• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จะเป็นหมอได้อย่างไร

จะเป็นหมอได้อย่างไร

ความรักใคร่ ความสงสาร และความปรารถนาที่จะให้คนเจ็บไข้ได้ป่วย รอดพ้นจากความทุกข์ความทรมานและทำให้เราเป็นหมอได้ การเป็นหมอก็ไม่ใช่ว่าจะลำบากยากเย็นเข็ญใจแต่อย่างไร ขอแต่ให้มีความตั้งใจจริงและมีความพยายามเท่านั้น ก็อาจจะฝึกฝนตนเองให้เป็นหมอได้

เมื่อมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นความทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บ ด้วยความเมตตาและความสงสารแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องที่จะต้องพยายามฝึกฝนตนเองให้มีความรู้ ความสามารถทั้งทางกายและใจดังต่อไปนี้

ทางใจ : ต้องฝึกฝนให้มี

1. ความเมตตา ความรักใคร่ปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นเป็นสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และความทุกข์ทรมานต่างๆ ความปรารถนาเช่นนี้จะทำให้เราพยายามที่จะศึกษาหาความรู้ ความสามารถต่างๆ มาช่วยให้ผู้อื่นเป็นสุข ยิ่งมีความปรารถนาเช่นนี้มาก ยิ่งทำให้เราเรียนรู้ได้มากขึ้นเร็วขึ้นหรือพูดง่ายๆ ก็คือ ทำให้เราสามารถเป็นหมอได้เร็วขึ้น เก่งขึ้น และดีขึ้นไปเรื่อยๆ

2. ความกรุณา ความสงสารปรารถนาที่จะเห็นผู้อื่นพ้นทุกข์ พ้นจากความทุกข์ทรมานต่างๆ ความสงสารและความปรารถนาเช่นนี้ จะทำให้เรากล้าที่จะเช็ดล้างอุจจาระปัสสาวะและสิ่งสกปรกต่างๆ ที่เปรอะเปื้อนคบเจ็บป่วยให้หมดไปทำให้เราไม่กลัวเมื่อเห็นเลือดตกยางออก ไม่ตกใจเมื่อเห็นไส้ออกมากองอยู่นอกแผลที่ท้อง และอื่นๆ ทำให้เราเป็นหมอที่กล้าหาญและกล้ากระทำการช่วยเหลือคนที่เจ็บป่วยให้พ้นทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บ

3. มุทิตา ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี ความรู้สึกเช่นนี้จะช่วยทำให้เรามีความสุข ไม่มีความอิจฉาริษยาเมื่อเห็นเพื่อนของเราหรือเด็กรุ่นหลังของเราหรือคนอื่นๆ ร่ำรวยกว่าเรา มียศฐาบรรดาศักดิ์มากกว่าเรา หรืออื่นๆ ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีจะช่วยทำให้เราไม่เกิดความโลภหรือความอยากที่จะได้นั่นได้นี่ จนต้องไปกดขี่ขูดรีดจากคนไข้ ทำให้เราไม่อิจฉาริษยา หรือเกิดความคิดในทางที่ไม่ดี ซึ่งมีแต่จะทำให้เราเป็นทุกข์ ความยินดีเมื่อคนอื่นได้ดี จึงทำให้เรามีความสุข และสามารถช่วยให้ผู้อื่นมีความสุข และพ้นความทุกข์ได้มากขึ้นๆ

4. อุเบกขา ความวางเฉย คือ การไม่ใช้อารมณ์เข้าไปเกี่ยวข้อง ในการดูแลรักษามากเกินไป เพราะจะทำให้ผิดพลาดได้ง่าย เช่น เมื่อลูกหรือคนที่เรารักเกิดเจ็บป่วย อารมณ์รักและห่วงมากเกินไป อาจจะทำให้มือไม้สั่นทำอะไรไม่ถูก ไม่สามารถครองสติไว้ได้ หรือบางครั้งก็ทำให้เราให้การดูแลรักษามากเกินไป จนเกิดอันตรายแก่ลูก หรือคนที่เรารักเป็นต้น ความวางเฉยนี้ยังรวมถึงการไม่เกิดความปิติลิงโลดจนเกินไปเมื่อสามารถทำให้ผู้ป่วยรอดตายได้ หรือความเศร้าโศกเสียใจมากเกินไปเมื่อผู้ป่วยตาย เพราะอารมณ์ที่มากเกินไปเหล่านี้ อาจทำให้เกิดประมาท หรือความท้อแท้ เบื่อหน่าย ทำให้ไม่สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างถูกต้องได้

คุณสมบัติทั้ง 4 ข้อข้างต้นจะเป็นคุณสมบัติพื้นฐานสำหรับการเป็นหมอ ซึ่งคุณสมบัติทั้ง 4 ข้อ หรือพรมวิหาร 4 นี้จะทำให้เราเป็นบุคคลที่ได้รับความรักใคร่นับถือและไว้วางใจ ทำให้เราสามารถเป็นหมอที่เป็นคน ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

