• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกาย( ตอนที่ 13)

การตรวจร่างกาย( ตอนที่ 13)


ข. การตรวจสิ่งแสดงชีพ

นอกจากการตรวจชีพจร การหายใจ และอุณหภูมิ (ความร้อนเย็น) ของร่างกาย ดังที่ได้กล่าวถึงในฉบับก่อนๆ แล้ว การตรวจสิ่งแสดงชีพ ยังหมายถึงการตรวจ

4. ความดันเลือด (blood pressure)
ซึ่งในที่นี้หมายถึงความดันในหลอดเลือดแดง (arterial blood pressure) ไมได้หมายถึงความดันในหลอดเลือดดำ (venous blood pressure) หรือความดันในหลอดเลือดฝอย (capillary blood pressure) หรืออื่น ๆ เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึง “ความดันเลือด” เราจะหมายถึงความดันในหลอดเลือดเสมอ ถ้าจะพูดถึงความดันในหลอดเลือดอื่น เราก็จะใช้คำที่สมบูรณ์เต็มที่ เป็นความดันในหลอดเลือดดำ ความดันในหลอดเลือดฝอย หรืออื่น ๆโดยปกติ เราจะมองไม่เห็นหลอดเลือดแดง นอกจากในคนแก่ที่ผอม และมีหลอดเลือดแดงแข็ง เราก็จะเห็นหลอดเลือดแดงเป็นเส้นนูนขึ้นมาใต้ผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณข้อพับของข้อศอกด้านในและเส้นที่เห็นนี้จะเต้นเป็นจังหวะที่เราเรียกว่า ชีพจร ซึ่งคลำได้นั่นเอง
ส่วนหลอดเลือดดำนั้นเราเห็นง่าย

โดยเฉพาะในคนที่ออกกำลังเป็นประจำ จะเห็นเป็นเส้นเขียว ๆ ตามหลังมือ แขน ขา และหลังเท้า โดยเฉพาะเวลาที่ใช้เชือกหรือสายยางรัดต้นแขน หรือต้นขาไว้สักพัก เส้นเลือดดำเหล่านี้ ก็จะโป่งจนเห็นชัดเจนขึ้น แต่เส้นเลือดดำจะไม่เต้นแรงจนเราสามารถจำคลำหรือเห็นการเต้นของมันได้ (เวลาที่เราเจาะเลือดไปตรวจหาน้ำตาล ไขมัน และอื่น ๆ เกือบทั้งหมด เราก็จะเจาะเลือดจากเส้นเลือดดำเหล่านี้)
ส่วนหลอดเลือดฝอยนั้นไม่เห็น นอกจากในคนที่ผิวขาวและหนังบางมาก ก็อาจจะเห็นเป็นเส้นเลือดละเอียดฝอยสีแดง หรือสีชมพูในบางส่วนของร่างกายได้ เส้นเลือดฝอยที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่านี้ ก็มักจะเป็นเส้นเลือดฝอยที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติมาก

เมื่อเรามองไม่เห็นหลอดเลือดแดงแล้ว เราจะวัด “ความดันเลือด” หรือบางคนก็เรียกว่า “ความดันโลหิต” ได้อย่างไร
ไม่ยากเลย เราวัดความดันเลือดได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น
1. วัดโดยใช้การคลำชีพจร
เช่น ถ้าเราคลำชีพจรที่ข้อมือจนชำนาญ (ดูเรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” ใน หมอชาวบ้าน เดือนสิงหาคม 2523) เราก็พอจะบอกได้ว่า ความดันเลือดนั้นสูงมาก หรือต่ำมาก แต่วิธีนี้ไม่ใคร่จะแน่นอนนัก และอาจจะทำให้ผิดพลาดมากๆ ได้

2. วัดโดยใช้ผ้าพันรอบต้นแขน ซึ่งเป็นวิธีที่เราใช้กันทั่วไป และจะได้กล่าวถึงโดยละเอียดต่อไป
(ดูรูปที่ 1)
                                 

 

