• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วิ่งดื่มเบียร์

วิ่งดื่มเบียร์

 

                          

หลังจากที่โทรทัศน์ได้ออกข่าวฝรั่งนับพันๆคนนัดกันมาวิ่งที่พัทยาในขณะที่อากาศร้อนจัด และมีการดื่มเบียร์กันอน่างเอิกเกริกนับแสนขวดแล้ว ผู้เขียนก็ได้รับคำถามว่า วิ่งกันมาเหนื่อยๆ แล้วดื่มเบียร์แทนน้ำอย่างที่เห็นฝรั่งทำกันนั้นเป็นการถูกต้องดีอยู่หรือ การกระทำอย่างนี้มีคุณหรือโทษอย่างไรบ้าง
ก่อนตอบคำถามคงต้องย้อนไปดูว่า ฝรั่งกว่าสองพันคนที่นัดกันมาวิ่งแล้วดื่มเบียร์กันอย่างสนุกสนานเหล่านี้เป็นใครกันแน่ เท่าที่ผู้เขียนทราบคนเหล่านี้ไม่ใช่ฝรั่งทั้งหมด ที่เป็นชาวเอเชียก็มีและที่เป็นคนไทยก็หลายคน คนเหล่านี้เรียกตัวเองว่า Hash House Harriers ซึ่งมีประวัติความเป็นมาน่าสนใจไม่น้อย จึงขอนำมาแทรกไว้ก่อนถึงเรื่องของเบียร์

ย้อนหลังไปประมาณ 50 ปี มีฝรั่งชาวอังกฤษที่ถูกส่งมาทำงานอยู่ในแหลมมลายู (เมืองขึ้นของอังกฤษในสมัยนั้น) สังเกตเห็นมีชาวพื้นเมืองชอบออกมาวิ่งไปตามป่าเขาลำเนาไพร ประหนึ่งไล่ตามกระต่ายป่า ส่วนปากก็ร้องว่า ออน-ออน ไปอย่างสนุกสนาน ทำให้ท่านสุภาพบุรุษอังกฤษที่จากบ้านเมืองมานาน ซึ่งกำลังทั้งเหงาและเซ็งเต็มที่อยู่แล้ว นึกสนุกและอยากออกมาเล่นบ้าง และเมื่อออกมาวิ่งก็สมมติตัวเองเป็นเสมือนสุนัขไล่กระต่าย (harrier) เป็นการแก้เซ็งดูบ้าง ซึ่งก็พบว่าสนุกสนานดีมาก การวิ่งของคนเหล่านี้เป็นการวิ่งเพื่อสนุกและพักผ่อนเท่านั้น ไม่จริงจังและไม่มีการแข่งขันใดๆทั้งสิ้น และเมื่อวิ่งกันได้เหงื่อพอหอมปากหอมคอแล้วก็นั่งพักดื่มเบียร์กันต่อ

สำหรับคำว่า Hash House นั้น เป็นชื่อสถานที่สำหรับดื่มเบียร์ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ที่คนพวกนี้ชอบไปนั่งดื่มเบียร์เมื่อวิ่งเสร็จแล้ว พวกเขาก็เลยตั้งชื่อกลุ่ม หรือก๊วนของเขาว่า Hash House Harriers และถือเอาปี พ.ศ.2481 เป็นปีก่อตั้งชมรมนี้ และเมื่อสมาชิกของชมรมนี้ย้ายกลับประเทศอังกฤษ หรือย้ายไปอยู่ประเทศอื่นก็ตาม (ส่วนมากเป็นประเทศในเครือจักรภพ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง เนปาล ฯลฯ) ก็จะไปตั้งชมรมอย่างเดียวกันนี้ขึ้น ปัจจุบันประมาณว่ามีสมาชิกถึง 50,000 คนกระจัดกระจายอยู่ใน 92 ประเทศ

เมื่อชมรมเป็นปึกแผ่นดีแล้วก็มีการชักชวนให้มาพบปะและวิ่งกันทุกๆ 2 ปี โดยเรียกการพบกันและวิ่งนี้ว่า Inter-Hash โดยมีขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศฮ่องกง เมื่อ พ.ศ. 2521 ซึ่งมีผู้มาร่วมวิ่งประมาณ 750 คน ส่วนที่มีขึ้นที่พัทยาเมื่อเร็วๆนี้เป็นการวิ่งครั้งที่ 5 ซึ่งมีคนมากันเกือบสามพันคน และทุกคนก็สนุกกันเต็มที่ตามที่เห็นในโทรทัศน์กันแล้ว สำหรับการวิ่งครั้งต่อไปในพ.ศ. 2531 นั้นจะมีที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกว่าสามพันคน

                            

การวิ่งของคนเหล่านี้บางครั้งก็พบอุปสรรคเหมือนกัน เช่นประเทศแถบตะวันออกกลางซึ่งห้ามเครื่องดื่มพวกแอลกอฮอล์ และห้ามมิให้ผู้หญิงนุ่งน้อยห่มน้อยในชุดวิ่ง หรือแม้แต่ในกรุงมอสโคว์พวกนี้ก็เคยถูกห้ามไม่ให้มาวิ่งตามถนน แต่สำหรับประเทศไทยนั้น แม้จะวิ่งเข้าไปในสวนในไร่ของชาวบ้านก็ไม่ว่ากัน ถือเสียว่าเขานำเงินตราเข้าประเทศ
สำหรับเรื่องของการวิ่งดื่มเบียร์ หรือการออกกำลังกายนั้น ผู้เขียนขอยกเอาคำกล่าวของ แนนซี่คลาร์ค นักโภชนาการมีชื่อระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโภชนาการของนักกีฬา คลาร์คได้ตอบคำถามที่ว่า “นักกีฬาควรดื่มเบียร์หรือไม่” ซึ่งสรุปได้ดังนี้

