• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การซักประวัติ (ต่อ)

ตอน 5 : การซักประวัติ (ต่อ)

“ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเอง และญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” จะชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนเป็นหมอได้ เราจะเสนอท่านเป็นประจำ”

การซักประวัติ นอกจากใช้ปากและหูแล้ว จะต้องใช้ประสาททุกส่วนที่รับความรู้สึกได้ โดยเฉพาะตา ต้องใช้ตาคอยสังเกตอากัปกิริยาของผู้ป่วย สังเกตน้ำเสียง ความรวดเร็วในการตอบคำถาม ท่าทางและความมั่นใจในการตอบ หรือในขณะเล่าอาการ ฯลฯ เพื่อที่จะรู้ว่าสิ่งที่ผู้ป่วยเล่าให้ฟังนั้นจริงมากจริงน้อยขนาดไหน และรู้จักบุคลิกและอุปนิสัยใจคอของผู้ป่วยได้อย่างคร่าวๆ

นอกจากประวัติหรืออาการการเจ็บป่วยต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอดีต และประวัติตามระบบที่เราจะต้องถามจากผู้ป่วยแล้ว ยังมีประวัติอื่นๆ ที่เราอาจจะถามจากผู้ป่วยในกรณีที่จำเป็น กรณีที่จำเป็น คือกรณีที่

1. ประวัติปัจจุบัน ประวัติอดีตหรือประวัติตามระบบ ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เราวินิจฉัยโรคหรือปัญหาและสาเหตุของอาการของคนไข้ได้

2. เราต้องการจะรู้จักคนไข้มากขึ้น โดยเฉพาะคนไข้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง หรือโรคที่ต้องการการรักษาติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เพื่อที่จะหาวิธีรักษาที่ถูกที่สุด ดีที่สุด หรือเหมาะสมที่สุด สำหรับสภาพการเจ็บป่วย และภาวะเศรษฐกิจสังคมของผู้ป่วย

3. มีความจำเป็นทางกฎหมายหรือทางสังคม ทำให้ต้องกระทำเช่นนั้น

ประวัติอื่นๆ ที่จะต้องถามในกรณีที่จำเป็น คือ

5. ประวัติส่วนตัว : เช่น

5.1 ประวัติส่วนตัวทั่วไป เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เพศ อายุ เชื้อชาติ ศาสนา อาชีพ ชื่อและนามสกุลของพ่อแม่

5.2 ประวัติการเกิด (โดยเฉพาะถ้าคนไข้เป็นเด็ก) เช่น คลอดครบกำหนดไหม คลอดปกติไหม คลอดออกมาร้องทันทีไหมระหว่างอยู่ในท้องแม่ แม่เจ็บไข้หรือหกล้ม หรือเกิดอันตรายอะไรบ้างหรือไม่

5.3 ประวัติการเติบโต (โดยเฉพาะถ้าคนไข้เป็นเด็ก) เช่น ชันคอได้เองเมื่อไร พลิกคว่ำพลิกหงายได้เองเมื่อไร คลานได้เมื่อไร นั่งได้ ยืนได้ เดินได้เมื่อไร พูดได้ อ่านหนังสือได้เมื่อไร นมแตกแพนเมื่อไร ประจำเดือนมาเมื่อไร

5.4 ประวัติการได้รับวัคซีนป้องกันโรค (โดยเฉพาะถ้าคนไข้เป็นเด็ก) เช่น เคยปลูกฝี (ป้องกันโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ) หรือเปล่า เคยฉีดยาป้องกันโรคคอตีบ ไอกรนและบาดทะยัก (ดีพีทีวัคซีน) หรือเปล่า เคยกินยาป้องกันโรคโปลิโอ (โรคไขสันหลังอักเสบที่ทำให้เด็กเป็นอัมพาต) หรือเปล่า

5.5 ประวัติการศึกษา เช่น เรียนอยู่ชั้นไหน เรียนสูงสุดถึงชั้นไหน

5.6 ประวัติการทำงาน เช่น ทำงานอะไรมาบ้าง มีอุปสรรคมากน้อยเพียงใด เวลามีอุปสรรคแก้ปัญหาอย่างไร มีรายได้เท่าไร

5.7 ประวัติการเสื่อมสภาพ เช่น ฟันหักเมื่อไร สายตาสั้น สายตายาว เมื่อไร ผมหงอกเมื่อไร ประจำเดือนหมดเมื่อไร ความรู้สึกทางเพศลดลงเมื่อไร

