• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การซักประวัติ

ตอน 3: การซักประวัติ

การฝึกฝนตนเองให้เป็นหมอรักษาคนไข้นั้น จำเป็นต้องฝึกฝนทั้งทางใจ และกาย ทางใจเป็นสำคัญที่สุด เพื่อให้มีความรักเมตตาในเพื่อนมนุษย์ที่เจ็บไข้ และความปรารถนาที่จะช่วยให้เพื่อนมนุษย์เหล่านั้นให้พ้นทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บ ทางกายมีความสำคัญรองลงมา แต่ก็จำเป็นที่จะต้องมานะบากบั่น พยายามฝึกฝน ปาก หู ตา จมูก และมือ ให้ชำนิชำนาญ จะได้สามารถตรวจรักษาอย่างหมอที่เชี่ยวชาญ

ในการตรวจรักษานั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด เห็นจะเป็นปาก ปากจะชักประวัติการเจ็บป่วย ทำให้รู้ว่าคนไข้เป็นโรคอะไรได้มากกว่าร้อยละ 60 นอกจากนั้น ปากก็ยังมีความสำคัญในการรักษาโรค เพราะใช้ปลอบประโลมให้กำลังใจ ให้ความรู้ความเข้าใจแก่คนไข้ และอื่นๆ ทำให้คนไข้ฟื้นจากโรคภัยไข้เจ็บได้ได้โดยเร็ว และสามารถปฏิบัติรักษาตนเองไม่ให้เกิดโรคกำเริบขึ้น หรือไม่ให้โรคกลับมาเป็นใหม่อีก

การซักประวัติ

ประวัติการเจ็บป่วย มีความสำคัญมากสำหรับการที่จะรู้ว่าคนไข้เป็นโรคอะไร และควรจะให้การรักษาพยาบาลแบบไหน (แบบรีบด่วน แบบรอได้ แบบให้ยา แบบผ่าตัด หรืออื่นๆ)

วิธีซักประวัติ ก็ทำได้ง่ายๆ เช่น มีคนไข้ผู้ชายวัยกลางคนคนหนึ่งเข้ามาหาหมอ หมอก็ทักว่า

หมอ : “สวัสดีครับ เชิญนั่งซิครับ มีอาการไม่สบายอะไรหรือครับ ที่มาหาหมอ”

คนไข้ : “ปวดหัวมา 2-3 วันครับ”

หมอ : “ปวดตรงส่วนไหนของหัวครับ”

คนไข้ : “มนปวดทั่วๆ ไปทั้งหัวเลยครับ แต่จะเป็นมากบริเวณขมับท้ายทอย กระหม่อม และต้นคอครับ”

หมอ : “มันปวดยังไงครับ ปวดตุ๊บ ปวดจี๊ดๆ ปวดหนึบๆ ปวดตื้อๆ ปวดเหมือนสมองถูกบีบรัดหรือปวดอย่างไรครับ”

คนไข้ : “ปวดตื้อๆ ไปหมดเลยครับ เวลาเป็นมากๆ รู้สึกเมือนสมองจะระเบิดออกมา”

หมอ : “บริเวณที่คุณปวดหัวมันปวดขึ้นมามากๆ ทันที หรือค่อยๆ ปวดมากขึ้นๆ ทีละน้อยๆ”

คนไข้ : “มันเริ่มมึนๆ ก่อนแล้วก็ตื้อมากขึ้นๆ ต่อมาก็ปวดตื้อๆ อยู่ตลอดเวลา”

หมอ : “ตอนที่คุณกำลังปวดหัวนี่คุณมีไข้ตัวร้อน คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการไม่สบายอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่ และปวดครั้งหนึ่งนานเท่าใด”

