• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มาเป็นหมอกันเถิด

เห็นชื่อเรื่องเข้าแล้ว บางคนอาจจะรู้สึกตกไจ คิดว่าตนเองนั้นจบแค่ ป.4 จะเป็นหมอได้อย่างไร โดยเฉพาะถ้าจะเป็น หมอรักษาคน เสียด้วย ถ้าจะเป็นหมอรักษาต้นไม้ รักษาควาย รักษาหมู หรือเป็นหมอดู หมอนวด หมอลำ หรือหมออื่นๆ ละก็เห็นจะง่ายกว่า

อย่าไปดูถูกตัวเองอย่างนั้น เพราะเขาพิสูจน์มาแล้ว ไม่ใกล้ไม่ไกลหรอก ในบ้านเมืองของเราเอง ที่
ภาคอีสานอย่างไรล่ะ เขานำเอาชาวบ้านจากถิ่นกันดาร ซึ่งเป็นสาวรุ่นๆ (อายุ 18 ปี) จบแค่ ป.4 และส่วนใหญ่เป็นสาวโสดอีกด้วย (เรียกว่ายังไม่มีประสบการณ์หรือผ่านประสบการณ์เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บมากนัก) มาให้การฝึกอบรมเพียง 30 วัน (อันที่จริงที่เรียนวิชาดูแลรักษาโรคนั้นน้อยกว่านี้มาก เพราะต้องเรียนวิชาอื่นๆ ด้วย ในระยะ 30 วันนี้) พอเรียนจบก็สำเร็จออกมาเป็นหมอรักษาคนได้ เรียกว่า “หมออาสาหมู่บ้าน” หรือ ม.อ.บ.

“หมออาสาหมู่บ้าน” เหล่านี้ กลับไปช่วยเหลือญาติพี่น้องและชาวบ้านในที่กันดารได้เป็นอย่างดี สามารถฉีดยา ให้น้ำเกลือ เย็บแผล ทำคลอด รักษาโรคภัยไข้เจ็บ และอื่นๆ ทำให้ชาวบ้านที่ต้องทุกข์ทรมานเพราะความเจ็บป่วย และการขาดแคลนหมอ (แพทย์ พยาบาล พนักงานอนามัย ฯลฯ) ได้รับการดูแลรักษาให้พ้นความทุกข์ทรมานไปได้ ในรายที่คนไข้เจ็บหนักก็สามารถให้การปฐมพยาบาลและการดูแลรักษาขั้นต้น เพื่อทุเลาอาการก่อนจะส่งคนไข้ไปรับการรักษาจากหมอที่โรงพยาบาลต่อไป

ได้รู้อย่างนี้แล้ว ดูจะใจชื้อขึ้นหน่อย สาวรุ่นๆ เขายังเป็นหมอได้ ภายหลังการศึกษาเล่าเรียนเพียง 30 วัน เราก็ไม่โง่หรือเซ่อไปกว่าเขานี่ ป.4 เราก็จบมาแล้ว หรือจบมาหลายปีแล้ว จนเรียนจบจบชั้นสูงกว่า ป.4 เสียด้วยซ้ำ ทำไมเราจะเป็นหมอรักษาคนบ้างไม่ได้ ให้อ่านออกเขียนได้เท่านั้นแหละ แล้วก็ติดตามอ่านหนังสือ “หมอชาวบ้าน” นี่แหละไปเรื่อยๆ หรือจะอ่านหนังสือ เช่น “คู่มือดูแลรักษาสุขภาพสำหรับประชาชน” หรือ “หมอประจำบ้าน” ของมูลนิธิโกมลคีมทอง หรือหนังสืออื่น จะทำให้เป็นหมอรักษาคนได้ โดยเฉพาะการดูแลรักษาตนเอง และญาติพี่น้อง ถ้าการดูแลรักษานั้นทำไปโดยมิได้ผิดกฎหมายหรือไม่ได้หวังสินจ้างและอามิสตอบแทน

ก่อนจะเป็นหมอ

เอาล่ะนะ เมื่อตระเตรียมใจ ใคร่จะได้เป็นหมอรักษาคนแล้ว ก่อนอื่นเห็นจะต้องให้ ไหว้ครู เสียก่อน ครูคนแรกของทุกๆ คน ก็คือ พ่อ แม่ รองลงมาก็คือ ญาติพี่น้องอื่นๆ ที่ช่วยสอนและช่วยฝึกอบรมเรามา รองลงมาอีกก็คือ ครูบาอาจารย์ที่สอนเราจนอ่านออกเขียนได้และอื่นๆ

