• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หนาดใหญ่และผักหนาม

หนาดใหญ่และผักหนาม
 

 "สมุนไพรที่นำเสนอนี้ ผู้เขียนได้แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ “พจนานุกรมสมุนไพรจีน” ของประเทศจีน ขนาดน้ำหนักของสมุนไพรที่ใช้นี้แปลและคิดคำนวณมาจากที่จีนบันทึกไว้ซึ่งเป็นขนาดที่ใช้ในผู้ใหญ่ ดังนั้นเวลานำมาใช้ต้องดัดแปลงน้ำหนักยาให้เหมาะสมกับอายุ น้ำหนักและสุขภาพของผู้ใช้ด้วย” 

              

หนาดใหญ่

⇒ ชื่ออื่น
หนาด, พิมเสน (ไทย), หนาดหลวง, คำพอง (พายัพ), จะบอ (ตานี), ไหง่หนับเฮียง, ไต่ฮวงไหง่ (จีนแต้จิ๋ว), Ngai Camphor Tree

⇒ ชื่อวิทยาศาสตร์
Blumea balsmifera DC. วงศ์ Compositae

⇒ ลักษณะต้น
เป็นพืชต้นสูง 1-3 เมตร มีขนอ่อนนุ่มสีเหลืองทั้งต้น ขยี้ดมมีกลิ่นหอมเย็น ใบออกสลับกัน ลักษณะรีใหญ่ยาว 10-17 ซ.ม. กว้าง 1.2-2.5 ซ.ม. ปลายใบแหลม ฐานใบเรียวเล็กลง ขอบใบมีรอยหยักใหญ่ ๆ ไม่เท่ากัน มีขนทั้งสองด้าน ดอกออกที่ปลายกิ่งเป็นช่อ มีกลีบเลี้ยงหลายชั้น ชั้นนอกสั้นกว่าชั้นใน กลีบดอกสีเหลือง ดอกย่อยรอบนอกเป็นดอกที่มีแต่เกสรตัวเมียอย่างเดียว ดอกบริเวณกลางช่อดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกติดกันเป็นหลอด ส่วนปลายแยกเป็น 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 5 อัน ติดกับกลีบดอกเกสรตัวเมีย มีก้านเกสรตัวเมีย 1 อัน ปลายแยกเป็นเส้น 2 เส้น ผลเป็นเส้นเล็ก ๆ มี 10 เหลี่ยม ส่วนบนมีขนสีขาว ๆ หลายเส้น ช่วยให้ลอยไปตกได้ไกล ๆ ออกดอกในฤดูหนาว พบเกิดขึ้นเองตามท้องนาและหุบเขาทั่วไป

⇒การเก็บมาใช้
ใช้ราก ใบและยอดอ่อน และพิมเสนที่กลั่นได้จากใบและยอดอ่อนเป็นยา
ใบและยอดอ่อน เก็บได้ตลอดปี ผึ่งลมให้แห้ง เก็บไว้ใช้ หรือกลั่นด้วยไอน้ำแยกเอาน้ำมันหอมระเหยออกมา ทำให้เย็นตกผลึกแยกเอาพิมเสนออกมาใช้ (เก็บใบและยอดอ่อนในฤดูหนาว จะให้น้ำมันหอมระเหยมากกว่าฤดูอื่น)
ลักษณะพิมเสนที่ดี เป็นแผ่นใหญ่ขนาด 5-15 ม.ม. หนา 2-3 ม.ม. สีขาว กลิ่นหอมเย็น รสเย็นซ่า
ราก ขุดราก ล้างให้สะอาด ใช้สด

⇒สรรพคุณ
ใบและยอดอ่อน รสฉุน ชุ่ม ขม สุขุม ใช้บำรุงกำลัง ทำให้การไหลเวียนเลือดดี ขับลม ขับพยาธิ แก้บิด ท้องร่วง ปวดท้อง มีลมในลำไส้ บวม ปวดเอ็นและกระดูก แผลฟกช้ำจากหกล้ม หรือถูกกระทบกระแทกและแก้กลาก
เกร็ดพิมเสน รสฉุน ชุ่ม ขม สุขุม ใช้ขับลม แก้ปวดท้อง ท้องร่วง ใช้ภายนอก แก้ตาเป็นต้อ ทำให้ตาสว่าง ใส่บาดแผล ทำให้แผลหายเร็วขึ้น แผลฟกช้ำจากหกล้ม หรือกระทบกระแทก แก้กลาก
ราก รสฉุน ใช้ขับลม แก้บวม ทำให้การไหลเวียนของเลือดดี ขับถ่ายของเสีย ปวดข้อ แผลฟกช้ำจากหกล้ม หรือถูกกระทบกระแทก ปวดเมื่อยหลังคลอด ปวดท้อง ท้องร่วง

