• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกาย( ตอนที่ 10 )

การตรวจร่างกาย( ตอนที่ 10 )

 

ข. การตรวจสิ่งแสดงชีพ
นอกจากการตรวจร่างกายทั่วไปดังที่ได้กล่าวไว้ในภาค ก. ซึ่งรวมถึงการตรวจกิริยาท่าทาง รูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ กลิ่นเสียง อารมณ์ บุคลิก ความอ้วน ผอม ความรู้สึกตัว (หมดสติ ซึมเซา ง่วงเหงา กระปรี้กระเปร่า) ความแข็งแรง ความกระสับกระส่าย ความกระวนกระวาย ความทุรนทุราย หรืออื่น ๆ แล้วการตรวจร่างกายยังต้องตรวจสิ่งแสดงชีพ และตรวจตามระบบด้วย,

การตรวจสิ่งแสดงชีพ คือ การตรวจ
1. ชีพจร
ชีพจรหมายถึงการเต้นของหลอดเลือดแดง ซึ่งจะคลำได้ในจุดที่หลอดเลือดแดงอยู่ ไม่ลึกจากผิวหนังมากนัก เช่น ที่ข้อมือ ขับพับของข้อศอก คอ ขาหนีบ เป็นต้น ถ้าหลอดเลือดแดงอยู่ใกล้ผิวหนังมาก อาจจะเห็นการเต้นของหลอดเลือดแดงด้วยตาเปล่าได้

2. การหายใจ
ซึ่งดูได้จากการเคลื่อนไหวจองทรวงอกและหน้าท้อง ในคนที่หายใจเบาและสั้นมาก อาจจะต้องใช้เศษผ้าหรือสำลีไปจ่อไว้ที่รูจมูกของคนไข้ เพื่อดูการหายใจ เพราะทรวงอกและหน้าท้องอาจจะไม่เคลื่อนไหว จนมองเห็นได้

3. อุณหภูมิ
หรือความร้อน เย็นของร่างกาย ซึ่งตรวจได้ง่าย ๆ โดยการใช้ฝ่ามือหรือหลังมือแตะที่หน้าผาก ซอกคอ รักแร้ หรือฝ่ามือฝ่าเท้าของคนไข้ แต่ถ้าต้องการตรวจให้ละเอียดขึ้น ก็ต้องใช้ “ปรอท” หรือเทอร์โมมิเตอร์ (thermometer) เพื่อที่จะวัดความร้อน เย็น หรืออุณหภูมิของร่างกายได้ละเอียดถูกต้องมากขึ้น

4. ความดันเลือด
หรือความดันโลหิต คือความแรงที่เลือดในหลอดเลือดแดงไหลไปเลี้ยงร่างกาย ซึ่งตรวจได้ง่ายๆ โดยการจับชีพจร และคลำดูความแรงของชีพจร ถ้าแรงมาก ความดันเลือดก็สูงมาก ถ้าเบามาก ความดันเลือดก็ต่ำมาก แต่ถ้าต้องการตรวจให้แน่นอนถูกต้อง ก็ต้องใช้เครื่องวัดความดันเลือด (sphygmomanometer)

ชีพจร การหายใจ อุณหภูมิของร่างกาย และความดันเลือด ล้วนเป็นสิ่งที่บ่งแสดงถึงสภาพของชีวิต หรือภาวการณ์ทำงานของร่างกายโดยทั่วไป จึงเรียกสิ่งที่บ่งแสดงทั้ง 4 สิ่งนี้ว่า สิ่งแสดงชีพ หรือ สัญญาณชีวิต (vital signs)
การตรวจสิ่งแสดงชีพ หรือสัญญาณชีวิตจนชำนาญ จะช่วยให้การวินิจฉัยโรคเป็นไปได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้น
 

