบางปีก็ไม่หนาวเอาเสียเลย โดยเฉพาะในตอนสาย ๆ

การวิ่งครั้งนี้แม้จะปล่อยตัวนักวิ่งมาราธอนในเวลา 6 นาฬิกาก็จริง แต่ถ้าเป็นผู้ที่วิ่งไม่เก่งก็อาจต้องใช้เวลาวิ่งไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง ดังนั้นกว่าจะเข้าเส้นชัยได้ก็คงไม่น้อยกว่า 10.00 น. ซึ่งคงจะร้อนพอสมควร ก็ได้แต่หวังว่าสถานีให้น้ำคงจะมีอย่างเพียงพอ และนักวิ่งทุกคนคงจะเห็นความสำคัญของน้ำ

บ๊อบ โกลเวอร์ (Bob Glover) ปรมาจารย์คนหนึ่งในวงการวิ่งของโลก ได้เคยแนะนำผู้ที่จะลงวิ่งมาราธอนไว้อย่างน่าสนใจมาก ซึ่งผู้เขียนขอนำมาถ่ายทอด เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่จะลงวิ่งมาราธอนลอยฟ้าของเราได้บ้างไม่มากก็น้อย

บ๊อบ โกลเวอร์ กล่าวว่า นับเป็นความฝันของนักวิ่งทั้งหลาย ที่อยากจะวิ่งมาราธอนให้ได้สักครั้งในชีวิต เพราะการวิ่งมาราธอนนั้นเป็นการท้าทายความสามารถ และเป็นเครื่องพิสูจน์ความทนทานของร่างกายได้เป็นอย่างดี (แต่อย่าไปเชื่ออย่างที่เคยเชื่อกันนะครับ ว่าใครวิ่งมาราธอนได้ครบระยะทางสักครั้งหนึ่งแล้วก็จะไม่มีวันตายด้วยโรคหลอดเลือดของหัวใจ-ผู้เขียน)

ในฐานะที่เป็นนักวิ่งเก่าและเป็นครูฝึกนักวิ่งอีกมากมายมาเป็นเวลานาน บ๊อบกล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของนักวิ่งมาราธอน โดยเฉพาะในการวิ่งครั้งแรกก็คือ การลงวิ่งทั้ง ๆ ที่ยังไม่พร้อม อาจเป็นการฝึกซ้อมมาไม่เพียงพอ หรืออาจฝึกมามากแต่ทำอย่างผิดวิธี มีนักวิ่งมาราธอนไม่น้อยที่ลงมาวิ่งเพราะแรงจูงใจจากหนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ หรือลงมาวิ่งเพราะเพื่อนชักชวน

ผลที่เกิดกับนักวิ่งประเภทนี้ก็คือ “เสมือนหนึ่งแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ” เขาใช้คำอย่างนี้จริง ๆ คือ “It draws in runners like moths to candle.”

บ๊อบ บอกว่าทั้ง ๆ ที่รู้แต่ก็เป็นการยากมากที่จะเปลี่ยนใจของนักวิ่งมาราธอนหน้าใหม่เหล่านี้ เขาจึงเพียงแต่ขออวยพรให้ทุก ๆ คนจงโชคดี แต่เขาก็มีคำแนะนำที่มีคุณค่ามากทิ้งไว้ให้ นั่นคือขอให้นักวิ่งมาราธอนทุกคนจงนึกถึง

ธงแดง (red flages) และ ธงเหลือง (yellow flages)
ทั้งธงแดงและธงเหลืองนี้ เขาหมายถึงความรู้สึกของนักวิ่งที่จะต้องเกิดรู้สึก และมองเห็นเอง คือเมื่อใดที่รู้สึกว่ามองเห็นธงแดง ก็จะต้องหยุด และเมื่อใดที่รู้สึกว่าเห็นธงเหลืองก็จะต้องระวังต้องเตรียมตัวใหม่ และต้องเปลี่ยนแปลงวิธีวิ่ง

บ๊อบ บอกว่านักวิ่งที่จะวิ่งได้โดยไม่เห็นธงแดง หรือผ่านธงแดงไปได้ จะต้องเป็นนักวิ่งที่มีการเตรียมตัวมาพร้อมจริง ๆ และเขาได้เน้นว่าการเตรียมตัวของนักวิ่งแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน นักวิ่งระดับโลกที่วิ่งมาราธอนด้วยเวลาเพียง 2 ชั่วโมง 7 นาที จะมีการเตรียมตัวที่แตกต่างกับนักวิ่งมาราธอนที่วิ่งด้วยเวลากว่า 4 ชั่วโมง

และเขาขอให้จำไว้ว่า ไม่ว่าจะวิ่งด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 7 นาที หรือวิ่งด้วยเวลากว่า 4 ชั่วโมงก็ตาม นักวิ่งมาราธอนทุกคนจะต้องวิ่งระยะทางที่ยาวเท่ากันทั้งสิ้น นั่นคือ 26.2 ไมล์ หรือ 42 กิโลเมตรเศษ

