• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกาย (ตอนที่ 16 )

การตรวจร่างกาย (ตอนที่ 16 )


การตรวจตามระบบ
การตรวจใบหน้า

ใบหน้าของมนุษย์เรานอกจากจะเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นถึงสภาพร่างกายแล้ว ยังเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นถึงสภาพทางจิตใจด้วย การหมั่นสังเกตลักษณะของใบหน้า จะทำให้ทราบถึงลักษณะใบหน้าที่ปกติ และผิดปกติต่าง ๆ
แม้แต่ในลักษณะที่ปกติ ใบหน้าก็ยังช่วยบ่งบอกถึงอุปนิสัยใจคอ บุคลิก อารมณ์ และความแตกต่างกันของแต่ละบุคคลได้
ทำให้หมอดูบางคนสามรถใช้ลักษณะ (โหงวเฮ้ง) เช่นนี้ในการทำนายทายทัก
ต่าง ๆ ซึ่งผู้ที่จะเป็นหมอควรฝึกหัดศิลปวิทยานี้ด้วยการสังเกตจดจำจนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการรักษาคนไข้ จะทำให้การตรวจรักษาของตนประสบผลสำเร็จมากขึ้น เพราะ

ผู้ที่มีอุปนิสัยเยือกเย็นสุขุม อาจจะต้องการยาหรือวิธีการรักษาที่แตกต่างจากผู้ที่มีอุปนิสัยร้อนแรง และขาดความยั้งคิด

ผู้ที่มีความละเอียดรอบคอบ อาจจะต้องการยาหรือวิธีรักษาที่แตกต่างจากผู้ที่มักง่าย ลืมง่าย และพลั้งเผลอบ่อย

ผู้ที่ชอบทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ อาจจะทำให้เข้าใจว่า อาการทุกอย่างที่เล่าให้ฟังนั้นรุนแรงมากมาย ต่างกับผู้ที่ชอบทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก หรือคนไข้ค่อนข้างเงียบ อาจจะทำให้เข้าใจว่าไม่ได้เป็นอะไรมาก ทำให้การตรวจรักษาผิดพลาดไปได้

ใบหน้าที่ผิดปกติต่างๆ ทั้งในด้านรูปร่างลักษณะ ผิวพรรณ สีหน้า หน้าตาที่เป็นลักษณะเฉพาะจนทำให้วินิจฉัยโรคบางอย่างได้ เคยกล่าวไว้แล้วในฉบับก่อน ๆ (หมอชาวบ้านปีที่ 1 ฉบับที่ 10-12 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเมษายน 2523, หมอชาวบ้านปีที่ 2 ฉบับที่ 13 ประจำเดือนพฤษภาคม 2523)

การดูยังรวมถึงการส่องไฟ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในการตรวจเด็กอ่อน โดยเฉพาะเด็กที่มีอาการชัก หรือมีลักษณะศีรษะโป่งหรือพิกลพิการผิดปกติ เพื่อดูว่ามีถุงน้ำ หรือความผิดปกติของกะโหลกศีรษะหรือไม่ โดยการใช่ไฟฉายส่องลงตรงที่โป่งนูนหรือพิการ ให้หน้าไฟฉายติดกับหนังของคนไข้ในห้องมืด แล้วดูว่ามีแสงสะท้อนออกมาจากเนื้อหนังข้างใน จนเห็นสว่างเรืองอยู่รอบๆ หน้าไฟฉายหรือไม่
การส่องไฟยังใช้ได้ในการตรวจโพรงกระดูกรอบจมูก (paranasal air sinuses) หรือที่เรียกกันว่า “ไซนัส” แต่ผลไม่ค่อยแน่นอน และอาจจะทำให้เข้าใจผิดคิดว่า เป็นโรคได้ เช่น

การใช้ไฟฉายขนาดเล็ก (ประมาณหัวแม่มือ) สอดเข้าไปในปาก จนหน้าไฟฉายอยู่ชิดกับเพดานปากด้านขวาหรือซ้าย เปิดไฟฉายส่องขึ้นไปทางด้านบน ถ้าโพรงกระดูกตรงโหนกแก้ม (maxillary air sinus) ปกติ จะเห็นแสงเรืองที่ขอบล่างของตาขวาหรือซ้าย (การตรวจนี้จะต้องทำในห้องมืด มิฉะนั้นก็จะเห็นได้ยาก)

