• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผ่อนคลายเข้าไว้

ผ่อนคลายเข้าไว้

 

ในการเล่นกีฬาต่างๆ โค้ชมักสอนให้ผ่อนคลาย นักกอล์ฟจะถูกบอกให้กำไม้หลวมๆ เหมือนกำลูกไก่ไว้ในมือ ถ้าบีบแรงไปลูกไก่ก็จะถ่ายรดมือท่าน เอ๊ย!จะตาย นั่นก็เป็นวิธีช่วยให้ผ่อนคลาย เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวเกินไป
เราอาจคิดว่า มีแต่กีฬาซึ่งต้องฝึกทักษะ เช่น กอล์ฟ เทนนิส แบดมินตัน ฯลฯ เท่านั้น ที่ผู้เล่นเกิดอาการเกร็ง ในความจริงกีฬาซึ่งดูเหมือนว่าไม่ต้องใช้ทักษะเลยอย่างการวิ่ง ก็ยังมีอาการเกร็งเกิดขึ้นได้

ไม่เชื่อท่านลองสังเกตเพื่อนนักวิ่งดู จะเห็นว่าท่าวิ่งของบางคนเกร็งแข็งไปทั้งตัว เหมือนเอาหุ่นยนต์มาวิ่งแทนคน แม้แต่ตัวท่านเองก็อาจ “เกร็ง” ได้โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะเมื่อเวลาต้องการวิ่งให้ได้เร็วหรือแข่งกับเวลาลองสังเกตตัวเองดูซิว่า เวลาวิ่งมีไหมที่กำมือแน่นโดยไม่ตั้งใจ หน้านิ่วคิ้วขมวด หรือโน้มตัวไปข้างหน้า เหล่านี้ล้วนเป็นกิริยาที่บ่งบอกถึงอาการเกร็ง

ก็อาการเกร็งนั้นมันไม่ดีอย่างไร
ง่ายๆเลยคือ แทนที่เราจะวิ่งเพื่อผ่อนคลายอารมณ์และร่างกาย กลับทำให้เครียดหนักเข้าไปอีก
นอกจากนี้กล้ามเนื้อที่เกร็งจะทำงานได้ประสิทธิภาพไม่ดีเท่ากล้ามเนื้อที่ผ่อนคลาย ความจริงข้อนี้นักกีฬาทุกประเภทรู้ดี เมื่อใดที่เกิดอาการเกร็งขึ้นจะเล่นไม่ออก ถ้าเป็นนักฟุตบอลก็เตะลูกเบี้ยวๆ บูดๆ นักแบดมินตันตีลูกออกนอกสนามหรือไม่ก็ติดเนต ส่วนนักวิ่งจะวิ่งได้ช้าลง แต่ปวดเมื่อยมากขึ้น
ทั้งนี้เพราะการเกร็งเป็นเหตุให้กล้ามเนื้อหดตัวหรืออยู่ในสภาพตึงตัวตลอดเวลา งานต่างๆซึ่งจะได้จากการหดตัวของกล้ามเนื้อ (ซึ่งต้องพึ่งพาการคลายตัวเสียก่อน) ก็ออกมาไม่เต็มที่ หรือไม่มีการประสานงานระหว่างกล้ามเนื้อมัดต่างๆดีเท่าที่ควร
และเนื่องจากกล้ามเนื้ออยู่ใน “อาการเกร็ง” ติดต่อกันนานๆ จึงมีการเมื่อยล้าเร็วกว่าปกติ

ด้วยเหตุนี้ ท่านนักวิ่งจึงควรวิ่งด้วยอิริยาบถผ่อนคลาย และหลีกเลี่ยงอาการเกร็งให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ กลเม็ดที่จะนำไปสู่จุดหมายดังกล่าว เช่น
- ลดไหล่ลง เมื่อวิ่งๆไปเรามักเกร็งแขนและไหล่โดยไม่รู้ตัว การลดไหล่ลงพร้อมกับคลายศอก เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยต่อต้านการเกร็ง

- กำมือหลวมๆ อาการเกร็งมักซ่อนอยู่ที่ข้อมือและนิ้ว เราต้องคอยหมั่นสังเกตที่จุดนี้เสมอๆและอย่าได้เผลอไปกำมือแน่นเป็นกำหมัด

- หายใจเข้า-ออกลึกๆ ยาวๆ เวลาคนเราเกิดความตื่นเต้น นอกจากจะมีอาการเกร็งแล้ว สังเกตได้ว่าหายใจกระชั้นถี่ การหายใจลึกและยาวโดยเพ่งสมาธิอยู่ที่ลมหายใจจะช่วยลดอาการเกร็งได้เป็นอย่างดี

- ผ่อนคลายสีหน้า บางคนวิ่งหน้านิ่วคิ้วขมวด พอวิ่งเสร็จเลยแก่ไปอีกหลายปี ปล่อยคางสบายๆ หนังตาตกหน่อยๆ และหน้าผากอย่าปล่อยให้มีรอยย่น (มากไปกว่าที่มีอยู่แล้ว)

- “วิ่งช้าลง” เมื่อเราเห็นนักวิ่งคนอื่นแซงขึ้นหน้าไป อาจเกิดความอยากวิ่งให้เร็วขึ้น หรือในภาวะการแข่งขัน เราตั้งใจทำเวลาให้ดีที่สุด เลยเกร็งกล้ามเนื้อทุกส่วนโดยหวังว่าจะไปได้เร็ว

ดังที่กล่าวแล้ว กล้ามเนื้อซึ่งผ่อนคลายจะทำงานได้ดีกว่า ดังนั้นเราจึงควรเตือนตัวเองให้ออกแรงเพียง 80-90 เปอร์เซ็นต์ในเวลาที่ต้องการความเร็ว ส่วนที่ว่ามันยังไม่ได้ความเร็วตามที่ใจอยาก นั่นก็เป็นเพราะความสามารถคนเรามีขีดขั้น มิเช่นนั้นทุกคนก็เป็นแชมเปี้ยนกันหมด

ผ่อนคลายเข้าไว้ แล้วท่านจะไปได้สวย

 

ข้อมูลสื่อ

86-023
นิตยสารหมอชาวบ้าน 86
มิถุนายน 2529
วิ่งทันโลก
นพ.กฤษฎา บานชื่น