• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การซักประวัติ (ต่อ)

ตอน4 : การซักประวัติ (ต่อ)

ประวัติการเจ็บป่วย หรือ เรื่องราวการเจ็บป่วย เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะช่วยให้รู้ว่า การเจ็บป่วยนั้นเป็นโรคอะไร เกิดจากสาเหตุอะไร ควรจะแก้ไขอย่างไร และอื่นๆ

ประวัติการเจ็บป่วยที่สำคัญ คือ ประวัติปัจจุบัน ซึ่งหมายถึง เรื่องราวการเจ็บป่วยในครั้งนี้ ไม่ได้รวมถึงเรื่องราวของการเจ็บป่วยครั้งก่อนๆ หรือที่เรียกว่า ประวัติอดีต ยกเว้นแต่ในกรณี ที่การเจ็บป่วยครั้งก่อนๆ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยครั้งนี้ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ เราอาจจะรวมประวัติการเจ็บป่วยครั้งก่อนๆอยู่ในประวัติปัจจุบันด้วย

ผู้ที่จะเป็นหมอ จึงจะต้องฝึกวิธี ถามเรื่องราวการเจ็บป่วยให้คล่อง ซึ่งการถามนี้ ก็ไม่ยากเย็นอะไร จำไว้ให้ได้ว่า สิ่งต้องถามที่สำคัญ คือ

1. มีอาการอะไร

2. เป็นมานานเท่าใด

3. เป็นตรงไหน เป็นอย่างไร เริ่มเป็น เป็นอย่างไร

4. ตอนไหน เพียงไหน นานไหม เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

5. อะไรทำให้เป็น อะไรทำให้เป็นมาก อะไรทำให้เป็นน้อย

6.ร่วมด้วยอาการอะไร

7.เคยเป็นมาก่อนไหม

8. กินยาอะไรอยู่บ้าง แพ้ยาอะไรอยู่บ้าง

แต่ไม่จำเป็นต้องถามเรียงกันไปแบบนี้ จะสลับกันไปสลับกันมาก็ได้ และไม่จำเป็นต้องถามให้ครบกว่านี้ ถ้าถามแค่นี้ แล้วยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร

ตัวอย่าง

1. ชายหนุ่มอายุประมาณ 20 ปี เดินกระมิด กระเมี้ยน เข้ามาหาแล้วกระซิบบอกหมอว่า

คนไข้ : “หมอครับ ผมปัสสาวะแล้ว แสบจังเลยครับ”

หมอ : “คุณปัสสาวะแสบมากี่วันแล้วครับ”

คนไข้ : “ จุ๊! จุ๊! หมออย่าถามดังนักซีครับ ผมปัสสาวะแสบมา 2-3 วันแล้วครับ แล้วมีหนองไหล เปื้อนกางเกงในด้วย

หมอ : “อะไร ทำให้คุณเกิดอาการอย่างนี้ครับ”

คนไข้ : “ผมคิดว่า ส้วมสาธารณที่ผมเข้าไปฉี่สกปรก ทำให้ผมติดโรคผู้หญิงมาครับ”

หมอ : “โธ่! คุณเอ๋ย คุณไม่ติดโรคอย่างนี้จากส้วมหรอกครับ ถามจริงๆ เถอะ คุณไปนอนกับผู้หญิงมาก่อนเกิดอาการใช่ไหม”

คนไข้ : “ครับ! ครับ ! แต่เพื่อนเขารับรองว่า ผู้หญิงคนนี้ไม่ใช่ผู้หญิงหากินนี่ครับ โธ่ ! ผมไม่น่าเชื่อเขาเลยผมเพิ่งพาผู้หญิงที่เขาแนะนำไปนอนด้วยกันเมื่อ 2 วันก่อนเท่านั้น”