ถ้าโพรงกระดูกตรงโหนกแก้มอักเสบเป็นหนอง ก็จะทึบแสงทำให้ไม่เห็นแสงเรืองนี้ได้ แต่การไม่เห็นแสงเรืองนี้อาจจะเกิดจากแสงไฟฉายไม่แรงพอ การส่องไฟไม่ถูกทิศทาง หรือในคนปกติบางคน ก็อาจจะไม่เห็นแสงเรืองนี้ได้ การไม่เห็นแสงเรืองในการตรวจนี้จึงไม่ใช่สิ่งผิดปกติเสมอไป

การตรวจต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นเป็นการตรวจด้วยตา (การดู) ซึ่งเป็นวิธีตรวจที่ใช้บ่อยที่สุด และสำคัญที่สุดสำหรับการตรวจใบหน้า แต่การตรวจใบหน้ายังอาจทำได้ด้วยการคลำและการเคาะส่วนการฟังนั้นแทบไม่ได้ใช้เลย นอกจากในกรณีพิเศษที่เฉพาะเจาะจงจริง ๆ

การคลำใบหน้า ใช้ตรวจสิ่งต่าง ๆ เช่น
1. ลักษณะผิวหนัง
 
ดูว่าผิวหน้าละเอียดนุ่มนวล หรือหยาบกร้าน บางหรือหนา อ่อนนุ่มหรือแข็งตึง ส่วนมากผิวหน้าของคน ปกติมักจะละเอียดและนุ่มนวลกว่าผิวหนังตามแขนขา ถ้าผิวหนังหยาบและขรุขระส่วนมากเกิดจากการเป็นสิว โดยเฉพาะ “สิวหัวช้าง” นั่นคือ สิวที่อักเสบเป็นตุ่มเป็นฝี ซึ่งรักษาได้โดยหมั่นฟอกหน้าด้วยสบู่อ่อน ๆ จนผิวหน้าแห้งตึง ห้ามเอามือไปถูกต้องใบหน้านอกจากเวลาล้างหน้า ห้ามแกะ เกา ขูด แคะใบหน้า ถ้าจะดึงเอาหัวสิวแข็ง ๆ ออกต้องฟอกมือและหน้าให้สะอาดก่อน แล้วใช้ปลายเล็บจิกลงบนหัวสิว แล้วดึงออก ห้ามบีบ ห้ามเค้นจนผิวหน้ารอบๆ สิวเจ็บหรือแดง ถ้าสิวมากและเป็นหนอง ระยะแรกให้กิน เตตร้าซัยคลีน ครั้งละ 2 เม็ด วันละ 4 ครั้ง ประมาณ 5-7 วัน เมื่อหนองหายแล้วให้กินครั้งละ 1 เม็ด หลังอาหาร เช้า – เย็น เป็นเวลา 2-4 เดือน
                      

 

 

หน้าที่เป็นสิวหัวช้าง

 

 

 

 

ถ้าผิวหน้าตึงเรียบและแข็ง จนใช้นิ้วหยิบ (ดึง) ไม่ขึ้น อาจจะเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจจะ
เรียกว่า โรคหนังแข็ง (scleroderma) โรคชนิดนี้ อาจจะทำให้ยิ้มยาก ถ้าปากลำบาก เพราะผิวหน้า
แข็งไปหมด กลืนอาหารลำบากเพราะหลอดอาหารจะแข็งไปด้วย โรคนี้ยังไม่มีวิธีรักษาที่ให้ผลดี
และแน่นอน

ถ้าผิวหน้าบริเวณหว่างคิ้ว ร่องจมูก (รอยต่อระหว่างจมูกกับแก้ม) และร่องผิวหนังบริเวณคาง มี
ลักษณะอักเสบ แดงเรื่อ ๆ เป็นขุย ๆ แสบ ๆ คัน ๆ มักเกิดจากผิวหนังอักเสบ เพราะต่อมไขมันทำ
หน้าที่มากเกินไป เรียกว่า โรคผิวหนังจากต่อมไขมัน (Seborrheic dermatitis) ซึ่งอาจจะพบได้
อีกที่หนังศีรษะ ไรผม (ชายผม บริเวณหน้าผาก) หลังหู หน้าอก และแผ่นหลังด้วย ให้ฟอกด้วย
สบู่อ่อน บ่อย ๆ จนผิวหนังตึง แล้วทาด้วยครีมเพร็คนิโซโลน (ทาบาง ๆ วันละ 2-3 ครั้ง) อาจพบ
ร่วมกับหน้าที่เป็นสิวด้วยก็ได้

