• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กระดูกหัก (ตอนที่ 2 )

กระดูกหัก (ตอนที่ 2 )

ฉบับก่อนเราได้คุยกันถึงความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคกระดูกหักไว้พอสมควรแล้ว ฉบับนี้เรามาลงมือทำการรักษากันสักที

กระดูกหักจะทำอย่างไรก่อน ?
กระดูกเป็นของแข็ง เส้นเลือด เส้นประสาท และเนื้อเยื่ออื่น ๆ เป็นของอ่อน ดังนั้นเมื่อกระดูกหัก สิ่งแรกที่ควรทำก็คือ ต้องพยายามให้รอยหักอยู่นิ่ง ๆ ไม่ขยับเขยื้อนไปมา เพื่อเนื้อเยื่ออ่อนที่หุ้มมันอยู่จะได้ไม่ฉีกขาดเพิ่มขึ้น และทำให้ลดความเจ็บปวดลงด้วย วิธีการที่ทำได้ง่ายคือ การดามไว้ด้วยวัสดุแข็ง เช่น ท่อนไม้ กระดาน ไม้บรรทัดใหญ่ ๆ หรือถ้าเป็นสถานพยาบาลก็จะมีเครื่องดามชนิดพิเศษ มีลักษณะที่ดีและมีประสิทธิภาพ ในกรณีที่หาเครื่องดามไม่ได้จริง ๆ อาจใช้อวัยวะของผู้ป่วยเองทดแทนชั่วคราวก็ได้ เช่น ถ้าแขนหักก็ดามมัดติดกับลำตัว หรือถ้าขาหักก็ดามติดกับขาอีกข้างหนึ่ง เป็นต้น นอกจากนี้อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านหลายชนิดก็ใช้เป็นเครื่องดามในภาวะฉุกเฉินได้เช่น ด้ามไม้กวาด หมอน (ที่แข็งหน่อย) ไม้บรรทัด หรือถ้าสงสัยว่ากระดูกสันหลังจะหัก อาจใช้ประตูบานโต ๆ ให้ผู้ป่วยนอนราบนิ่ง ๆ ก็เป็นการดามชนิดหนึ่งเหมือนกัน

ในกรณีที่กระดูกหักแล้วมีปลายหักโผล่ออกนอกผิวหนัง ถ้ามันไม่ทิ่มอยู่ที่เส้นเลือด หรือเส้นประสาท ผู้ปฐมพยาบาลไม่ควรดันปลายกระดูกนั้นให้เข้าสู่ที่เดิมเป็นอันขาด เพราะปลายกระดูกที่โผล่ออกมานั้นอาจจะเปื้อนเชื้อโรคจากภายนอกอยู่แล้ว (ถึงจะดูสะอาดดีอยู่ก็ตาม แต่ตาเรามองเชื้อโรคไม่เห็น) ถ้าดันกลับเข้าไปในร่างกายก็จะติดเชื้อได้มากขึ้น ดังนั้นทางที่ดีก็คือ เอาผ้าสะอาดที่สุดเท่าที่จะหาได้มาคลุมบริเวณบาดแผล แล้วจึงทำการดามไว้ดังวิธีที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
ปัญหาที่หมอกระดูกได้เจอบ่อย จากการกระทำของผู้หวังดีที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็คือ มักจะเอาน้ำมันหรือปูนมาถูทาที่แผลจนเลอะเทอะ สิ่งเหล่านี้มีแต่จะทำให้การรักษาบาดแผลยุ่งยากยิ่งขึ้นไปอีกครับ

กระดูกดามแล้วส่งไปไหนดี?
คำถามข้อนี้ตอบได้ไม่ยาก เพียงแต่ให้ “ผู้รักษากระดูกเป็น” เขารักษาเสียเท่านั้น ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าในขณะนั้น ใครคือ “ผู้รักษาเป็น” ซึ่งผู้ส่งต้องพิจารณาเอาเอง
สำหรับกระดูกหักชนิดที่ไม่มีบาดแผลนั้น ถ้าไม่มีปัญหาอื่นแทรกซ้อนขึ้นมาด้วย หากรักษาไปตามบุญตามกรรม กระดูกจะไม่ติดหรือติดผิดปกติจนใช้งานไม่ได้
แต่ถ้ากระดูกหักแล้วทิ่มออกนอกเนื้อ จะต้องทำการรักษาโดยวิธีผ่าตัด (ไม่ใช่ตัดแขนตัดขาทิ้ง) เพื่อรักษาบาดแผลไม่ให้ติดเชื้อ วิธีการจึงค่อนข้างจะยุ่งยาก และต้องการผู้เชี่ยวชาญรักษา มิฉะนั้นอาจทำให้ผู้ป่วยต้องถึงกับเสียแขน เสียขา หรือเสียชีวิตได้