คนไข้ : “ไม่มีไข้ตัวร้อนครับ ปวดหัวมากๆ บางทีก็รู้สึกเบื่ออาหารและคลื่นไส้ แต่ไม่อาเจียนครับ นอกจากนั้นก็รู้สึกอ่อนเพลียไม่มีแรง นอนไม่ค่อยหลับ ชอบฝันร้าย มีลมแน่นในท้อง พอเรอหรือผายลมแล้วก็สบายขึ้น หัวใจมันเบาๆ โหวงๆ บางทีก็ไม่เต้น บางทีก็เต้นเร็วจนใจสั่นไปหมด เจ็บที่หัวใจและหน้าอกทั้งด้านซ้ายและขวา หายใจไม่เต็มอิ่มต้อหายใจลึกๆ คล้ายกับถอนหายใจ หายใจบ่อยๆ บางครั้งไม่สบายเพียงชั่วโมงสองชั่วโมง บางครั้งก็ไม่สบายเป็นวันๆ”

หมอ : “อะไรทำให้อาการปวดหัวของคุณเป็นมากขึ้นครับ”

คนไข้ : “ไม่แน่หรอกครับ แต่ถ้ามีเสียงดังๆ มีอะไรรกหูรกตา ทำให้ใคอไม่สบายล่ะก็ จะปวดหัวมากขึ้น”

หมอ : “เวลาที่คุณปวดหัว คุณทำอย่างไรถึงจะดีขึ้นครับ เช่น นั่ง นอน ยืน หรือเดิน ท่าไหนที่คุณสบายที่สุด หรือคุณทำอย่างไรเพื่อที่จะทุเลาอาการปวดหัวของคุณ ก่อนที่คุณจะมาหาหมอ”

คนไข้ : “เวลาที่ผมปวดหัว ถ้านอนหลับไปได้ ก็จะทุเลาอาการปวดครับ ส่วนนั่ง ยืน หรือเดินรู้สึกว่าจะไม่ช่วย บางครั้งผมก็กินยาแก้ปวด ก็พอทุเลาไป แต่พอหมดฤทธิ์ยาก็เป็นใหม่”

หมอ : “ตอนนี้คุณทำงานอะไรครับ และงานหนักมากไหม”

คนไข้ : “ระยะนี้ผมตกงานครับ ไม่มีงานทำมา 2 เดือน เดิมทีผมทำงานเป็นลูกจ้างเขา พอดีมีเรื่องกับเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง เจ้านายเขาเลยให้ออกทั้ง 2 คน ผมก็เลยพยายามวิ่งเต้นหางานมา 2 เดือนแล้วยังไม่ได้งานเลยครับ”

จะเห็นได้ว่า จากการซักประวัติการเจ็บป่วยรายนี้ เราคงจะสรุปได้ว่า อาการปวดหัวของคนไข้คนนี้เกิดจากการใช้สมองมาก (ใช้สมองคิดเรื่องการหางาน การไม่มีงานทำ การมีเรื่องกับเพื่อนร่วมงานและอื่นๆ) ถ้าตรวจร่างกายแล้วไม่พบว่าร่างกายผิดปกติ ก็จะทำแน่ใจได้ว่า อาการปวดหัวนี้ เกิดจากการคิดมาก เครียดมากนั่นเอง การรักษา คือ การอธิบายให้คนไข้เข้าใจว่าที่ปวดหัวนี้เกิดจากอะไร ควรจะผ่อนคลายความเครียดอย่างไร (เช่น ให้ไปคุยกับเพื่อนฝูงช่วยหางานให้ หรืออื่นๆ) ถ้าคนไข้มีอาการมาก ก็อาจจะให้ยากล่อมประสาท และยาแก้ปวดไปช่วยทุเลาอาการ (ดูในเรื่อง “ปวดหัว: โรคปวดระดับชาติ” ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 2)

จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่า การซักประวัติ นั้นจะเริ่มด้วย

1. อาการสำคัญ ที่นำคนไข้มาหาหมอ คือ เป็นอาการที่คนไข้รบกวนเขามากที่สุด หรือเป็นอาการที่สร้างความตื่นตกใจให้แก่เขามากที่สุด หรือ เป็นอาการที่คนไข้คิดว่าสำคัญที่สุด หรืออื่นๆ

แต่เวลาที่ถามคนไข้ อย่าถามว่า “อะไรคืออาการสำคัญของคุณ” ให้ถามว่า “อาการอะไรที่ทำให้คุณมาหาหมอ” หรือ “คุณมีอาการไม่สบายอะไรหรือครับที่มาหาหมอ” หรือคำถามคล้ายๆ กับคำถามข้างต้น และให้ถามต่อด้วยว่า “เป็นมานานเท่าใดแล้ว” ถ้าคนไข้ไม่ได้บอก