ประวัติแบบนี้ ก็ค่อนข้างจะชัดเจนแล้วว่า คนไข้เกิดอาการปัสสาวะแสบ และมีหนองไหล หลังจากไปร่วมหลับ นอนกับผู้หญิงคนหนึ่งเพียง 2 วัน ซึ่งน่าจะเป็นโรคหนองใน มากกว่าอย่างอื่น ถ้าจะให้ดีก็ควรจะเอาหนองนั้น มาป้ายบนแผ่นกระจกผึ่งให้แห้ง ย้อมสีกรัมด้วย แล้วนำมาดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะพบเชื้อโรคเป็นรูปตัวกลม ติดสีแดง (กรัมลบ) อยู่ในเม็ดเลือดขาวเป็นคู่ๆ (ดูในคอลัมน์ “ทันโรค” ใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 1,2,3 ปีที่ 1 2522)

ถ้าไม่มีสีกรัม หรือกล้องจุลทรรศน์ จะลองให้ยารักษาไปเลยก็ได้ ยาที่น่าจะลองใช้ดูก่อน ก็คือ แอมพิซิลลิน 6 เม็ด ( เม็ดละ 500 มิลลิกรัม ราคาเม็ดละ 4 บาท ) ขนาดยา มีให้กันหลายอย่าง อาจให้ 4 เม็ด ( 2กรัม) หรือ 7 เม็ด (2.3 กรัม) ก็ได้ กับ โปรเบเนซิด 2 เม็ด (เม็ดละ 500 มิลลิกรัม ราคาเม็ดละ 2 บาท) กินเข้าไปพร้อมกันเลยครั้งเดียว ถ้าไม่เคยแพ้ยาพวกนี้ และไม่เคยแพ้ยาเพนนิซิลลิน

นอกจากนี้ ห้ามร่วมเพศเด็ดขาด จนกว่าจะหายสนิท ห้ามเหล้าและยาดองของเมาทุกชนิด ให้ดื่มน้ำมากๆ และนอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ ก็จะหายได้ แล้วถ้าจะให้ดีแล้ว ควรจะให้เพื่อนนอนกินยา เพื่อให้หายจากโรคด้วย (ดูในเรื่อง “กามโรค” ใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 3 ปีที่ 1 2522)

2. หญิงวัยกลางคน พาเด็กหน้าตามอมแมม 4 คน มาหาหมอ แล้วบอกหมอว่า

“คุณหมอขา ลูกๆ ของอิชั้นไอมากค่ะ เจ้าคนกลางเป็นก่อน เป็นได้ไม่นานคนอื่นๆ ก็เป็นกันบ้างค่ะ มันไอ กันอย่างไม่เป็นอันกินอันนอนเลย เวลาไอ จะไอติดๆ กัน จนหน้าดำหน้าแดงไปหมด เจ้าคนกลางมีเลือดออกในตาด้วยค่ะ และเจ้าคนเล็กพอไอติดๆ กันนานๆ มือ เท้า ริมฝีปากจะเขียวเลยค่ะ รู้สึกว่าจะต้องไอติดๆ กันไปเรื่อยๆ จนกว่าเสลดที่อุดอยู่จะหลุดออกมา แล้วจะได้ยินเสียงหายใจเข้าดังเฮือก แล้วถึงจะหยุดไอค่ะ นี่เป็นกันมา 2-3 อาทิตย์แล้วล่ะค่ะ คุณหมอช่วยหน่อยสิคะ”

ถ้าคนไข้หรือญาติ เล่าประวัติการเจ็บป่วยได้แบบนี้ คุณหมอก็แทบจะไม่ต้องซักประวัติปัจจุบันเพิ่มเติมอีก เพราะประวัติแบบนี้ ก็บอกได้ชัดเจนแล้วว่า เด็กทั้ง 4 คน เป็นโรคไอกรน หรือที่คนจีนเรียกว่า “แป๊ะยิดเส่า” (ไอร้อยวัน) เป็นโรคที่ติดต่อง่าย อาจเป็นกับเด็กทั้งบ้าน ทั้งโรงเรียน หรือทั้งหมู่บ้านก็ได้ (ดูคอลัมน์ “เด็ก...(ผู้ใหญ่อ่านดี)” ใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 3 ปีที่ 1 2522)

โรคนี้ป้องกันได้ง่าย แต่รักษายาก เพราะยังไม่มียาที่จะทำให้อาการไอดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว หลังจากที่เป็นโรคแล้ว เพราะฉะนั้นควรพาเด็กๆ ไปฉีดยาป้องกันไว้ดีกว่า เพราะยาเข็มเดียว (วัคซีน ดี.พี.ที.) จะฉีดป้องกันได้ถึง 3 โรค ซึ่งล้วนแต่เป็นโรคอันตรายทั้งนั้น คือ โรคคอตีบ โรคไอกรน และโรคบาดทะยัก