5.8 ประวัติการใช้ยาเสพติด เช่น บุหรี่ สุรา ชา กาแฟ หมาก เมี่ยง ยาฉุน ยานัตถุ์

5.9 ประวัติการกินการดื่ม เช่น กินอาหารทุกอย่างหรือไม่ ไม่กินอาหารอะไรบ้าง กินอาหารดิบหรืออาหารดิบๆ สุกๆ หรือไม่ ในเด็กต้องถามว่า กินนมแม่หรือนมกระป๋อง ถ้ากินนมกระป๋อง กินนมกระป๋องชนิดใด กินอาหารอื่นนอกจากนมหรือไม่

และประวัติอื่นๆ ถ้าจะถามให้ลึกซึ้งมากกว่านี้

6. ประวัติครอบครัว : เช่น

6.1 ประวัติครอบครัวทั่วไป เช่น ในบ้านมีใครบ้าง ครอบครัวมีกี่คน มีพี่น้องกี่คน มีพี่น้องกี่คน มีพี่น้องสายเลือดเดียวกันกี่คน ครอบครัวอยู่กันอย่างมีความสุขไหม พ่อ แม่ พี่ น้องทุกคนยังมีชีวิตอยู่และยังแข็งแรงดีอยู่หรือ (ถ้าตาย ตายเพราอะไร) แต่งงานเมื่อไร มีลูกกี่คน ลูกอายุเท่าไรบ้าง ลูกแข็งแรงทุกคนไหม

6.2 ประวัติโรคทางกรรมพันธุ์ เช่น มีใครในสายเลือดเดียวกันเป็นโรคเบาหวาน โรคลมชัก โรคจิต โรคความดันเลือดสูง และโรคอื่นๆ (ที่สืบทอดมาจากพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย) ไหม

6.3 ประวัติโรคติดเชื้อ เช่น มีใครในบ้านเป็นวัณโรค เป็นโรคไอกรน เป็นโรคหิดเหา และโรคอื่นๆ (ที่ติดต่อกันได้) บ้างไหม

และประวัติอื่นๆ ถ้าจะถามให้ลึกซึ้งมากกว่านั้น

7. ประวัติอื่นๆ : เช่น

7.1 ประวัติของเพื่อนบ้านหรือผู้ร่วมงาน เช่น มีเพื่อนบ้าน หรือผู้ร่วมงานเป็นโรคแบบเดียวกันหรือเปล่า เพื่อนๆ มีนิสัยใจคอเป็นอย่างไร มีอาชีพอะไร ใช้สิ่งเสพติดบ้างหรือไม่

7.2 ประวัติสิ่งแวดล้อมและสังคมที่อาศัยอยู่ เช่น อยู่ในป่า หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ไม่มีขยะมูลฝอยและสิ่งเป็นพิษหรืออยู่ในแหล่งเสื่อมโทรม (สลัม) หรือใกล้ถนนที่มียวดยานมากจนอากาศเป็นพิษเพราไอเสียของรถ หรือมีเสียงอึกทึกครึกโครม (เสียงเป็นพิษจนหูหนวก) หรืออยู่ในโรงงานที่มีสิ่งสกปรกหรือสิ่งเป็นพิษต่างๆ หรือเปล่าๆ และอื่นๆ

คนที่อยากเป็นหมอ ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ แล้วเกิดความท้อใจ ไม่อยากจะเป็นหมอต่อไป ก็สมควรจะเลิกเป็นหมอได้ เพราะการเป็นหมอ จะต้องอาศัยความอดทน ความรักใคร่ และเมตตาสงสาร ถ้าเพียงแต่จะซักถามอาการของผู้ป่วยให้ละเอียดสักหน่อย ก็เบื่อและท้อใจเสียแล้ว จะไปเป็นหมอได้อย่างไร นอกจากจะเป็น “หมอที่ไม่ใช่คน” หรือ “หมอลากข้าง” เท่านั้น

สำหรับคนที่อ่านมาถึงตอนนี้แล้ว ยังไม่ท้อใจ ขอให้พยายามอ่านทบทวนซ้ำไปซ้ำมา เกี่ยวกับการซักถามอาการ (ประวัติ) การเจ็บป่วยจนจำได้แล้ว ขอให้พยายามฝึกหัดซักถามญาติพี่น้องที่เจ็บป่วยบ่อยๆ ในที่สุดจะเกิดความชำนาญ จนไม่ต้องจำหรือท่องจำว่าจะซักถามอะไรบ้าง

