• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ย่ำแดนมังกร ดูงานสาธารณสุขมูลฐาน

หมอเท้าเปล่าอันลือลั่น-1(10)

เราคงเคยได้ยินเรื่องของ “หมอเท้าเปล่า” มาเป็นเวลานานแล้ว หมอเท้าเปล่านับเป็นสัญลักษณ์ของการบรรลุถึงการมีสุขภาพดีถ้วนหน้าของประเทศจีนสมัยกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

เป็นการปฏิวัติความเชื่อแต่ดั้งเดิม ซึ่งมีรากฐานมาจากตะวันตกว่าการแพทย์และการบริการสาธารณสุขนั้น ควรจะให้บริการโดยผู้มีวิชาชีพและได้รับการอบรมเป็นพิเศษอย่างมีมาตรฐานทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น

การจะให้บุคคลซึ่งได้รับการฝึกฝนมาอย่างไม่เพียงพอให้บริการสาธารณสุขไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นประชาชนหรือชาวบ้านแล้ว ถ้าเกิดมีการดูแลดูแลเช่นนั้นขึ้น ก็จะถูกขนานนามว่า “หมอเถื่อน” อาจารย์ประเวศ วะสี เคยพูดไว้อย่างน่าฟังว่า

คำว่า “เถื่อน” หรือไม่ ไม่ควรจะดูที่การกระทำ น่าจะดูที่จิตใจมากกว่า ถ้าให้บริการโดยจิตใจที่ดีงาม ต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ แต่ด้อยความรู้ น่าจะนำมาฝึกฝนให้มีความรู้ความสามารถมากขึ้น มากกว่าจะบอกว่า “เถื่อน” บุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาก มีแบบแผนทางด้านการแพทย์อย่างดี แต่ให้บริการด้วยจิตใจที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์จากคนไข้ถ่ายเดียว ใช้วิชาที่มีอยู่หลอกล่อให้คนไข้มาหาบ่อยๆ บุคคลประเภทนั้น จึงน่าจะเรียกว่า “หมอเถื่อน” มากกว่า

ภายหลังจากการเข้ามาของหมอเท้าเปล่าในโลกสาธารณสุข ความเชื่อในโลกนี้เกี่ยวกับผู้ที่เหมาะสมจะให้บริการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ก็เปลี่ยนไปมาก รากฐานของการที่จะพยายามให้มีส่วนร่วมของชุมชน การพยายามใช้บุคคลระดับล่างซึ่งมีความรู้ความสามารถน้อยกว่าดูแลโรคง่ายๆ ซึ่งแพร่หลายในประเทศกำลังพัฒนาในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับบทเรียนจากการใช้ “หมอเท้าเปล่า” ในจีนนั่นเอง

เราลองมาดูซิว่า หมอเท้าเปล่าแท้ที่จริงคืออะไรกันแน่ และเขาผลิตหมอเท้าเปล่ากันอย่างไร
หมอเท้าเปล่าแท้ที่จริงก็คือบุคลากรระดับล่างที่ผลิตขึ้น เพียงให้มีจำนวนมากเพื่อสามารถใช้บริการทางด้านสาธารณสุข เพื่อให้ครอบคลุมถึงประชาชนอย่างทั่วถึงในเวลาอันรวดเร็ว ประเทศจีนในสมัยก่อนการปลดแอก มีการขาดบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่จะให้บริการกับประชาชนเป็นจำนวนมาก จึงต้องผลิตบุคลากรเหล่านี้ออกมา เช่น

ในอำเภอที่ผมมาดูงานครั้งนี้ ในปี พ.ศ.2491 ก่อนการปลดแอก มีสถานบริการด้านสาธารณสุขสำหรับทั้งอำเภอ จำนวน 10 แห่ง มีหมอ 24 คน และมีหมอกลางบ้านรักษาด้วยสมุนไพรและอื่นๆ ในหมู่บ้านประมาณ 280 คน แต่ประชาชนก็ก็ขาดบริการสาธารณสุขที่จำเป็นจำนวนมาก หลังจากเริ่มมีการปรับปรุงระบบบริการสาธารณสุข

ขณะนี้ทั้งอำเภอมีสถานบริการสาธารณสุขทั้งสิ้น 576 แห่ง บุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขถึง1,121 คน มีหมอเท้าเปล่าและบุคลากรที่ให้บริการระดับหมู่บ้านถึง 1,139 คน เขาคุยว่าประชาชนทุกคนไม่ว่าจะอยู่ไกลขนาดไหน ห่างไกลจากท้องที่ที่เจริญสักเท่าใด สามารถหาสถานบริการสาธารณสุขได้โดยการเดินทางเท้าในเวลาไม่เกิน 20 นาที พูดง่ายๆก็คือ มีอยู่ในทุกๆแห่ง

การผลิตหมอเท้าเปล่า เขามีหลักการในการผลิต คือ
1. การผลิตบุคลากรทางด้านการแพทย์ จะต้องตอบสนองต่อความจำเป็นของประเทศ และจะต้องเป็นไปตามสภาพความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในประเทศ
2. ความรู้ขั้นพื้นฐาน ควรจะกระจายไปทั่วประเทศให้มากที่สุด แล้วจึงค่อยๆเพิ่มพูนระดับของความรู้ต่อไปในภายหลัง
3. การฝึกอบรมจะต้องประสานการปฏิบัติไปด้วยกันกับทฤษฎีอยู่เสมอ

