• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นวิธีที่ประเสริฐที่สุดในการเลี้ยงลูก เพราะนอกจากลูกจะได้สารอาหารครบถ้วนเพียงพอแล้ว ยังได้อาหารทางจิตใจคือความอบอุ่นจากแม่ ที่จะทำให้การเจริญเติบโตทางร่างกายของเด็กประสานประสมกลมกลืนไปกับการพัฒนาด้านจิตใจ เป็นรากฐานในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีร่างกายแข็งแรง สมองดี สุขภาพจิตสมบูรณ์

นอกจากนี้นมแม่ยังให้ภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งจะช่วยป้องกันให้เด็กติดโรคน้อยลง ทำให้การเจริญเติบโตของเด็กไม่หยุดชะงักเพราะการเจ็บป่วย ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือนมแม่ยังมีสารที่ควบคุมการเจริญเติบโตให้เป็นไปโดยสมบูรณ์ที่สุด ทั้งภูมิคุ้มกันโรค และสารที่ควบคุมการเจริญเติบโตของเด็กนี้มีเฉพาะในนมแม่เท่านั้น เด็กที่กินนมแม่ยังมีโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้ได้น้อยและมีการเสี่ยงต่อโรคหัวใจเนื่องจากไขมันอุดตันหลอดเลือดในวัยผู้ใหญ่น้อยลงด้วย

ปัจจุบันนี้ได้มีการศึกษาในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น ทำให้มีข้อแนะนำใหม่ที่อาจจะผิดแผกไปจากข้อแนะนำเดิมในหลายข้อ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เองได้ดียิ่งขึ้น

ระยะก่อนคลอด

นอกจากจะแนะนำให้แม่ไปฝากครรภ์เร็วที่สุดแล้ว ยังต้องเตรียมตัวแม่สำหรับเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย
ถ้าหัวนมไม่ปกติ (เช่น บุ๋ม แบน หรือบอด) ควรหาทางแก้ไขโดยเร็วที่สุด

                                           

ควรจะบำรุงร่างกายแม่โดยให้กินอาหารที่มีประโยชน์ซึ่งให้ทั้งพลังงานและโปรตีน แม่ควรจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มในระหว่างตั้งครรภ์ ประมาณ 10-12.5 กิโลกรัม

สำหรับการนวดเต้านมหรือการคลึงหัวนมนั้น ปัจจุบันนี้ไม่แนะนำให้ทำ โดยเฉพาะในแม่ที่ครรภ์แก่หรือมีโอกาสจะคลอดก่อนกำหนดได้ง่าย เพราะการนวดเต้านมหรือคลึงหัวนมอาจกระตุ้นให้มดลูกบีบตัวแรงหรือปากมดลูกเปิด จากฤทธิ์ของฮอร์โมนตัวหนึ่งที่ถูกกระตุ้นให้หลั่งเพิ่มขึ้น ฮอร์โมนนี้อาจมีผลทำให้คลอดก่อนกำหนดได้

ในระยะนี้เต้านมแม่จะมีขนาดโตขึ้นและน้ำหนักจะมากขึ้นประมาณ 3-4 เท่าด้วย ดังนั้นแม่ควรจะใส่ยกทรงที่ไม่รัดแต่พยุงเต้านมได้พอดี และใส่ทั้งกลางวันและกลางคืนเพื่อไม่ให้ท่อน้ำนมพับงอและไม่ให้เต้านมแม่เสียรูปทรงไป สำหรับคุณแม่ทั้งหลายควรจะทราบไว้ด้วยว่า ในระยะหยุดให้นมลูกใหม่ๆ เต้านมแม่จะมีขนาดเล็กลงและไม่เต่งตึงเหมือนเดิม ทั้งนี้เพราะว่าเต้านมแม่จะสร้างน้ำนมน้อยลงเรื่อยๆ จนหยุดสร้างไปในที่สุด ต้อรอจนกว่าแม่จะกินอาหารที่มีไขมันมาสะสมมากขึ้นจึงจะทำให้เต้านมแม่เต่งตึงขึ้นอีก