กระดูกหักมีหลักในการรักษาอย่างไร?
หลายท่านคงเคยทราบว่าแพทย์มักรักษาบาดแผลที่มีปากแผลอ้าเหวอะหวะ โดยการเย็บปากแผลให้ประกบกัน และจะตัดไหมทิ้งเมื่อบาดแผลนั้นติดกันแล้ว กระดูกก็เป็นเนื้อเยื่อชนิดหนึ่งในร่างกายทำนองเดียวกับผิวหนัง เพียงแต่ว่ายังมีองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้กระดูกแข็งแกร่ง คือ สารประกอบที่มีแคลเซียมอยู่ด้วย สารนี้มีลักษณะเป็นผลึกซึ่งนักวิชาการเรียกว่า ฮัยดร๊อกซี่ อะพาไทท์ (Hydroxyapatite) เมื่อกระดูกหัก ผลึกซึ่งเดิมเกาะเรียงกันแน่นก็จะแยกออกจากกันด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ หลักของการรักษากระดูกหักจึงไม่แตกต่างจากการรักษาบาดแผลโดยทั่วไป คือ
1. ต้องให้ปลายหักประกบกันเข้าที่เดิมให้สนิทที่สุด เพื่อที่จะไม่ให้เกิดความพิการ เมื่อกระดูกนั้นติดเรียบร้อยแล้ว ทำนองเดียวกับการพยายามจัดปากแผลให้ปิดสนิทก่อนทำการเย็บ

2. ปลายกระดูกที่ต่อใหม่นั้น ต้องให้นิ่งพอสมควร ทำนองเดียวกับบาดแผลที่ต้องเย็บ เพราะถ้าปล่อยให้รอยแผลขยับเขยื้อนได้มากเกินไป เนื้อเยื่อใหม่ที่ร่างกายพยายามสร้างขึ้นมาเพื่อเชื่อมรอยขาดนั้น ก็จะถูกฉีกออกอีกขณะที่ยังไม่มีความแข็งแรงพอจนในที่สุดแผลจะไม่ยอมติดกันก็เหมือนคนเราจะรักกันนั่นแหละครับ ถ้ามีก้างขวางคอคอยกีดกันความรักก็มักไม่ราบรื่นเท่าที่ควร ยิ่งถ้าเพิ่งจะเริ่มสบตาส่งเสน่หากันใหม่ ๆ ก็ยิ่งอ่อนไหว กินแหนงแคลงใจกันได้ง่ายครับ ดีไม่ดีอาจเลิกรากันไปเลยก็ได้

3. ต้องให้อวัยวะส่วนที่บาดเจ็บสามารถใช้งานได้ หลังจากที่กระดูกติดกันดีแล้ว นั่นก็คือจะต้องพยายามฟื้นฟูสมรรถภาพของอวัยวะให้คงเดิมไว้

กระดูกหักจะจัดเข้าที่ได้อย่างไร

ก่อนที่จะจัดกระดูกให้เข้าที่เราควรต้องทราบว่ากระดูกหัก แล้วเคลื่อนออกจากกันแบบไหนบ้าง ถ้าลองหักกิ่งไม้ดู จะพบว่าปลายหักอาจวางตัวในลักษณะดังต่อไปนี้ คือ (ดูรูป)




(ก) ปลายหักไม่มีการเคลื่อนที่ออกจากตำแหน่งปกติ







  

(ข) ปลายหักเคลื่อนออกจากตำแหน่งปกติ ซึ่งมีได้ 6 แบบคือ
1. ชิ้นที่หักอยู่ในแนวเดียวกันแต่ปลายหักเหลื่อมกัน (Malapposition)
2. ชิ้นที่หักทำมุมซึ่งกันและกัน (Angulation)
3. ปลายหักมีการหมุนตามแนวแกน (Rotation)
4. ปลายหักแยกออกจากกัน (Distraction)
5. ปลายหักเกยกันแบบดาบปลายปืน (Overriding)
6. ปลายหักซ้นเข้าหากัน (Impaction)
 