3. วัดโดยใช้เข็มหรือสายยางใส่เข้าไปในหลอดเลือดแดง ซึ่งเป็นวิธีที่ทำได้ยากที่สุด เพราะต้องใช้เครื่องมือและความชำนาญมาก คนไข้ก็ต้องเจ็บมาก จึงใช้เฉพาะในรายที่คนไข้เจ็บหนักมาก และต้องการการวัดความดันเลือดที่แน่นอนที่สุด จึงจะใช้วิธีนี้


การวัดความดันเลือดแบบทั่วไป

การวัดความดันเลือดแบบทั่วไปนั้น วัดโดยใช้ผ้าพันรอบต้นแขน แล้วมีเครื่องวัดซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ
 


1. ชนิดปรอท (ดูรูปที่ 2) ชนิดปรอทจะมีหลอดแก้วยาววางอยู่ตรงกลางของเส้นตารางที่เขียนบอกตัวเลข ตั้งแต่ต่ำสุด คือ 0 ถึง 250 หรือ 300 (ถ้าเครื่องนั้นมีหลอดแก้วสั้น ตัวเลขสูงสุดอาจจะอยู่แค่ 250 ถ้าเครื่องนั้นมีหลอดแก้วยาว ตัวเลขสูงสุดอาจจะสูงถึง 300 หรือมากกว่าก็ได้ เครื่องวัดชนิดปรอทนี้ จะมีปรอทเป็นตัวบอกระดับความดันเลือด)

 

2. ชนิดสปริง (ดูรูปที่ 3) ชนิดสปริงจะมีหน้าปัดเป็นรูปกลมคล้ายนาฬิกา แต่มีเข็มเดียว เข็มนั้นจะหมุนจากเลข 0 ขึ้นไปถึงเลข 250 หรือ 300 เพื่อบอกระดับความดันเลือด

ชนิดสปริงนี้มี 2 แบบ คือ
ก. แบบธรรมดา ซึ่งต้องใช้การจับชีพจร หรือการใช้เครื่องฟังในการวัด
ข. แบบอัตโนมัติ ซึ่งจะมีเสียงหรือมีแสง หรืออื่น ๆ เพื่อให้อ่านระดับความดันเลือดได้เลย โดยไม่ต้องจับชีพจรหรือใช้เครื่องฟัง แบบนี้ราคาแพงกว่าแบบธรรมดา แต่ผลที่ได้ไม่ค่อยแน่นอน และผิดพลาดได้ง่ายกว่าแบบธรรมดา
เครื่องวัดความดันชนิดปรอทเป็นเครื่องที่ถูกต้องแม่นยำกว่าเครื่องแบบสปริง แต่รูปร่างเทอะทะ พกติดตัวไปไหนมาไหนไม่สะดวก และถ้าถือเครื่องวัดโดยกลับด้านหัว (ด้านยอด) ลงข้างล่างปรอทจะหก ทำให้ต้องคอยเติมปรอทอยู่เสมอ (ดูรูปที่ 4)



เครื่องวัดความดันชนิดสปริง เป็นเครื่องที่เล็กกะทัดรัด พกติดตัวไปไหนมาไหนได้สะดวก แต่ไม่ค่อยถูกต้องแม่นยำ เพราะสปริงที่ใช้เสื่อมไปตามกาลเวลาได้ จึงต้องคอยเปรียบเทียบกับเครื่องวัดชนิดปรอทเสมอๆ เพื่อให้แน่ใจว่าค่าที่อ่านได้จะต้องปรับขึ้นหรือปรับลงเท่าใด จึงจะเป็นค่าที่ถูกต้อง
การพันผ้ารอบต้นแขน ก่อนอื่น ให้พับหรือเลิกแขนเสื้อ หรือสิ่งอื่นใดในบริเวณต้นแขนให้สูงขึ้น ไปทางหัวไหล่ เพื่อให้ต้นแขนเปลือย จะทำให้การวัดถูกต้องแม่นยำกว่า
ในกรณีที่แขนเสื้อคับมากจนพับหรือเลิกแขนเสื้อไปทางหัวไหล่ไมได้ ควรให้ถอดเสื้อออกหรือถอดเสื้อเฉพาะแขนข้างที่จะวัด เพื่อให้ต้นแขนข้างนั้นเปลือยเสีย
ในกรณีที่เป็นผู้หญิง ที่การถอดเสื้อดูจะเป็นการน่าเกลียด หรือในกรณีที่ต้องการตรวจอย่างคร่าว ๆ (ไม่ต้องการความแม่นยำเต็มที่) ก็อาจจะทำการวัดนอกแขนเสื้อได้

