• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกาย (ตอนที่ 1)

“ ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การรักษาตนเอง และญาติมิตร โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” จะชี้แจงวิธีเรียนรู้ด้วยตนจนเป็นหมอได้ เราจะเสนอท่านเป็นประจำ เริ่มลงตั้งแต่ฉบับที่ 1 ปีที่ 1 ”

การตรวจร่างกาย (ตอนที่ 1)

นอกจากจะถามเรื่องราว (ซักประวัติ) ของอาการการเจ็บป่วย จะช่วยให้เรารู้ว่าคนไข้เป็นโรคอะไร หรือมีปัญหาอะไรบ้าง การตรวจร่างกายของคนไข้ก็จะช่วยให้รู้ถึงโรค หรือสาเหตุของอาการการเจ็บป่วยของคนไข้เพิ่มขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่า การซักประวัติและการตรวจร่างกายทั้ง 2 อย่างรวมกัน จะทำให้เรารู้ว่าคนไข้เป็นโรคอะไรได้ประมาณ ร้อยละ 50

นั่นคือ ถ้ามีคนไข้ที่มาหาเรา 10 คน เราจะวินิจฉัยโรคหรือสาเหตุของปัญหา การเจ็บป่วยของเขาได้ประมาณ 9 คน โดยอาศัยการซักประวัติ และการตรวจร่างกายเท่านั้น อีก 1 คนที่เหลืออาจจะต้องใช้การตรวจเลือด การเอกซเรย์ หรือการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ตรวจในห้องแล็บ) อื่นๆ เช้าช่วย จึงจะทำให้วินิจฉัยโรคได้

อย่างไรก็ตาม ในคนไข้ 100 คน จะมีประมาณ 2-3 คน ที่แม้ว่าจะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจแล็บต่างๆ ก็อาจจะรู้ว่าคนไข้เป็นอะไร ในกรณีเช่นนี้ ควรจะให้เวลาแก่คนไข้ และเฝ้าดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิด การเปลี่ยนแปลงของคนไข้ในระยะต่อมา อาจจะช่วยให้เราทราบถึงการวินิจฉัยโรค หรือแนวทางในการดูแลรักษา

แต่อย่าลืมว่า แม้เราจะไม่รู้ว่าคนไข้เป็นโรคอะไร เราก็ควรจะดูแลรักษาคนไข้ได้ โดยเฉพาะการดูแลรักษาอาการของคนไข้ ที่รู้ได้จากการซักประวัติ และ/หรือ การตรวจร่างกายได้

เมื่อเราได้ทราบเกี่ยวกับการซักประวัติจาก “หมอชาวบ้าน” ครั้งก่อนแล้ว เราก็จะต่อไปถึงเรื่อง “การตรวจร่างกาย”

การตรวจร่างกายของคนไข้ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ยุ่งยากหรือลำบากอะไร ให้ใช้ความสังเกตเป็นประจำก็จะสามารถแยกคนที่กำลังเจ็บป่วย ออกจากคนที่ไม่เจ็บป่วยได้ ยกตัวอย่างเช่น

ถ้าคนทั่วไป ส่วนใหญ่ผิวหนังสีดำแดงหรือสำน้ำตาล หรือสีขาวอมชมพู หรืออื่นๆ สุดแต่เชื้อชาติ และอาชีพของเขา ลักษณะสีผิวที่ปกติสำหรับเชื้อชาติและอาชีพนั้นๆ เป็นอย่างไร ให้สังเกตและจดจำไว้ ถ้าไปพบคนที่มีเชื้อชาติและอาชีพเดียวกันที่มีลักษณะสีผิวผิดไป เช่น ซีดหรือเหลือง หรือดำ ก็แสดงว่าผิดปกติ

ถ้าคนไข้มีลักษณะ สีซีดขาว เมื่อเทียบกับคนที่มีเชื้อชาติและอาชีพเดียวกัน ก็แสดงว่า คนไข้คงจะมีเลือดน้อย ซึ่งอาจจะเกิดจากการตกเลือด (เสียเลือด) หรือเกิดจากมีเม็ดเลือดแดงน้อย (โรคลิหิตจาง) หรือเกิดจากคนไข้อยู่ในภาวะช็อค* ที่ทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายหดตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงผิวหนังน้อยกว่าปกติ ผิวหนังจึงดูซีดกว่าปกติ