เมื่อได้ถามอาการสำคัญของคนไข้แล้ว อย่าลืมถามอาการนี้ด้วย เพราะเวลาซักประวัติต่อไป ถ้าไปฝังใจกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อาจจะลืมอาการที่สำคัญที่เป็นปัญหา นำคนไข้มาหาหมอ เพราะมัวแต่ไปวุ่นวายกับอาการอื่นที่เราเกิดมีความสนใจเป็นพิเศษ แต่ไม่ใช่อาการที่สำคัญของเขา

2. ประวัติปัจจุบัน คือ ประวัติในการเจ็บป่วยครั้งนี้ ว่าเป็นมาอย่างไร เช่น ถามว่า

2.1 มีอาการอะไร เช่น ในรายตัวอย่างข้างต้น มีอาการปวดหัวเป็นสำคัญ เมื่อคนไข้บอกว่ามีอาการอะไร และเป็นมานานเท่าใดแล้ว ก็ต้องถามว่า

2.2 ตรงไหน เช่น ปวดหัวตรงไหน ปวดท้อง ปวดตรงไหน ถ้ามีอาการที่เป็นทั่วไป เช่น อาการไข้ต้วร้อน ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องถามว่าตรงไหน เพราะส่วนใหญ่แล้วจะร้อนทั้งตัวแต่ในบางคนอาจจะเป็นไข้ตัวร้อนเฉพาะแห่ง เช่น ร้อนเฉพาะที่หน้า ที่แขนขาหรืออื่นๆ ซึ่งแบบนี้ถือว่าไม่ใช่ไข้ตัวร้อน แต่เป็นการร้อนเฉพาะ ที่ซึ่งอาจเกิดการอักเสบ (เช่น เป็นฝีเป็นแผล) หรือเกิดจากความรู้สึกของคนไข้เอง แต่ตรวจไม่พบว่าบริเวณนั้นร้อนกว่าที่อื่นเลย

2.3 อย่างไร เช่น ปวดยังไง ปวดตุ๊บๆ ปวดตื้อๆ ปวดแปล๊บๆ เหมือนถูกเข็มแทง ปวดแสบปวดร้อน หรืออื่นๆ ถ้าผู้ป่วยเป็นไข้ ก็จะต้องถามว่า เป็นไข้ต่ำๆ หรือไข้สูงมาก เป็นไข้เป็นพักๆ (เป็นๆ หายๆ) หรือเป็นไข้สูงอยู่ตลอดเวลา เพราะอาการที่แตกต่างกันเหล่านี้ จะทำให้รู้สึกว่าคนไข้ปวด จากอะไร หรือเป็นไข้สูงจากอะไร เช่น ถ้าปวดตุ๊บๆ ก็มักจะเป็นการปวดของฝีที่กำลังจะอักเสบมาก หรือเป็นการปวดของอวัยวะที่อยู่ติดกับหรือเกี่ยวข้องกับเส้นเลือดแดง ปวดแสบปวดร้อน มักเกิดจากลูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือถูกน้ำกรด หรือสารเป็นพิษที่กัดทำลายผิวหนังได้ หรือปวดจากปลายประสาทอักเสบ เป็นต้น ในหัวข้อ “อย่างไร” นี้จะต้องถามด้วยว่า

เมื่อเริ่มเป็น เริ่มอย่างไร เช่น เมื่อเริ่มปวด เริ่มปวดอย่างไร ปวดแรงเต็มที่ทันทีหรือค่อยๆ ปวดมากขึ้นๆ หรือถ้าเป็นไข้ ไข้สูงขึ้นทันที หรือเป็นไข้น้อยๆ (ไข้ต่ำๆ) ก่อนแล้วไข้จึงค่อยสูงขึ้นๆ เพราะลักษณะของการเริ่มเป็นนี้ จะช่วยบอกชนิดของโรคได้ เช่น เมื่อเริ่มเป็นไข้ ไข้ก็สูงทันที มีอาการหนาวสั่นร่วมด้วยลักษณะการเริ่มแบบนี้มักจะเป็นไข้ที่เกิดจากการติดเชื้อโรค เช่น เชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งอาจจะเป็นเชื้อหนองจากฝี หรือแผลที่สกปรกเชื้อโรคจาก การอักเสบในท่อปัสสาวะ (ท่อเยี่ยว) เชื้อมาลาเรีย (เชื้อไข้ป่า) ที่แตกกออกจากเม็ดเลือดเข้าสู่กระแสเลือด เป็นต้น