นอกจากนี้ เมื่อถามจนชำนาญแล้ว ก็จะรู้ว่า อะไรที่ควรถาม อะไรที่ไม่ควรถาม นั่นคือ ถามแล้วทำให้เสียเวลาทั้งคนไข้ และของเรา หรือถามแล้วกลับทำให้เรางง หรือหลงผิดไปว่าเป็นโรคอย่างนั้นอย่างนี้ หรือถามแล้วทำให้คนไข้เบื่อหรือเราผู้ถามก็เบื่อ จนเลิกถามไปเอง

ดังนั้นก่อนจะถามคำถามหนึ่งคำถามใด ควรจะคิดว่า

1. ถามไปแล้วจะได้ประโยชน์หรือไม่ เช่น คนไข้มาหาเราด้วยอาการปวดหัวตามัวมา 1 วัน โดยไม่เคยเป็นมาก่อนเลย แล้วเราไปถามว่า “คุณสายตาสั้นหรือสายตายาว” ถ้าคนไข้จะตอบว่า สายตาสั้นหรือสายตาปกติ คำตอบนั้นก็ไม่ช่วยทำให้เราได้ประโยชน์อะไร เพราะจะไม่ทำให้เรารู้ว่าคนไข้ปวดหัวตามัวเพราอะไร ทั้งนี้เนื่องจากคนไข้มาหาเราด้วยอาการปวดหัวตามัวมาเพียง 1 วัน เพราะฉะนั้นคงจะไม่ได้ปวดหัวตามัวเพราะสายตาสั้นหรือสายตายาวแน่ คนที่สายตาสั้นหรือสายตายาว ไม่ได้เกิดอาการสายตาสั้นหรือสายตายาวอย่างปุบปับ แต่จะค่อยๆ มีอาการสายตาสั้นหรือสายตายาวอย่างช้าๆ

ถ้าคนไข้ชอบปวดหัวตามัวเวลาอ่านหนังสือมาหลายเดือนแล้ว เราก็น่าจะถามว่า

“เวลาคุณอ่านหนังสือคุณเห็นตัวหนังสือได้ขัดเจนไหม”

ถ้าคนไข้ตอบว่า

“ต้องอ่านไกลๆ จึงเห็นชัด” คนไข้ก็สายตาสั้น

ถ้าคนไข้ตอบว่า

“ต้องอ่านไกลๆ จึงเห็นชัด” คนไข้ก็สายตายาว

การตั้งคำถามว่า “คุณสายตาสั้นหรือสายตายาว” จึงไม่ค่อยจะได้ประโยชน์ เพราคนไข้อาจจะไม่รู้ว่าสายตาสั้นหรือสายตายาว หมายความว่า อะไร ควรจะถามว่า

“เวลาคุณอ่านหนังสือ คุณเห็นตัวหนังสือชัดเจนไหม” จะดีกว่า

นอกจากคนไข้อ่านหนังสือโดยใช้แว่นอยู่แล้ว คนไข้อาจจะรู้ว่าสายตาสั้น หรือสายตายาว หมายความว่าอะไร และรู้ว่าตนนั้นสายตาสั้นหรือสายตายาว

2. ถามไปแล้วจะให้โทษหรือไม่ บางคนอาจจะคิดว่าเพียงถามประวัติอาการคนไข้เท่านี้นะหรือจะทำให้เกิดโทษได้ แต่การถามโดยไม่คิดอาจจะก่อให้เกิดโทษได้หลายอย่างเช่น

2.1 โทษต่อตัวหมอเอง เช่น คนไข้สาวโสดมาหาหมอด้วย อาการคลื่นไส้อาเจียน ถ้าหมอถามทันทีว่า “คุณท้องหรือเปล่า” คนไข้อาจจะโกรธ ถือว่าหมอไปดูถูกเหยียดหยามเขาและถึงแม้ว่าเขาจะท้องจริง เขาก็ปฏิเสธและอาจจะไม่ยอมให้หมอตรวจอีกต่อไป เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้เสียไปเช่นนี้แล้ว โอกาสที่จะกลับคืนดีใหม่จะเป็นไปได้ยาก และคนไข้อาจจะไปโพนทะนาทั่วเมืองว่า หมอไม่มีมารยาท หรือหมอปากร้ายหรืออื่นๆ

การซักถามในปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ เรื่องส่วนตัว (เช่น เรื่องสามี ภรรยา เรื่องคู่รัก เรื่องปัญหาทางจิตใจ) เรื่องเกี่ยวกับเกียรติยศชื่อเสียง เรื่องเกี่ยวกับคดี หรือกฎหมาย จึงควรจะใช้คำถามที่ไม่ตรงจนเกินไป และควรจะให้คนไข้เป็นผู้เล่าให้ฟังเอง เมื่อคนไข้ไว้ใจหมอแล้วจะดีกว่า (ดูวิธีซักประวัติเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้ใน “มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 4 เดือนสิงหาคม 2522 ในตัวอย่างที่ 3 ของวิธีการซักประวัติปัจจุบันเรื่องหญิงสาวที่มาหาหมอด้วยอาการเบื่ออาหาร และคลื่นไส้อาเจียน)