ดังนั้นสิ่งที่คุณหมอควรจะถามเพิ่มเติม ก็คือ

หมอ : “ลูกชายของคุณทั้ง 4 คน เคยฉีดวัคซีน ดี.พี.ที. หรือเปล่าครับ”

แม่เด็ก : “ไม่เคยค่ะ ลูกๆของอิชั้นคลอดกันเองที่บ้าน แล้วก็ไม่เคยพาไปหาหมอหรอกคะ”

หมอ : “คลอดที่บ้านน่ะไม่เป็นอะไรหรอกครับ แต่ควรจะให้เด็กได้รับการฉีด และการกินวัคซีนป้องกัน เด็กๆ จะได้ไม่เป็นโรคที่ร้ายแรงทำให้ตาย พิการ หรือทรมานมากๆ อย่างนี้ ถ้าอยู่ไกลหมอมาก ก็ไม่จำเป็นต้องมาหาหมอ ให้พยาบาล หรือผดุงครรภ์ที่อยู่ใกล้ๆ บ้านให้วัคซีนป้องกันโรคแทนหมอได้”

จะเห็นได้ว่า แม้แต่ในขณะที่ซักประวัติอยู่ หมอที่ดีอาจจะให้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่คนไข้ และญาติเป็นการสอน หรือแนะนำให้คนไข้และญาติสามารถปฏิบัติรักษาตนเองทุกข้อ ถามพอที่จะให้รู้ว่า คนไข้เป็นโรคอะไร และจำแก้ไขได้อย่างไร ในบางครั้ง อาจจะต้องถามมากได้ถูกต้อง

3. หญิงสาวอายุประมาณ 20 ปี รูปร่างหน้าตาสะสวย เดินระทดระทวยเข้ามาหาหมอ นั่งลงตรงหน้าหมอ แล้วก็นิ่งอึ้งอยู่ หมอจึงพูดทักว่า

หมอ : “สวัสดีครับ มีอาการไม่สบายอะไรหรือครับ ที่มาหาหมอ”

คนไข้ : “หนูไม่ทราบว่า เป็นอะไรคะ คล้ายๆ จะเป็นไข้ ไม่สบายไปทั้งตัว เบื่ออาหาร และบางครั้งก็ คลื่นไส้ อาเจียน ด้วยค่ะ”

หมอ : “เป็นมานานเท่าไหร่แล้วครับ”

คนไข้ : “เป็นมา 2 อาทิตย์แล้วค่ะ”

การที่ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการตอบคำถามเช่นนี้อาจเกิดจาก ผู้ป่วยมีอะไรซุกซ่อนอยู่ในใจไม่อยากจะบอกให้หมอทราบหรือผู้ป่วยอยากจะลองดี หรือแกล้งหมอ ซึ่งเราจะต้องให้อภัย อย่าไปถือโกรธพยายามแสดงความรัก ความเมตตาเพิ่มขึ้น โดยแสดงความเห็นอกเห็นใจ ความสงสาร และความต้องการที่จะช่วยเหลืออย่างจริงจัง แล้วทุกสิ่งทุกอย่างจะดีขึ้น

หมอ : “เวลามีไข้ตัวร้อนมากไหมครับ”

คนไข้ : “ไม่ร้อนมากหรอกค่ะ”

หมอ : “คุณวัดปรอทดูหรือเปล่าครับ”

คนไข้ : “ไม่ได้วัดค่ะ”

หมอ : “เวลาเป็นไข้ คุณลองจับหน้าผาก ซอกคอ หรือว่ารักแร้ดูบ้างหรือเปล่าครับ”

คนไข้ : “ไม่เคยค่ะ”

หมอ : “เวลาเป็นไข้ ญาติพี่น้องเคยมาคลำหน้าผาก ซอกคอ หรือรักแร้ คุณบ้างหรือเปล่าครับ”

คนไข้ : “คุณพ่อคุณแม่เคยคลำค่ะ”