ในการไหว้ครูนี้ ขอให้นั่งนิ่งๆ หลับตา ระลึกถึงพระคุณของครูต่างๆ ที่ได้ก่อกำเนิดเรา และทะนุถนอมเรามาจนสามารถเติบโต และมีความรู้ความสามารถตามสมควรแก่อัตภาพ ในการระลึกถึงนี้จะทำให้เราได้ตระหนักว่า การที่เราเกิดและเจริญเติบโตมาได้นี้ ก็เพราะคนอื่นและสิ่งแวดล้อม

ถ้าไม่มีพ่อ แม่ เราก็คงไม่ได้เกิดมา

ถ้าไม่มีอาหาร (ข้าว ปลา ผัก ฯลฯ) ที่คนอื่นปลูก และหามาให้ เราก็คงไม่สามารถเจริญเติบโตมาได้ถึงเพียงนี้

ถ้าไม่มียารักษาโรค ที่คนอื่นผลิตมาให้เราได้ใช้ เราก็คงจะเจ็บป่วยและล้มตายไปแล้วตั้งแต่เด็กๆ เป็นต้น

ดังนั้น การที่เราจะเป็นหมอรักษาคนได้ เราจึงต้องเป็น “คน” ให้ได้เสียก่อน มิฉะนั้นเราก็ไม่ควรจะเป็นหมอรักษาคน เพราะคงไม่มีใครที่ไหนอยากจะให้ “หมอที่ไม่ใช่คน” มารักษาตน

เราจะเป็น “คน” ได้ก็ต่อเมื่อเรามีความรู้สึก และมีความสำนึกอยู่เสมอว่า “เรานั้นเกิด เติบโต และดำรงชีวิตมาได้โดยคนอื่นและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เราจึงจะต้องพยายามให้คนอื่น และสิ่งแวดล้อมดำรงชีวิตอยู่ได้ เช่นเดียวกับเรา หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับเรา” ไม่ใช่ว่าเรากินอยู่อย่างเหลือเฟือ ในขณะที่เพื่อนบ้านของเราไม่มีจะกินหรือกินมื้ออดมื้อ ถ้าเราเป็นเช่นนี้แล้ว “ความเป็นคน” ของเราก็มีน้อย ยิ่งถ้าเราใช้ “ความเป็นหมอ” ของเรา ขูดรีดจากคนไข้ เพื่อให้เรารวยล้นฟ้า ในขณะที่เพื่อนมนุษย์ตาดำๆ ของเรายังอดมื้อกินมื้อละก็ เราก็คงจะ “ไม่ใช่คน” อีกต่อไป

ผู้ที่อยากจะเป็น “หมอรักษาคน” จึงต้องระวังตนอยู่เสมอ อย่าเผลอตัวปล่อยให้ความอยากได้ของตนทำลายตนเองลงจน “ไม่ใช่คน” อีกต่อไป

ผู้ที่ใคร่จะเป็น “หมอรักษาคน” จึงต้อง “เอาใจเขามาใส่ใจเราเสมอ” หรือดังในพุทธภาษิตว่า “อตฺตานํ อุปมํกเร” โดยคิดอยู่เสมอว่า “ถ้าเราเป็นคนไข้คนนี้ เราจะยอมให้หมอทำกับเราเช่นเดียวกับที่เรากำลังจะทำกับคนไข้คนนี้หรือไม่” ในทุกครั้งที่เราจะตรวจ หรือรักษา หรือคิดเงินคนไข้ ขอให้เราคิดเช่นนี้เสมอ แล้วเราจะเป็น “คน” และเป็น “หมอที่เป็นคน” ด้วย

สมเด็จพระบรมราชชนก ซึ่งเป็นพระบิดาของในหลวงองค์ปัจจุบัน และเป็นพระบิดาของการแพทย์ไทยด้วย ก็ได้ทรงเตือนแพทย์ไทยทั้งหลายตั้งแต่ยังทรงพระชนม์อยู่ว่า “ฉันไม่อยากให้เธอเป็นเพียงแพทย์เท่านั้น ฉันอยากให้เธอเป็นคนด้วย”

“ความเป็นคน” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าจะเป็นหมอรักษาคน “ความเป็นคน” ของเราจะอุ้มชูให้เราได้รับความเคารพบูชาจากคนทั่วไป และเราจะไม่มีวันอดตายเป็นอันขาด ถ้าเราไม่ขาด “ความเป็นคน” นี้ ข้าวของเงินทองจะหลั่งไหลมาหาเราเองโดยเราไม่ต้องร้องขอ จะสร้างความสะดวกสบายให้แก่เราตามควรแก่อัตภาพ และสร้างความภาคภูมิใจให้แก่เรา