วิธีและปริมาณที่ใช้
ใบและยอดอ่อนแห้ง 10-18 กรัม ต้มน้ำกิน ใช้ภายนอก ต้มเอาน้ำชะล้างหรือบดเป็นผงผสมทา
เกร็ดพิมเสน 0.150-0.3 กรัม บดเป็นผงผสมเป็นยาผงหรือยาเม็ด กิน ใช้ภายนอกบดเป็นผงโรยหรือทา
รากสด 15-30 กรัม ต้มน้ำกิน

⇒ ตำรับยา
1. แก้บวมเจ็บ ปวดข้อ ใช้ใบหรือยอดอ่อนสดรากว่านน้ำเล็กสด (Acorus gramineus Soland.) และใบละหุ่งสด อย่างละเท่า ๆ กัน พอประมาณ ต้มเอาน้ำชะล้างบริเวณที่เป็น
2. แก้บาดแผล ใช้ใบหรือยอดอ่อน ตำพอก
3. แก้แผลฟกช้ำจากหกล้มหรือถูกกระทบกระแทก ฝีบวมอักเสบ แผลมีหนอง ใช้ใบสดตำพอก อาจผสมเหล้าลงไปตำพอก หรือต้มเอาน้ำชะล้าง

⇒ผลทางเภสัชวิทยา
สารสกัดจากใบ ฉีดเข้าสัตว์ทดลอง มีฤทธิ์ขยายหลอดลม ลดความดันเลือด ยับยั้งประสาทซิมพาเธติค (Sympathetic Nerve) อาจนำไปใช้กับคนมีความดันเลือดสูง นอนไม่หลับ กระวนกระวายใจ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อลายหดตัว

⇒หมายเหตุ

ในมาเลเซีย ใช้ใบอ่อนและรากต้มกินเป็นอาหารบางครั้งใส่ยี่หร่าลงไปด้วย รากเก็บจากต้นอ่อนยังไม่ออกดอก กล่าวว่า มีฤทธิ์ขับพยาธิในลำไส้ ใช้ใบอ่อน กินร่วมกับใบพลู แก้อาการเจ็บบริเวณหัวใจ ซึ่งอาจเนื่องจากระบบย่อยอาหารไม่ดีก็ได้
ในอินโดจีน ใช้ใบ ร่วมกับต้นตะไคร้ ต้มให้เดือด ใช้อบตัวช่วยขับเหงื่อ
ในซาราวัค ใช้ใบต้มร่วมกับเทียนดำ (Nigella sativa L.) หัวหอมเล็กหรือบดกับเกลือ กินแก้ไข้
ในชวา ใช้น้ำคั้นหรือน้ำต้มจากใบ หรือจากราก กินแก้ประจำเดือนออกมากผิดปกติ
ในกัมพูชา ใช้ใบพอกแก้หิด ใช้ใบหรือยอดอ่อน ตำพอกแผลห้ามเลือด หรือตำร่วมกับใบขัดมอญ (Sida rhombifolia L.) พอกศีรษะแก้ปวดหัว
ตำร่วมกับใบกระท่อม ใบยอ ใบเพกา ใช้เป็นยาพอกแก้ม้ามโต
ใบต้มน้ำ ให้หญิงหลังคลอดอาบ และใช้ทาถูภายนอก แก้ปวดหลัง เอว และปวดข้อ
น้ำคั้นจากใบ หรือผงใบแห้ง ทาแผล ทำให้แผลหายเร็วขึ้น
ใบ ชงน้ำร้อน กินตอนอุ่นๆ ใช้แก้ไข้ ขับเหงื่อ

ในไทย ใช้ใบสดหั่นฝอยแบบยาเส้น ตากพอแห้งหมาด ๆ มวนกับยาฉุนสูบแก้ริดสีดวงจมูก ใช้กินเป็นยาขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ ปวดท้อง และใช้เป็นยาขับเสมหะ ขับเหงื่อ

***********************************************************************************************

            


ผักหนาม

⇒ ชื่ออื่น

กะลี (มลายู นรา), หลั่นฉื่อโก, จุยหลักเท้า (จีน-แต้จิ๋ว)