หมอ : “แล้วคุณพ่อคุณแม่ พูดหรือเปล่าครับว่า ตัวคุณร้อนมากแค่ไหน”

คนไข้ : “คุณพ่อคุณแม่เคยพูดว่า ตัวก็เย็นดีนี่”

หมอ : “ตอนที่คุณพ่อคุณแม่พูดเช่นนั้น คุณกำลังรู้สึกเป็นไข้เต็มที่ใช่ไหมครับ”

คนไข้ : “ใช่ค่ะ”

หมอ : “ถ้าเช่นนั้น เวลาที่คุณรู้สึกเป็นไข้ ตัวคุณก็ไม่ได้ร้อน เพียงแต่คุณรู้สึกไม่สบายเท่านั้น ใช่ไหมครับ”

คนไข้ : “ใช่ค่ะ”

จะเห็นได้ว่า ในรายนี้ คนไข้กับหมอให้ ความหมายคำว่า “ไข้” แตกต่างกัน คนไข้ใช้คำว่า “ไข้” หมายถึง ความรู้สึกไม่สบายต่างๆ ส่วนหมอใช้คำว่า “ไข้” หมายถึงอาการตัวร้อนกว่าปกติ

การถามประวัติการเจ็บป่วยจึงต้องถามให้แน่ใจว่า คำที่คนไข้ใช้ มีความหมายตรงกับที่เราเข้าใจหรือไม่ มิฉะนั้น อาจทำให้เข้าใจผิดไปได้ เมื่อเข้าใจตรงกันแล้ว จึงจะถามถึงอาการอื่นต่อไป

หมอ : “ถ้าเช่นนั้น อาการไม่สบายของคุณก็คือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ใช่ไหมครับ”

คนไข้ : “ใช่ค่ะ”

หมอ : “มีอาการอะไรอย่างอื่นอีกไหมครับ”

คนไข้ : “มีค่ะ”

หมอ : “มีอาการอะไรอีกครับ”

คนไข้ : “อาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว นอนไม่ค่อยหลับค่ะ”

หมอ : “อาการทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นพร้อมกัน หรือเกิดเรียงกันตามลำดับ หรือต่างอันต่างเกิดครับ”

คนไข้ : “ไม่แน่นอนค่ะ”

หมอ : “คุณหมายความว่าอย่างไรครับ คุณหมายความว่าอาการอาจจะเกิดพร้อมกัน อาจจะเกิดเรียงกัน และต่างอันต่างเกิด หรือคุณหมายความว่าต่างอันต่างเกิดครับ”

คนไข้ : “ต่างอันต่างเกิดค่ะ แต่บางครั้งก็มีอาการหลายอย่างรวมกัน”

หมอ : “อะไรทำให้คุณเกิดอาการอย่างนี้ครับ”

คนไข้ : “ไม่ทราบค่ะ”

หมอ : “อะไรทำให้อาการของคุณเป็นมากขึ้น หรือน้อยลงครับ”

คนไข้ : “ไม่ทราบค่ะ”

หมอ : “ถ้าคุณเกิดอาการขึ้นมาคุณทำอย่างไร เพื่อที่จะบรรเทาอาการนั้นครับ”

คนไข้ : “ถ้านอนหลับไปได้ พอตื่นขึ้นมา อาการจะดีขึ้นค่ะ แต่บางครั้ง ตื่นขึ้นมาตอนเช้า กลับคลื่นไส้อาเจียนมากๆ ก็มีค่ะ”

หมอ : “เวลาคลื่นไส้อาเจียน มีอาหาร หรือน้ำอะไรออกมาไหมครับ”

คนไข้ : “ส่วนใหญ่ไม่มีค่ะ นอกจากเวลาหลังอาหาร จึงจะมีอาหารที่เพิ่งจะรับประทานเข้าไป อาเจียนออกมา”

หมอ : “วันหนึ่งๆ คุณคลื่นไส้ อาเจียนกี่ครั้งครับ”

คนไข้ : “ไม่แน่ค่ะ”

หมอ : “คุณมักจะคลื่นไส้ อาเจียน เวลาเช้า กลางวัน เย็น หรือกลางคืนครับ”