 

2. ตุ่ม ก้อน รอยบุ๋ม แผลเป็น และจุดกดเจ็บต่าง ๆ ตุ่มและก้อนที่ไม่มีอาการอะไร แต่อาจจะโตใหญ่
ขึ้นได้อย่างช้า ๆ มักจะไม่มีอันตราย ถ้ารำคาญก็ควรผ่าตัดทิ้ง ไม่ควรใช้วิธีเจาะดูดน้ำออกเพื่อให้
ก้อนเล็กลง เพราะอาจทำให้เป็นหนองได้ และบางครั้งตุ่ม หรือก้อนนั้นอาจจะเป็นต่อมน้ำเหลือง
ที่โตขึ้น เช่น บริเวณหน้าหู
ถ้าเป็นตุ่มหรือก้อนเล็ก ๆ อาจเป็นต่อมไขมันที่พองโต เพราะปากต่อมถูกปิดด้วยไขมันที่แข็งตัว
เช่น หัวสิว ต่อมไขมันที่พองโตจึงทำให้เป็นสิวหัวช้าง ถ้ามีเชื้อโรคเข้าไปก็จะทำให้เป็นหนองได้
นอกจากนั้น ตุ่มหรือก้อนเล็กๆอาจเป็นไฝ ฝี หรือติ่งเนื้ออื่นๆ ได้ ถ้าเป็นรอยบุ๋มเล็ก ๆ บนใบหน้า มักจะเกิดจากจุดนั้นเคยเป็นแผล เป็นฝีมาก่อน พอหายก็กลายเป็น “แผลเป็น” ทำให้เกิดหลุมขรุขระบนใบหน้า

 

 


 

โรคผิวหนังจากต่อมไขมัน

 

 

 

 

ถ้าเป็นรอยบุ๋มใหญ่ ๆ บนใบหน้า มักจะเกิดจากกระดูกใบหน้าหัก และยุบลงไปในบริเวณนั้นถ้าคลำใบหน้าแล้วเจ็บที่จุดใด จุดนั้นมักจะมีการอักเสบบริเวณผิวหนัง เช่น ถ้ากดเจ็บ บริเวณหัวตาและอาการน้ำตาไหลทั้งวันแสดงว่าท่อน้ำตาอักเสบ และอุดตัน เป็นต้น บางครั้งการกดเจ็บเกิดจากการอักเสบที่ปลายประสาทบนใบหน้า ทำให้ รู้สึกเจ็บเสียวเวลาลูบคลำตรงจุดนั้นได้

ถ้าบริเวณคางหรือขากรรไกรบวมปูดและกดเจ็บ คลำได้เป็นส่วนนูนที่หยุ่นแข็ง มักจะเกิดจากฟัน
ผุหรือเหงือกอักเสบเป็นหนอง จนทำให้คางโย้ไปข้างหนึ่ง หรือบางครั้งก็เกิดจากโรคคางทูม
(mump) ที่ทำให้ต่อมน้ำลายบริเวณหน้าและใต้หูอักเสบ ทำให้หน้าโย้ไปข้างหนึ่งได้

 

3. เส้นเลือด ปกติจะมองไม่เห็นเส้นเลือดบนใบหน้า นอกจากบริเวณขมับทั้ง 2 ข้าง อาจจะเห็นเส้น
เลือดเขียวๆ (เส้นเลือดดำ) สัก 1-2 เส้นได้โดยเฉพาะในคนที่มีอารมณ์รุนแรง
แต่เส้นเลือดแดง (เส้นเลือดที่เต้นได้) มักจะมองไม่เห็นเลย ถ้าเมื่อใดมองเห็นเส้นนูนที่คดเคี้ยวและเต้นได้ (เส้นเลือดแดง) แสดงว่าผิดปกติ ให้คลำเส้นเลือดนั้นดู ถ้าเส้นเลือดนั้นแข็งและเจ็บ ก็แสดงว่าเส้นเลือดแดงอักเสบ มักพบในบริเวณขมับ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะและตาบอดได้