แต่ถ้าเริ่มเป็นไข้ และไข้เป็นน้อยๆ ก่อน ต่อมาจึงสูงขึ้นๆ ลักษณะการเริ่มแบบนี้ อาจเป็นไข้หวัด ไข้รากสาดน้อย (ทัยฟอยด์) วัณโรค หรืออื่นๆ

2.4 เพียงไหน คือ มีอาการมากน้อยแค่ไหน เช่น เป็นไข้ตัวร้อนมาก จนเวลาคนอื่นจับต้องตัวผู้ป่วยรู้สึกร้อนเหมือนไฟ หรือถ้าวัดปรอท (เทอร์โมมิตอร์) ปรอท (ไข้) จะสูงมาก หรือถ้าเป็นอาการปวดก็อาจจะปวดจนดิ้น หรือปวดจนทำงานทำการไม่ได้ หรือ ปวดจนสลบไป หรือ ถ้าปวดน้อยก็ยังสามารถทำงานทำการได้ตามปกติ หรือเวลาทำงานเพลินๆ เลยลืมปวดไปก็มี

การถามเช่นนี้ จะทำให้รู้ถึงความรุนแรงของอาการเหล่านั้นได้ ถ้ารุนแรงมากจะได้รีบแก้ไข หรือทุเลาอาการก่อน ถ้ารุนแรงน้อย ก็จะได้ซักประวัติ และตรวจร่างกายให้ละเอียดก่อน จะได้รักษาอาการและรักษาสาเหตุไปได้พร้อมๆ กัน

2.5 อาการร่วม คือ มีอาการอะไรอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น เวลาปวดหัว มีอาการตามัวนำมาก่อน และ ปวดหัวซีกเดียว (คือ ปวดซีกซ้ายหรือซีกขวาซีกเดียว) แต่เวลาเป็นมาก อาจจะปวดทั้ง 2 ซีกหรือทั้ง 2 ข้าง ก็มักจะเป็นการปวดแบบลมตะกัง (ไมเกรน) ถ้าปวดตื้อๆ ทั่วไปไม่แน่นอน มีอาการนอนไม่หลับ และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก เกือบจะเป็นแทบทุกอวัยวะ แบบตัวอย่างคนไข้ข้างต้น ก็จะทำให้นึกถึงอาการปวดหัวที่เกิดจากการใช้สมองมาก (โรคเครียด) หรือที่บางคนอาจจะเรียกว่า โรคประสาท เป็นต้น

ถ้าเวลาปวดหัว แล้วร่วมด้วยอาการอาเจียนพุ่งออกมาโดยแรง โดยไม่มีอาการคลื่นไส้ หรือผะอืดผะอมมากนัก จะทำให้นึกถึงภาวะที่มีความดันในสมอง (ในกะโหลกศีรษะ) เพิ่มมากขึ้น เช่น มีเลือดออกในสมองมีเนื้องอกในสมอง หรือน้ำสมองมีปริมาณมากเกินไป เป็นต้น

ถ้าเวลาปวดหัว แล้วร่วมด้วยอาการคัดจมูก มีน้ำมูกหรือเสมหะ (เสลด) ที่ขากออกมา (มิใช่เสมหะหรือเสลดที่ไอออกมา) เป็นหนองทำให้นึกถึงโรคไซนัสอักเสบเป็นหนอง ส่วนโรคไซนัสที่พูดกันทั่วไป ส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่โรคไซนัสอักเสบ มักจะเป็นอาการปวดหัวที่เกิดจาก “โรคเครียด” หรือ “โรคคิดมาก ห่วงกังวลมาก” เท่านั้น