คนไข้ : “เวลาเช้า และเวลาอาหารค่ะ”

หมอ : “คุณผอมลงหรืออ้วนขึ้นครับใน 2 อาทิตย์นี้”

คนไข้ : “ไม่ทราบค่ะ”

หมอ : “วันหนึ่งๆ คุณกินอะไรได้บ้างครับ”

คนไข้ : “ไม่ได้ค่ะ”

จะเห็นได้ว่า ผู้ป่วยรายนี้ ไม่ให้ความร่วมมือในการตอบคำถามเท่าที่ควร แบบที่เรียกว่า “ถามคำตอบคำ” และเวลาตอบ ก็มักจะไม่ตอบให้ตรงคำถาม หรือไม่ตอบให้ครบถ้วน เช่น ถามว่า “กินอะไรได้บ้าง” ตอบว่า “ไม่ได้” ถ้ากินไม่ได้มา 2 อาทิตย์ จริงๆ คนไข้ก็คงผอมลงมาก และเดินไม่ไหว หรือไม่ค่อยจะไหวแล้ว แต่คนไข้ยังเดินมาหาหมอได้และเมื่อหมอถามว่า ผอมลงหรืออ้วนขึ้น คนไข้ก็บอกว่าไม่ทราบ

การที่ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการตอบคำถามเช่นนี้ อาจเกิดจาก ผู้ป่วยกำลังสับสน เลื่อนลอย หรือผู้ป่วยมีอะไรซุกซ่อนอยู่ในใจ ไม่อยากจะบอกให้หมอทราบ หรือผู้ป่วยอยากจะลองดีหรือแกล้วหมอ ซึ่งเราจะต้องให้อภัย อย่าไปถือโกรธพยายามแสดงความรัก ความเมตตาเพิ่มขึ้น โดยแสดงความเห็นอกเห็นใจ ความสงสาร และความต้องการที่จะช่วยเหลืออย่างจริงจัง แล้วทุกสิ่งทุกอย่างจะดีขึ้น

หมอ : “ที่คุณกินไม่ได้นั้น กินอะไรไม่ได้บ้างครับ”

คนไข้ : “พวกข้าวและเนื้อสัตว์ค่ะที่กินไม่ได้ เพราะทำให้รู้สึกเหม็นคาว ชวนคลื่นไส้อาเจียนค่ะ”

หมอ : “พวกน้ำ น้ำหวาน ผลไม้ และอาหารอื่นๆ ล่ะครับ”

คนไข้ : “พอจะรับประทานได้บ้างค่ะ”

หมอ : “อุจจาระ ปัสสาวะ ปกติดีหรือครับ”

คนไข้ : “ปกติดีค่ะ”

หมอ : “ประจำเดือนล่ะครับ”

คนไข้ : “ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอค่ะ”

การซักประวัติตั้งแต่ต้นมาจนถึงระยะนี้ ยังไม่ได้คำตอบที่จะช่วยให้เรารู้ถึงสาเหตุของอาการไม่สบายครั้งนี้ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องถามเรื่อยไปถึงเรื่องอื่นๆ เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ ประจำเดือน ในผู้หญิงการถามเกี่ยวกับเรื่องประจำเดือนเป็นสิงสำคัญมาก และไม่ควรจะงดเว้น การถามในเรื่องนี้ นอกจากจะเห็นว่าไม่จำเป็นจริงๆ ในรายนี้ ประวัติประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ ทำให้เราต้องถามต่อ

หมอ : “ประจำเดือนของคุณมาไม่สม่ำเสมอตั้งแต่คุณเริ่มมีประจำเดือนหรือครับ”

คนไข้ : “ระยะที่มีประจำเดือนตอนแรกๆ มันมาไม่ค่อยสม่ำเสมออยู่ 1-2 ปี แต่หลังจากนั้นก็มาทุกเดือนค่ะ เพิ่งจะหายไปมาได้เดือนเศษเท่านั้นค่ะ”

หมอ : “คุณมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายเมื่อไรครับ”

คนไข้ : “ครั้งสุดท้ายเมื่อสองเดือนที่แล้วคะ”

หมอ : “คุณคิดว่า ขาดประจำเดือนนี้ เป็นสาเหตุที่ทำให้คุณเกิดอาการหรือเปล่าครับ”