นอกจาก พรหมวิหาร 4 ที่จะช่วยให้เราได้รับความเชื่อถือไว้วางใจแล้ว เรายังจะต้องมีคุณสมบัติประการหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถฝึกฝน เล่าเรียน และหาความรู้ความสามารถ เพื่อปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นและเก่งขึ้นไปจนชั่วชีวิต คุณสมบัตินั้น คือ อิทธิบาท 4 นั่นเอง ซึ่งประกอบด้วย

1. ฉันทะ ความรักใคร่ในงาน ความรักใคร่ที่จะช่วยป้องกันรักษาคนอื่นให้พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ จะเป็นแรงผลักดันให้เราขวนขวายเล่าเรียนฝึกฝนหาความรู้ความสามารถ เพื่อที่จะดูแลรักษาคนไข้พ้นจากอาการทรมาน และช่วยป้องกันไม่ให้ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านของเราล้มเจ็บลง

2. วิริยะ ความเพียรพยายาม ความมานะ บากบั่น ที่จะศึกษาหาความรู้ความสามารถในการป้องกันรักษาโรค ซึ่งจะต้องทำเช่นนั้นไปจนตลอดชีวิต เพื่อที่จะมีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น เพราะความรู้ความสามารถในการป้องกันรักษาโรคมีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้นความเพียรพยายามในที่นี้ยังรวมถึง ความเอาใจใส่ผู้ป่วย ความเพียรพยายามให้คนไข้ฟื้นจากอาการป่วยโดยเร็วที่สุดและโดยดีที่สุด ความเพียรพยายามที่จะไม่สร้างปัญหาเพิ่มเติมให้แก่คนไข้ เช่น ปัญหาในทางเศรษฐกิจ (ทำให้คนไข้ต้องล้มละลายขายตัว เพราะค่ายาแพง หรือค่าตรวจรักษาแพง ฯลฯ) ปัญหาในทางสังคม (ทำให้คนไข้ต้องหอบหิ้วสังขารทรมานทรกรรมเป็นระยะทางไกล เพื่อมารับการรักษา) เป็นต้น

3. จิตตะ ความตั้งใจแน่วแน่ คือ ความตั้งใจแน่วแน่ที่จะเป็นหมอเพื่อช่วยผู้อื่นให้พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ ความตั้งใจแน่วแน่เช่นนี้ จะทำให้จิตใจไม่วอกแวก ทำให้สามารถศึกษาหาความรู้ความสามารถในการเป็นหมอได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นยังสามารถดูแลรักษาผู้ป่วยได้เต็มที่ ถ้าความตั้งใจนี้ไม่แน่วแน่มั่นคงแล้ว ใจอาจจะวอกแวก พอเห็นคนอื่นเขาทำการค้าขาย แล้วได้เงินได้ทองมากกว่า เห็นคนอื่นเขามีดาวมีมงกุดติดบ่า หรืออื่นๆ แล้วก็รวนเร ไม่อยากจะฝึกฝนเป็นหมอต่อไป หรือพอฝึกฝนเป็นหมอแล้ว ก็กลับใช้ความรู้ความสามารถไปสร้างความเจ็บปวดแก่คนไข้ โดยการขูดรีดหรือกอบโกยจากคนไข้ หรือโดยการไม่เอาใจใส่ดูแลคนไข้ หรือโดยการใช้คนไข้เป็นเครื่องมือ หรือเป็นสัตว์ทดลอง หรืออื่นๆ

4. วิมังสา การพินิจพิจารณาหาเหตุผล คือ การพยายามใช้สติและปัญญาไตร่ตรอง ดูความเป็นเหตุเป็นผลของสิ่งต่างๆ เช่น ผู้ป่วยคนนี้ตัวร้อนเป็นไข้ ก็ต้องหาสาเหตุว่าอะไร ทำให้เกิดอาการตัวร้อนเป็นไข้ ไม่ใช่ให้ยาลดไข้ไปกินเลย โดยไม่ได้พยายามหาสาเหตุก่อนว่า อาการตัวร้อนเป็นไข้นั้นเกิดจากอะไร เพราะอาการไข้หลายชนิด จะไม่ดีขึ้น ถ้าไม่ให้ยาไปรักษาสาเหตุ เช่น ไข้เพราะปอดบวม ไข้เพราะมีเชื้อโรคอยู่ในร่างกาย เป็นต้น การให้ลดไข้แต่อย่างเดียวในกรณีเช่นนี้ จะทำเกิดอันตรายแก่คนไข้ได้อย่างมากๆ ดังนั้น การพิจารณาหาเหตุเช่นนี้ จะทำให้เราเรียนรู้เพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ และทำให้เราไม่ละเลย

ข้อมูลสื่อ

2-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 2
มิถุนายน 2522
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์