สมมติว่าคนไข้มีอาการปวดท้อง อาการร่วมอื่นๆ ก็อาจจะทำให้รู้ว่าเป็นอะไรได้ เช่น

ถ้าปวดท้องทุกครั้งเวลามีประจำเดือน (ระดู) ก็เป็นอาการปวดประจำเดือน ซึ่งเป็นของปกติสำหรับผู้หญิงบางคน โดยเฉพาะผู้หญิงวัยรุ่น หรืยังไม่เคยมีบุตร

ถ้าปวดท้องแล้วมีอาการคลื่นไส้อาเจียน และท้องเดิน (ท้องร่วง) ร่วมด้วย ก็ทำให้นึกถึงโรคกระเพาะลำไส้อักเสบ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากกินอาหารที่สกปรกหรือมีเชื้อโรคเข้าไป

ถ้าปวดท้องแล้วมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะเป็นสีขมิ้นและมักจะมีอาการไข้หนาวสั่นร่วมด้วย ทำให้นึกถึงนิ่วในถุงน้ำดีหรือท่อน้ำดี ไปอุดกั้นทางเดินของน้ำดี ทำให้น้ำดีแผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย (ภาวะดีซ่าน) จงเกิดอาการตัวเหลือง ขึ้นร่วมกับอาการปวดท้องนั้น

ถ้าปวดท้องมาก แล้วมีอาการปัสสาวะ (เยี่ยว) ไม่ออก หรือปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อหรือเป็นเลือดจางๆ ทำให้นึกถึง นิ่วในกระเพาะปัสสาวะในไตหรือ ในท่อไต เป็นต้น

ถ้าปวดท้องแล้วมีอาการ เรอเปรี้ยว (อาการขย้อน หรือเรอแล้วมีน้ำขย้อนข้นมาในปาก มีรสเปรี้ยว) อาจจะมีอาการเจ็บๆ แสบๆ ในอกร่วมด้วย ทำให้นึกถึง ภาวะที่มีกรดมากในกระเพาะอาหารทำให้กระเพาะอาหารอักเสบหรือเป็นแผล และเมื่อกรดในกระเพาะถูกขย้อนขึ้นมาตามหลดอาหารที่ต่อระหว่างคอหอยกับกระเพาะ อาจจะทำให้หลอดอาหารอักเสบเกิดเป็นความรู้สึกแสบๆ ในอกและเมื่อน้ำกรดขย้อนออกมาในปากก็ทำให้เกิดรสเปรี้ยวในปากเป็นต้น

อาการร่วมจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะช่วยให้เรารู้ว่า อะไรเป็นสาเหตุของอาการนั้น หรือรู้ว่าคนไข้เป็นโรคอะไร นั่นเอง

2.6 เวลาไหน นานไหม เช่น ปวดหัวแต่ละครั้งนานไหม ปวดเดี๋ยวเดียว หรือปวดเป็นชั่วโมง หรือปวดครั้งหนึ่งตั้งครึ่งค่อนวัน หรือปวดเป็นวันๆ ไปเลย ถ้ามีอาการมาหลายวัน หรือหลายครั้งแล้ว ให้ถามด้วยว่า

2.6.1 อาการนั้น เป็นมากเวลาไหน เช่น มักปวดหัวหรือเป็นไข้ เวลาเช้า เที่ยง เย็น หรือกลางคืน มักมีอาการก่อนหรือหลังอาหาร มักมีอาการเวลาทำงานหรือเวลาพัก หรือมักจะมีอาการมากเวลาใด

2.6.2 อาการนั้นมากบ้างน้อยบ้าง หรือหนักเท่ากันตลอดระยะเวลาที่มีอาการ หรือปวดมากบ้างน้อยบ้าง หรือปวดเป็นพักๆ ถ้ามีอาการไข้ ก็ให้ถามว่าเป็นไข้ตัวอยู่ตลอดเวลา หรือจับไข้เป็นพักๆ เป็นต้น