วิธีตรวจสิ่งแสดงชีพและความหมาย
1.ชีพจร (arterial pulse)
วิธีตรวจ : การตรวจชีพจรโดยทั่วไปใช้การคลำ โดยใช้ปลายนิ้วชี้ และนิ้วกลางเป็นหลัก (อาจจะใช้ปลายนิ้วมืออื่นก็ได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว ปลายนิ้วชี้และนิ้วกลางจะเป็นส่วนที่รับความรู้สึกได้ดีกว่าปลายนิ้วอื่น จึงควรใช้ปลายนิ้วชี้และนิ้วกลางมากกว่าปลายนิ้วอื่นๆ)
โดยทั่วไป จุดที่ใช้คลำชีพจรคือ ที่ข้อมือเหนือโคนของนิ้วหัวแม่มือ แต่อาจจะคลำชีพจรได้ในจุดอื่นๆ ตรงที่หลอดเลือดแดงอยู่ไม่ลึกจากผิวหนังนัก เช่น ที่ข้อพับของข้อศอก ที่คอ หน้าหู (ในระดับหางตา) ขมับ ขาหนีบ ข้อพับของข้อเข่า ในตาตุ่มใน เป็นต้น (ดูรูปที่ 1)

อย่างไรก็ตาม ควรจะฝึกคลำชีพจรที่ข้อมือเพียงแห่งเดียวจนชำนาญก่อน แล้วจึงจะฝึกคลำชีพจรที่จุดอื่น

วิธีตรวจชีพจรที่ข้อมือ
คนไข้อาจจะอยู่ในท่านอนหรือท่านั่งก็ได้ ถ้าคนไข้ไม่เจ็บหนักหรืออยู่ในภาวะฉุกเฉิน ควรจะให้คนไข้นั่งพักหรือนอนพักจนหายเหนื่อย หรือหายตื่นเต้น ตกใจ หรือกลัว (เช่น กลัวหมอ กลัวสถานที่) เสียก่อน แล้วจึงตรวจผู้ตรวจควรอยู่ทางด้านขวาของคนไข้ (ถ้าผู้ตรวจถนัดขวา)

ถ้าคนไข้นอนอยู่
บนเตียงสูง ผู้ตรวจก็ยืนตรวจ ถ้าคนไข้นอนอยู่บนเตียงต่ำ ผู้ตรวจก็นั่งเก้าอี้ข้างเตียงคนไข้ แต่ถ้าคนไข้นอนอยู่บนพื้นบ้าน ผู้ตรวจก็นั่งลงบนพื้นบ้านข้าง ๆ คนไข้
ถ้าคนไข้นั่งอยู่ ควรจะมีโต๊ะตั้งอยู่ระหว่างคนไข้กับผู้ตรวจ แล้วให้คนไข้วางแขนบนโต๊ะในท่าที่คนไข้สบายที่สุด โดยให้แขนตั้งแต่ส่วนข้อศอกลงมาวางหงายอยู่บนโต๊ะ (อาจใช้ผ้าหนาๆ หรือหมอนเล็กๆ บางๆ วางรองรับส่วนข้อมือและมือของคนไข้ด้วยก็ได้)
ผู้ตรวจวางปลายนิ้วชี้และนิ้วกลางลงตรงข้อมือเหนือโคนนิ้วหัวแม่มือ (เหนือ “ฐานศุกร์”) ของคนไข้ (ดูรูปที่ 2) จนคลำได้การเต้น (ตุบๆ ) ของหลอดเลือดแดง ให้วางปลายนิ้วชี้และนิ้วกลาง (หรืออาจใช้นิ้วนางด้วย) ในลักษณะที่ปลายนิ้วทุกปลายคลำชีพจรได้หมด ซึ่งจะทำให้ปลายนิ้ววางอยู่ตามแนวของหลอดเลือดแดงที่ข้อมือ

ควรจะจัดท่ามือและแขนของผู้ตรวจกับของคนไข้ ให้สัมพันธ์สอดคล้องกันจนคนไข้สามารถวางแขนได้อย่างสบาย และผู้ตรวจก็สามารถคลำชีพจรได้อย่างสะดวก ไม่ใช่ว่าต้องมีการบิดแขนบิดมือ หรืออยู่ในท่าที่ไม่สะดวกสบายในขณะตรวจชีพจรนั้น