ดังนั้น คนที่มีอาการปวดศีรษะ โดยเฉพาะที่มีอาการกดเจ็บในบริเวณขมับด้วย จะต้องคลำเส้นเลือดในบริเวณขมับดูว่า เส้นเลือดนั้นแข็งและเจ็บไหม ถ้าแข็งและเจ็บ มักจะเป็นโรคเส้นเลือดแดงขมับอักเสบ (temporal arteritis) ต้องรีบรักษา มิฉะนั้นอาจจะทำให้ตาบอดได้ การรักษาโรคนี้มักจะต้องใช้ยาที่มีอันตรายมาก เช่น ยาเพร็ดนิโซโลน จึงควรจะวินิจฉัยโรคให้ได้แน่นอนก่อนจะใช้ยาพวกนี้ เช่น ด้วยการตรวจเลือด การเอาชิ้นเส้นเลือดที่อักเสบออกมาตรวจ เป็นต้น


การเคาะ ใช้ปลายนิ้วเคาะเบา ๆ ลงบนบ้างส่วนของใบหน้า เพื่อตรวจดูสิ่งต่าง ๆ เช่น
1. จุดเคาะเจ็บ จุดที่มีการอักเสบอยู่ลึก ๆ เช่น โพรงกระดูกอักเสบ (sinusitis) หรือที่เรียกกันว่า “ไซ
นัส” ส่วนใหญ่จะไม่เห็นและคลำไม่พบ จึงต้องใช้การเคาะเข้าช่วย
ถ้าเคาะตรงหว่างคิ้ว แล้วเจ็บอยู่ข้างใน แสดงว่า โพรงกระดูกตรงระหว่างคิ้วอักเสบ (frontal Si
nusitis) ถ้าเคาะตรงโหนกแก้ม แล้วเจ็บอยู่ข้างใน แสดงว่า โพรงกระดูกตรงโหนกแก้มอักเสบ
(maxillary sinusitis) แต่ต้องเคาะให้พอดี ๆ ถ้าเคาะแรงเกินไป แม้ข้างในจะไม่มีการอักเสบ ก็จะ
ทำให้เจ็บได้ ถ้าเคาะเบาเกินไป ก็อาจจะตรวจไม่พบได้ ให้ลองเคาะเบา ๆ ดูก่อนตรงส่วนที่ดีแล้ว
จึงไปเคาะส่วนที่คิดว่าจะอักเสบ แล้วเปรียบเทียบกัน


2. การทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อ ในคนปกติ เมื่อเคาะเบา ๆ ที่ส่วนหนึ่ง ส่วนใดของใบหน้า ไปหน้านั้นจะไม่มีการกระตุก หรือบิดเบี้ยว

แต่ในภาวะที่ประสาทและกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติไป เช่น ในโรคบาดทะยัก ในภาวะที่แคลเซียมในเลือดต่ำ ในภาวะที่เลือดเป็นด่างรุนแรง การเคาะใบหน้าในบริเวณหน้าหูจะทำให้เกิดการกระตุกของใบหน้าซีกนั้น หรือถ้าเคาะบริเวณปลายคาง ก็จะทำให้เกิดการกระตุกของคางได้
ในภาวะที่เส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณหน้าเกิดการอักเสบ การเคาะถูกเส้นประสาทนั้น ก็จะทำให้หน้าส่วนนั้นกระตุกได้ เช่นเดียวกัน

การฟัง : โดยปกติแล้วไม่ต้องตรวจใบหน้าด้วยการฟังยกเว้นในกรณีพิเศษจริง ๆ เช่น มีก้อนโป่งนูนที่ใบหน้าที่ทำให้สงสัยว่า จะเป็นเส้นเลือด ก็อาจจะใช้เครื่องฟัง ๆ ดูบริเวณนั้น
ถ้าได้ยินเสียงเต้น “ตุบ ๆ ๆ” ก็แสดงว่าเป็นเส้นเลือดแดงที่โป่งพองอยู่ข้างใน จนเต้นกระแทกกับส่วนของใบหน้าข้างใน
ถ้าได้ยินเสียง “ฟู่ ๆ ๆ” ก็แสดงว่าเป็นเส้นเลือดแดงกับเส้นเลือดดำที่ต่อถึงกันโดยตรง (arteriovenous fistula) หรือเป็นเนื้องอก เส้นเลือด (hemangioma)

การตรวจใบหน้าจึงประกอบด้วยวิธีตรวจทั้งการดู คลำ เคาะ และฟัง แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ การดู ถ้าดูเก่ง สังเกตให้ดี ก็จะช่วยในการตรวจรักษาโรคให้รวดเร็ว และแม่นยำขึ้น 

                                                                                                                           (อ่านต่อฉบับหน้า )

 

ข้อมูลสื่อ

22-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 22
กุมภาพันธ์ 2524
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์