ระยะหลังคลอด
การศึกษาพบว่าเด็กแรกคลอดมีความมหัศจรรย์มาก เด็กเหล่านี้สามารถมองเห็น ได้ยินเสียง รู้สึก สัมผัส รู้รส และรู้กลิ่นตั้งแต่แรกคลอด ทำให้พร้อมที่จะรับการกระตุ้นแล้ว ดังนั้นเพื่อให้เด็กแรกคลอดมีพัฒนาการและการเจริญเติบโตได้เต็มที่ จึงควรให้ลูกได้อยู่กับแม่และเริ่มหัดดูดนมแม่เร็วที่สุดที่จะเร็วได้

ระยะ 2-3 วันแรกหลังคลอด

ระยะนี้เป็นระยะสำหรับกระตุ้นให้น้ำนมแม่เริ่มหลั่งเร็วที่สุดและหลั่งให้ได้มากที่สุด หลังจากนั้นเป็นการช่วยให้นมแม่ที่หลั่งมากอยู่แล้วได้หลั่งติดต่อกันไปเท่าที่ลูกต้องการ

ข้อแนะนำที่จำได้ง่ายสำหรับระยะนี้คือ จะต้องให้มี “3 ดูด” ได้แก่ ดูดเร็ว ดูดบ่อย และดูดได้ถูกต้อง

การดูดเร็ว
หมายถึงการให้ลูกได้ดูดนมแม่ในช่วงหลังคลอดให้เร็วที่สุด อย่างช้าไม่ควรเกิน 6 ชั่วโมง แต่ยิ่งเร็วกว่านั้นได้ยิ่งดี เพราะเวลาที่เด็กแรกคลอดจะตื่นตัวมากที่สุดคือในช่วง 1-2 ชั่วโมงแรกหลังคลอด ในระยะนี้ท่าที่ให้ลูกนอนคว่ำบนหน้าอกแม่แล้วดูดนมแม่จะเป็นท่าที่แม่สบายที่สุด

การดูดบ่อย หมายถึงการที่แม่ให้ลูกดูดนมบ่อยครั้ง ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้มีการสร้างและหลั่งน้ำนมมากขึ้น เพราะการที่ลูกดูดจะกระตุ้นให้แม่หลั่งฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นให้เต้านมสร้างน้ำนมมากขึ้น และการดูดบ่อยจะทำให้เลือดแม่มีฮอร์โมนตัวนี้สูงอยู่เกือบตลอดเวลา ทำให้แม่สร้างน้ำนมได้เร็วและได้มาก ยังผลให้ลูกได้นมเร็วและเพียงพอ

การที่จะให้ลูกได้ดูดนมบ่อยนั้นจำเป็นต้องให้ลูกมาอยู่กับแม่ (หรือที่เรียกว่า “rooming-in”) ซึ่งนอกจากจะทำให้ลูกได้ดูดนมแม่บ่อยตามต้องการแล้ว ยังเป็นการทำให้แม่และลูกมีความผูกพันทางจิตใจเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ใน 1-2 วันแรกควรให้ดูดทุก 2 ชั่วโมง หรือไม่น้อยกว่าวันละ 9 ครั้ง เพราะนอกจากจะเป็นการกระตุ้นให้นมแม่มาเร็วและมามากแล้ว ยังเป็นการทำให้ลูกตัวเหลืองน้อยลงด้วย

การดูดได้ถูกต้องนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะปัญหาเรื่องน้ำนมแม่มีไม่พอนั้นจะเกิดจากการดูดไม่ถูกต้องมากที่สุด

ในขั้นแรกจะต้องให้แม่นอนหรือนั่งตัวตรงในท่าที่สบายที่สุด ถ้าแม่นั่งก็อุ้มลูกโดยใช้เบาะหรือหมอนรองตัวลูกเสียก่อนเพื่อให้ปากลูกอยู่ระดับเดียวกับหัวนมแม่ อุ้มให้ตัวลูกตะแคงเล็กน้อยเพื่อให้ปากลูกกับหัวนมแม่อยู่ในมุมเดียวกัน แม่พยุงเต้านมโดยให้นิ้วหัวแม่มือแม่อยู่ที่ด้านบนของเต้านม ส่วนอีกสี่นิ้วคอยประคองเต้านมอยู่ด้านล่าง พยายามปรับให้หัวนมทำมุมให้เหมาะกับปากลูกที่สุด แล้วใช้หัวนมเขี่ยที่ปากลูกเบาๆ ลูกจะอ้าปากรอรับ