⇒ ชื่อวิทยาศาสตร์
Lasia spinosa วงศ์ Araceae

⇒ลักษณะต้น
เป็นพืชพวกบอน มีลำต้นใต้ดิน เป็นแท่งทรงกระบอกทอดยาว ขนานไปตามพื้นดิน มีข้อและหนามแข็ง ๆ อยู่ติดกับราก ก้านใบ เป็นเส้นกลมออกมาจากลำต้นใต้ดินสูง 60-120 ซ.ม. มีหนาม ตัวใบเป็นแผ่นบาง ๆ มีรอยเว้าลึก ๆ เกือบถึงกลางใบ ฐานใบโค้งเข้าคล้ายรูปหัวใจ มีเส้นกลางใบใหญ่ 1 เส้น ด้านท้องใบมีหนาม ตัวใบยาว 15-45 ซ.ม. ใบอ่อนจะม้วนปลายแหลมงอกพุ่งออกมา แล้วค่อยคลี่บานออก กาบหุ้มช่อดอกยาว 20-35 ซ.ม. สีแดง บิดเป็นเกลียวมีช่อดอกรวมกันแน่นเป็นแท่งสีขาวยาว 2.5 ซ.ม. เมื่อติดเป็นผลยาว 5-10 ซ.ม. เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 ซ.ม. ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ บานจากบนลงล่าง ผลค่อนข้างกลมเป็นเหลี่ยม 5-6 เหลี่ยม อยู่รวมติดกันแน่นเป็นแท่ง มักพบตามที่ลุ่มมีน้ำขัง หรือตามริมหนองน้ำ ลำคลองทั่วไป

⇒การเก็บมาใช้
เก็บลำต้นในฤดูร้อนล้างให้สะอาด ตากแห้งหรือหั่นเป็นแผ่นตากแห้งเก็บไว้ใช้

ลักษณะยาแห้งที่ดี มีลักษณะเป้ฯแท่งทรงกระบอก เปลือกสีน้ำตาลเทา มีข้อเป็นปุ่ม ขรุขระมีหนามแข็งแต่ละข้อห่างกันประมาณ 6-7 ซ.ม. มีรากฝอยขดม้วนเข้าไปที่โคนก้านใบ ส่วนมากมักหั่นเป็นแผ่นตามขวางหรือเฉียง ๆ เนื้อในมีสีเทาหรือสีชมพู มีแป้งมาก และมีจุดสีน้ำตาลเล็ก ๆ อยู่ทั่วไป มีรสเผ็ดชา

⇒สรรพคุณ
ลำต้น มีรสเผ็ดชา ใช้ขับปัสสาวะ แก้ไข้ กระหายน้ำ ไอ ขับเสมหะ ปัสสาวะเหลืองหรือแดง ผิวหนังเน่าเปื่อยเป็นหนอง

⇒วิธีและปริมาณที่ใช้

ลำต้นแห้ง 10-15 กรัม ต้มน้ำกิน
ใช้ภายนอก ต้มน้ำชะล้างหรือบดเป็นผงทา

⇒ตำรับยา
1. แก้เท้าเน่าเปื่อย ศีรษะเน่าเปื่อยเป็นแผลเรื้อรัง หรือผิวหนังเน่าเปื่อยเป็นแผลเรื้อรัง ใช้ลำต้น ต้มเอาน้ำชะล้างหรือบดเป็นผงทา

⇒หมายเหตุ
ก้านและใบมี “ไซยาโนเจเนติคกลัยโคไซด์” (Cyanogenetic glycosides) ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นไซยาไนด์ (สารพิษชนิดหนึ่ง) ได้ คนหรือสัตว์กินดิบ ๆ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ต้องดองเปรี้ยวหรือทำให้สุก ไซยาไนด์จะถูกทำลายไป จึงนำมากินได้ ยอดอ่อนใช้ต้มกะทิ หรือดองเปรี้ยว กินเป็นผักจิ้ม
ในอินเดีย ใช้ทั้งต้นแก้ปวดท้อง ปวดตามข้อและโรคผิดปกติเกี่ยวกับลำไส้ ลำต้นและผลใช้แก้อาการผิดปกติเกี่ยวกับคอ ผลใช้ปรุงเป็นอาหารได้ น้ำคั้นจากต้น ใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร
ในศรีลังกา ใช้ใบแก้ปวดท้องและปวดอื่น ๆ ก้านใบบดให้เละ ให้วัวควายกินน้อย ๆ แก้อาการผิดปกติเกี่ยวกับคอ หรือปอกเปลือกแกงกินได้

ในไทย ใช้ลำต้นผสมปรุงเป็นยากินแก้ไอ ขับเสมหะ ใช้ภายนอก ต้มเอาน้ำอาบ แก้ผื่นคัน เช่น เป็นเหือด หัด สุกใส ดำแดง ทำให้ผื่นหายเร็วขึ้น

 

ข้อมูลสื่อ

17-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 17
กันยายน 2523
อื่น ๆ
ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