ท่าที่สะดวก คือ ท่าที่แขนของคนไข้ ข้างที่จะตรวจชีพจรนั้นวางแขนขนานกับแนวไหล่ (เส้นลากจากไหล่หนึ่งไปอีกไหล่หนึ่ง) ของผู้ตรวจซึ่งจะทำให้แนวแขนของคนไข้ตั้งฉากกับแนวแขนของผู้ตรวจ
เมื่อวางท่าได้ถูกต้องและสะดวกแล้ว การคลำชีพจรก็ไม่ใช่ของยากอะไร นอกจากในบางคน (น้อยมาก) อาจจะคลำชีพจรที่ข้อมือเหนือโคนนิ้วหัวแม่มือไม่ได้ แต่ไปใต้ในบริเวณข้อมือด้านนิ้วก้อย (เหนือ “ฐานจันทร์”) หรือในบางคน (น้อยมาก ๆ) อาจจะคลำชีพจรที่ข้อมือไม่ได้เลย ในกรณีเช่นนี้ ก็ต้องคลำชีพจรที่ข้อมืออีกข้างหนึ่ง หรือคลำชีพจรในตำแหน่งอื่นแทน

วิธีตรวจชีพจรในตำแหน่งอื่น ก็คล้ายคลึงคลึงกับการตรวจชีพจรที่ข้อมือ ให้วางปลายนิ้วชี้และนิ้วกลาง (อาจใช้ปลายนิ้วนางด้วย) วางลงตามแนวหลอดเลือดแดงส่วนที่จะคลำชีพจรได้ (ดูรูปที่ 1) แล้วคลำชีพจรนั้น ในบางคนที่ความดันเลือดสูงมากหรือแรงชีพจร (pulse pressure) กว้างมากหรือผนังหลอดเลือดแข็ง อาจจะเห็นการเต้นตุบๆ ของหลอดเลือดแดงได้ เช่น ที่ข้อพับของข้อศอก หรือที่คอ เป็นต้น
 

ความหมายของชีพจร : การตรวจชีพจรทำให้ได้สิ่งต่อไปนี้
1.1 อัตราเต้นของชีพจร (arterial pulse rate)
ซึ่งโดยทั่วไปจะเท่ากับอัตราการเต้นของหัวใจ (heart rate) ในคนปกติ เราจะรู้อัตราเต้นของชีพจรได้โดยนับดูว่าในหนึ่งนาทีชีพจรเต้นกี่ตุบ จำนวนตุบที่นับได้ในหนึ่งนาที ก็คืออัตราเต้นของชีพจรนั่นเอง
ในคนปกติ ในขณะนั่งพักหรือนอนอยู่ ชีพจรจะเต้นประมาณ 60 ถึง 100 ครั้งต่อนาที ในเด็ก ชีพจรจะเต้นเร็วกว่าในผู้ใหญ่ และอาจเต้นถึงนาทีละ 120-130 ครั้ง โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ
แต่ในคนรูปร่างใหญ่โต หรือนักกีฬา หรือคนที่ทำงานหนักเป็นประจำ ชีพจรอาจจะเต้นช้ากว่า 60 ครั้งต่อนาที และอาจจะเต้นเพียง 40-50 ครั้งต่อนาทีได้
ในทำนองคล้ายกัน คนปกติที่กำลังตื่นเต้น ตกใจ กลัว โกรธ หรืออกกำลัง ชีพจรจะเต้นเกิน 100 ครั้งต่อนาทีได้โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่รบกวนร่างกายมากๆ เช่น มีไข้สูง ตกเลือด ท้องร่วงรุนแรง โรคคอพอกเป็นพิษ ก็จะทำให้ชีพจรเต้นเกิน 100 ครั้งต่อนาทีได้