แม่ต้องรีบกอดตัวลูกกระชับเข้ามาพร้อมกับสอดหัวนมให้เข้าปากลูกให้ลึกจนมิดลานหัวนม (สำหรับแม่ที่มีลานหัวนมกว้างมากๆ นั้น ให้ลูกอมให้ลึกเข้าประมาณ 1-1 1/2 นิ้วฟุตจากหัวนม จนเหงือกลูกวางอยู่บนลานหัวนม ไม่ใช่อยู่บนหัวนม ทั้งนี้เนื่องจากในขณะดูดนมแม่ลูกจะขยับเหงือกกดเข้าออกบนลานหัวนมเป็นระยะๆ เพื่อกดงับให้น้ำนมไหลเข้าปากตัวเอง)

ขณะเดียวกันลิ้นลูกจะเคลื่อนไหวอยู่ใต้ลานหัวนมด้วย โดยจะใช้ลิ้นเลียและรีดจากลานหัวนมออกมาทางหัวนม เพื่อช่วยรีดให้น้ำนมไหลเข้าปากอีกทางหนึ่ง

หากอมหัวนมไม่ลึกพอจะทำให้เหงือกของลูกกดงับอยู่บนหัวนมและลิ้นก็จะเลียที่หน้าหัวนมอย่างแรง ซึ่งอาจจะทำให้หัวนมเจ็บหรือแตกเป็นแผลได้ การที่ลูกอมหัวนมได้ถูกต้องจึงช่วยให้ลูกได้น้ำนมมากและกระตุ้นให้แม่สร้างน้ำนมมากขึ้นด้วย แม่ที่ให้ลูกดูดนมบ่อยแต่น้ำนมมาช้าและมาไม่มาก หรือแม่ที่เจ็บหัวนมเวลาลูกดูดนมเกิดจากการที่ลูกอมหัวนมไม่ถูกต้องมากที่สุด

กลไกการดูดนมแม่และดูดนมขวดนั้นไม่เหมือนกัน และการใช้เหงือกและลิ้นของเด็กจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงในสองกรณีดังกล่าว

ดังนั้นในระยะที่ลูกยังไม่ชินกับการดูดนมแม่และนมแม่ยังมาไม่มากพอนั้น ไม่ควรให้เด็กดูดหัวนมยางเลย เพราะอาจจะทำให้เด็กติดหัวนมยางหรือเกิดความสับสนในเรื่องหัวนม (nipple confusion) ได้ง่ายมาก และจะหัดให้กลับมาดูดนมแม่ได้ลำบาก เด็กบางคนอาจไม่ยอมกลับมาดูดนมแม่อีกเลย

บางคนอาจเกรงว่าในระยะ 2-3 วันแรกที่น้ำนมแม่ (ซึ่งมีสีเหลืองที่เรียกว่าหัวน้ำนม) ยังมีจำนวนน้อยอยู่นั้นอาจจะไม่เพียงพอสำหรับลูก แต่อันที่จริงแล้วเด็กที่คลอดปกติและครบกำหนดร่างกายจะมีน้ำอยู่มากกว่าธรรมดาและมีพลังงานสำรองมาให้อย่างน้อยสำหรับ 2-3 วันแรกอยู่แล้ว

ดังจะเห็นได้ว่าตามปกติใน 2-3 วันแรกเด็กจะมีน้ำหนักตัวลดลงจากน้ำหนักแรกคลอดไม่เกินร้อยละ 10 หลังจากนั้นน้ำหนักตัวจึงจะค่อยๆเพิ่มขึ้นตามปริมาณน้ำนมแม่ที่จะมากขึ้นตามลำดับ จนประมาณวันที่ 10 หรือปลายสัปดาห์ที่สองน้ำหนักตัวของเด็กจึงจะขึ้นมาเท่ากับน้ำหนักตัวตอนแรกคลอด

ดังนั้นตั้งแต่แรกเกิด เด็กที่คลอดปกติและครบกำหนดจึงไม่จำเป็นที่จะต้องกินอาหารอื่นนอกจากนมแม่ และไม่จำเป็นต้องให้นมผสมในระยะ 2-3 วันแรก