ชนิดของผ้าในเครื่องวัดความดัน ผ้าพันรอบต้นแขนในเครื่องวัดความดันแบ่งออก ได้เป็น 3 ชนิด

 

 

1. ชนิดเหน็บ (ดูรูปที่ 5 ก) จะเป็นผืนยาว ส่วนแรกจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและหนา เพราะภายในจะมีถุงยางอยู่ ส่วนหลังจะเป็นส่วนยาวเรียว มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมยาวมาก ชนิดนี้ทนที่สุด และนำไปซักล้างได้ง่ายเมื่อสกปรก แต่คนที่ใช้ไม่เป็น จะรู้สึกว่ามันรุ่มร่ามเกินไป

2. ชนิดเกี่ยว (ดูรูปที่ 5 ข ) จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนแรกจะมีถุงยางอยู่ ส่วนหลังไม่มีถุงยาง และตรงปลายของส่วนหลังจะมีตะขอ ซึ่งใช้สำหรับเกี่ยวซี่ลวดที่มีอยู่เป็นระยะ ๆ บนส่วนกลางของผืนผ้า ชนิดนี้ใช้สะดวกแต่ไม่ค่อยทน เพราซี่ลวดมักจะดึงผ้าหรือด้ายขาด ซักล้างได้ยากกว่า และในคนที่ไม่ระวังเวลาเก็บเครื่องวัด ส่วนตะขอที่เป็นเหล็กอาจจะไปกระทบหรือกระแทกหลอดแก้ว ทำให้หลอดแก้วแตกได้

3. ชนิดติด (ดูรูปที่ 5 ค) จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเช่นเดียวกับชนิดเกี่ยว ส่วนแรกจะมีถุงยางอยู่และด้านหนึ่งของส่วนแรกจะมีผ้าขรุขระติดไว้ สำหรับยึดติดกับผ้าขรุขระในอีกด้านหนึ่งของส่วนหลังที่ไม่มีถุงยางอยู่ ชนิดนี้ใช้สะดวกที่สุด แต่ไม่ค่อยทน และซักล้างได้ยากกว่า

วิธีพันผ้า โดยปกติ ผ้าที่ใช้วัดความดัน จะถูกม้วนพับเก็บไว้ในเครื่องวัดความดัน ในลักษณะที่จะใช้ได้ทันที นั่นคือ ส่วนหลัง (ส่วนปลายสุด) จะถูกม้วนพับไว้ข้างในสุด และส่วนแรกที่จะพันแนบติดกับต้นแขนจะอยู่นอกสุด เวลาจะใช้ ให้หยิบออกมาทั้งม้วน และอย่าคลี่ออกจนเป็นผืนยาวเกะกะ โดยเฉพาะผ้าชนิดเหน็บ จะทำให้ดูรุ่มร่ามมาก
เมื่อหยิบออกมาทั้งม้วนแล้ว ให้แนบส่วนแรกของม้วนลงกับต้นแขน โดยให้ขอบล่างสุดของผ้าอยู่เหนือรอยพับของข้อศอก อย่างน้อย 2-3 นิ้วมือถ้าทำได้ ใช้นิ้วมือข้างหนึ่งยึดปลายของส่วนแรกไว้ให้แนบสนิทกับต้นแขน ส่วนมืออีกข้างหนึ่งก็คลายม้วนผ้าเพื่อพันรอบต้นแขน จนมาซ้อนทับปลายส่วนแรกที่ใช้นิ้วมือยึดไว้อย่างแนบสนิทแล้ว จึงปล่อยนิ้วจากปลายส่วนแรกได้ แล้วใช้สองมือช่วยกันพันผ้านั้นรอบต้นแขน (ดังรูปที่ 6)
 

             

สำหรับผ้าพันชนิดเหน็บ
ให้พันผ้ารอบต้นแขนไปเรื่อย ๆ จนหมดม้วน แล้วเหน็บปลายสุดของส่วนหลังไว้ในขอบผ้าด้านนอก (ไม่เหน็บไว้ในขอบผ้าด้านในสุดที่อยู่แนบกับเนื้อของต้นแขน)