2.2 โทษต่อคนไข้ คนไข้จะถูกกระทบกระเทือนจากการถามโดยไม่คิดของเราได้อย่างง่ายดาย เพราะคนไข้ที่มาหาเรามักจะมีความทุกข์ ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บอยู่แล้ว ทั้งร่างกายและจิตใจจึงเปราะบาง มักจะหวาดกลัว (กลัวโรคภัยไข้เจ็บ กลัวตาย ฯลฯ)

ถ้าคนไข้มาหาด้วยอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย เหนื่อย แล้วเราไปถามว่า “มีใครในบ้านตายด้วยโรคหัวใจหรือเปล่า” คำถามเช่นนี้อาจจะทำให้คนไข้คิดว่า ตนคงจะเป็นโรคหัวใจ และคงจะเป็นโรคหัวใจ และคงจะต้องตายเช่นเดียวกัน มิฉะนั้นหมอคงจะไม่ถามอย่างนี้ ทำให้เกิดความห่วงกังวลมากขึ้น แม้ว่าหมอจะพยายามอธิบายตอนตรวจเสร็จแล้วว่าไม่เป็นโรคหัวใจ คนไข้ก็อาจจะไม่เชื่อ อาจจะคิดว่าหมอพยายามจะปลอบใจตน เพราะถ้าตนไม่เป็นโรคหัวใจ หมอคงจะไม่ถามเช่นนั้น

นอกจากนั้น การถามประวัติอาจจะให้โทษทางกายแก่คนไข้ด้วย เช่น คนไข้กำลัง หอบเหนื่อย หมอก็พยายามจะซักถามประวัติให้ละเอียด ทำให้คนไข้ต้องออกกำลังพูด ทำให้หอบเหนื่อยเพิ่มขึ้น คนไข้จะได้ไม่ทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้น

2.3 โทษต่อคนอื่น เช่น ต่อญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านหรืออื่นๆ เช่น การใช้คำถามที่อาจจะทำให้คนไข้ หรือญาติคนไข้ คิดว่าเพื่อนบ้าน หรือญาติพี่น้องเป็นสาเหตุของการตายของคนไข้ เช่น

“พ่อแม่ของเด็กไปไหน ทำไมปล่อยให้ลูกเจ็บหนักอย่างนี้ จึงค่อยพามาโรงพยาบาล” หรือ “เพื่อนบ้านเป็นวัณโรคหรือเปล่า” ทั้งที่คนไข้ไม่ได้มีอาการของวัณโรค (เช่น ไอ เสมหะปนเลือดผอมลง) เลย

หรือ “ที่บ้านทำอาหารไม่สะอาดใช่ไหม คุณจึงได้ท้องเดินอย่างนี้” ทั้งที่อาการท้องเดินของคนไข้อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับอาหารที่บ้านเลย

การใช้คำถามแบบนี้จะต้องระวังให้มาก และควรจะใช้เฉพาะในกรณีที่จำเป็น ที่ต้องการจะแนะนำตักเตือนเท่านั้น และควรจะใช้แต่เฉพาะในกรณีที่จะรักษาคนไข้ให้หายได้

ในกรณีที่จะรักษาคนไข้ไม่ได้ (นั่นคือ คนไข้จะต้องตาย) การใช้คำถามแบบนี้อาจทำให้ญาติคนไข้หรือคนอื่นเกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนฆ่าคนไข้ ทำให้เป็นโรคประสาทไปจนตลอดชีวิต

3. คำถามนั้นถามอย่างถูกต้องหรือไม่ โดยทั่วไป การถามจากอาการเจ็บไข้นั้น ถ้าจะให้ดีแล้ว ควรให้คนไข้เล่าให้เราฟังเอง ถ้าเราไม่เข้าใจตรงไหน จึงจะถามซ้ำเพื่อให้แน่ใจหรือเข้าใจตรงกัน

แต่บ่อยครั้ง คนไข้จะไม่เล่าให้เราฟังเอง อาจจะเพราะยังไม่คุ้นเคยกับเรา หรือไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร หรืออื่นๆ เราจึงต้องถามคนไข้ คำถามที่ใช้ควรจะไม่ใช้คำถามที่ทำให้คนไข้ตอบใช่หรือไม่ใช่ หรือเป็นคำถามนำ (คำถามที่ทำให้คนไข้คิดว่าตัวเองน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้) เช่น