ประวัติเช่นนี้ทำให้รู้ถึงความหนักเบา และสาเหตุของอาการได้เช่น

ถ้ามักจะปวดตื้อๆ อยู่ตลอดเวลาเมื่ออ่านหนังสือ หรือหลังอ่านหนังสือ ก็ทำให้นึกถึง ภาวะโรคสายตาผิดปรกติ เช่น ตาสั้น ตายาว ตาเอียง ไปทำให้ปวดหัว มึนหัว เวียนหัว เป็นต้น

ถ้ามักจะปวดหัว เวลามีเรื่องคิดเรื่องห่วง เรื่องโกรธเคือง หรืออื่นๆ จะทำให้นึกถึง “โรคเครียด” คือ โรคที่เกิดจากความตึงเครียดทางจิตใจมาก เมื่อต้องใช้สมองมาก สมองก็จะตื้อทำให้เกิดอาการปวดหัว มึนหัว เวียนหัวได้ เป็นต้น

ถ้ามักจะปวดท้องก่อนเวลาก่อนหรือหลังอาหาร ก็จะทำให้นึกถึงโรคกระเพาะลำไส้ เป็นต้น

2.7 อะไรทำให้เกิดอาการเป็นมากขึ้น และ อะไรทำอาการเป็นน้อยลง คำตอบต่อคำถามทั้งสองนี้ จะมีความสำคัญมากในการช่วยให้รู้ว่า จะแก้ไขอาการของคนไข้นั้นได้อย่างไร และอาจจะทำให้รู้ สาเหตุของอาการนั้นด้วย

ถ้าปวดท้องมากขึ้นเวลาหิว เวลากินของเผ็ด เวลากินเหล้า หรือเวลากินกาแฟ แต่อาการปวดท้องจะดีขึ้นหลังกินข้าว (นอกจากว่า ปวดท้องๆ แล้ว จึงไปกินข้าว ก็อาจจะปวดมากขึ้น แต่ถ้านอนพักแล้วกินยาลดกรดแล้วอาการก็ทุเลา) ทำให้นึกถึงโรคกระเพาะอาหาร หรือ ลำไส้ส่วนแรก (ส่วนต้น) เป็นแผล เป็นต้น

ถ้าปวดท้องมากขึ้น เวลาถ่ายปัสสาวะ (เยี่ยว) อาจจะมีอาการปัสสาวะขัด ปัสสาวะขุ่น หรือปัสสาวะเป็นหนอง ร่วมด้วย ก็ทำให้นึกถึง การอักเสบในทางเดินปัสสาวะ และ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ด้วย

ถ้าปวดท้องมากขึ้น เวลาถ่ายอุจจาระ (ขี้) อาจจะมีอาการ อุจจาระจะเป็นมูก หรือเป็นมูกปนเลือดร่วมด้วย ก็ทำให้นึกถึง โรคลำไส้ใหญ่อักสบ ซึ่งอาเกิดจากโรคบิดชนิดไม่มีตัว หรือ ชนิดมีตัว หรือ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบโดยไม่รู้สาเหตุ ก็ได้

2.8 อาการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร คือ ตั้งแต่คนไข้มีอาการไม่สบายนี้ อาการได้เปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม เปลี่ยนปอย่างไร สิ่งนี้จะช่วยให้รู้ถึงโรคที่คนไข้เป็นอยู่ได้เช่น

ถ้าตอนแรกคนไข้มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอ ตาแดง น้ำมูกไหล ไอ พอมีอาการเหล่านี้อยู่ 3-5วันแล้วเริ่มมีผื่นแดงๆ ขึ้นตามหน้า ลำตัว และแขนขา พอผื่นขึ้น ไข้ก็เริ่มลดและหายไป แต่ผื่นกลับเป็นมากขึ้น จนแดงเต็มตัวภายใน 2-3 วันพอผื่นขึ้นเต็มที่แล้ว ก็จะหลุดออกไปเหลือแต่รอยสีดำ ทั่วตัว ถ้าได้ประวัติแบบนี้ก็บอกได้ทันทีว่าเป็นโรคหัด