หรือโรคภัยไข้เจ็บที่ไปกระทบกระเทือนหัวใจ เช่น โรคคอตีบที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคไข้รากสาดน้อย (โรคทัยฟอยด์) อาจจะทำให้ชีพจรเต้นช้าลงอย่างมากๆ ได้ เป็นต้น
อัตราการเต้นของชีพจรจึงช่วยให้เราทราบสภาวะการทำงานของหัวใจ ซึ่งอาจเกิดจากความปกติหรือความผิดปกติของหัวใจโดยตรง หรือสืบเนื่องมาจากความผิดปกติของร่างกายส่วนอื่น แต่มากระทบกระเทือนถูกหัวใจด้วย

1.2 ความสม่ำเสมอของชีพจร (regularity of arterial pulse)
ในคนปกติส่วนใหญ่ หัวใจจะเต้น (จะบีบตัวหรือหดตัว) เป็นจังหวะสม่ำเสมอ เช่น ในนาทีนี้หัวใจเต้น 70 ครั้ง ในนาทีต่อๆ ไป หัวใจก็จะเต้น 70 ครั้งเช่นเดียวกัน นอกจากจะมีเหตุการณ์ อะไรมาทำให้ตื่นเต้น ตกใจ เครียด หัวใจก็อาจจะเต้นเร็วขึ้น แต่ก็ยังคงเป็นจังหวะสม่ำเสมอกัน
ดังนั้น ชีพจรที่คลำได้ จะเต้นเป็นจังหวะสม่ำเสมอเช่นเดียวกัน นั่นคือ ช่วงระยะระหว่างชีพจรเต้นจะเท่ากันซึ่งอาจจะเขียนเป็นจังหวะได้ดังนี้
ตุบ....ตุบ....ตุบ....ตุบ....ตุบ....ตุบ

ถ้าชีพจรเต้นเร็วขึ้น ก็จะคลำได้
ตุบ..ตุบ..ตุบ..ตุบ..ตุบ..ตุบ..ตุบ..ตุบ..ตุบ

ถ้าชีพจรเต้นช้าลงก็จะคลำได้
ตุบ......ตุบ......ตุบ......ตุบ......ตุบ

ในคนปกติบางคน ชีพจรอาจจะเต้นไม่สม่ำเสมอโดยชีพจรบางตุบจะหายไป คือ
ตุบ....ตุบ....ตุบ....ตุบ............ตุบ....ตุบ ถ้าคลำได้ชีพจรหายวาบไปเป็นบางตุบแบบนี้ ส่วนใหญ่เกิดจาก หัวใจห้องล่างเต้นก่อน หรือเต้นเกิน (Ventricular premature beat หรือ Ventricular ectopic)
นั่นคือ หัวใจห้องบนยังไม่ทันเต้น หัวใจห้องล่างแย่งเต้นเสียก่อน จึงมีเลือดออกจากหัวใจน้อย ทำให้ไม่มีเลือดวิ่งมาตามหลอดเลือดพอที่จะทำให้ชีพจรเต้นจนคลำได้



รูปที่ 3 หัวใจแบ่งเป็น 4ห้อง

ห้องที่ 1   ห้องบนขวา รับเลือดจากร่างกาย

ห้องที่ 2   ห้องล่างขวา ส่งเลือดไปปอด

ห้องที่ 3   ห้องบนซ้าย  รัลเลือดจากปอด

ห้องที่ 4  ห้องล่างซ้าย ส่งเลือไปเลี้ยงร่างกาย และ
                เป็นห้องที่ทำให้หลอดเลือดแดงเต้นจนคลำ
                ชีพจรได้