การจัดกระดูกให้เข้าที่ได้นั้น ผู้รักษามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบก่อนว่ากระดูกมันหักอยู่ในลักษณะอย่างไร ในการแก้ไขมีเทคนิคบางประการที่ช่วยให้ทำได้ง่ายขึ้นคือ
1. ใช้แรงดึงตามแนวแกนตรง ๆ (Traction) ก่อน เพื่อให้ปลายหักแยกออกจากกัน เหตุผลที่ต้อง
ทำเช่นนี้เพราะว่าเราต้องการเอาชนะแรงหดตัวของกล้ามเนื้อเพราะความเจ็บปวดซึ่งมักจะเกิดขึ้นหลังจากกระดูกหัก กระดูกที่หักโดยเฉพาะตรงบริเวณส่วนปลาย มักจะมีรอยหักเป็นเสี้ยน ๆ เหมือนฟันเลื่อย ถ้าไม่สามารถทำให้ปลายฟันเลื่อยเหล่านี้ห่างออกจากกัน ก็จะต้องใช้กำลังมากมายจึงจะจัดให้รอยหักเข้าที่ได้ดังรูป (ค)
  

2. ในบางกรณีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก ซึ่งเคยกล่าวไว้แล้วว่า กระดูกมักหักแบบกิ่งไม้สด ซึ่งจะมีส่วนที่หักไม่ขาด หรือเหลือเยื่อหุ้มกระดูกไว้ส่วนหนึ่ง คอยรั้งไม่ให้ปลายหักมันแยกออกจากกันโดยแรงดึงธรรมดา ดังเทคนิคแรก วิธีแก้ไขง่าย ๆ ก็โดยการออกแรงให้ลักษณะผิดปกติของปลายหักเพิ่มมากขึ้น แล้วจึงพยายามจัดให้มุมใดมุมหนึ่งของปลายหักมาประกบกันให้พอดีก่อน เมื่อออกแรงในทิศทางตรงกันข้ามกับครั้งแรก รอยหักก็จะเข้าที่ได้ ดังรูป (ง)

            


เทคนิคทั้ง 2 วิธีนี้ จะใช้ร่วมกันไปเลยก็ได้ สุดแท้แต่ความจำเป็น
ในเชิงปฏิบัติจริง ๆ นั้น เราทำการจัดกระดูกได้ 2 วิธีคือ โดยการจัดจากภายนอก ไม่ต้องแตะต้องกับตัวกระดูกโดยตรง และการจัดโดยกระทำต่อตัวกระดูกโดยตรง คือการผ่าตัดนั่นเอง

สำหรับวิธีแรกนั้น อาจใช้แรงมือจับดึง หรือถ้าหากกล้ามเนื้อหดตัวแรงมาก ก็อาจใช้น้ำหนัก ค่อย ๆ ถ่วงจนกล้ามเนื้อคลายตัวแล้วจึงจัดให้ปลายหักเข้าที่ภายหลัง วิธีหลังเป็นวิธีที่ต้องการ ความชำนาญพิเศษ จะกระทำก็ต่อเมื่อใช้วิธีแรกรักษาไม่สำเร็จ หรือได้ประโยชน์จากการที่เข้าไปยึดตรึงกระดูกโดยตรงด้วย ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในโอกาสหน้า

ก่อนจากกัน หลังจากจัดกระดูกให้เข้าที่ได้สำเร็จ ขอเตือนว่า อย่ากระทำการทารุณต่อผู้ป่วย โดยการรักษาสด ๆ ปราศจากการให้ยาชาหรือยาสลบ ถ้าไม่อยู่ในภาวะที่จะใช้ยาเหล่านี้ได้ การใช้น้ำหนักค่อย ๆ ถ่วงเอาอย่างช้า ๆ จะสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้ป่วย น้อยกว่าวิธีดึงแรง ๆ ในเวลาค่อนข้างสั้น นอกจากนี้ ความเจ็บปวดจะยิ่งทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง ซึ่งเมื่อบวกกับภาวะที่มีการบวมช้ำร่วมด้วยแล้ว บางทีท่านอาจผิดหวัง เพราะไม่น่าเชื่อว่ากระดูกเกยกันเพียงนิดเดียว แต่ทำไมดึงเสียจนสุดแรงเกิด ก็ดึงให้เข้าที่ไม่ได้ ผู้รักษากระดูกต้องมีความแข็งแรงก็จริง แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ จะต้องมีความรู้และความละเอียดอ่อนครับ

ฉบับนี้เห็นทีจะต้องขอจบแค่การจัดกระดูกให้เข้าที่ก่อน ส่วนจะตรึงกระดูกให้อยู่กับที่ได้อย่างไรนั้น ค่อยคุยกันฉบับหน้าอย่างละเอียดครับ


 

ข้อมูลสื่อ

16-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 16
สิงหาคม 2523
อื่น ๆ
นพ.วิรุฬห์ เหล่าพัทรเกษม