คนไข้ : “ไม่ทราบค่ะ”

คนไข้ตอบคำถามนี้ด้วยเสียงที่เบามาก และสั่นเครือ พร้อมกับก้มหน้ามองพื้น และหน้าเปลี่ยนสี ซึ่งหมอก็สังเกตเห็นทันที

จะเห็นได้ว่า การซักประวัตินั้น ไม่ได้ใช้แต่ปากและหูเท่านั้น ต้องใช้ประสาทที่รับความรู้สึกทุกส่วน โดยเฉพาะตา ต้องใช้ตาคอยสังเกต อากัปกิริยาของผู้ป่วยจะบอกให้ทราบถึงโรคที่ผู้ป่วยเป็นได้ เช่น

ขณะที่ผู้ป่วยเล่าเรื่องให้ฟัง ถ้ามีอาการกระตุกของหน้า (กล้ามเนื้อของหน้า) แขนขา มือ นิ้ว หรืออื่นๆ ก็จะทำให้รู้ได้ทันทีว่า ผู้ป่วยคงเป็นโรคของระบบประสาท หรือของกล้ามเนื้อ

ถ้าผู้ป่วยตอบคำถาม หรือเล่าอาการเจ็บป่วยให้เราฟัง โดยไม่กล้าสบตาเรา ก็จะทำให้เราสงสัยว่า ผู้ป่วยกำลังโกหกเราหรือมีอะไรที่ต้องการปกปิด (ไม่ต้องการบอกให้รู้) หรือกำลังอาย แต่มีบางคนเหมือนกัน ที่เวลาพูดกับใครจะไม่มองหน้าหรือสบตา โดยที่เขาไม่ได้โกหกหรือมีอะไรที่ต้องปกปิด

ในคนไข้รายนี้ อยู่ดีๆ ก็ตอบคำถามด้วยเสียงเบาและสั่นเครือ พร้อมกับก้มหน้าลงพื้นและหน้าเปลี่ยนสี ทำ ให้เรารู้ทันทีว่า คำถามที่ถามไปจะต้องไปจี้ใจดำคนไข้ เป็นสิ่งที่คนไข้คิดอยู่แล้วหรือกลัวอยู่แล้ว แต่ไม่กล้าเอ่ยปากถามหมอตรงๆ จึงทำให้หมอต้องเสียเวลาไปนานกว่าจะถามถึงจุดนี้ได้

เมื่อหมอเห็นเช่นนี้แล้ว อย่ารีบคาดคั้น ถามคนไข้ทันที และอย่าใช้คำถามตรงๆ เพราะอาจจะทำให้คนไข้ตกใจ และรีบปกปิดความจริงทันที เช่น อย่าถามว่า “คุณไปหลับนอนกับผู้ชายมาก่อนหน้านี้หรือเปล่า” หรือ “คุณกำลังท้องอยู่ใช่ไหม”

ทางที่ดี ควรหยุดซักถามไว้ก่อน และเริ่มตรวจร่างกายคนไข้แทน โดยตรวจทั่วไป เมื่อพบว่าร่างกายโดยทั่วไปปกติดี (เพราะการตั้งท้องในระยะแรกจะยังบอกได้ยากจากการตรวจร่างกายภายนอก เนื่องจากมดลูกที่มีเด็กอยู่ ยังโตไม่พ้นกระดูกเชิงกรานขึ้นมา ถ้าจะให้รู้จริง จะต้องตรวจภายใน นั่นคือ ต้องตรวจอวัยวะเพศ และตรวจภายในช่องคลอด)

เมื่อตรวจร่างกายภายนอกไม่พบสิ่งผิดปกติแล้ว จึงทำการซักประวัติต่อ

หมอ : “ร่างกายของคุณโดยทั่วไปปกติดีครับ หมอเข้าใจว่าที่คุณมีอาการไม่สบายต่างๆ คงจะเป็นเพราะประจำเดือนขาดไป ถ้าคุณคิดว่าประจำเดือนที่ขาดไป เกิดจากคุณกำลังจะมีน้อง หมอจะได้ไม่ต้องตรวจภายในเพิ่ม แต่ถ้าคุณคิดว่า ประจำเดือนที่ขาดไป ไม่ได้เกิดการตั้งท้องแน่ หมอก็คิดว่าคุณควรจะได้รับการตรวจภายในเพิ่มเติม มิฉะนั้นอาจจะพลาดโรคที่ทำให้คุณมาสบายได้”