ถ้าคนไข้มีลักษณะ ผิวสีเหลืองกว่าคนอื่นที่มีเชื้อชาติ และอาชีพเดียวกัน ก็จะแสดงว่า คนไข้มีอาการดีซ่าน (น้ำดีกระจายออกจากตับเข้าไปในกระแสเลือด แผ่ซ่านไปทั่วตัว ทำให้ผิวหนังและตาขาวพลอยติดสีเหลืองของน้ำดีไปด้วย) อย่างไรก็ตาม ถ้าคนไข้มีแต่ผิวหนังทั่วตัวสีเหลือง แต่ตาขาวยังคงมีสีขาวหรือสีขาวอมฟ้าเหมือนปกติ ก็จะแสดงว่า คนไข้ไม่ได้มีอาการดีซ่าน แต่ที่ตัวเหลือง โดยที่ตาไม่เหลืองเพราะกินยาที่มีสีแดงหรือเหลืองมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารจำพวกฟักทอง มะละกอสุก หัวผักกาดแดง (แครอท) มากเกินไป ซึ่งไม่มีอันตรายอะไร นอกจากจะทำให้แลดูเป็น “สังข์ทอง” (ผิวหนังเป็นสีทอง) ไปหน่อยเท่านั้นเอง

ถ้าคนไข้มีลักษณะผิวสีดำกว่าคนอื่นที่มีเชื้อชาติและอาชีพเดียวกัน ก็แสดงว่า คนไข้อาจจะเป็น โรคตับเรื้อรัง (โดยเฉพาะถ้าคนไข้มีอาการตาเหลืองตัวเหลืองร่วมด้วย) หรืออาจจะเป็น โรคไตเรื้อรัง (โดยเฉพาะถ้าสีดำนั้นเป็นสีดำแบบสกปรกๆ ที่หน้าคล้ายกับทาหน้าด้วยขี้เถ้าละเอียดๆ ร่วมด้วยอาการซีด อ่อนเพลีย และบวมที่หน้า หนังตา หรือที่เท้าด้วย) หรืออาจจะเป็น โรคของต่อมหมวกไต ซึ่งเป็นต่อมที่อยู่เหนือไต มีลักษณะเหมือนหมวก (ทำให้ร่างกายผอมแห้ง อ่อนเพลีย และผิวหนังส่วนที่ถูกแดดดำเกรียมกว่าปกติ) หรืออื่นๆ

การตรวจร่างกายดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่าเป็นการตรวจด้วย “ตา” อันที่จริงแล้ว การตรวจร่างกายโดยทั่วไป เราใช้อวัยวะ 4 อย่าง คือ ตา หู จมูก และมือ เพื่อการตรวจดังต่อไปนี้ คือ

ดู ดม ฟัง คลำ เคาะ หรือบางคนอาจจะสลับเป็น ดู คลำ เคาะ ฟัง ดม ก็ได้ เพราะการตรวจเหล่านี้จะสลับกันไปสลับกันมาได้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของคนไข้ และของการตรวจนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น

เรากำลังนั่งอยู่ในห้อง ได้ยินเสียงคนเดินมาดังแปะๆๆๆ เสียงที่เกิดจากการเดินโดยใช้ปลายเท้าตบพื้น เนื่องจาก “เท้าตก” นั่นคือยกปลายเท้าไม่ขึ้น เวลาเดิน แทนที่ส้นเท้าจะลงพื้นก่อน ทำให้เกิดเป็นเสียงแปะๆๆ แทนที่จะเป็นกึกๆๆ แบบการเดินที่ส้นเท้าลงก่อน ในกรณีเช่นนี้จะเห็นว่า เราตรวจร่างกายคนไข้โดยการได้ยิน (การฟัง) ก่อนที่จะเห็นตัวคนไข้เสียด้วยซ้ำ

หรือเราเดินเข้าไปในห้องๆ หนึ่ง ได้กลิ่นเหม็นเน่าเหมือนกลิ่นของเลือด เช่น เลือดหมู เลือดประจำเดือน ที่เก็บไว้จนบูดเน่า ก็อาจจะทำให้เรานึกถึงโรคมะเร็งของปากมดลูก หรือถ้ากลิ่นเน่านั้นมีลักษณะเหมือนกลิ่นอุจจาระเน่าๆ ก็อาจจะทำให้เรานึกถึงการเป็นฝี หรือเป็นแผลที่ติดเชื้อโรคประเภทที่พบบ่อยอยู่ในอุจจาระได้ ในกรณีเช่นนี้จะเห็นว่า เราตรวจร่างกายคนไข้โดยการได้กลิ่น (การดม) ก่อนที่จะเห็นตัวคนไข้ด้วยซ้ำ

ดังนั้น ในการตรวจร่างกายคนไข้ เราจะใช้อวัยวะส่วนใดตรวจคนไข้ก่อนก็ได้ ขอให้เราใช้อวัยวะนั้นได้ทันที ให้มีความสะดวกต่อคนไข้ และต่อการตรวจให้มากที่สุด ให้คนไข้สบายใจที่สุด และถ้าจำเป็นให้เสียเวลาน้อยที่สุดด้วย