แม้เราจะไม่รวยวัตถุจนล้นฟ้าเหมือน “หมอที่ไม่ใช่คน” ก็ตาม แต่เราก็ไม่จน (ไม่ขาดแคลน) มิหนำซ้ำ เราจะรวยความรัก ความนับถือ ความเคารพบูชาไปทั่วสารทิศ ผิดกับ “หมอที่ไม่ใช่คน” ซึ่งจะถูกเหยียดหยาม ดูแคลน และเป็นที่รังเกียจโดยทั่วไป ถ้าไม่โดนว่าต่อหน้าโดยตรงก็โดนด่าลับหลัง จน “เสียชื่อ” ไปทั่วเมือง

เมื่อเรารักเพื่อนมนุษย์ของเราและต้องการให้เขาพ้นจากความสามารถในการดูแลรักษาโรคจะค่อยๆ เพิ่มพูนขึ้น โดยเฉพาะถ้าเราขวนขวายศึกษาจากตำรา จากผู้รู้ และจากประสบการณ์ของเราเอง เมื่อเราตรวจคนไข้แบบนี้ ให้ยาอย่างนี้ไป แล้วคนไข้ก็ดีขึ้น เราก็จะรู้และจำได้ว่า อาการแบบนี้ปัญหาแบบนี้ ต้องใช้ยาอย่างนี้ แต่ถ้าเราให้ยาอย่างนี้ไปแล้ว คนไข้กลับทรุดลง เราก็ต้องรีบเปลี่ยนยา และจำไว้ว่า อาการแบบนี้ปัญหาแบบนี้ จะใช้ยาอย่างนี้ไม่ได้

นอกจากนั้น จะต้องจำใส่ใจไว้ด้วยว่า “ลางเนื้อชอบลางยา” นั่นคือ คนไข้ที่มีอาการและปัญหาแบบเดียวกัน อาจจะดีขึ้นด้วยยาที่ไม่เหมือนกันได้ เช่น นาย ก. และ นาย ข. เป็นปอดบวมเหมือนกัน นาย ก. ใช้ยาเบอร์ 1 แล้วหาย แต่นาย ข. ใช้ยาเบอร์ 1 แล้วอาจเป็นผื่นคัน หรือแพ้ยาจนช็อคตายได้ เพราะฉะนั้นการใช้ยาหรือวิธีรักษาอะไรก็ตาม จะต้องจำไว้ว่า

ถ้ายาหรือวิธีรักษาอะไรก็ตามที่ทำให้คนไข้ทรุดลง ยาหรือวิธีรักษานั้นจะไม่ถูกกับโรคของคนไข้ หรือไม่ถูกกับคนไข้ ให้หยุดยา หรือวิธีรักษานั้นทันที แม้จะมีตำรา หรืออาจารย์ใดบอกว่าถูกแล้ว ถูกแล้ว ก็อย่าได้เชื่อเป็นอันขาด มิฉะนั้นคนไข้ตายไปแล้วก็ยังคิดว่า รักษาถูกต้องตามตำราที่อาจารย์บอกอยู่ร่ำไป ไม่มีทางที่จะพัฒนาตัวเองให้สำนึกผิด และคิดหายาหรือวิธีรักษาอื่นที่จะทำให้คนไข้รอดหรือหายจากโรคได้

ใครก็ตามที่รักษาคนไข้ จนคนไข้ทรุดลงๆ แล้วก็ยังดื้อรั้นให้การรักษาแบบนั้นต่อไปเรื่อยๆ จึงเป็น ฆาตกรหรือเป็นคนฆ่าคนไข้โดยแท้ แม้ว่าเขาจะอ้างตำรา อาจารย์ หรือประสบการณ์อะไรก็ตาม ผู้ที่จะเป็นหมอรักษาคน จึงต้องถ่อมตนเสมอ พร้อมที่จะยอมรับความผิดพลาด ความขาดแคลนในความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของสิ่งต่างๆ รวมทั้งความแตกต่างของมนุษย์แต่ละคน และความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการดูแลรักษา ถ้าการดูแลรักษาที่ตนให้แก่คนไข้ ทำให้คนไข้ทรุดลง

หลายต่อหลายครั้ง เมื่อเราหยุดยาและวิธีการรักษาต่างๆ ที่ทำให้คนไข้ทรุดลงแล้ว คนไข้กลับดีขึ้นและหายจากโรคเองได้ ทั้งที่ไม่ได้รับการรักษาและทั้งที่เราคิดว่าถ้าหยุดการรักษาแล้ว คนไข้จะตาย ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บนี้เรายังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจจึงไม่ควรทะนงตน หรือเชื่อมั่นในตัวเอง ในตำรา หรืออาจารย์จนเกินไปเป็นอันขาด เพราะจะทำให้เราขาดความสำนึกผิด ซึ่งจะปิดทางศึกษาและทางพัฒนาตัวเราเอง และอยู่อย่างนั้นต่อไป

