• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการปวดข้อ (ต่อ)

ดังได้กล่าวไว้ในฉบับที่แล้วว่าอาการปวดข้อไหล่ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการอักเสบที่ข้อโดยตรง ที่พบบ่อยนั้น มักเกิดจากการอักเสบที่ส่วนต่างๆดังต่อไปนี้คือ

1.1 เอ็นอักเสบ (tendinitis) และเบาน้ำอักเสบ (bursitis) ซึ่งถ้าเป็นมากและเป็นอยู่นานๆจะเกิดหินปูนเกาะในบริเวณที่อักเสบ ซึ่งจะทำให้เห็นได้ในภาพรังสี หรือเอกซเรย์ของข้อไหล่

โรคกลุ่มนี้มักจะเป็นในชายและหญิงวัยกลางคน พบบ่อยที่สุดระหว่างอายุ 40-45 ปี และมักเป็นในข้างที่ถนัด เช่น ถ้าถนัดขวา ก็มักจะเป็นที่ไหล่ขวา

อาการเจ็บปวดมักจะเกิดขึ้นทันที และมักจะเสียวร้าวไปที่ต้นคอ ต้นแขนส่วนบน หรือร้าวลงมาตามลำแขน

มักจะปวดตอนกลางคืน มักจะปวดมากโดยเฉพาะเวลาใช้แขนเช่น เวลาใส่เสื้อ หวีผม เอามือไขว้หลัง หรือเวลาล้วงกระเป๋าหลัง

ถ้าเป็นอยู่นานๆอาการปวดมากจะทุเลาลง แต่จะมีอาการใช้แขนไม่ค่อยสะดวก เพราะถ้าใช้ผิดท่าจะเจ็บ และอาจทำให้แขนข้างนั้นอ่อนแรงทันที

สาเหตุ : มักเกิดจากการใช้ไหล่ (ใช้แขน) ผิดท่า ยกน้ำหนักมากเกินไป ไหล่ถูกบิดหรืออื่นๆ

การรักษา
: เช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ข้างต้น ในระยะที่เป็นมากและเป็นทันที ควรพักไหล่(และแขนข้างนั้น) และใช้น้ำแข็งประคบ อาจฉีดสเตอรอยด์เข้าตรงจุดที่กดเจ็บที่สุด ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการได้อย่างรวดเร็ว (ภายใน 1 วัน) แต่ถึงไม่ฉีดยา เพียงแต่กินยาดังกล่าวข้างต้น อาการก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ
เมื่ออาการดีขึ้นให้ใช้ของร้อนประคบ และต้องหมั่นเคลื่อนไหวข้อไหล่ (ยกแขน แกว่งแขน หมุนเหวี่ยงแขนไปมาอย่างช้าๆ และสม่ำเสมอ โดยไม่ให้เกิดอาการเจ็บรุนแรง ห้ามยกของหนัก หรือใช้แขน (ไหล่) อย่างรุนแรงในขณะที่ยังเจ็บมาก)

การเคลื่อนไหวข้อไหล่ดังกล่าวเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอาการเอ็นและเบาะน้ำอักเสบได้ง่าย และในคนที่มีอาการเอ็นและเบาะน้ำอักเสบเรื้อรังจนหินปูนเกาะ การเคลื่อนไหวข้อไหล่ดังกล่าวจะค่อยๆละลายหินปูนที่เกาะไปได้ และทำให้อาการปวดและอาการข้อไหล่ติดดีขึ้น

1.2 เยื่อหุ้มข้ออักเสบติด
(adhesive capsulitis) ซึ่งถ้าเป็นมากและเป็นอยู่นาน จะทำให้ไหล่ติด หรือไหล่แข็ง (frozen shoulder) ทำให้ยกแขน เหวี่ยงแขน หรือใช้ไหล่ข้างนั้นไม่ได้หรือเกือบไม่ได้เลย

โรคนี้มักเป็นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 1 เท่าตัว มักเป็นในคนอายุมากกว่า 4o ปี และมักเป็นกับไหล่ข้างที่ไม่ถนัด เช่น ถ้าเป็นคนถนัดขวา มักเป็นกับไหล่ซ้าย

อาการเจ็บปวดเกิดขึ้นช้าๆ (ค่อยๆเกิด) แต่จะเป็นถี่ขึ้น และนานขึ้น จนปวดอยู่ตลอดเวลาและใช้ข้อไหล่ไม่ได้ แต่ไม่ปวดรุนแรงและกดไม่เจ็บ

มักจะปวดตอนกลางคืน ข้อไหล่จะยึดติด ทำให้ใส่เสื้อ หวีผม เอามือไขว้หลัง หรือล้วงประเป๋าหลังไม่ได้ แต่ไม่ปวดมากเวลาใช้ข้อไหล่ เพียงแต่ข้อไหล่จะฝืดและติด จนในที่สุดจะติดแข็ง
อาการเจ็บปวดจะค่อยๆลดลง แต่อาการไหล่ติดจะเป็นมากขึ้นๆ

สาเหตุ : มักเกิดจากการที่ไหล่ข้างนั้นไม่ได้ใช้อยู่นานๆ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความเจ็บปวดจากการบาดเจ็บ การผ่าตัด หรือเพราะใช้แขนข้างนั้นไม่ได้ จากการที่แขนข้างนั้นเป็นอัมพาต (ทำให้แขนข้างนั้นห้อยอยู่เฉยๆ และถ่วงข้อไหล่ จนเยื่อหุ้มข้อไหล่ยืด และอักเสบ ทำให้เกิดการยึดติด หรือเกิดอาการไหล่หลุดเรื้อรังได้) สาเหตุส่วนน้อยอาจเกิดจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) โรคข้อเสื่อม (osteoarthritis) เป็นต้น