ถ้าตอนแรกคนไข้มีไข้หนาวๆ ร้อนๆ อาจจะมีอาการปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอ ตาแดง น้ำมูกไหล ไออยู่ประมาณ 1-2 วัน แล้วเริ่มมีผื่นแดงๆ ขึ้นตามหน้า ลำตัวและแขนขา ในขณะที่ไข้ลดลงและหายไปและมีก้อนขึ้นตามหลังหู และส่วนบนของลำคอ (เพราะต่อมน้ำเหลืองในบริเวณนั้นโตขึ้น) อาการต่างๆ และผื่นที่เกิดขึ้นจะน้อยกว่าหัด และจะไม่มีรอยดำเกิดขึ้นอย่างชัดเจนหลังผื่นหาย ถ้าได้ประวัติแบบนี้ ก็บอกได้ทันทีว่าเป็น โรคเหือด หรือโรคหัดเยอรมัน นั่นเอง

2.9 เคยเป็นมาก่อนไหม คือ ให้ถามคนไข้ว่า อาการที่เป็นอยู่นี้เคยเป็นมาก่อนไหม ถ้าเคย เคยเป็นเหมือนกันเปี๊ยบเลย หรือเพียงแต่คล้ายกัน และในตอนนั้นได้ดูแลรักษาอย่างไรจึงดีขึ้น

2.10 อื่นๆ เช่น

2.10.1 กินยาอะไรอยู่หรือเปล่า ถ้ากินอยู่ ต้องถามว่า กินยาอะไร กินก่อนที่จะมีอาการไม่สบายคราวนี้ หรือหลังจากที่ไม่สบายแล้ว ถ้ากินยาอยู่ก่อน ต้องให้นึกไว้ด้วยว่า อาการไม่สบายคราวนี้อาจจะเกิดจากยาที่กินอยู่ก็ได้ ถ้ากินยาหลังจากที่ไม่สบายแล้ว ต้องถามด้วยว่ากินยานั้นๆ แล้วเป็นอย่างไร ดีขึ้น เลวลงหรือคงเดิม จะได้พิจารณาให้ยาเดิมต่อหรือเปลี่ยนยาใหม่

2.10.2 อะไรทำให้ไม่สบาย คนไข้บางคนอาจจะรู้ว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ตนไม่สบายทำให้ง่ายต่อการรักษายิ่งขึ้น เช่น

“เมื่อวานนี้ไปกินส้มตำปู (ปูเค็ม) มาค่ะ วันนี้เลยปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเดิน จนจะเดินไม่ไหวอยู่แล้วค่ะ” แบบนี้ก็ทำให้รู้ได้ทันทีว่า ส้มตำปูนั้นคงสกปรกและมีเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของอาการปวดท้องและท้องเดินนั้นหรือ

“ผมไปเที่ยวและค้างคืนในป่าเขาใหญ่อยู่ 2 คืน กลับมาบ้านได้ 2-3 อาทิตย์ ก็เริ่มมีไข้หนาวสั่นสงสัยว่าจะเป็นไข้ป่า หรือไข้มาลาเรียครับคุณหมอ” แบบนี้ก็ทำให้คุณหมอสบายปรื๋อ รีบตรวจเลือดคนไข้ดูว่ามีเชื้อมาลาเรียจริงหรือเปล่าหรือถ้าอยู่ในที่ที่ตรวจเลือดดูเชื้อมาลาเรียไม่ได้ก็อาจจะลองให้ยารักษาโรคมาลาเรียไปกินดูก่อน ถ้าคนไข้หาย ก็แสดงว่าเป็นโรคมาลาเรียจริง

“เป็นไข้หนาวๆ ร้อนๆ ปวดเมื่อยตามตัว คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ และเจ็บคอค่ะ ไม่รู้ว่าจะเป็นไข้หวัดหรือเปล่า เพราะเด็ก ๆ ในบ้านเป็นหวัดกันตั้งหลายคนค่ะ” แบบนี้ก็ง่ายแก่คุณหมออีกนั่นแหละ เพราะถ้าตรวจร่างกายแล้วไม่พบอะไรที่ผิดปกติ นอกจากไข้และน้ำมูกไหลแล้ว คนไข้คนนี้ก็เป็น ไข้หวัดแน่ๆ แต่อาจจะเป็นไข้หวัด (ไข้ไวรัส) ชนิดที่นำมาก่อนเกิดอาการอื่นก็ได้ เช่น ถ้ามีอาการของไข้หวัดแล้วต่อมาเกิดผื่นทั่วตัว ก็อาจเป็นโรคหัด โรคเหือด หรือโรคไวรัสที่เกิดผื่นแบบอื่นๆ ถ้ามีอาการของไข้หวัด แล้วต่อมาพอไข้หาย เกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลืองก็อาจจะเป็นโรคตับอักเสบจากไวรัส เป็นต้น