นอกจากนั้น เราจะต้องจำไว้ด้วยว่า หมอ (ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล พนักงานอนามัยหรือบุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ ) จะไม่สามารถให้สุขภาพแก่ใครได้ เพราะสุขภาพของใคร ใครคนนั้นนั่นเอง จะต้องเป็นผู้ดูแลรักษาคนอื่นจะไม่สามารถดูแลรักษาแทนได้ เช่น

ถ้าเราปวดท้องบ่อยๆ เวลาเวลาหิวข้าว หรือกินอาหารผิดเวลา แล้วเราจะให้คนอื่นกินข้าวแทนเราเพื่อให้เราหายปวดท้องนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราไม่ระวังรักษาตัวเอง และคอยกินข้าวก่อนที่จะปวดท้องแล้ว เราก็จะต้องปวดท้องบ่อยๆ เกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหารจนเลือดออก หรือกระเพาะทะลุได้ ถ้าเราสูบบุหรี่ จนไอหรือหอบเหนื่อย แล้วจะให้คนอื่นหยุดสูบบุหรี่แทนเรา ก็จะไม่ทำให้เราหายไอ หรือหอบเหนื่อย แล้วเราจะให้คนอื่นหยุดสูบบุหรี่แทนเรา ก็จะไม่ทำให้เราหายไอ หรือหายหอบเหนื่อยได้ ในเมื่อเรายังทุรังสูบบุหรี่อยู่ เป็นต้น

ดังนั้น สุขภาพของคนคนใด คนคนนั้นจะต้องเป็นผู้รักษา อย่าได้ไปคิดว่า เราเป็นหมอแล้ว เราจะไปรักษาสุขภาพของใครได้ เราจะรักษาได้ก็โรคของเขาเท่านั้น ส่วนสุขภาพของเขานั้น เราได้แต่แนะนำและชี้แจงให้เขารักษาเองเท่านั้น เพราะเราไม่สามารถรักษาสุขภาพให้เขาได้ เนื่องจากสุขภาพหรือสภาพที่มีความสุขนั้น เกิดจากภาวะที่เสมอกันระหว่างร่างกายกับจิตใจ ตลอดจนความสามารถที่จะปรับตัวให้เข้าได้กับครอบครัว การงาน และสิ่งแวดล้อม

เพราฉะนั้น สุขภาพของคนแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน แต่จะเท่าเทียมกันได้ เช่น คนๆ หนึ่งอาจจะรู้สึกสบาย หายใจได้คล่อง ในห้องปรับอากาศ แต่อีกคนหนึ่งอาจจะรู้สึกอึกอัด หายใจไม่ออกในห้องเดียวกัน แต่กลับหายใจโล่ง และรู้สึกปลอดโปร่งเมื่อได้อยู่ใต้ร่มไม้ในสวน เป็นต้น คนแต่ละคน จึงมีความสุขในสภาพที่ต่างกัน แต่มีความสุขเท่าเทียมกันได้

เราที่จะเป็นหมอจึงไม่ควรไปยัดเยียด หรือบีบบังคับให้คนไข้หรือประชาชนต้องรับสภาพแห่งความสุขตามตำราหรืออาจารย์ โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อเขาเหล่านั้น เช่น การโฆษณาให้มาตรวจสุขภาพการโฆษณาว่า “สุขภาพของท่านคือบริการของเรา” ซึ่งล้วนแต่เป็นการหลอกลวงมอมเมาผู้อื่น เพราะเราหวังผลประโยชน์สำหรับเราเองเป็นสำคัญ

เมื่อเราเป็นหมอแล้ว เราจะต้องช่วยเหลือแนะนำให้คนไข้ และประชาชนทั่วไปช่วยตนเองได้ “สุขภาพของเขาเป็นสิทธิและหน้าที่ของเขาที่จะต้องดูแลรักษา” อย่าโฆษณาหลอกลวงให้เขามาเป็นทาสของเรา คอยมาหวังพึ่งบริการของเรา แล้วเราก็จะเป็น “หมอที่เป็นคน” และเป็น “คนเต็มคน” หรือเป็น “คนที่สมบูรณ์พร้อมต่อไป”

ใครอ่านมาถึงตอนนี้แล้วเกิดความรู้สึกที่อยากจะเป็นคน อยากที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ผู้กำลังทุกข์ทรมานด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ด้วยความรักและความเมตตาแล้ว ใครคนนั้นก็พร้อมที่จะศึกษาและฝึกฝนตนจนเป็นหมอได้ แล้วต้องไม่ลืมที่จะเผยแพร่ความรู้ความสามารถให้เพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ ให้เขาเป็นหมอดูแลรักษาตนเองและญาติสนิทมิตรสหายได้เช่นเดียวกันล่ะ จะได้เป็น หมอที่ไม่หวงก้าง และเป็น “หมอที่เป็นคน” ได้

ข้อมูลสื่อ

1-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 1
พฤษภาคม 2522
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์