(ตามปกติ หัวใจแบ่งเป็น 4 ห้อง ข้างบน 2 ห้อง ข้างล่าง 2 ห้อง หัวใจห้องบนจะรับเลือดที่ไหลกลับมาจากร่างกายส่วนต่างๆ และจากปอด แล้วหัวใจห้องบนจะเต้น (จะบีบตัว) ก่อน เพื่อส่งเลือดเข้าสู่หัวใจห้องล่าง แล้วหัวใจห้องล่างจึงจะเต้น (จะบีบตัว) ส่งเลือดไปเลี้ยงปอดและร่างกาย (ดูรูปที่ 3) หัวใจห้องบนจึงต้องเต้นก่อนหัวใจห้องล่าง (ดูรายละเอียดในหมอชาวบ้าน ประจำเดือนมิถุนายน 2522 และเมษายน 2523) ถ้าเมื่อใดหัวใจห้องล่างเต้นก่อนหัวใจห้องบน หัวใจห้องล่างซึ่งยังไม่ได้รับเลือดจากหัวใจห้องบน จึงมีเลือดอยู่น้อย และบีบตัวให้เลือดออกจากหัวใจได้น้อย)
ในบางครั้ง ชีพจรที่หายวาบไปเป็นตุบ อาจจะเกิดขึ้นเพราะความผิดปกติที่หัวใจ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
วิธีแยกง่าย ๆ ว่า ชีพจรที่หายวาบไปเป็นบางตุบเป็นครั้งคราวนั้น เกิดขึ้นตามปกติ หรือเกิดขึ้นเพราะหัวใจผิดปกติคือ
ให้คนไข้ออกกำลังสักเล็กน้อย พอให้หัวใจ (ชีพจร) เต้นเร็วขึ้นจากเดิมประมาณ 10-20 ครั้งต่อนาที เมื่อชีพจรเต้นเร็วขึ้นแล้ว ถ้าชีพจรเต้นเป็นจังหวะสม่ำเสมอโดยตลอด หรือจำนวนตุบที่หายวาบไปลดลง ก็แสดงว่าหัวใจปกติดี แต่ถ้าจำนวนตุบที่หายวาบไปเพิ่มขึ้น ก็อาจจะแสดงว่าหัวใจผิดปกติได้
ในบางครั้ง ชีพจรอาจจะเต้นเกินจนคลำได้ว่ามีตุบหนึ่งมาก่อนกำหนด ดังนี้

ตุบ......ตุบ......ตุบ..ตุบ......ตุบ......ตุบ ลักษณะแบบนี้ มักเกิดจากหัวใจห้องบนเต้นก่อนหรือเต้นเกิน (atrial premature beat หรือ atrial ectopic)

อาจใช้วิธีออกกำลัง เล็กน้อยเพื่อแยกว่ามันเกิดขึ้นจากหัวใจปกติหรือผิดปกติ เช่นเดียวกับภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเกินได้
ในบางคน ชีพจรอาจจะเต้นถี่บ้าง ห่างบ้างตามการหายใจเข้าออก ซึ่งถือว่าเป็น ลักษณะปกติของบางคน
ในบางคน ชีพจรจะเต้นไม่สม่ำเสมอโดยตลอด ถี่บ้างห่างบ้าง แรงบ้างค่อยบ้าง ตะลุบตุ้บตั้บไปหมด ภาวะเช่นนี้เกิดจากหัวใจผิดปกติ หรือเกิดจากร่างกายส่วนอื่นผิดปกติ เช่น โรคคอพอกเป็นพิษที่ไปกระทบกระเทือนหัวใจ เป็นต้น
จังหวะ หรือความสม่ำเสมอของชีพจร จึงช่วยให้ทราบถึงความปกติและความผิดปกติของหัวใจ และของร่างกายส่วนอื่นได้

1.3 ความแรงของชีพจร (tension of arterial pulse)
ในขณะที่คลำชีพจรอยู่ จะคลำความแรงของชีพจรได้ด้วย โดยให้กดปลายนิ้วที่อยู่ไกลฝ่ามือมากกว่าปลายนิ้วอื่นที่กำลังคลำชีพจรอยู่ด้วยกัน ลงบนหลอดเลือดที่เต้นตุบๆ จนปลายนิ้วที่อยู่ใกล้ฝ่ามือ คลำชีพจรไม่ได้ แรงกดของปลายนิ้วจะเท่ากับแรงดันเลือดตัวบน (systolic blood pressure)