โดยทั่วไปแล้ว อวัยวะที่เราใช้ตรวจร่างกายคนไข้ก่อนอวัยวะอื่นมักจะ ได้แก่ ตา

ก. การใช้ตา (การดู)

เราจะใช้ตาของเราตรวจคนไข้ โดยก่อนอื่นให้สังเกตดูอากัปกิริยาและลักษณะของคนไข้ เพื่อจะดูว่าคนไข้กำลังเจ็บหนักหรือกำลังมีอันตรายถึงชีวิตหรือไม่ เพราะถ้าคนไข้มีอากัปกิริยา และมีลักษณะว่ากำลังจะตายหรือเจ็บหนัก จะต้องรีบให้การดูแลรักษาเพื่อถนอมชีวิตไว้ก่อน อย่าไปมัวซักประวัติอย่างยืดเยื้อ หรือตรวจร่างกายอย่างละเอียดอยู่ เพราะอาจจะเป็นเหตุทำให้ดูแลรักษาคนไข้ช้าเกินไป และทำให้คนไข้ถึงแก่กรรม (ตาย) ได้

ถ้าคนไข้มีลักษณะหนึ่งลักษณะใดเพียง 1 ลักษณะในสิบลักษณะที่กล่าวถึงข้างต้น จะต้องถือว่าคนไข้กำลังเจ็บหนัก และต้องรีบดูแลรักษาเพื่อถนอมชีวิตของคนไข้ไว้ก่อน เมื่อคนไข้ดีขึ้นแล้ว จึงจะทำการซักประวัติ หรือตรวจร่างกายเพิ่มเติมต่อไป

ลักษณะของคนไข้ที่ทำให้คิดว่าคนไข้เจ็บหนัก

1. หมดสติ หรือไม่รู้สึกตัว แม้จะหยิก จะทุบ จะตี ก็ไม่กระดุกกระดิก โดยเฉพาะถ้ามีอาการร่วมด้วยในข้อ 2 ถึงข้อ 10 เพียงข้อหนึ่งข้อใดก็ได้

2. ชักตลอดเวลา หรือลำตัวและแขนขาเกร็งแข็งโดยไม่รู้สึกตัว (สังเกตได้ว่าไม่รู้สึกตัว เพราะเวลาชัก แขน ขาจะฟาดพื้น หรือโต๊ะเก้าอี้ จนเกิดเป็นบาดแผลฟกช้ำขึ้น)

3. หายใจเร็ว หรือหอบเหนื่อยจนตัวโยน นั่นคือ หายใจยกขึ้นยกลงขณะหายใจ ปีกจมูกบานเข้าบานออกขณะหายใจ หรือลูกระเดือกวิ่งขึ้นวิ่งลงขณะหายใจ

4. หายใจช้ามาก เช่น ช้ากว่า 5-6 ครั้งต่อนาที (เราหายใจ 2-3 ครั้ง คนไข้ถึงจะหายใจสักครั้ง) หรือหยุดหายใจ

5. มือเท้าเย็นซีด หรือเขียว หรือมีเหงื่อเย็นๆ ออกตามมือ เท้า แขน ขา และหน้าตาด้วย

6. กระสับกระส่ายดิ้นรน โดยไม่ค่อยจะรู้ตัว สังเกตได้ว่าที่ไม่ค่อยจะรู้สึกตัว เพราคนไข้จะค่อนข้างสับสน เลอะเลือน จนบางครั้งดูไปคล้ายกับว่าคนไข้ดื้อรั้น และไม่ยอมทำตามคำสั่ง และการกระทำที่คนไข้ทำนั้น บางครั้งก็ทำให้คนไข้เจ็บตัวหรือหอบเหนื่อยมากขึ้น

7. ตาเหลือกขึ้น โดยไม่รู้สึกตัว นั่นคือ คนไข้หมดสติแล้วตาเหลือกขึ้นข้างบน หรือที่เรียกว่า ตาช้อนกลับ

8. มีเลือดสดๆ หรือเลือดดำๆ ออกจากบาดแผล หรือทวารต่างๆ เช่น ปาก จมูก ก้น ซึ่งอาจจะเป็นก้นที่ถ่ายอุจจาระ (ขี้) หรือที่ถ่ายปัสสาวะ (ฉี่) หรือทางช่องคลอด (เฉพาะในเพศหญิง)

9. ตัวร้อนจัด (ไข้สูงมาก) ร่วมด้วยอาการชักกระสับกระส่าย หรือไม่ค่อยรู้สึกตัว

10. มีอาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หรืออาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงอื่นๆ ที่ร่วมด้วยอาการหน้ามืดเป็นลม มือเท้าเย็นซีดหรือเขียว หรือชีพจรเต้นผิดปกติ หรือมีอาการอื่นๆ ตามข้อ 3 ถึงข้อ 7

ข้อมูลสื่อ

7-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 7
พฤศจิกายน 2522
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์