คอลัมน์นี้เคยพูดถึงการกระโดดเชือกไปเมื่อไม่นานมานี้ (มีนาคม 2530) แต่จากความสนใจในการกระโดดเชือกที่แพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน คิดว่าน่าจะมีแง่มุมให้คุยกันต่อสักหน่อย
กระโดดเชือก วิเศษแค่ไหน
ได้กล่าวไปแล้ว (ในฉบับเดือนมีนาคม) ว่า กระโดดเชือกเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างหนึ่ง แต่ก็มีผู้กล่าวอ้างว่า การกระโดดเชือกดีกว่าการออกกำลังกายแบบแอโรบิกอื่นๆเช่น การวิ่งจ๊อกกิ้ง โดยยกตัวอย่างการกระโดดเชือก 10 นาที มีคุณค่าเท่ากับการวิ่งถึง 30 นาที
เป็นความจริงหรือ
ครั้งหนึ่งมีคนเชื่อในคำกล่าวนี้กันมาก โดยอ้างผลการศึกษาที่มีผู้ทำไว้เมื่อ 20 ปีก่อน โดยเปรียบเทียบผลการออกกำลังกายด้วยการกระโดดเชือกกับการวิ่งปรากฏว่า การกระโดดเชือกเพียง 10 นาที มีผลต่อความฟิตของร่างกายเท่าเทียมกับการวิ่งครึ่งชั่วโมง
ผลการศึกษานี้ได้ถูกโฆษณาอย่างมากมาย ทำให้การกระโดดเชือกมีชื่อเสียงในแง่เป็นการออกกำลังกายที่ใช้เวลาน้อยแต่ได้ผลมาก
การศึกษาที่ทำต่อๆมา ไม่มีใครยืนยันผลการศึกษานั้นได้เลย มีแต่ว่า
“การกระโดดเชือกเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าทำด้วยความหนักและนานเท่ากับการออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างอื่นๆ (วิ่ง ว่ายน้ำ จักรยาน เดิน) ก็จะได้ผลออกมาเหมือนๆกัน”
ครับ ความวิเศษของการกระโดดเชือกว่าดีเหนือการออกกำลังอย่างอื่นถึง 3 เท่า ก็เลือนหายไป
กระโดดเชือกเหมาะสำหรับคนทั่วไปหรือไม่
เรื่องนี้ได้พูดไว้บ้างแล้ว การกระโดดเชือกไม่ใช่เรื่องเหมาะสำหรับผู้เริ่มออกกำลังกายใหม่ๆ หรือคนที่ร่างกายไม่ฟิต
เนื่องจากการกระโดดต้องใช้พลังงานอย่างมากอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
ถ้าเราเดินหรือวิ่ง เราจะไปช้าหรือเร็วก็ได้ตามใจเรา
แต่กับการกระโดดเชือก เราไม่สามารถแกว่งช้าเกินไปได้ (เพราะจะกระโดดติด)
อย่างต่ำๆก็ 50-75 รอบต่อนาที ซึ่งใช้พลังงาน 10-12 แคลอรีต่อนาที หรือเทียบเท่าการวิ่ง 10-12 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ถ้าหากแกว่งเร็วถึง 125-145 รอบต่อนาที ก็จะเทียบเท่าการวิ่ง 14-15 กิโลเมตรต่อชั่วโมงทีเดียว
ดังนั้น การกระโดดเชือกจึงเหมาะสำหรับคนที่มีร่างกายฟิตอยู่แล้วจากการออกกำลังกายอย่างอื่นๆ เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ถีบจักรยาน ในคนพวกนี้จะกระโดดเชือกเป็นของแถม หรือทดแทนการออกกำลังกายอย่างอื่นๆก็ไม่ผิดกติกา
แต่สำหรับคนที่ห่างเหินการออกกำลังกายมานาน โดยเฉพาะคนมีอายุ การเริ่มต้นด้วยการกระโดดเชือกอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ฉลาด
กระโดดเชือกปลอดภัยจริงหรือ
ถึงแม้การกระโดดเชือกจะเลือกกระโดดตามพื้นนิ่มๆได้ แต่ก็ไม่สะดวกในทางปฏิบัติ เพราะพื้นนิ่มๆจะทำให้กระโดดเชือกไม่ติดได้ยาก การกระโดดเชือกจึงมีโอกาสเจ็บได้เช่นเดียวกับการวิ่ง ส่วนที่เจ็บบ่อยคือ เท้า ข้อเท้า และหน้าแข้ง นอกจากนี้การเจ็บเข่าก็พบไม่น้อย ฉะนั้นการบริหารกล้ามเนื้อขาส่วนล่างให้แข็งแรงจึงเป็นเรื่องจำเป็น เช่นเดียวกับการอุ่นเครื่องก่อนการกระโดดเชือกทุกครั้ง
สรุปว่า กระโดเชือกเป็นการออกกำลังกายที่มีประโยชน์ แต่ก็มีข้อจำกัดที่เราควรรู้ เพื่อการนำไปใช้ให้ถูกต้อง
- อ่าน 35,973 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้