และในระหว่างที่ชีพจรไม่เต้น ให้คลำดูแรงดันภายในหลอดเลือดด้วย ถ้าหลอดเลือดเป็นลำที่ตึงแข็งมากแสดงว่าแรงดันในหลอดเลือด (ในขณะที่หัวใจไม่เต้น) สูง แต่ถ้าหลอดเลือดในขณะที่หัวใจไม่เต้นคลำได้หย่อนหรือไม่ตึงเลย แสดงว่าแรงดันในหลอดเลือดต่ำ แรงดันของชีพจรในขณะที่หัวใจ (ชีพจร) ไม่เต้นนี้คือ แรงดันเลือดตัวล่าง (diastolic blood pressure)
ถ้าหัดคลำความแรงของชีพจรทดสอบกับเครื่องวัดความดันเลือดบ่อยๆ จนชำนาญ อาจจะทำให้สามารถบอกแรงดันเลือดทั้งตัวบนตัวล่างอย่างคร่าวๆ ได้ แต่ในคนที่หลอดเลือดแข็ง เช่น ในคนอายุมาก การบอกแรงดันเลือดด้วยการคลำชีพจร อาจจะทำให้ผิดพลาดได้อย่างมากๆ
การบอกแรงดันเลือดด้วยการคลำชีพจรเพียงอย่างเดียวจึงไม่ควรใช้ในกรณีที่ต้องการความถูกต้องแน่นอน หรือความละเอียดถี่ถ้วน
อย่างไรก็ตาม การคลำความแรงของชีพจรจะช่วยใช้บอกแรงดันชีพจร (pulse pressure) ได้ดีพอสมควร พอที่จะบอกอย่างกว้างๆ ว่า แรงดันชีพจรนี้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือกว้างกว่าปกติมากหรือแคบกว่าปกติมาก

แรงดันชีพจร คือ ความแตกต่างระหว่างแรงดันเลือดตัวบนกับแรงดันเลือดตัวล่าง เช่น ถ้าแรงดันเลือดเท่ากับ 80/50 แรงดันชีพจรก็จะเท่ากับ 80-50=30 หรือถ้าแรงดันเลือดเท่ากับ 140/90 แรงดันชีพจรก็จะเท่ากับ 140-90=50 มิลลิเมตรปรอท

แรงดันชีพจรในคนปกติที่กำลังนั่งพักนอนพักอยู่จึงมีค่าอยู่ระหว่าง 30-50 มิลลิเมตรปรอท
ถ้าแรงดันชีพจรกว้างมาก ๆ เช่น มากกว่า 70-80 มิลลิเมตรปรอท เวลาคลำชีพจรจะรู้สึกว่าชีพจรเต้นแรงมาก จนคลำได้ชัดเจนกว่าปกติ

ชีพจรที่เต้นจนคลำได้ชัดเจนกว่าปกติ จะพบในคนที่ซีด (เลือดจาง) มากๆ โรคคอพอกเป็นพิษ โรคหัวใจแต่กำเนิดแบบเป็นหลอดเลือดเชื่อมไม่ปิด (patentductus arteriesusหรือ P.D.A.) โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติครั่ว คนที่มีไข้สูง คนที่ออกกำลัง หญิงที่ตั้งครรภ์แก่ เป็นต้น

ถ้าแรงดันชีพจรแคบมาก ๆ
เช่น ต่ำกว่า 20 มิลลิเมตรปรอท เวลาคลำชีพจร จะรู้สึกว่าชีพจรเต้นแผ่วเบามากจนคลำได้ยาก หรือ คลำไม่ได้เลย
ชีพจรที่เต้นจนคลำได้ยากนี้ จะพบในคนปกติบางคน ในคนที่กำลังช็อค (ช็อคในที่นี้ไม่ได้หมายถึงคนที่กำลังตื่นเต้น ตกใจ หรือมีอารมณ์รุนแรง แต่หมายถึงภาวะที่เลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่พอเพียง เพราะฉะนั้น คนไข้จะมีอาการหน้าซีด มือเท้าเย็น มีเหงื่อเย็น ๆ ออกตามหน้าและแขนขา ความรู้สึกตัวลดลง และหายใจเร็วด้วย) ในโรคเรื้อรังที่ทำให้ซูบผอม อ่อนเพลียมาก ๆ ในโรคลิ้นหัวใจ เอออร์ติคตีบ ในโรคที่หัวใจถูกบีบอัดด้วยน้ำ หนอง เลือด หรือพังผืดของเยื่อหุ้มหัวใจ หรืออื่น ๆ
การคลำดูความแรงของชีพจรจึงช่วยบอกถึงความปกติและความผิดปกติของหัวใจ ของแรงดันเลือดและของแรงดันชีพจรได้