ถ้าต้องการทราบว่าท่านวิ่งแล้วจะเห็นธงแดงหรือไม่ ก็ลองพิจารณาภูมิหลังของตนเองว่าเข้าหลักทั้ง 8 ประการที่บ๊อบ โกลเวอร์ได้กำหนดไว้หรือไม่ นั่นคือ
1. ท่านจะต้องซ้อมวิ่งวันละไม่น้อยกว่า 30 นาที สัปดาห์ละ 3-6 วันติดต่อกันมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ก่อนที่ท่านจะลงมาวิ่งมาราธอนจริง ๆ ได้

2. ท่านจะต้องวิ่งได้ระยะทางรวมกันสัปดาห์ละ 15-20ไมล์ (24-32 ก.ม.) อย่างน้อยเป็นเวลา 4-6 เดือนก่อนที่จะลงวิ่งมาราธอน ระยะเท่านี้ถือว่าน้อยที่สุดที่จะเป็นฐานของผู้ที่จะวิ่งมาราธอนต่อไป

3. จากฐานในข้อ 2 ท่านจะต้องค่อยๆเพิ่มระยะทางที่วิ่งเป็นสัปดาห์ละ 35-40 ไมล์ (56-64 ก.ม. แต่ไม่จำเป็นต้องวิ่งเกินสัปดาห์ละ 50 ไมล์หรือ 80 ก.ม.) เป็นเวลาอย่างน้อย 6-8 สัปดาห์ก่อนลงวิ่งมาราธอน และหากว่าใน 6-8 สัปดาห์นี้ท่านเกิดมีมีอันเป็นวิ่งไม่ได้ก็จะต้องทดแทนด้วยการว่ายน้ำ หรือขี่จักรยานด้วยความหนักที่เท่าเทียมกัน

4. ท่านจะต้องวิ่งได้รวดเดียวเป็นระยะทางอย่างน้อย 15 ไมล์ หรือ 24 กิโลเมตร ในช่วงก่อนลงแข่งขัน 2-3 เดือน

5. ควรได้ทดสอบตัวเองด้วยการลงวิ่งแข่งระยะทาง 10 กิโลเมตร (10K.) อย่างน้อยสัก 2 ครั้งก่อนที่จะลงวิ่งแข่งมาราธอนเป็นครั้งแรก

6. มาราธอนนั้นเป็นกีฬาสำหรับผู้ใหญ่ ดังนั้นเด็กหรือผู้ที่อายุต่ำกว่า 16 ปีจึงไม่ควรที่จะลงมาวิ่งมาราธอนอย่างเด็ดขาด ผู้ที่มีอายุ 18-21 ปีน่าจะถือว่าอายุน้อยที่สุด ในบอสตันมาราธอนจะห้ามผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงวิ่งด้วย

7. ในระหว่างที่ทำการฝึกซ้อมนี้ หากเกิดมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย จะต้องหยุดพักให้หายสนิทจริงๆเสียก่อน การฝืนลงวิ่งระยะทางมากๆในขณะที่ร่างกายไม่สมบูรณ์เต็มที่นั้นจะเป็นผลเสียต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก

8. เช่นเดียวกับการเจ็บไข้ได้ป่วย หากท่านได้รับการบาดเจ็บจากการฝึกซ้อม เช่น เจ็บข้อเท้าหรือปวดข้อเข่า จะต้องหยุดพัก หรือถ้าจำเป็นก็ต้องรับการรักษาอย่างถูกต้อง เพราะการบาดเจ็บในตอนแรกๆอาจดูไม่รุนแรง แต่ถ้ายังฝืนวิ่งต่อไป เรื่องเล็กก็อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่และแทนที่จะหยุดพักเพียง 5 วัน 7 วัน ก็อาจต้องหยุดเป็นเดือน หรืออาจต้องเข้าโรงพยาบาลก็ได้

บ๊อบ โกลเวอร์ แนะนำว่านักวิ่งทั้งหลายจะต้องคอยเปิดตาดู และเชื่อฟังสัญญาณของธงแดงอยู่เสมอ หากมีเกิดขึ้นแล้วก็จะต้องหยุด จนกว่าร่างกายจะพร้อมเมื่อใดจึงวิ่งต่อไป การวิ่งภายหลังการบาดเจ็บนั้นจะต้องเริ่มด้วยความระมัดระวัง และห้ามคิดบัญชีย้อนหลัง เช่น ถ้าหยุดไป 7 วัน ก็จะวิ่งชดเชยเพิ่มอีก 7 วัน เพราะจะหนักมากเกินไปแล้วก็จะบาดเจ็บอีก หากพบว่าเหลือบ่ากว่าแรงจริงๆ หรือไปไม่ไหวก็ควรจะยอม และคอยการวิ่งในครั้งต่อไปจะดีกว่า

เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของนักวิ่งในเรื่องนี้ และป้องกันอันตรายที่อาจเกิดรุนแรงต่อไปได้ ผู้ที่จัดการวิ่งมาราธอนในสหรัฐอเมริกาหลายแห่ง เช่น ของนิวยอร์ก ซิตี้ มาราธอนจึงวางระเบียบไว้ว่า ผู้ที่สมัครลงวิ่งไว้แล้ว แต่เกิดบาดเจ็บหรือป่วยไข้ก่อนการแข่งขัน ก็มีสิทธิที่จะคืนเบอร์และขอลงวิ่งในครั้งต่อไปได้โดยไม่ต้องเสียค่าสมัครใหม่ ข่าวว่าในการแข่งขัน นิวยอร์ก ซิตี้ มาราธอนเมื่อปี พ.ศ.2527 นั้น มีผู้ถอนตัวเพราะไม่พร้อมถึง 1,000 คน จากจำนวนผู้ที่ลงชื่อสมัครไว้ 16,000 คน

คราวนี้ลองมาดูเรื่องของ ธงเหลือง ดูบ้าง สัญญาณของธงเหลืองนั้นเมื่อเกิดขึ้นท่านไม่ต้องหยุดโดยเด็ดขาดอย่างธงแดง เพียงแต่ต้องเปลี่ยนแปลงในรายละเอียด หรือวิธีการของการวิ่งต่อไปเท่านั้น เรื่องของธงเหลืองนี้ บ๊อบ โกลเวอร์ แนะนำว่า

ถ้าท่านเกิดความรู้สึกว่า ไม่สามารถวิ่งรวดเดียวได้เกิน 5 ไมล์ หรือ 8 กิโลเมตร (แสดงว่าสัญญาณธงเหลืองเริ่มแล้ว) อย่าฝืนวิ่งต่อไป แต่ให้เปลี่ยนมาเป็นเดินเร็ว ๆ แทนสัก 5-10 นาที เมื่อเหนื่อยน้อยลงแล้วจึงวิ่งต่อไป ข้อสำคัญอย่าเผลอไปฝืนวิ่งจนวิ่งไปไม่ไหวแล้วจึงเปลี่ยนมาเป็นเดิน เพราะถึงขั้นนั้นแล้ว แม้การเดินก็อาจเดินต่อไปไม่ไหว ควรต้องรู้กำลังของตนเองและเริ่มใช้การเดินเร็ว ๆ มาสลับวิ่งเสียแต่เนิ่น ๆ ท่านจะไปได้ตลอดรอดฝั่ง อย่ากลัวว่าจะเสียเหลี่ยม หรือเสียศักดิ์ศรี

การเดินสลับวิ่งนั้นไม่เป็นการผิดกติกาแต่อย่างไร แม้จะเสียเวลามากกว่า แต่ก็จะทำให้เข้าเส้นชัยได้อย่างปลอดภัย และดีกว่าการถูกหามเข้าโรงพยาบาลก่อนถึงเส้นชัยเป็นไหน ๆ นักวิ่งที่พิการนั้น บางครั้งใช้เวลาเดินบ้าง วิ่งบ้างนานนับสิบชั่วโมงก็ยังมี และได้รับเสียงเชียร์อย่างล้นหลามด้วย

ครับ นั่นก็เป็นคำแนะนำที่ บ๊อบ โกลเวอร์ นักวิ่งชื่อดังได้กล่าวไว้เมื่อปลายปี พ.ศ.2529 ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ายังใช้ได้เป็นอย่างดีสำหรับนักวิ่งมาราธอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิ่งหน้าใหม่ทั้งหลาย ผู้เขียนขออวยพรให้ท่านวิ่งเข้าถึงเส้นชัยอย่างปลอดภัยทุก ๆ คน

การวิ่งลอยฟ้าเฉลิมพระเกียรติในครั้งนี้ นอกจากท่านจะได้พิสูจน์ความสามารถและความทนทานของท่านแล้ว ท่านยังจะได้บุญได้กุศลในการช่วยสร้างตึกสยามมินทร์ให้กับโรงพยาบาลศิริราชด้วย สำหรับท่านที่รู้สึกว่าเห็นแต่ ธงแดง ปลิวไสวและคิดว่าไม่พร้อมสำหรับการวิ่งมาราธอน ท่านก็อาจขอวิ่งแค่ครึ่งมาราธอน หรือจะเอาแค่มินิมาราธอนก็ได้บุญเหมือนกันนั่นแหละ

ทำบุญอะไรก็ไม่ได้บุญแรงเท่ากับทำบุญให้กับโรงพยาบาลนะครับ
 

ข้อมูลสื่อ

102-026
นิตยสารหมอชาวบ้าน 102
ตุลาคม 2530
อื่น ๆ
รศ.นพ.ดำรง กิจกุศล