คนไข้ : “หนูไม่ทราบจะตอบอย่างไรดีค่ะ”

คนไข้ พูดพลางร้องไห้พลางซบหน้าลงกับโต๊ะ แล้วสะอึกสะอื้น หมอใช้มือ ตบแขน ของคนไข้เบาๆ พลางพูดว่า

หมอ : “หนูอย่าเสียใจไปเลย หนูไม่ต้องตกใจเลย หมอจะช่วยหนูได้ และช่วยให้พ้นจากภาวะนี้ให้ได้ หนูอยากจะให้หมอช่วยอะไรบ้างล่ะครับ”

คนไข้ : พูดพลาง สะอื้นไปพลางว่า “คุณหมอต้องช่วย หนูแน่ๆ นะคะ ถ้าหนูตั้งท้อง คุณหมอต้องช่วยเอาเด็กออกให้ด้วยนะคะ”

หมอ : “หมอ จะช่วยหนูให้ดีที่สุด เท่าที่หมอจะช่วยได้ หนูเล่าให้หมอฟังสิครับว่า เรื่องราวเป็นมาอย่างไร”

คนไข้ : “หนูกับแฟนหนูรักกันมากค่ะ แต่คุณพ่อคุณแม่หนูไม่ชอบแฟนหนู เพราะว่าแฟนหนูจนค่ะ เลยไม่ยอมให้แต่งงานด้วย ทั้งที่หนูและแฟนต่างก็ทำงานแล้วทั้งสองคน หนูเห็นใจแฟนหนูมากค่ะ เลยยังติดต่อกับเขาอยู่ และเมื่อ 3 เดือนก่อน เราไปเที่ยวต่างจังหวัดด้วยกัน เลยได้เสียกันค่ะ คุณพ่อคุณแม่ไม่ทราบว่าเขาไปด้วยหรอกค่ะ นี่หนูจะทำอย่างไรดีล่ะคะ คุณพ่อคุณแม่รู้เข้า คงบ้านแตกแน่”

หมอ : “หนูยังรักกับแฟนอยู่ หรือเปล่าเล่าครับ”

คนไข้ : “รักค่ะ”

หมอ : “แล้วแฟนหนูยังรักหนูอยู่หรือเปล่า และเขายังอยากจะแต่งงานกับหนูอยู่ หรือเปล่าครับ”

คนไข้ : “แฟนหนูยังรักหนูและอยากแต่งงานกับหนูค่ะ แต่คุณพ่อคุณแม่หนูไม่ยอมค่ะ เราเลยต้องแอบพบกันนอกบ้านเสมอ”

หมอ : “เอาละครับ ถ้าอย่างงั้นคงจะไม่มีปัญหาอะไร หนูให้เวลาหมอสักหน่อย พรุ่งนี้หนูพาแฟนมาพบหมอหน่อยได้ไหมครับ”

คนไข้ : “ได้ค่ะ”

หมอ : “ถ้าอย่างนั้น หนูกลับบ้านได้แล้วครับ และทำใจเย็นๆ ไว้ อย่าเพิ่งบอกเรื่อง “การจะมีน้อง” นี้ให้ใครทราบ หมอจะให้ยา พลาสิ้ว (Plasil) นี้ไว้กินครั้งละ 1-2 เม็ด เวลาคลื่นไส้อาเจียนมาก แต่ถ้าไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน หนูไม่ต้องกินนะครับ แล้วหมอจะจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อย หลังจากที่ได้พบกับแฟนหนูพรุ่งนี้แล้ว”

จะเห็นว่า การซักประวัติรายนี้ยาวมาก เพราะคนไข้ไม่กล้าเล่าเรื่องต่างๆ ให้เราฟังโดยตรง จนกว่าเราจะทำให้เขาวางใจได้แล้ว เราจะช่วยเขาเต็มที่ และจะไม่ซ้ำเติมให้เขาต้องเจ็บปวด (เจ็บซ้ำน้ำใจ) เพิ่มขึ้น