ก. คนไข้มาหาด้วยอาการปวดหัว แล้วเราถามว่า “คุณปวดหัวแบบนี้จะต้องเกิดจากสายตาผิดปกติแน่ๆ คุณจะรู้สึกว่าสายตาคุณผิดปกติใช่ไหม” คำถามชนิดนี้จะทำให้คนไข้เห็นพ้องไปกับหมอ และตอบว่า ใช่ ใช่ ทั้งที่สายตาคนไข้ปกติดี

ข. คนไข้มาหาด้วยอาการเบื่ออาหารและผอมลงๆ แล้วเราถามว่า “คุณผอมลงแบบนี้ อาจจะเป็นมะเร็งก็ได้ ในบ้านมีใครเป็นมะเร็งบ้างไหม” คำถามชนิดนี้จะทำให้คนไข้ตกใจกลัว และไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะต้องถามแบบนี้ เพราะคนที่ผอมลงส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุอย่างอื่นที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น ฟันผุ เหงือกไม่ดี (เป็นฝี อักเสบ) ทำให้เคี้ยวอาหารไม่ได้ หรือกำลังกลุ้มใจ ทำให้ไม่อยากกิน หรือกำลังจะเป็นไข้ทำให้เบื่ออาหารหรืออื่นๆ นอกจากนั้นมะเร็งก็ไม่ใช่โรคติดต่อที่พอใครในบ้านเป็นสักคน คนอื่นที่อยู่ด้วยก็จะต้องเป็นด้วย

การใช้คำถามแบบนี้ จึงเป็นการใช้คำถามที่ไม่เหมาะสม นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังก่อให้เกิดโทษ และเป็นคำถามนำ (นั่นคือ เป็นคำถามที่ทำให้คนว่าตัวเองน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้) อีกด้วย

ศิลปะในการซักถามคนไข้ จึงเป็นศิลปะที่ต้องฝึกฝนให้ชำนาญ เพราะในการตรวจรักษาคนไข้ทั่วๆ ไป อาการ (ประวัติ) การเจ็บป่วยจะช่วยให้เราวินิจฉัยโรค หรือปัญหาของคนไข้ได้ทันทีเป็นส่วนใหญ่ นั่นคือ ถ้ามีคนไข้มาหาเรา 10 คน แล้วเล่าประวัติการเจ็บป่วยให้เราฟัง เราจะสามารถรู้ได้ว่าคนไข้เป็นโรคอะไรได้ทันที อย่างน้อย 6-7 คน อีก 2-3 คนนั้น เราจะต้องอาศัยการตรวจร่างกายด้วย จึงจะบอกได้ว่า คนไข้เป็นโรคอะไร ส่วนอีก 1-2 คนนั้น อาจจะต้องอาศัยการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจเอ๊กซเรย์ หรือการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (การตรวจในห้องแล็บ) อื่นๆ ด้วย จึงจะบอกได้ว่าคนไข้เป็นโรคอะไร

อาการ (ประวัติ) การเจ็บป่วยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เรารู้ว่า คนไข้เป็นโรคอะไร และต้องจำไว้ด้วยว่า การซักถามคนไข้เป็นก้าวแรกที่เราจะสร้างความคุ้นเคย และความเชื่อถือไว้วางใจ (ความศรัทธา) ระหว่างตัวเรากับคนไข้ ถ้าเราไม่พูดซักถามให้ดีและถูกต้องแล้ว คนไข้อาจจะไม่เชื่อถือเรา กลัวเรา หรือไม่อยากจะเล่าอะไรให้เราฟัง เราก็จะหมดโอกาสที่จะได้รู้อาการ (ประวัติ) การเจ็บป่วยทั้งหมด และการตรวจรักษาก็จะไมได้ผลดีนัก หรือไม่ได้ผลเลย

เพราะคนเรานี้จะอยู่ได้ต้องอาศัยทั้งกำลังกายและกำลังใจ หมอคนใดที่มุ่งรักษาแต่กายของคนไข้อย่างเดียว โดยลืมนึกถึงสภาพใจของคนไข้ มักจะทำให้คนไข้ทรุดลง โดยเฉพาะทางใจ เมื่อกำลังใจของคนไข้ทรุดลง ความสามารถที่จะต้านทานโรคก็จะลดลง ทำให้โรคทางกายทรุดลงด้วย

ข้อมูลสื่อ

6-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 6
ตุลาคม 2522
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์