สำหรับผ้าพันชนิดเกี่ยว
เมื่อพันผ้ารอบต้นแขนจนหมดม้วนแล้ว ให้ใช้ตะขอเกี่ยวกับซี่ลวดที่อยู่พอดีตรงนั้น (พอดี ในที่นี้หมายความว่า เมื่อเกี่ยวแล้ว ผ้าจะต้องแนบสนิทกับต้นแขน ไม่ใช่หลวมโพลกจนดึงหลุดลงมาทางปลายแขนได้)

สำหรับผ้าชนิดติด
เมื่อพันผ้ารอบต้นแขนจนหมดม้วนแล้ว ก็ให้กดผ้าส่วนหลังกับผ้าส่วนแรกที่แนบติดกับต้นแขนอยู่ เพื่อให้ส่วนขรุขระของผ้าทั้งสองด้านประกบเข้าหากันและยึดติดกันไว้

การพันผ้าวัดความดันที่ถูกต้อง จะมีลักษณะดังนี้
1. ส่วนแรกของผ้า (ส่วนที่มีถุงยาง) จะต้องวนรอบต้นแขนและซ้อนทับกันได้เป็นดีที่สุด ในกรณีที่เป็นไปไม่ได้ เช่น ในคนอ้วนที่ต้นแขนใหญ่ ก็ควรพันให้ส่วนที่มีถุงยางครอบคลุมต้นแขนทางด้านในให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

2. ส่วนกว้างของผ้า จะต้องยางประมาณ 2 ใน 3 ของความยางของต้นแขน ดังนั้นจะใช้ผ้าวัดความดันเลือดของเด็ก มาวัดในผู้ใหญ่ไม่ได้

3. ขอบล่างของผ้าจะต้องอยู่เหนือรอยพับของข้อศอกอย่างน้อย 2-3 นิ้วมือ ดังนั้นจะใช้ผ้าวัดความดันเลือดของผู้ใหญ่มาวัดในเด็กไม่ได้ และไม่ว่าจะในเด็กหรือผู้ใหญ่ ก็ควรจะพันผ้าให้อยู่เหนือรอยพับของข้อศอก อย่างน้อย 2-3 นิ้วมือ

4. ผ้าจะต้องแนบสนิทกับต้นแขนและเรียบ ไม่ใช่ขยุกขยุยหรือยู่ยี่เป็นเกลียว และเมื่อดึงขอบล่างของผ้าทั้งม้วนลงมาทางปลายแขนอย่างเบาๆ ผ้านั้นจะต้องไม่หลวมจนหลุดเลื่อนลงมาได้

5. ส่วนของสายยางที่โผล่ออกมาจากถุงยาง จะต้องไม่รบกวนการวางเครื่องฟัง ซึ่งมักจะวางลงตรงบริเวณด้านในของรอยพับที่ข้อศอก หรือด้านในของส่วนล่างของต้นแขน ตรงที่คลำชีพจรได้ชัดเจน

การดูระดับความดันเลือด เมื่อพันผ้ารอบแขนจนแน่นกระชับกับต้นแขนดีแล้ว ให้ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้หมุนปุ่มเกลียวที่ใช้ปิดเปิดทางลม จนปุ่มเกลียวนั้นเลื่อนลงไป ใกล้กับแกนเหล็กมากที่สุด ซึ่งเป็นการปิดรูไม่ให้ลมรั่วออกแล้วใช้มือบีบลูกยาง ไล่ลมเข้าไปในถุงยางที่พันอยู่รอบแขน ถุงยางจะพองตัวรัดต้นแขนแน่น และทำให้เกิดแรงดันเข้าไปในเครื่องวัด ซึ่งถ้าเป็น
ก. ชนิดปรอท ก็จะเห็นปรอท (สีเงิน) วิ่งขึ้นไปตามหลอดแก้ว
ข. ชนิดสปริง ก็จะเห็นเข็มหมุนไปบนหน้าปัทม์
ซึ่งแสดงถึง แรงดันเป็น มิลลิเมตรปรอท ที่กำลังบีบรัดแขนอยู่ถ้าบีบลูกยางแล้วคลาย แล้วบีบใหม่ สลับกันไปเรื่อย ๆ เช่นนี้ ลมจะถูกดันเข้าไปในถุงยางมากขึ้น ๆ ทำให้แรงดัน ( แรงบีบรัด) เพิ่มขึ้น ๆ จนในที่สุดจะคลำชีพจรที่ข้อมือไม่ได้ ถึงตอนนี้ ให้บีบลูกยางให้แรงดันเพิ่มขึ้นอีก ประมาณ 30-40 มิลลิเมตรปรอท แล้วจึงใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ของมือที่บีบลูกยางอยู่ ค่อย ๆ คลายปุ่มเกลียวที่ปิดรูลมออก เพื่อให้ลมออกช้า ๆ แรงดันในถุงยางจะได้ลดลงอย่างช้า ๆ

