• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกาย(ตอนที่ 17 )

การตรวจร่างกาย( ตอนที่ 17 )


การตรวจตามระบบ (ต่อ)
การตรวจตา
ตาเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง ที่ช่วยบอกสภาพของร่างกาย และจิตใจของผู้ที่เป็นเจ้าของได้เป็นอย่างดี จินตกวี และหมอดูต่าง ๆ จึงใช้วิธีสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงของตา แล้วนำไปพร่ำรำพัน หรือทายทักไปต่าง ๆ นานาในการตรวจตาโดยทั่วไปนั้น เราตรวจโดยการดูเป็นสำคัญ รองลงไปคือ การคลำ ส่วนการเคาะและการฟังนั้น ใช้น้อยมาก หรือไม่ต้องใช้เลย

เมื่อจะตรวจโดยการมองดู โดยเฉพาะการมองดูหน้าของผู้ใดให้ระมัดระวัง อย่าให้ผู้ที่ถูกมอง หรือญาติและคนรู้จักของผู้นั้น เกิดความรู้สึกเขม่นขึ้นมาว่า มีการ “มองหน้า” หรือ “จ้องหน้า” เกิดขึ้น มิฉะนั้นอาจจะมีการเจ็บเนื้อเจ็บตัวขึ้นได้
การจะมองดูใคร จึงต้องมีศิลปะ เราจะมองดูให้คนเขาเขม่นเอาก็ได้ มองดูให้คนเขารักเราขึ้นมาก็ได้ หรือมองดูให้เกิดประโยชน์ ในการตรวจรักษาก็ได้ หรืออื่น ๆทางที่ดีที่จะทำให้การตรวจโดยการมองดูนั้นเกิดขึ้นโดยการมองดูนั้น เกิดขึ้นโดยผู้ที่ถูกมองไม่รู้สึกโกรธ ไม่รู้สึกอาย หรือไม่รู้สึกเขินนั้น อาจจะทำได้ง่าย ๆ โดยการบอกให้ผู้ที่ถูกตรวจรู้ตัวก่อน เช่น
 

ผมขอตรวจลักษณะคิ้ว ตา ผิวหน้า หรือ ฯลฯ หน่อยนะครับ” หรือ

ตา หรือ ฯลฯ ของคุณเป็นอะไรหรือเปล่าครับ ขอตรวจดูสักนิดหนึ่งนะครับ” หรือ

ลืมตาหน่อยะครับ ผมขอตรวจตาหน่อย” หรืออื่น ๆ

การบอกแจ้งแถลงไขให้ผู้ที่จะถูกตรวจรูตัวล่วงหน้า จะช่วยลดความอึดอัดและความไม่สบายใจของผู้ที่ถูกตรวจลงได้
 

การตรวจตา ควรจะตรวจ
1. คิ้ว
คิ้วของคนเรานี้มีหลายลักษณะ เช่น ดกดำ เรียวเล็ก โก่งเป็นคันศร เป็นต้น แต่ละลักษณะ หมอดู (โดยเฉพาะหมอดูโหวงเฮ้ง) จะทำนายทายทักไปต่าง ๆ นานา ผู้ที่มีเวลาควรจะศึกษาไว้บ้าง เพราะอาจจะนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการตรวจรักษาได้ เนื่องจากการรู้จักบุคลิกและสภาพทางเศรษฐกิจสังคมของคนไข้ย่อมจะช่วยให้การตรวจรักษานั้นเหมาะสมถูกต้องดีขึ้น
แม้ว่าคิ้วจะมีลักษณะรูปร่างต่าง ๆ นานา แต่สภาพของคิ้วอาจจะแสดงความผิดปกติทางกาย หรือโรคทางกายได้หลายอ่าง เช่น

ก. คิ้วร่วง คือ ขนคิ้วร่วงหลุด ถ้าเป็นมากอาจจะไม่มีขนคิ้วเหลืออยู่ คิ้วที่ร่วงหลุดทั้งหมด อาจจะเกิดจากการเจ็บป่วยที่รุนแรงและเรื้อรัง จากอุบัติเหตุที่ทำให้ผิวหนังบริเวณที่ให้กำเนิดแก่ขนคิ้วหลุดหายไป หรือมีอันตรายอย่างรุนแรง หรืออาจเกิดจากการถอนขนคิ้วออกหมดเพื่อวาดใหม่ ให้มีรูปร่างลักษณะตามใจชอบ เป็นต้น

คิ้วร่วงที่เกิดเป็นหย่อม ๆ เหมือนรอยแมลงสาบแทะ อาจจะเกิดจากโรคซิฟิลิส (กามโรคชนิดหนึ่ง) หรือเกิดจากโรคผิวหนัง หรืออื่น ๆ

คิ้วร่วงในบริเวณหางคิ้ว ที่ไม่ได้เกิดจากคิ้วแหว่งเพราะบาดแผล
อาจจะเกิดจากโรคธัยรอยด์พร่อง(hypothyroidism) โรคผิวหนังหรือ อื่น ๆ

ข. คิ้วหลุดง่าย คือ เวลาไปถูกต้องเข้า ขนคิ้วจะหลุดออกง่าย ทำให้เหลือขนคิ้วน้อย (คิ้วบาง) มักเกิดจากโรคผิวหนัง เช่น โรคผิวหนังอักเสบจากไขมัน (seborrheic dermatitis) โรคแพ้เครื่องสำอาง เป็นต้น

ค. คิ้วหยาบ คือ ขนคิ้วที่หยาบกร้าน แห้งเปราะ มักเกิดจากโรคขาดอาหาร หรือโรคผิวหนัง เป็นต้น