1.4 รูปลักษณะของชีพจร (wave form of arterial pulse)
ชีพจรที่เต้นตามปกติ จะคลำได้เป็นลักษณะการเต้นตุบ ๆ แบบสะบัด ๆ ซึ่งถ้าเขียนเป็นรูปก็จะมี

ลักษณะขึ้นเร็ว แล้วค่อย ๆ ร่วงลงเหมือนยิงหนังสะติ๊กขึ้นไปบนฟ้า แล้วค่อย ๆ ร่วงลง (ดูรูปที่ 4 ก.)
 

ชีพจรที่คลำดูแล้ว ขึ้นช้า ลงช้า (tardy pulse) มักแสดงว่าเป็นโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติคตีบ (ดูรูปที่ 4 ข.)
 

ชีพจรที่คลำได้เป็น 2 ตุบ ติด ๆ กัน หรือที่เรียกว่าชีพจรหัวแตก (bisferiens pulse) หรือชีพจรแยก (dicrotic pulse) แจพบได้ในคนที่เป็นโรคลิ้นหัวใจผิดปกติเป็นต้น (ดูรูปที่ 4 ค. และ ง.)
 

ชีพจรที่คลำแล้วได้แรง ครั้งค่อยครั้งสลับกันไป หรือที่เรียกว่า ชีพจรสลับ (pulsus alternans) แสดงว่า คนไข้กำลังเจ็บหนัก ต้องรีบช่วยเหลือ มิฉะนั้นคนไข้อาจตายได้ (ดูรูปที่ 4 จ.)

1.5 ลักษณะของผนังหลอดเลือด (condition of arterial wall)
ผนังหลอดเลือดปกติจะเรียบ นุ่ม กดไม่เจ็บ และคลำผนังได้ไม่ถนัด
ถ้าเมื่อใด ผนังหลอดเลือดที่คลำชีพจรมีลักษณะแข็งกว่าปกติ จะแสดงว่า หลอดเลือดแข็ง ซึ่งมักหมายความว่ามีภาวะหลอดเลือดแข็งในที่อื่น ๆ ของร่างกายด้วย
ถ้าคลำชีพจรที่ใด แล้วคนไข้เจ็บเฉพาะที่หลอดเลือดนั้น แสดงว่า ผนังหลอดเลือดอักเสบ ซึ่งส่วนใหญ่พบในโรคภูมิแพ้บางชนิด
ในคนที่หลอดเลือดที่แข็ง หรือ แรงดันเลือดสูงมาก หรือ แรงดันชีพจรกว้างมาก อาจจะสังเกตเห็นการเต้นของชีพจรที่คอที่ข้อพับข้อศอก ที่ใต้ตาตุ่มใน หรือ ที่อื่นได้อย่างชัดเจน
ดังนั้น การเห็นชีพจรได้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องคลำ มักแสดงถึงภาวะผิดปกติ


การพยายามฝึกสังเกต และคลำชีพจรให้ชำนาญจึงช่วยให้สามารถวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ได้ถูกต้องและรวดเร็วขึ้น อย่างน้อยก็ควรฝึกจนสามารถนับอัตราเต้นของชีพจร และดูความสม่ำเสมอของชีพจรได้อย่างชำนาญ ก็จะมีความสามารถเท่ากับ ความสามารถในการคลำชีพจรของนายแพทย์ส่วนใหญ่แล้ว

 

ข้อมูลสื่อ

16-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 16
สิงหาคม 2523
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์