การรักษา
: ต้องพยายามใช้ไหล่ข้างที่ติดให้มากขึ้นๆ โดยการบริหารไหล่ดังที่กล่าวไว้ ถ้ามีโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์อยู่จะต้องใช้ยาแก้ข้ออักเสบรูมาตอยด์ด้วย

                                     

ในกรณีที่ไหล่ติดแข็งใช้การไม่ได้และปวดตลอดเวลา อาจจะต้องพิจารณาการผ่าตัด แต่การผ่าตัดบริเวณข้อไหล่ หรือการผ่าตัดใช้ข้อไหล่เทียม ยังให้ผลไม่ดีนัก

1.3 เอ็นกล้ามเนื้องอแขนอักเสบ
(biceps tendonitis หรือ tensoynovitis) ถ้าเป็นมากจะทำให้งดใช้ไหล่ (แขน) ข้างนั้น และทำให้ไหล่ติดได้

โรคนี้มักเป็นในหญิงมากกว่าชาย และในคนที่อยู่ในวัยทำงาน หรือแก่กว่า

อาการเจ็บปวดอาจะเป็นทันที แต่โดยทั่วไปมักค่อยๆเกิด โดยปวดมากขึ้นๆ และใช้ไหล่ได้น้อยลงๆ อาการเจ็บปวดมักจะเสียวร้าวลงมายังแขนส่วนล่าง ถ้าเป็นเรื้อรัง อาการปวดอาจหายไป เหลือแต่อาการไหล่ติด (ใช้ไหล่ไม่ได้)

รู้ว่าเอ็นกล้ามเนื้องอแขนอักเสบเพราะจะกดเจ็บที่บริเวณที่เอ็นนี้ไปยึดติดกับกระดูกต้นแขน (ดูรูปที่ 1)

สาเหตุ : มักเกิดจากการใช้กล้ามเนื้องอแขนรุนแรง หรือหักโหมเกินไป เช่น การเล่นกล้าม การยกน้ำหนัก (ท่างอแขน) การเล่นบาร์คู่ บาร์เดี่ยว เป็นต้น

การรักษา
: เช่นเดียวกับข้อ 1.1

1.4 อาการไหล่แขนลีบ
(shoulder hand syndrome หรือ reflex dystrophy) ถ้าเป็นมากจะทำให้ไหล่ แขน และมืออ่อนแรง และกล้ามเนื้อลีบ

โรคนี้เกิดในผู้ชายพอๆกับผู้หญิง และมักเป็นในคนที่อายุมากกว่า 50 ปี
อาการเจ็บปวดมักค่อยๆเกิดขึ้น และค่อยๆรุนแรงขึ้น มักเป็นที่ข้อไหล่ ข้อที่มือ และข้อนิ้วมือ ข้ออาจจะบวมและเคลื่อนไหวได้จำกัด

ผิวหนังบริเวณข้อ ในระยะแรกอาจจะบวม แดงและชื้น (จากเหงื่อมาก) ในระยะต่อมา เนื้อเยื่อบริเวณมือจะลีบเล็กลง และนิ้วอาจจะแข็งอยู่ในท่างอ หรือกึ่งกำมือ (flexion contracture) และผิวหนังอาจลอกออก

สาเหตุ : อาจเกิดตามหลังการบาดเจ็บ เช่น ข้อมือหัก (colles’ fracture) กล้ามเนื้อหัวใจตาย (myocardial infarction) หลอดเลือดในสมองแตก ตีบหรือตัน (cerebrovascular accident) , กระดูกคอผิดปกติ หรืออื่นๆ

การรักษา :
ให้ประคบ นวด บริหาร (ออกกำลัง) ไหล่ แขน และมือ ป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อลีบ ให้ข้อต่างๆเคลื่อนไหวได้ดี อาจต้องให้ยาแก้ข้ออักเสบ และถ้าเป็นมาก ควรไปโรงพยาบาล

ส่วนอาการข้อไหล่อักเสบ ซึ่งพบน้อยกว่าอาการอักเสบนอกข้อไหล่ดังที่กล่าวถึงข้างต้น จะรู้ได้เพราะข้อไหล่จะปวด บวม แดง ร้อน และขยับเขยื้อน (เคลื่อนไหว) ไปในทิศทางใดก็จะเจ็บปวดไปหมด และจะกดเจ็บทั่วไปในบริเวณข้อไหล่ (ไม่กดเจ็บเป็นจุดๆ หรือเป็นบริเวณๆดังการอักเสบนอกข้อไหล่)

อาการข้อไหล่อักเสบดังกล่าวอาจเกิดในโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid) รูมาติก (rheumatic) ข้อเป็นหนอง (pyogenic) หรืออื่นๆ ซึ่งถ้าพบข้อไหล่บวม แดง ร้อน และขยับเขยื้อนไปในทิศทางใดก็จะเจ็บปวดไปหมด และจะกดตรงจุดใดที่บริเวณข้อไหล่ ก็จะกดเจ็บไปหมด เช่นนี้ควรไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล จะได้ตรวจให้แน่นอนว่าเป็นโรคอะไร เพราะจะต้องรักษาโรคที่เป็นสาเหตุด้วย อาการปวดข้อจึงจะดีขึ้น มิฉะนั้นอาจจะทำให้ข้อไหล่พิการและยึดติด ใช้การไม่ได้ในอนาคต

ฉบับหน้าจะมาว่ากันด้วยเรื่องปวดข้อศอก ปวดข้อมือ ปวดมือและนิ้วมือ

 

ข้อมูลสื่อ

103-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 103
พฤศจิกายน 2530
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์