2.10.3 มีโรคประจำตัวอยู่หรือเปล่า ประวัติอันนี้มีความสำคัญ เช่น คนไข้อาจมีโรคที่เป็นประจำตัวอยู่ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง เป็นต้น ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุให้อาการไม่สบายคราวนี้รักษาไม่หาย ถ้าไม่ได้รักษาโรคที่เป็นประจำอยู่ให้ดีขึ้นได้

ประวัติที่ถามได้ตั้งแต่ข้อ 2.1 ถึง 2.10 จะช่วยทำให้เราทราบได้ว่า อาการไม่สบาย ของคนไข้คราวนี้เป็นมากน้อยเพียงใด และน่าจะมีสาเหตุมาจากอะไร ประวัติเหล่านี้จึงเรียกว่า ประวัติปัจจุบัน นั่นคือ เป็นประวัติของการเจ็บป่วยครั้งนี้ ไม่ใช่ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต

ซึ่งจะกล่าวถึงในหัวข้อ 3 เกี่ยวกัประวัติอดีตต่อไป

โดยทั่วไปแล้ว ประวัติปัจจุบันตามที่ซักถามในหัวข้อ 2.1 ถึง 2.10 จะเพียงพอสำหรับการดูแลโรคที่เป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเกือบทั้งหมด ถ้าฝึกฝนให้ซักได้ติดต่อกันไปเรื่อยๆ จะกินเวลาไม่นานนัก หรือใช้เวลาประมาณ 2-5 นาที ก็มักจะซักประวัติปัจจุบันได้ครบถ้วนในส่วนใหญ่

การซักประวัติ ไม่จำเป็นต้องซักเรียงกัน จากข้อ 2.1 ถึง 2.10 จะสลับกันก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องซักถามจนครบทุกข้อ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่ได้มีอาการรุนแรง หรือไม่ได้มีอาการเรื้อรังมานาน เพราะการซักประวัติที่นานจนเกินไป อาจจะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายทั้งคนไข้และต่อตัวหมอเองจึงควรจะฝึกการซักประวัติให้สั้นแต่ให้ได้ใจความครบถ้วน จนสามารถบอก (วินิจฉัย) โรคที่คนไข้เป็นอยู่ได้หรือสามารถแก้ไขดูแลคนไข้ให้ดีขึ้นโดยรวดเร็วก่อน และเมื่อมีเวลาหรือเมื่อคนไข้ไม่ดีขึ้นจึงจะซักประวัติให้ละเอียดถี่ถ้วนอีกครั้งหนึ่ง หรืออีกหลายๆ ครั้ง จนแน่ใจได้ว่า ประวัติที่ซักได้เป็นประวัติที่ถูกต้อง และครบถ้วนเท่าที่คนไข้และญาติจะตอบได้

การซักประวัติทบทวนไปมาหลายๆ ครั้ง จะช่วยให้แน่ใจว่าประวัตินั้นถูกต้อง และเป็นจริง โดยเฉพาะถ้าคนไข้ และญาติไห้ประวัติไม่ตรงกัน

คนไข้บางคนที่มีอาการทางกายต่างๆ นานา จากปัญหาทางใจ (จิต) จะให้ประวัติอาการไม่สบายของตนกลับไปกลับมา ไม่ตรงกันและไม่ชัดเจน เมื่อถามทบทวนใหม่ในตอนหลัง แต่คนไข้ที่สมองเสื่อม เพราะโรคภัยไข้เจ็บทางกาย ก็อาจจะให้ประวัติที่เลอะเลือนได้

ข้อมูลสื่อ

3-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 3
กรกฎาคม 2522
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์