ใช้มือที่เหลืออยู่อีกข้างหนึ่งคอยจับชีพจรที่ข้อมือไว้ และใช้ตาจ้องจับอยู่ที่ระดับปรอทในหลอด แก้วสำหรับเครื่องวัดชนิดปรอท ( หรือตำแน่งของเข็มบนหน้าปัดสำหรับเครื่องวัดชนิดสปริง)
เมื่อปล่อยลมให้แรงดันค่อย ๆ ลดลง ๆ จนถึงระดับหนึ่ง จะเริ่มเห็นระดับปรอทในหลอดแก้วเต้นเป็นจังหวะ สำหรับเครื่องวัดชนิดปรอท ( หรือตำแหน่งของเข็มบนหน้าปัทม์ เริ่มเต้น (กระดิก) ไปมา สำหรับเครื่องวัดชนิดสปริงและพร้อมกันนั้นหรือหลังจากนั้นเล็กน้อย ก็จะคลำชีพจรที่ข้อมือได้
ระดับความดันที่เริ่มคลำชีพจรได้ หรือเมื่อเริ่มเห็นระดับปรอทหรือเข็มเต้น จะถือว่าเป็น “ความดันเลือดตัวบน” (Systolic blood pres sure) ก็ได้ ส่วน “ความดันเลือดตัวล่าง” (diastolic blood pressure) นั้น สังเกตจากการคลำชีพจร หรือการมองระดับปรอท หรือเข็มเต้นได้ยากจึงควรจะใช้การฟังมากกว่า

การวัดความดันเลือดด้วยการฟัง โดยทั่วไปจะใช้ “เครื่องฟัง” (Stethoscope) ซึ่งมีหลายลักษณะด้วย กัน เช่น

                                              
1. รูปกรวย 
เป็นแบบโบราณ อาจจะใช้ไม้ เหล็ก ดินเผา หรืออะไรก็ได้ ที่สามารถจะเอาปลายข้างหนึ่งมาใส่ในหูได้ ส่วนปลายอีกข้างก็วางลงตรงบริเวณที่ต้องการจะฟัง (รูปที่ 7)
 

                              

2. รูปแบบใช้ฟังสองหู 
มีหลายลักษณะด้วยกัน (ดูรูปที่ 8) แต่ทั้งหมดจะประกอบด้วยส่วนที่ใช้เสียบไว้ในรูหูทั้ง 2 ข้าง ส่วนที่เป็นหลอดโลหะกลาง ส่วนที่เป็นสายยาง และส่วนที่เป็นรูปกรวยสำหรับรับเสียง หรืออาจจะเป็นตลับรับเสียงก็ได้

เครื่องฟังบางอันก็มีทั้งกรวยและตลับรับเสียงติดอยู่ด้วยกันกรวยจะรับเสียงต่ำได้ดีกว่า ส่วนตลับจะรับเสียงสูงหรือเสียงทั่ว ๆ ไปได้ดีกว่า ในการวัดความดันเลือดส่วนใหญ่แล้ว การใช้ตลับจะทำให้ได้ยินเสียงชัดกว่า แต่ในบางรายที่เสียงเบามาก การใช้กรวยอาจจะทำให้ได้ยินเสียงชัดกว่า

 

ข้อมูลสื่อ

19-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 19
พฤศจิกายน 2523
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์