วิธีการผลิตจะมี 3 ขั้นตอน
1. ระดับเริ่มต้น จะฝึกอบรม 3 เดือนก่อน โดยจะสอนในเรื่องที่เกี่ยวกับ
ก. การแพทย์แผนโบราณ
ข. การแพทย์สมัยใหม่

ผู้จบระดับเริ่มต้นนี้จะสามารถใช้สมุนไพรแผนโบราณได้ และสามารถรักษาแบบแพทย์แผนใหม่ได้ในโรคนั้นๆทั่วไป รวมทั้งการบาดเจ็บเล็กๆน้อยๆ นอกจากนี้ยังสามารถให้การศึกษาด้านการวางแผนครอบครัว สุขศึกษา และชักจูงให้ประชาชนรณรงค์เรื่องสาธารณสุขอื่นๆ ได้ด้วย

2. ระดับสอง
หลังจากทำงานได้ 2 ปี ในหมู่บ้านแล้ว หากมีผลงานพอใช้ก็จะถูกนำมาอบรมเพิ่มเติมอีก 6 เดือน จะได้ประกาศนียบัตรเป็นผู้ช่วยสาธารณสุข (Health aid) จากนั้นก็จะถูกส่งไปทำงานในที่เดิมอีก 5 ปี

3. ระดับสาม
หากสามารถทำงานได้ดีเป็นที่ยอมรับ และมีความต้องการจะพัฒนาความสามารถของตนเอง ก็จะถูกส่งไปเรียนต่อเพิ่มเติมอีก 1 ปี และในขั้นนี้จะต้องผ่านการสอบ หากสอบได้จึงจะได้ประกาศนียบัตร เป็นหมอชนบท (rural doctor)

ดังนั้นตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา ประเทศจีนเลิกใช้คำว่า “หมอเท้าเปล่า” แต่ใช้คำว่า หมอชนบท (rural doctor) เพราะมีหมอเท้าเปล่าจำนวนมากมายเพียงพอ และต้องการพัฒนาคุณภาพหมอเท้าเปล่าให้เป็นหมอชนบทให้หมด

จะเห็นได้ว่ากว่าจะได้เป็นหมอชนบทเต็มภาคภูมิจะต้องใช้เวลาในการเรียนถึง 1 ปี 9 เดือน และจะต้องผ่านการปฏิบัติงานถึง 7 ปี! ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ไม่น้อยเลยทีเดียว

บุคคลที่จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมอเท้าเปล่าจะถูกคัดเลือกโดยชุมชน และจะต้องมีคุณสมบัติต่อไปนี้

ก. มีความสนใจในงานสาธารณสุขของชุมชน
ข. มีความเต็มใจในการรับใช้ประชาชน
ค. มีจิตสำนึกที่ดี
ง. มีระดับพื้นฐานการศึกษาระดับหนึ่ง

ในสมัยก่อน คุณสมบัติข้อสุดท้ายนี้ไม่มีความสำคัญมากนัก เพราะว่าอยู่ในระยะที่ต้องการใช้บุคลากรทางนี้มาก จึงมีหมอเท้าเปล่าที่อายุมากเป็นจำนวนมากซึ่งจบแค่ชั้นประถมต้น

ปัจจุบัน ผู้ที่จะเข้ารับการอบรม เป็นหมอเท้าเปล่าได้อย่างน้อยจะต้องจบการศึกษามัธยมปลายเป็นอย่างต่ำ

หมอเท้าเปล่าของจีน เป็นรูปธรรมที่สะท้อนให้เห็นการมีส่วนร่วมของชุมชนได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่ในขั้นฝึกอบรม

กล่าวคือ ในการผลิตหมอเท้าเปล่านั้น รัฐบาลจะเป็นผู้ออกค่าเล่าเรียน ค่าที่พัก และการสอนให้

ค่าใช้จ่ายในการอยู่กิน ชุมชนที่ส่งหมอเท้าเปล่ามาอบรม จะต้องเป็นผู้ออกให้
ตัวผู้มาศึกษาหมอเท้าเปล่าเองจะต้องออกค่าใช้จ่ายในเรื่องอุปกรณ์การเรียน และอื่นๆ

ในการฝึกอบรมระดับเริ่มต้น

รัฐบาลเสียค่าใช้จ่าย 210 หยวน ต่อผู้เรียน 1 คน
ชุมชนที่ส่งหมอเท้าเปล่ามาเรียน เสียค่าใช้จ่าย 225 หยวนต่อคน
ตัวผู้มาศึกษาเป็นหมอเท้าเปล่าเสียค่าใช้จ่าย 120 หยวนต่อคน
รวมค่าใช้จ่ายประมาณ 555 หยวน ต่อผู้เรียน 1 คน

ในการฝึกอบรมระดับสอง

รัฐบาลเสียค่าใช้จ่าย 400หยวนต่อคน
ชุมชนเสียค่าใช้จ่าย 450 หยวนต่อคน
ตัวผู้อบรมเสียค่าใช้จ่าย 200 หยวนต่อคน
รวมค่าใช้จ่าย 1,050 หยวนต่อคน

ตามที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่ามีการเสียค่าใช้จ่ายร่วมกันระหว่างรัฐบาล ชุมชนที่ส่งหมอเท้าเปล่ามาฝึกอบรม ชุมชนกับตัวหมอเท้าเปล่าจึงมีความผูกพันกันตั้งแต่เริ่มต้น
 

ข้อมูลสื่อ

104-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 104
ธันวาคม 2530
นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์