คงพอจะจำกันได้ว่า เมื่อประมาณสองปีก่อนได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในนครเม็กซิโกซิตี้ โรงพยาบาลสองแห่งในเมืองนั้นได้พังทลายลง หน่วยกู้ภัยได้ช่วยเหลือเด็กแรกเกิดที่มีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 10 กว่าคนในปลายสัปดาห์แรกหลังเกิดเหตุ เมื่อได้ติดตามเด็กเหล่านี้ในหนึ่งปีถัดมาก็พบว่าเจริญเติบโตแข็งแรงดี ไม่มีคนใดมีปัญหาทั้งทางร่างกายและสมอง ซึ่งผู้อ่านบางท่านอาจจะเคยได้ดูในข่าวผ่านดาวเทียมทางวิทยุโทรทัศน์มาแล้ว

ในการให้นมลูกแต่ละครั้งนั้นควรให้ลูกดูดนมทั้งสองเต้า โดยเริ่มจากเต้าที่ดูดค้างจากคราวที่แล้วก่อน ถ้าเต้านมไม่คัดไม่ควรบีบน้ำนมที่ลูกดูดไม่หมดทิ้ง เพราะนมที่ค้างอยู่นั้นจะให้พลังงานมากกว่านมที่ออกมาในระยะต้นๆ

ในวันแรกควรให้ลูกดูดข้างละประมาณ 5 นาที ในวันที่สองข้างละ 10 นาที และตั้งแต่วันที่สามเป็นต้นไปข้างละประมาณ 15 นาที เพื่อจะกระตุ้นให้แม่หลั่งฮอร์โมนที่ช่วยในการสร้างน้ำนมได้มากพอ

ระยะต่อไป
นมแม่จะค่อยๆมีปริมาณเพิ่มขึ้นจนเพียงพอแก่ความต้องการของลูก

ในระยะ 3 เดือนแรกควรให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว
ไม่ควรให้อาหารอย่างอื่นอีกแม้กระทั่งน้ำ เพราะในนมแม่จะมีน้ำอยู่มากแล้วถึงประมาณร้อยละ 87 และสำหรับเด็กที่กินนมแม่ หลังจากผ่านการย่อยแล้ว ของเสียจากนมแม่ที่ต้องขับถ่ายทางไตจะมีน้อยมาก เด็กจึงไม่ต้องการน้ำเพิ่มเติมอีก

นอกจากนี้ นมแม่ยังมีสารที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา ดังนั้นเด็กที่กินนมแม่โดยไม่ได้กินอาหารอย่างอื่นอีกจึงมักไม่มีเชื้อราในช่องปาก

ถ้าหากให้น้ำหลังให้นมแล้ว น้ำจะล้างสารดังกล่าวออกไป ทำให้เด็กมีโอกาสเกิดเชื้อราในช่องปากได้ง่ายขึ้น

ผู้ที่ควรดื่มน้ำเป็นอย่างยิ่งคือตัวแม่เอง
แม่ควรดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มอื่นๆหลังให้นมลูกแล้วทันทีครั้งละ 1-2 แก้ว เด็กที่กินนมแม่ หากไม่ได้กินน้ำด้วยจะไม่เกิดตัวเหลืองเพิ่มขึ้นถ้าได้กินนมแม่บ่อยครั้งพอ ตรงข้าม หากลูกตัวเหลืองที่ไม่ได้เกิดจากพยาธิสภาพขึ้นมา ถ้าเราให้ลูกดูดนมแม่บ่อยขึ้น จะทำให้อาการเหลืองลดลงด้วย

เมื่อนมแม่มาเต็มที่แล้วลูกจะดูดนมแม่ไม่บ่อยเหมือนในระยะแรกๆ แต่นมแม่ย่อยง่ายจึงทำให้หิวเร็วกว่าเด็กที่กินนมผสม โดยเฉลี่ยแล้วเด็กจะกินนมแม่ประมาณ 3 ชั่วโมงครั้ง

เมื่อแม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ก็ควรจะให้ลูกได้กินนมแม่ในขณะที่แม่อยู่บ้าน
ถ้าแม่มีน้ำนมมากก็สามารถจะบีบนมใส่ขวดเก็บไว้ให้ลูกกินขณะที่แม่ไม่อยู่บ้านได้อีกด้วย การบีบน้ำนมใส่ขวดนั้นไม่ต้องการเครื่องมือพิเศษใดๆ ขวดที่จะใช้บรรจุนมควรทำความสะอาดให้ดีเสียก่อนแล้วต้มในน้ำเดือดอีกประมาณ 10 นาที

                                         