คลาร์คบอกว่า คำถามนี้เป็นคำถามที่เขาได้รับอยู่เสมอและขอตอบว่า นักกีฬานั้นหากจะดื่มเบียร์เพียงเล็กน้อยก็ไม่ถือว่าเสียหายอะไรนัก อย่างไรก็ตามการดื่มเบียร์ในระยะที่ก่อนลงเล่นกีฬาก็ดี หรือขณะที่กำลังเล่นก็ดี (เช่นวิ่งไปแล้วดื่มเบียร์ไปเป็นระยะๆ) เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเบียร์ซึ่งมีแอลกอฮอล์อยู่ด้วยนั้น จะทำให้สมองเฉื่อยชาลง การสั่งงานไปยังส่วนต่างๆของร่างกายซึ่งต้องการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วจะเสียไปมาก ทำให้เล่นกีฬานั้นเลวลง และทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่ายขึ้นด้วย

                                 

สำหรับการดื่มเบียร์ภายหลังการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายเสร็จใหม่ๆนั้น คลาร์คบอกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ฉลาดเลย (โง่นั่นแหละครับ แต่เธอใช้คำให้ไพเราะว่า unwise) เพราะแอลกอฮอล์ในเบียร์จะทำให้การหลั่งฮอร์โมนตัวที่ควบคุมการปัสสาวะผิดปกติไป ทำให้มีปัสสาวะมากขึ้น (นักดื่มเบียร์ทุกคนทราบดี) ซึ่งการปัสสาวะมากขึ้นนี้นับว่ามีผลเสียต่อร่างกายมาก เพราะการดื่มที่ควรจะช่วยให้ร่างกายได้รับน้ำมากขึ้น กลับไปทำให้เสียน้ำมากยิ่งขึ้นไปอีก

สรุปว่า การดื่มเบียร์ภายหลังการออกกำลังกายเสร็จใหม่ๆนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง และของเหลวที่จะทดแทนการเสียเหงื่อจากการออกกำลังที่ดีที่สุด ก็คือน้ำเปล่าธรรมดาๆนั่นเอง สำหรับเบียร์นั้นหากอยากที่จะดื่มจริงๆก็ต้องภายหลังที่ได้ทดแทนด้วยการดื่มน้ำเปล่าอย่างเพียงพอเสียก่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ต้องการออกกำลังกายเพื่อลดความอ้วนด้วยแล้ว เบียร์หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทั้งหลายควรงดหมด เพราะแอลกอฮอล์นั้นมีแคลอรีอยู่สูงมากทีเดียว

อีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับการทดแทนการเสียน้ำของนักกีฬา หรือผู้นิยมการออกกำลังกายก็คือ เรื่องการกินเกลือเพื่อทดแทนเกลือที่เสียออกมากับเหงื่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่นิยมกันแพร่หลายมากในหมู่นักกีฬาและโค้ชมานานแล้ว เรื่องนี้แนนซี่ คลาร์คเน้นมากว่า เป็นการเข้าใจผิดที่แพร่หลายที่สุด เพราะแท้จริงแล้วการกินเกลือเพื่อทดแทนเกลือที่เสียไปกับเหงื่อนั้น นอกจากจะไม่เกิดคุณประโยชน์แล้ว ยังเกิดเป็นโทษอีกด้วย เพราะเกลือที่กินเข้าไปอยู่ในกระเพาะนั้นมีความเข้มข้นสูง ทำให้มีการดึงเอาน้ำจากส่วนอื่นๆของร่างกายมาในกระเพาะอาหารเพื่อที่จะเจือจางเกลือที่กินเข้าไป ทำให้ร่างกายขาดน้ำยิ่งขึ้นไปอีก

คลาร์คอธิบายว่า แท้จริงแล้วเกลือที่เสียออกมากับเหงื่อนั้นมีไม่มากนัก
ประมาณว่า ในน้ำเหงื่อ 1 ลิตรจะมีเกลือโซเดียมอยู่ประมาณ 0.9-1.4 กรัมเท่านั้น ซึ่งเป็นปริมาณที่ร่างกายจะปรับตัวรับได้อย่างสบายมาก (นักวิ่งที่หนัก 70 กก.จะทนต่อการเสียเกลือได้ถึง 5.5 กรัมโดยยังไม่เกิดตะคริว) และเราไม่ควรลืมว่าอาหารที่เรากินกันโดยปกตินั้น มีเกลืออยู่อย่างเหลือเฟืออยู่แล้ว

สรุปว่าเครื่องดื่มที่เหมาะสมที่สุด และดีที่สุดสำหรับนักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายแบบแอโรบิคก็คือน้ำเปล่าธรรมดา อย่างที่ ‘หมอชาวบ้าน’ ฉบับเดือนเมษายนเสนอไปแล้วนั่นเอง ส่วนเบียร์นั้นไม่ควรดื่มเลย ไม่ว่าจะเป็นก่อนออกกำลังกาย ขณะออกกำลังกาย หรือภายหลังออกกำลังกายเสร็จใหม่ๆก็ตาม

 

ข้อมูลสื่อ

85-021
นิตยสารหมอชาวบ้าน 85
พฤษภาคม 2529
อื่น ๆ
รศ.นพ.ดำรง กิจกุศล