 

2. หนังตา
หนังตาของคนเราก็มีลักษณะต่าง ๆ ที่เด่นและเป็นที่สนใจกันมาก ก็คือ เรื่องตา 2 ชั้น 3 ชั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับค่านิยมทางสังคมในด้านความสวยงามเท่านั้น คุณค่าของตา 2 ชั้น 3 ชั้น ในทางด้านหมอดูและด้านแพทย์นั้น มีน้อยมาก
นอกจากนั้น ในปัจจุบัน เราสามารถผ่าตัดตกแต่งให้หนังตาเกิดเป็น 2 ชั้น 3 ชั้น ได้ตามที่ต้องการ (แต่อยู่ดี ๆ อย่าไปหาเรื่องเจ็บตัว และเสียเงินด้วยจะดีกว่า)

ส่วนหนังตาที่แสดงความผิดปกติทางกายหรือทางใจได้มีอยู่หลายชนิด เช่น
ก. หนังตาบวมช้ำ คือ หนังตาที่บวมแดง เพราะถูกขยี้ หรือถูกซับน้ำตามาก ๆ มักเกิดจากการร้องไห้หนัก ๆ การอักเสบของเยื้อหุ้มตา หรือ การอักเสบอย่างรุนแรงของลูกตา

ข. หนังตาบวม คือ หนังตาที่บวมจนอูมออกให้เห็นได้ รอยย่นบนหนังตาจะหายไป หนังตาบวมนี้อาจจะเกิดจาก ตาโปน (ตาถลน) ดังเช่น ในโรคคอพอกเป็นพิษ หรือเนื้องอกในเบ้าตา เกิดจากตาอักเสบ กุ้งยิง (การเป็นตุ่มเป็นก้อนฝีที่หนังตา) ตาอักเสบ มีพยาธิในหนังตา การอดนอน โรคภูมิแพ้ หรือ อื่น ๆ
แต่ถ้าหนังตาบวมทั้ง 2 ตา ร่วมกับการบวมของหน้า หรือการบวมในส่วนอื่นของร่างกายด้วยแล้ว จะต้องนึกถึงโรคไต โรคธัยรอยด์พร่อง (hypothyroidism หรือ myxedema) โรคภูมิแพ้ หรือ อื่น ๆ (ดูรูปที่ 1 ก. และ 1 ข.)       

ค. หนังตาเหี่ยว คือ หนังตาที่แลดูเหี่ยวย่น แห้ง ซึ่งมักเกิดจากความชรา แต่อาจเกิดจากการขาดน้ำ ขาดอาหาร หรือโรคผิวหนังก็ได้

ง. หนังตาตก คือ การลืมตาไม่ค่อยได้ เพราะหนังตาบนจะตกลงมาปิดตา แล้วลืมไม่ค่อยขึ้น มักพบในโรคแรงหมดง่าย (myasthenia gravis) โรคหนังตาเป็นโรคอัมพาต โรคที่ทำให้หนังตาหนัก เพราะมีสารหรือสิ่งแปลกปลอม เช่น พยาธิเข้าไปอยู่ในหนังตา ซึ่งในกรณีเช่นนี้หนังตาจะบวมด้วย

จ. หนังตาห้อย คือ หนังตาล่างห้อยย้อยลงมา มักพบในคนสูงอายุ คนที่เป็นโรคเรื้อรัง คนที่มีไขมันเข้าไปแทรกซึมอยู่ในหนังตาล่างมาก เป็นต้น

ฉ. หนังตากระตุก คือ การเต้นกระตุกของหนังตา หรือบางทีที่เรียกกันในภาษาชาวบ้านว่า “หนังตาเต้น” หรือ “ตามันเขม่น” มักเกิดจากการอดนอน ภาวะเครียด การใช้สายตามากเกินไป หรือในบางคนอาจเกิดจากการผิดปกติของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงหนังตา เป็นต้น

ช. หนังตากะพริบ
คือ การกะพริบตาบ่อยๆ โดยไม่มีสาเหตุที่สมควร โดยทั่วไปคนปกติจะกะพริบตาประมาณ 0-1 ครั้ง ต่อการหายใจเข้าออก 2- 3 ครั้ง นอกจากเวลาที่ตาอักเสบ แสบตา น้ำตาไหล หรือมีความผิดปกติในลูกตา
ถ้าไม่มีความผิดปกติที่ตา และเห็นการกะพริบตาบ่อย ๆ โดยเฉพาะในขณะที่ถูกถามประวัติการเจ็บป่วยหรือประวัติอื่นๆให้นึกถึงปัญหาทางจิตใจโดยเฉพาะความขัดแย้งทางจิตใจ เช่น ปัญหาในครอบครัวหรือปัญหาส่วนตัวที่รบกวนจิตใจอยู่ ทำให้เกิดอาการต่างๆ นานา เช่น ปวดหัว เวียนหัว หน้ามืด เป็นลม เบื่ออาหาร กินไม่ได้นอนไม่หลับ เป็นต้น

ซ. หนังตากว้าง
คือหนังตาที่เปิดกว้างจนเห็นตาขาวรอบตาดำ(ดูรูปที่ 2) มักพบในโรคคอพอกเป็นพิษ

ญ. หนังตาเป็นก้อน ปุ่ม ปม อาจเกิดร่วมกับอาการเจ็บ หรืออาการคัน มักเกิดจากการอักเสบ (โรคกุ้งยิง) หรือมีตัวพยาธิอยู่ในหนังตา หรือ อื่น ๆ

 

ข้อมูลสื่อ

23-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 23
มีนาคม 2524
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์