สำหรับการบีบน้ำนมนั้น ให้แม่ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้วางที่ขอบของลานหัวนมโดยให้อยู่คนละด้านของหัวนม และให้นิ้วทั้งสองและหัวนมเรียงอยู่ในแนวเดียวกัน จากนั้นกดนิ้วทั้งสองเข้าหาหน้าอกแม่ก่อน แล้วจึงบีบนิ้วเข้าหากัน จะทำให้น้ำนมไหลพุ่งออกมา ควรบีบนมทิ้งประมาณสามครั้งก่อนจากนั้นจึงค่อยบีบให้น้ำนมไหลพุ่งเข้าสู่ขวดโดยตรง

แม่ที่บีบนมเป็นและมีน้ำนมพอจะสามารถใช้มืออย่างเดียวบีบน้ำนมได้มากเป็นขวด ไม่แนะนำให้ใช้เครื่องปั๊มนม เพราะจะทำให้มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์มากกว่าการใช้มือบีบให้น้ำนมไหลพุ่งเข้าสู่ขวดโดยตรง

นมที่บีบใส่ขวดแล้วไม่จำเป็นต้องนำไปต้มหรือไปทำการฆ่าเชื้อ เพียงปิดขวดนมให้ดีแล้วเก็บไว้ในตู้เย็นบนชั้นเย็นธรรมดา(ไม่ต้องแช่ในช่องแข็ง) หรือเก็บไว้ในกระติกน้ำแข็งก็พอ โดยวิธีดังกล่าวสามารถเก็บนมแม่ไว้ได้นานถึง 24 ชั่วโมง และนำมาให้ลูกกินได้โดยความปลอดภัย

การศึกษาโดยการนับจำนวนเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำนมแม่ในระยะหลังบีบทันที และนับเป็นระยะๆหลังจากที่เก็บไว้ในตู้เย็นหรือในกระติกน้ำแข็ง ผลปรากฏว่าเชื้อจุลินทรีย์จะมีจำนวนลดน้อยลงอย่างชัดเจนตามลำดับ และจะลดลงต่ำสุดเมื่อถึง 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการยืนยันว่าในน้ำนมแม่มีสารซึ่งออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อโรค

นมแม่กับนมขวดอันไหนแน่กว่ากัน

นมแม่
- ประหยัด ไม่ต้องซื้อหา
- มีภูมิคุ้มกันโรค
- มีสารควบคุมการเจริญเติบโตของเด็กให้ได้สมดุล
- เกิดสายสัมพันธ์แห่งความรักระหว่างแม่กับลูก
- มีอุณหภูมิพอเหมาะ ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป
- สะอาด ปราศจากเชื้อโรคและรังสี
- สะดวก ไม่ต้องเสียเวลาเตรียม สามารถให้ลูกกินได้ทุกสถานที่ทุกเวลา
- ช่วยให้แม่มีทรวดทรงดี ปัญหาเรื่องอ้วนน้อย
- ช่วยขับน้ำคาวปลา
- ทำให้มดลูกของแม่เข้าอู่เร็ว
- ช่วยให้การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปช้าลง
- ช่วยให้ฟันและเพดานปากของลูกเข้ารูป
- ช่วยให้ลูกมีความมั่นคงทางจิตใจ
- สะอาดและปลอดภัย ออกจากเต้านมเข้าสู่ปากลูกได้ทันที
- โอกาสที่แม่จะเป็นมะเร็งเต้านมน้อยลง

นมขวด
- สิ้นเปลือง มีราคาแพง
- ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคเช่นนมแม่
- ยุ่งยากในการเตรียมให้ได้สัดส่วน
- ต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาด เช่น น้ำ ขวดนม มิฉะนั้นลูกอาจท้องเสียได้
- ต้องระวังอุณหภูมิของนม ไม่ให้ร้อนหรือเย็นเกินไป
- ลูกมีโอกาสแพ้โปรตีนในนมวัว
- ต้องเสียเวลาเตรียม ขั้นตอนซับซ้อน ไม่สามารถให้ลูกกินได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ถ้าขาดอุปกรณ์ เช่น ขวดนม หัวนม น้ำร้อน แป้งนม เป็นต้น

ข้อมูลสื่อ

106-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 106
กุมภาพันธ์ 2531
อื่น ๆ
นพ.วีระพงษ์ ฉัตรานนท์