การซักประวัติที่ดี จึงควรจะมีลักษณะเหล่านี้ด้วย เช่น

1. ให้เวลาแก่คนไข้

2. ไม่ใช้คำถามที่ทำให้คนไข้กลัว ตกใจ หรือเสียใจ

3. แสดงความเมตตา และเห็นอกเห็นใจ ทั้งในถ้อยคำและน้ำเสียง

4. แสดงความพร้อมที่จะช่วยเหลือ ไม่ว่าคนไข้จะได้กระทำผิดพลาดไปเพียงใด

5. อย่าถามนำ เช่า อย่าถามว่า “คุณอาเจียนแล้วมีน้ำขมๆ ออกมาด้วยใช่ไหม” หรือถามว่า “คุณปวดหัวแล้วมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียนด้วยใช่ไหม” ควรจะถามว่า “คุณอาเจียน แล้วมีอะไรออกมาหรือเปล่า” หรือ “คุณปวดหัว แล้วมีอาหารอื่นร่วมด้วยหรือเปล่า”

เพราะการถามนำ อาจจะทำให้ได้คำตอบที่ไม่ถูกต้อง เพราะคนไข้อาจตอบว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่ โดยไม่ได้เป็นความจริงอย่างนั้น ทางที่ดีแล้ว ถ้าผู้ป่วยหรือญาติเล่าเองโดยตลอด เหมือนดังตัวอย่างที่ 2 จะเป็นการดีที่สุด เพราะการถามคนไข้ บางครั้ง เราถามไปตามความรู้สึกของเรา ซึ่งไม่ตรงกับปัญหาของคนไข้ก็ได้ ทำให้ต้องใช้เวลานานกว่าจะรู้ว่า คนไข้ (ดังในตัวอย่างที่ 3 นั้น) มีปัญหาอะไร

คนไข้รายที่ 3 นี้ ได้พาแฟนมาพบหมอในวันรุ่งขึ้น หมอได้ซักไซ้ไล่เรียงดูแล้ว เห็นว่าเป็นคนดี มีความรักใคร่กันจริง จึงได้ให้คนไข้ไปพาพ่อแม่ของคนไข้มาพบ แล้วได้พูดกับพ่อแม่คนไข้แล้ว อธิบายให้พ่อแม่ของคนไข้เข้าใจว่า เงินทองนั้นเป็นของนอกกาย ถ้าคู่สมรสรักกัน เข้าใจกัน ช่วยกันทำมาหากิน ในไม่ช้าก็จะสร้างตัวได้ ไม่จำเป็นต้องร่ำรวยอยู่ก่อนหรอก พ่อแม่ของคนไข้แต่ก่อนหน้านี้ไม่ได้ร่ำรวยอะไร ทำไมจึงอยู่ด้วยกันจนร่ำรวยขึ้นมาได้ล่ะ

นอกจากนั้น ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจทำให้ชีวิตของลูกต้องประสบกับความอกหัก และความเจ็บช้ำ หรือทำให้ชีวิตหลานในท้องตนเองต้องสูญเสียไป จะเป็นบาปเป็นกรรมต่อไปภายหน้า และอื่นๆ ในที่สุดพ่อแม่ของคนไข้ก็เข้าใจ และหนุ่มสาวคู่นี้ก็ได้แต่งงานอยู่กินกันอย่างปกติสุข ต่อมาลูกที่เกิดมาก็เป็นที่ชื่นชอบของปู่ย่าตายายเป็นอย่างมาก

จะเห็นได้ว่า ปากของเรา สามารถทำได้หลายอย่าง ตั้งแต่ซักประวัติการเจ็บป่วย การปลอบประโลม การแสดงความความเห็นอกเห็นใจ การเกลี้ยนกล่อม แนะนำ และการรักษาให้ชีวิตหลายชีวิตที่เกิดปัญหาขึ้น กลับเป็นชีวิตที่เป็นปกติสุขได้ใหม่ โดยไม่ต้องใช้ยาอะไรเลย

ข้อมูลสื่อ

4-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 4
สิงหาคม 2522
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์